Gotham City เมืองกินคน

“ผมเป็นคนก็อธแธมโดยกำเนิด”

อาร์เธอร์ เฟล็ค พูดเมื่อเขากำลังจะขึ้นเวทีตลกเดี่ยวของเขาครั้งแรก ก่อนที่มันจะเละไม่เป็นท่า ซึ่งการเดี่ยวครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้เขากลายเป็นวายร้ายอันดับหนึ่งของก็อธแธม

โจ๊กเกอร์ และ แบทแมน เป็นศัตรูตลอดกาลของกันและกัน เช่นเดียวกับที่ก็อธแธมเป็นจุดกำเนิดของแบทแมนและโจ๊กเกอร์ โจ๊กเกอร์เป็นตัวร้ายที่เราไม่เคยรู้ว่าไอ้บ้านี่มันทำไปทำไมวะ แม้แต่ที่มาของโจ๊กเกอร์เอง ก็เป็นปริศนาตลอดกาล และหนังโจ๊กเกอร์ในปีนี้เอง ก็เป็นเพียงการตีความส่วนหนึ่งจากการ์ตูนต้นฉบับ แต่สิ่งที่เราน่าจะพอเดาได้ก็คือ โจ๊กเกอร์น่าจะมีจุดกำเนิดที่ก็อธแธมนี่ล่ะ

อาชญากรรมในเมืองก็อธแธมสร้างแบทแมนขึ้นมา เช่นเดียวกับในหนังเรื่อง Joker ที่สังคมโดยรวมให้กำเนิดตัวละครนี้ออกมา ก็อธแธมได้พรากสิ่งสำคัญในชีวิตไปจากทั้งแบทแมนและโจ๊กเกอร์ สำหรับ บรูซ เวย์น ที่เป็นเด็กน้อย มันพรากชีวิตพ่อแม่ที่เขารักไป แต่กับโจ๊กเกอร์ มันพรากความไว้ใจในตัวแม่ที่รัก และแม้แต่ตัวเอง ที่ไว้ใจไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่พรากจากโจ๊กเกอร์ไป ไม่ใช่ชีวิต แต่เป็นความหวังที่จะมีชีวิตที่ดี

ก็อธแธมต้องเป็นเมืองแบบไหน ถึงทำให้ทั้งฮีโร่และวายร้ายมีจุดกำเนิดจากโศกนาฏกรรรมได้?

เมืองก็อธแธมจาก Batman เวอร์ชั่น ทิม เบอร์ตัน
เมืองก็อธแธมจาก Batman เวอร์ชั่น ทิม เบอร์ตัน

ถ้าเรากลับไปดูก็อธแธมในแบทแมนภาคอื่นๆ เราจะเห็นก็อธแธมในหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่เวอร์ชั่นออริจินัลที่ตึกเป็นอิฐแดงๆ ดูวินเทจ หรือก็อธแธมใน Batman ของ ทิม เบอร์ตัน ที่ได้อิทธิพลของยุค 80s-90s มาจนแฟนซีมาก อีกนิดก็หลุดโลกไปแล้ว ไปจนถึงเวอร์ชั่น The Dark Knight ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ดูเหมือนเมืองใหม่ เต็มไปด้วยตึกระฟ้า และเทคโนโลยีล้ำสมัย ดูเสมือนจริง แต่ Joker ในปี 2019 นี้ชนะในเรื่องความเรียลของฉาก ด้วยการสร้างให้เป็นโจ๊กเกอร์แห่งยุค 1970 ก็อธแธมเปลี่ยนหน้าตาไปตามลักษณะของแบทแมนในเรื่องนั้น ตัวเมืองก็อธแธมเองก็เปลี่ยนจากแค่ฉากหลังของเรื่อง ไปเป็นเมืองที่มีชีวิตจริงๆ

และอย่างหนึ่งที่อยู่คู่ก็อธแธมมาตลอด คือ ‘อาชญากรรม’

เมืองก็อธแธมจาก Batman เวอร์ชั่น คริสโตเฟอร์ โนแลน
เมืองก็อธแธมจาก Batman เวอร์ชั่น คริสโตเฟอร์ โนแลน

อาชญากรรมเหล่านี้มันเกิดมาจากอะไรกันนะ ทำไมเมืองถึงสร้างอาชญากรรมได้ง่ายแบบนี้ล่ะ?

เราเลยลองไปดูต้นกำเนิดของการสร้างเมืองก็อธแธม เพราะตลอดมา เราแทบไม่เคยเห็นแผนที่ของก็อธแธมเลยว่าก็อธแธมหน้าตาเป็นยังไงนะ นอกจากรู้ว่ามันมีตึกเยอะๆ สูงๆ มีรถไฟใต้ดิน แล้วก็น่าจะเป็นเกาะ

สิ่งที่ค้นพบคือ ตั้งแต่ Batman เริ่มออกเป็นคอมมิคในปี 1939 ไม่เคยมีนักเขียนคนไหนวางแผนผังเมืองก็อธแธมเลย จนกระทั่งปี 1998 ที่มีการเตรียมการสร้างเนื้อเรื่องเวอร์ชั่น No Man’s Land Story ที่ก็อธแธมถูกตัดขาดจากอเมริกาเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหว และหาก DC จะตัดก็อธแธมออกจากจักรวาลได้ ก็ต้อง​ออกแบบ ‘ก็อธแธม’ มาให้ตัดก่อน (ตลกร้ายจังเลย) หน้าที่การออกแบบเมืองก็อธแธมเลยตกไปอยู่กับคนที่จบสถาปัตย์อย่างคุณ อีเลียต อาร์. บราวน์ (Eliot R. Brown) ที่เคยเป็นศิลปินเชิงเทคนิคให้ Marvel ออกแบบตั้งแต่สถาปัตยกรรม ไปจนถึงอาวุธและเครื่องบินให้ฮีโร่และวายร้ายใน Marvel และ เดนนิส โอนีล (Dennis O’Neil) ผู้เขียน Batman ได้ติดต่อคุณอีเลียตมามอบหมายงานช้างที่ต้องออกแบบยิ่งกว่าตึกรามบ้านช่องให้ ซึ่งก็คือให้อีเลียตออกแบบทั้งเมืองเลยนะ

แผนที่กอธแทมใน 'No Man's Land Story'
แผนที่ก็อธแธมใน No Man’s Land Story

อีเลียตคุยกับศิลปินและนักเขียน Batman หลายคน และได้ข้อสรุปว่าจะอิงเมืองก็อธแธมจากแมนฮัตตัน นิวยอร์ค ทำให้ก็อธแธมกลายเป็นเกาะไปโดยปริยาย และด้วยความเป็นเกาะหลายเกาะมากระจุกกัน ก็อธแธมจึงเต็มไปด้วยสะพานและอุโมงค์ พร้อมจะให้โดนระเบิดทิ้งได้เรื่อยๆ

พอเมืองทั้งหมดถูกอัดแน่นอยู่ในเกาะที่มีพื้นที่จำกัด พื้นที่แนวราบเลยมีน้อย ขยายขอบเขตของเมืองได้ยาก เมืองเลยต้องขยายเป็นแนวดิ่ง ทำให้นอกจากสะพานแล้ว สิ่งที่ก็อธแธมมีเยอะมากคือตึกสูงแบบเดียวกับนิวยอร์ค ตึกสูงมากมายก่อเกิดเป็นตรอกเล็กๆ ตามซอกตึก ชวนให้คนร้ายมาดักปล้นริมทางแบบในหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ใน Joker เอง อาร์เธอร์ก็โดนเด็กรุมทำร้ายที่ซอกตึกเช่นกัน

นอกจากความแออัดแล้ว ข้อเสียของเกาะตามที่ตาอีเลียตออกแบบมาอีกอย่างคือ การเชื่อมต่อกับที่อื่นๆ ถูกจำกัดด้วยสะพาน อุโมงค์ และเรือ อย่างใน Batman เวอร์ชั่น The Dark Knight ของโนแลน โจ๊กเกอร์เพียงแค่ออกอุบายให้ทุกคนอพยพขึ้นเรือ และเอาระเบิดไปไว้ในเรือสองลำ ก็จบแล้ว หรืออีกครั้งที่ เบน วางระเบิดสะพานทุกที่ ก็อธแธมก็ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก กลายเป็นเมืองที่ถูกควบคุมโดยอันธพาล เกิดศาลเตี้ย และการจลาจลทุกหนทุกแห่งไปแล้ว หรือเราจะบอกว่า ก็อธแธมควบคุมเมืองด้วยตัวมันเองก็ไม่น่าผิด

พอมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เสี่ยงต่ออาชญากรรมแล้ว อีเลียตก็ออกแบบเมืองก็อธแธมให้ยิ่งมีบรรยากาศอันไม่เป็นมิตรเข้าไปอีก อีเลียตกลับไปตั้งคำถามกับตาเดนนิส ผู้ว่าจ้าง ว่าสำหรับเขา ก็อธแธมเป็นยังไง? เดนนิสตอบว่า “ก็อธแธมเหมือนกับแมนฮัตตันส่วนล่าง ตั้งแต่ถนนที่ 14 ลงไป ตอนเที่ยงคืน 11 นาที ในเดือนพฤศจิกายน”

คือไม่เคยไปแมนฮัตตันเหมือนกัน แต่พอดูแมปว่าเขยิบไปทางขวาอีกนิดก็บรูคลินแล้ว ก็พอนึกได้ว่า มันน่าจะเป็นใจกลางนิวยอร์คที่มีทุกอย่าง ตั้งแต่ศูนย์กลางธุรกิจไปจนถึงอพาร์ทเมนท์รูหนูล่ะ

พอเป็นอย่างนี้ บรรยากาศของก็อธแธมเลยมีความมืดๆ สลัวๆ เราเห็นก็อธแธมในช่วงตอนกลางคืน หรือฤดูหนาว ฟ้าเป็นสีเทาหม่น บ่อยกว่าที่จะนึกภาพก็อธแธมภายใต้ท้องฟ้าสดใส ถ้าอิงจาก DC Universe คุณเดนนิสกล่าวว่า ก็อธแธมเป็นเหมือนภาพขั้วตรงข้ามของเมืองเมโทรโพลิส บ้านของ ซูเปอร์แมน นิวยอร์คตอนกลางวันคือเมโทรโพลิส แต่เมื่อตกกลางคืนแล้ว นิวยอร์คกลายเป็นก็อธแธม พอเรานึกภาพความหม่นนี้แล้ว ไม่แปลกเลยที่จะคิดตามว่าผู้คนที่อยู่ในเมืองนี้จะหม่นหมองแค่ไหน ตามปกติแล้ว ในเมืองหนาวที่แสงแดดน้อย จะทำให้คนมีแนวโน้มเป็นซึมเศร้าได้ง่ายอยู่แล้ว คนเลยไปหาจิตแพทย์กันเป็นเรื่องปกติ

Arkham State Hospital ใน Joker (2019)
Arkham State Hospital ใน Joker (2019)

จิตแพทย์เป็นหนึ่งในตัวละครที่มีผลกับโจ๊กเกอร์ในหนัง และน่าแปลกมาก เมื่อนึกถึงก็อธแธมจะต้องมีที่นี่ นั่นก็คือ อาร์คแฮม (Arkham) ซึ่งในหนังใช้ชื่อว่า Arkham State Hospital หรือแฟนๆ จะรู้จักกันในนาม Arkham Asylum หรือชื่อเต็ม Elizabeth Arkham Asylum for the Criminally Insane ซึ่งเป็นทั้งสถานบำบัดจิต โรงพยาบาลบ้า และคุกในเวลาเดียวกัน

ตามเนื้อเรื่องในคอมมิค อาร์คแฮมเป็นที่คุมขังอาชญากรรายใหญ่หลายคน ใน Suicide Squad เอง ฮาร์ลีย์ ควินน์, คิลเลอร์ คร็อค และวายร้ายคนอื่นๆ ก็ถูกขังที่นี่ แม่ของอาร์เธอร์และตัวอาร์เธอร์เองก็เคยอยู่ในอาร์คแฮมเช่นกัน ตามที่อาร์เธอร์ได้ถามพนักงานว่าคนที่มาอยู่ที่นี่เป็นคนแบบไหน ก่อนที่เขาจะตอบว่า “…”

สถานะของอาร์คแฮมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ที่ยังคงอยู่คือ เป็นที่คุมขังอาชญากรและคนวิกลจริต ราวกับว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดอาชญากรในก็อธแธม คือจิตใจของผู้คนที่ค่อยๆ ถูกก็อธแธมกัดกินไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้ร้ายในที่สุด

เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่ถูกขังในอาร์คแฮมมีกี่คน แออัดแค่ไหน และมีสวัสดิการที่เหมาะสมหรือไม่ เมื่อเดาจากฉากที่อาร์เธอร์ไปอาร์คแฮมและอยู่ในลิฟต์ มีผู้ป่วยถูกมัดดิ้นติดกับเตียงอย่างหดหู่ร้องตะโกน และน่าแปลกมากที่เรือนจำในก็อธแธมกลับดูท่าจะมีที่เดียว แถมเป็นเรือนจำและสถานบำบัดจิตในเวลาเดียวกันด้วย

ไม่พอนะคะ ใครเป็นอาชญากรรายใหญ่ๆ ก็จับมันมาขังรวมกันนี่แหละ ให้มันวางแผนด้วยกัน เวลาจะแหกคุกก็แหกออกมาทีเดียวเลย เออ ดี

อาร์คแฮมในแผนที่ของก็อธแธมหลายเวอร์ชั่นมีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับเมืองทั้งหมด แต่ที่น่าตกใจคือ อาร์คแฮมที่ว่าใหญ่แล้ว กลับมีอีกที่ที่ใหญ่พอกันทั้งที่มีคนน้อยกว่าเห็นๆ นั่นก็คือ Wayne Manor หรือ ‘คฤหาสน์บ้านเวย์น’ ของแบทแมน และบ้านเจ้าของธุรกิจใหญ่สุดในเมือง Wayne Enterprise นี่ล่ะค่ะ ถ้าอิงจากหนังเรื่อง Joker เราจะเห็นว่าธุรกิจเวย์นเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อเมืองก็อธแธมเป็นอันดับต้นๆ คุณโธมัส เวย์น เองก็มีอิทธิพลทางการเมืองถึงขนาดจะลงสมัครเลือกตั้งด้วยซ้ำ

อาร์คแฮมบางเวอร์ชั่นจะอยู่ตรงกลางเมือง เป็นเกาะอีกเกาะไปเลย หรือบางเวอร์ชั่นก็อยู่นอกเมืองไปเลย แต่คฤหาสน์บ้านเวย์นกลับอยู่นอกเมืองตลอด นอกเมืองไม่พอ คฤหาสน์เวย์นอยู่นอกบริเวณเกาะด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า ถึงจะไปอยู่หน้าปากซอยบ้านเวย์นก็เงียบกริ๊บ ไม่ต้องทนฟังเสียงแก๊งมอเตอร์ไซค์หรือแก๊งขี้เมาแบบคนในเมือง

แต่เราต้องเข้าใจล่ะเนอะ แบทแมนไม่ค่อยเข้าเมือง เข้าเฉพาะตอนกลางคืน เขาเลยต้องพักผ่อนเยอะๆ อืมมมม เข้าใจได้ๆ คุณคิดว่านอกจากตอนกลางคืน และตอนที่ต้องออกงานแล้ว ตาบรูซ เวย์น เข้าเมืองก็อธแธมบ่อยแค่ไหนกันนะ?

มันไม่น่าคับแค้นใจเลยเหรอคะคุณ ดูซิ ตาอาร์เธอร์ต้องแบกตัวเองเดินขึ้นบันไดทุกวันๆ จะไปไหนมาไหนต้องใช้ขนส่งสาธารณะ นั่งรถเมล์เป็นชั่วโมงเพื่อไปหาหมอ ไปทำงาน พอกลับมาถึงบ้านก็ไม่ได้มีความเป็นส่วนตัวมากนัก เพราะรอบบ้านก็มีเสียงคนตะโกนโหวกเหวกโวยวายด้วยความแออัดของที่อยู่อาศัย ในขณะที่ตาเวย์นมีบ้านที่ยาวเป็นกิโล ใหญ่พอจะมีที่เก็บอาวุธได้เป็นร้อยๆ แถมมีถ้ำอยู่ในบ้าน เฮ้ย นี่มันบ้านหรือป่าสงวนคะพี่ ไม่ต้องดูหรอกค่ะ ว่าเขาทำอาชีพอะไร ได้เงินเท่าไหร่ แค่ดูสภาพความเป็นอยู่ก็เห็นแล้วล่ะค่ะ ว่าความเหลื่อมล้ำมันสูงแค่ไหน

ตัดภาพกลับมา Joker เวอร์ชั่น 2019 นี้ ก็อธแธมดูไม่ได้หม่นหมองอย่างในแบบฉบับของโนแลน เรายังเห็นสีสันของเมืองอยู่เรื่อยๆ แต่อย่างหนึ่งที่แทบจะผุดในทุกหนทุกแห่ง คือ กราฟฟิตี้ และการเขียนบนผนัง หรือตามที่สาธารณะ ตามรถเมล์ ตามรถไฟ เหมือนเป็นเสียงสะท้อนว่า ชาวเมืองไม่แยแสต่อพื้นที่สาธารณะของเมือง ขณะเดียวกัน รัฐเองก็ไม่แยแสกับพื้นที่เหล่านั้นพอที่จะทำความสะอาดมัน ความไม่แยแสต่อความเป็นสาธารณะ กลายเป็นสิ่งที่กัดกินเมืองก็อธแธมเรื่อยๆ

เราไม่รู้แน่ชัดว่าสาเหตุของการก่อจลาจลในตอนต้นเรื่องมาจากอะไร นอกจากได้คำใบ้ว่านั่นเพราะความเหลื่อมล้ำนั้นสูงเต็มที แต่เราก็ได้ยินสภาพของเมืองอยู่เรื่อยๆ จากข่าวในโทรทัศน์ที่อาร์เธอร์ดู หนูยักษ์วิ่งเพ่นพ่าน ขยะถูกทิ้งเต็มเมือง แม้แต่ย่านคนรวยยังทำให้ดูจนได้เลยจากการจลาจล สภาพเหล่านี้เกิดจากอะไร? ความเหลื่อมล้ำ หรือเพราะรัฐบาลของก็อธแธมไม่สามารถบริหารเมืองออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คนในเมืองหมดแรงที่จะแยแสต่อเมือง ต่อสาธารณะ ต่อกันและกัน และพร้อมที่จะแทงข้างหลังเพื่อกัดกินกันได้เรื่อยๆ?

เราเดินออกจากโรงมา พร้อมกับคำวิจารณ์ต่อหนังที่นำมาเทียบกับกรุงเทพฯ ก็อธแธมเป็นเมืองแต่ง แต่กรุงเทพฯ คือสภาพที่เราอยู่ในความเป็นจริง ทำไมเราเลือกที่จะเทียบก็อธแธมกับกรุงเทพฯ แทนที่จะเทียบตัวละครในเรื่องกับบุคคล? หรือเพราะเราทุกคนมีความเป็น อาร์เธอร์ เฟล็ค ในใจ เพราะเราทุกคนต่างโดนเมืองที่อยู่ลิดรอนความฝัน ความหวังไปจากเมืองที่เราอยู่ กรุงเทพฯ พรากอะไรไปจากเราบ้าง มันกลับมาทำให้หลายคนมีความเห็นว่า “โจ๊กเกอร์ไม่ได้หดหู่อย่างที่คิด” เพราะเมืองที่เราอยู่ มันยิ่งกว่าก็อธแธมไปแล้วกันแน่?

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า