การบริจาคในศาสตร์การละคร เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา

นับเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จากกรณีการบริจาคเงินส่วนตัวของ พิมรี่พาย-พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ ซึ่งแต่ละคนได้มองประเด็นนี้ในมุมปัจเจกและเชื่อมโยงภาพรวมของระบบโครงสร้างอย่างท่วมท้น

กองบรรณาธิการ WAY เก็บประเด็นจากเวที ‘สังคมควรได้เรียนรู้อะไร จากกรณีบ้านแม่เกิบ’ ในวันที่ 13 มกราคม 2564 ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย อาจารย์พิเศษวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปลหนังสือ การละครของผู้ถูกกดขี่ (Theatre of the Oppressed), รองศาสตราจารย์ ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทย และ รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย: เรามีสิทธิอะไรในการเข้าไปในชีวิตคนคนหนึ่งแล้วสั่งให้เขาเอาชีวิตออกมาแสดง

ในมุมของนักการละคร ผมอยากพูดถึงปัจจัยที่เอื้อให้คนคนหนึ่งได้พูดเรื่องของตัวเอง ต้องย้ำนิดหนึ่งว่าไม่ใช่ละครเพื่อผู้ถูกกดขี่ ละครเพื่อผู้ถูกกดขี่ เราไปสร้างให้เขา แต่ละครของเขาหมายถึงว่า เขาเป็นคนเล่นเอง ในความทุกข์ยากในเสียงของเขาเอง นักการละครไม่ได้เป็นผู้ให้เสียงกับผู้ถูกกดขี่ ผมไม่มีสิทธิขนาดนั้น แต่นักการละครเป็นผู้ที่ช่วยทำให้เขามีเสียงออกมา สิ่งที่ผมทำได้คือนำความรู้เรื่องศิลปะการละครออกมาสนับสนุนเสียงของเขา เป็นเพียงนักการละครคนหนึ่ง

ในกรณีคุณพิมรี่พาย ผมไม่อยากประทับตราให้เขาเป็นอะไร คนเราเป็นได้หลายบทบาท อย่างการเป็นแม่ค้าก็เป็นบทบาทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ชีวิตของเขาทั้งหมด

ซึ่งผมขอชื่นชมใน 3 ข้อด้วยกัน

หนึ่ง ชื่นชมว่าเขาใช้เงินส่วนตัวในการทำ ผมให้เครดิตว่าเขาจริงใจที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ซึ่งเขาไปเห็นปัญหาและอยากช่วย ใช้เงินส่วนตัวด้วย

สอง ชื่นชมในการเป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้ไม่ดูดาย เห็นปัญหาก็อยากจะลงมือ อยากจะทำ ซึ่งเป็นข้อที่ดี

สาม ชื่นชมในทีมงาน ผมก็ทำงานในลักษณะนี้ เบื้องหลังโปรดักชั่นบ้าง เบื้องหน้าบ้าง เป็นนักแสดงบ้าง รู้ว่าการทำโปรดักชั่นระดับนี้ต้องมีความละเอียดอ่อน ใช้ศิลปะอย่างสูง ก็ชื่นชมทีมงานที่ทำได้ดีในแง่ของโปรดักชั่น

แต่เนื่องจากผมทำงานกับ ‘ผู้ถูกกดขี่’ ผมมีคำถามมากมายเกิดขึ้น คำถามหนึ่งซึ่งชัดมาก เรามีสิทธิอะไรในการเดินเข้าไปในชีวิตของคนคนหนึ่งแล้วสั่งให้เขาเผยชีวิตออกมาแสดง นี่คือคำถามในฐานะนักการละครที่ต้องใคร่ครวญกับตัวเองเวลาทำงานกับผู้ถูกกดขี่ เช่น คนไร้บ้าน ผู้พิการ ซึ่งเราไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง หรือกลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มใดก็แล้วแต่ เราเอาสิทธิอะไรไปทำเช่นนี้

ผมเจอปัญหาที่คุณพิมรี่พายได้เจอมาก่อนแล้ว นักการละครทั่วโลกก็คุยถึงประเด็นนี้มานานพอสมควร เขาตกผลึกได้เป็นข้อสรุป ซึ่งผมนำมาไตร่ตรองและปรับใช้

หนึ่ง ผมจะไม่ให้ความช่วยเหลือกับผู้ถูกกดขี่ที่เขาไม่ได้ร้องขอ

สอง ผมไม่สามารถจะไปทำให้ใครมีจิตสำนึกขึ้นมา จิตสำนึกในแง่ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง เราทำไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ใช่เขา

สาม เราเข้าไปในชีวิตของเขาด้วยฐานะอะไร เชี่ยวชาญในชีวิตของเขาหรือ ก็ไม่ใช่ ผมจะไม่เข้าไปในฐานะนั้น หรือเข้าไปในฐานะผู้เป็นเพื่อนของเขา ถ้าเดินไปด้วยกันก็ต้องเดินเคียงข้างเขา เราจะไม่เป็นผู้นำเขาด้วยซ้ำไป เราไม่มีสิทธิจะทำตรงนั้น

การที่คุณพิมรี่พายช่วยเหลือชุมชน ผมชื่นชมเขาหลายอย่าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผมมีความไม่แน่ใจและตะขิดตะขวงใจ เพราะผมไม่รู้ว่าเบื้องหลังกล้อง เขาเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนมากน้อยเพียงใด รับรู้ความทุกข์ยากมากน้อยแค่ไหน ซึ่งผมคิดว่าคนที่มีพลังและเสียงอย่างคุณพิมรี่พาย ถ้าทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง สังคมเปลี่ยนแปลงได้

รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์: พื้นที่ในชนบทไทยไม่ได้มีแค่สีขาวและสีดำ

ประเด็นที่ผมจะพูดมี 2 ประเด็นหลักๆ ประเด็นแรกคือ การมองชนบทของสังคมไทยเป็นการมองเชิงโครงสร้างตามระบบของ ‘คำ’ ที่ถูกสร้าง และประเด็นที่สองคือ การทำงานพัฒนา ช่วยเหลือ ฟื้นฟูชนบท ในมุมมองแบบจริยศาสตร์การพัฒนา

ชนบทไทยถูกมองในลักษณะนี้ เรียกว่าเป็น มุมมองกระแสหลักที่คนทั่วไปเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ประเด็นแรก สังคมกระแสหลักมองว่า คนชนบทยังด้อยกว่า แย่กว่า และโอกาสต่างๆ เทียบไม่ได้กับคนเมืองหรือคนที่เขามีสถานะทางเศรษฐกิจทางสังคมดีกว่า ในประเด็นที่คนเมืองมักมองเห็นคนในชนบท

อย่าลืมว่าภาพและความหมายต่างๆ ของชนบทที่ถูกสร้างขึ้น ถูกสร้างขึ้นจากระบบการศึกษาจากตำราจากสื่อที่แวดล้อมอยู่ภายใต้สังคมของเรา เพราะฉะนั้นคนชนบทแทบไม่สามารถที่จะนิยามได้ว่า ‘เขาคือใคร’ และเป็นอย่างไร และเขาก็ได้รับความรู้ชุดนี้เข้ามาอธิบายตัวตนของตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นนั่นคือมุมมองแรก ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมองแบบนี้ ก็จำเป็นต้องเข้าไปพัฒนาบางอย่าง

ประเด็นที่สองคือ เวลาเรามองชนบท เรามักจะมีคุณค่าที่ตนถืออยู่ ในฐานะคนมีโอกาสดีกว่า ฐานะเศรษฐกิจดีกว่า ก็มีฐานะเข้าไปช่วยเหลือ อีกแนวคิดหนึ่งคือแนวคิดที่มองว่าชนบทคือความงดงาม มีธรรมชาติ วัฒนธรรมของตัวเอง เป็นความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดเวลา และยังคงติดอยู่ เพราะฉะนั้นการเข้าไปของสังคมข้างนอกก็อยากให้คงภาพความสวยงาม ภูมิปัญญา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ พึ่งตัวเองได้ แต่ขณะเดียวกัน ยังมองเขาแย่กว่าเรา จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ สองความคิดนี้ผสมกลมกลืนกัน ซึ่งเป็นมายาคติต่อสังคมชนบท

ผมคิดว่าแนวคิดสองแนวคิดนี้มันผสมกลมกลืนกันเป็นคุณค่าในสังคมไทย 3 ประการด้วยกัน

หนึ่ง เนื่องจากเรามองสรรพสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความหมายระหว่างความเป็นเมืองกับความเป็นชนบท ในฐานะขั้วตรงข้ามมาตลอด มันแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นแนวคิดว่าชนบทสวยงามมีค่านิยม มีวัฒนธรรมที่สวยงามมีคุณค่า มีภูมิปัญญาพึ่งตนเองได้ ขณะเดียวกันเรามองภาพเมืองในทางตรงกันข้ามต่างจากชนบท เมืองรับเอาแนวคิดวัฒนธรรมจากตะวันตกมาเป็นความสับสนวุ่นวาย ภาพชนบทที่สวยงาม กับภาพเมืองที่เลวร้าย

ในขณะเดียวกัน ความคิดชุดแรกมองว่าชนบทล้าหลังขาดการศึกษา ไม่มีความรู้ ขณะที่เมืองไปไกลกว่า มีความรู้มากกว่า การศึกษาดีกว่า เศรษฐกิจดีกว่า ชีวิตดีกว่า ภาพทั้งสองคือขั้วตรงข้ามระหว่างเมืองและชนบท นี่คือสิ่งที่ติดอยู่ เราไม่เคยมองภาพที่มันมีทั้งภาพขาวและดำทั้งสีเทาเฉดขาวที่แตกต่างกันเฉดดำที่แตกต่างกัน

พื้นที่ในชนบทไทยมีความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่ขาวกับดำแบบมุมมองใดมุมมองหนึ่ง ซึ่งเราจะบอกว่าเป็นมายาคติก็ได้เวลาที่เรามองชนบท

สอง วิธีคิดแบบแนวคิดทันสมัย ยุคเริ่มแรกของการพัฒนาในสังคมไทย ทำให้เกิดความคิดว่าคนที่มีศักยภาพ มีความก้าวหน้า ทั้งความรู้และเทคโนโลยี ก็มีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบทันสมัยที่อเมริกาสร้างขึ้น เพื่อส่งออกความคิดการพัฒนาไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาและให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนต่างๆ ความคิดแบบนี้ก็ติดอยู่ว่าคนที่ก้าวไปก่อนแล้ว มีหน้าที่หันมามองข้างหลังแล้วก็พาคนข้างหลังไปใช่ไหมครับ นี่ก็เป็นประเด็นที่สอง

แต่อย่าลืมว่าเขาก็เป็นตัวของตัวเอง มีทางเลือกของเขาเอง มีความฝันของเขาเอง ไม่ใช่ความฝันแบบเรา แต่เราอาจคิดว่าความฝันแบบเราคือความฝันที่เขาควรจะมี เหมือนที่อเมริกาส่งออกวิธีคิดแบบทันสมัย มาให้เรา นี่เป็นเรื่องที่เราติดยึดอยู่

สาม อิทธิพลของพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เราสะสมบุญบารมีโดยการให้ทาน ทำบุญบริจาค เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเวลาเราวัดการให้เงินบริจาค ประเทศไทยติดอันดับโลกเลยนะครับ พม่าอันดับหนึ่ง ไทยอันดับสองถึงสาม เพราะฉะนั้นเราจะมีลักษณะของการเป็นจิตอาสาในลักษณะแบบนี้เยอะมาก เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจที่จิตอาสาจะเฟื่องฟูในบ้านเรา 3 ลักษณะนี้เป็นกระแสหลักความคิดหลักค่านิยมของสังคมไทย

อีกประเด็นหนึ่ง เราลืมมองไปหรือไม่ว่าเราไม่ได้ใกล้ชิดหรือเข้าใจคนที่เราเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาอย่างที่เขาเป็นหรืออย่างที่เขาต้องการ เขามีชีวิตของตัวเองมีความฝันของตัวเอง เขามีอิสระของตนเองที่จะคิด การไม่มีความฝัน มันก็เป็นความฝันแบบหนึ่ง ซึ่งเราไม่มีสิทธิที่จะไปนิยามว่าการไม่มีความฝันคือความด้อยพัฒนา หรือด้อยค่าแล้วทำให้เขามีความฝัน

ถ้ามองแบบวิชาการ หลักการสำคัญอย่างหนึ่งคือเคารพในเอกสิทธิ์ (respect for autonomy) ให้อิสระกับความคิดของคน ให้เขาเป็นตัวของตัวเองที่สุด คนทุกคนมีเหตุมีผลคิดเองได้ ทำเองได้ เราไม่มีสิทธิจะไปยัดเยียดความคิดของเรา หรือใช้สิ่งที่เราให้เขาไปสร้างมูลค่าอย่างอื่นโดยทำให้เขาดูน่าสงสาร ให้เขาดูแย่ เพื่อที่จะยกสถานะการให้ความช่วยเหลือนั้นให้มีค่ามากขึ้น

ถ้าทำแบบนี้ อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) จะมองว่า เป็นการใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือเพื่อความดีบางอย่าง ซึ่งในทัศนะของคานท์ มันไม่ใช่ความดี แต่เราให้ความช่วยเหลือเขาได้ในสิ่งที่เขาเป็น มีอิสระที่จะคิด ที่จะทำ ผมไม่ได้โทษสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เขามองว่ามันเป็นความปรารถนาดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ

การใส่ความคิดเห็นลงไป และล่วงละเมิดต่อเอกสิทธิ์ (autonomy) ของที่นั่น

เช่น การไปบอกว่าปลูกผักไม่เป็น เขาหัวโล้นหมดแล้ว ไม่มีความฝัน ทอดไข่ไม่ได้ มันคือวิธีคิดที่เอาตัวเองเข้าไปตัดสินแล้วบอกว่าสิ่งที่ตัวเองเอามาให้ คือสิ่งที่ดีกว่า แต่ถ้าเขายินยอมที่จะรับ มันไม่มีปัญหา แต่ปัญหามันอยู่ที่การเอาตัวเราเข้าไปตัดสินแล้วไปล่วงละเมิดต่อเอกสิทธิ์ของเขาโดยใช้วัฒนธรรมของตัวเองเข้าไปตัดสินว่าตัวเองอยู่เหนือกว่า

แล้วในหลายกรณีมันลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา นั่นคือปัญหาที่ตามมา

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ: ปัญหาความยากจนมันไม่ได้ช่วยง่าย อย่างเห็นเด็กกำลังจมน้ำแล้วช่วยในทันที มันเป็นปัญหาลึกซึ้งกว่านั้น

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์กับข้อถกเถียงเรื่องการให้ความช่วยเหลือ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งมองว่า เราควรเข้าไปช่วยเหลือประเทศยากจน เพราะเขาช่วยตัวเองไม่ได้ เช่น แอฟริกาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง ควรเอาเงินไปบริจาคเยอะๆ เพื่อทำให้เขากลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมให้ได้

แต่นักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มก็จะบอกว่า แอฟริกาได้เงินบริจาคเยอะมหาศาลมาโดยตลอด ก็ยังไม่ฟื้นฟู ไม่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสักที  ทั้งๆ ที่เงินหลั่งไหลไปที่แอฟริกาเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้นก็จะเป็นดีเบตอยู่ว่าแล้วเราควรจะทำอย่างไร

นักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มที่มองว่า เราไม่ควรเข้าไปช่วย เขาก็มองว่า ประเทศควรจะช่วยตัวเอง ต้องจัดการอะไรต่อมิอะไรเอง ต้องไปดูนโยบายการเงินการคลังเอง ไปดูเรื่องทุจริตคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจเพราะว่าเงินบริจาคที่ไหลเข้าไปเยอะๆ ถูกเอาไปใช้ผิดวิธี เงินมันถูกเอาไปกระจุกที่ชนชั้นปกครอง เพราะฉะนั้นมันไม่กระจายลงไปข้างล่าง เพราะฉะนั้นจึงถกเถียงกันอยู่

พอถัดมาช่วงใกล้ปัจจุบันมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เริ่มมองว่า ควรศึกษาเป็นกรณีเฉพาะๆ เนื่องจากการพัฒนาที่มากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับประเทศระดับครัวเรือนได้มากกว่าเดิมด้วยเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารที่มันมากขึ้น จึงเลือกลงไปศึกษาในระดับชุมชน ระดับประเทศ ที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

สำหรับปัญหาความยากจน โดยมีมายาวนานมาก ไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย เปรียบเทียบเหมือนเด็กกำลังจะตกบ่อน้ำ เราเป็นผู้ใหญ่เดินผ่าน ลงไปช่วยโดยไม่ต้องคิดอะไร แม้จะมีธุระเยอะแยะมากมาย นี่เป็นการตัดสินใจลงไปช่วยเด็ก แต่คำถามของความยากจนมันยากกว่านั้น เรายังเห็นเด็กยากจนและเห็นจนชินตาไปแล้ว

ปัญหาคือว่าความยากจนมันไม่ได้ช่วยง่ายอย่างการลงไปช่วยเด็กที่กำลังจมน้ำ มันเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งกว่านั้น ตัวแปรที่จะวัดการพัฒนาก็ไม่ง่าย มันไม่ได้วัดง่ายแค่วัดรายได้ที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ยังมีมิติอะไรต่างๆ ในเรื่องสิทธิ ความเสมอภาค สิ่งแวดล้อม

เราไม่สามารถปฏิเสธความตั้งใจดีของพิมรี่พาย เขามีเจตนาดี แต่ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่จะบริจาคอะไรก็ได้ จริงๆ แล้วการบริจาคอาจจะเป็นผลเสียได้ด้วยซ้ำ นอกเหนือจากว่าเขาไม่ได้ต้องการแล้ว ก็กลายเป็นขยะ

ถ้าเราลงพื้นที่จริง เราเห็นกระสอบเสื้อผ้าเยอะมากๆ เขามีเป็นกระสอบๆ เราเคยเห็นคนอุตส่าห์เอาไม้กวาดไปบริจาค โดยที่ไม่รู้เลยว่าหมู่บ้านเขาทำไม้กวาดขาย

เพราะฉะนั้นเรื่องพัฒนาประเทศต้องแก้ไขเรื่องของความเหลื่อมล้ำ กรณีคนชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนหนึ่งเขามีปัญหาเรื่องภูมิประเทศ ห่างไกลความเจริญด้านการคมนาคม ถ้าจะไปถึงมันยาก การเดินทางเข้ามามีส่วนร่วมในประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงยากลำบาก

Author

ดวงนฤมล บุญแก้ววรรณ
นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยพะเยา สนใจและติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่บางครั้งก็แอบหนีเข้าป่า และดื่มชาร้อน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า