ภาพถ่าย: กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ / ภาพประกอบ: Shhhh
กันยายน 2559
มหาวิทยาลัยเปียงยาง กรุงเปียงยาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
อากาศ 20 องศาโดยประมาณ
ผู้คนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส เดินขวักไขว่เต็มท้องถนน ด้วยอากาศดีแดดอ่อนๆ เย็นสบาย
การมาครั้งที่สองนี้ ผู้ดูแลของเราคือนักศึกษาสาวเอกภาษาจีนและภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเปียงยาง เธอมักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเรียบร้อยแบบพนักงานบริษัทแถวสีลมมารับเราทุกวัน ด้วยสูทเข้าชุดกับกระโปรงคลุมเข่า รองเท้าสีสุภาพ ส้นสูงพอควร เธอมาจากครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวในเปียงยาง คุณแม่ของเธอทำงานเป็นแพทย์แผนกเด็กอยู่ในโรงพยายาลแห่งหนึ่ง
จ.จ. = จุ๊ย
ค.ม. = นักศึกษาสาวชาวเกาหลีเหนือ
ภายนอก/เปียงยาง-บนรถโดยสารไม่ประจำทางขนาดไม่เกิน 15 ที่นั่ง สภาพค่อนข้างเก่าแบบสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไม่มีแอร์ กลิ่นน้ำมันคลุ้งพอควร-ค่ำ
จ.จ. : เรียนที่ ม. ไหนนะ คิมอิลซุงเหรอ
ค.ม. : ป๊าวววววว ต้องเก่งมากนะถึงเข้าที่นั่นได้ ฉันอยู่ ม.เปียงยาง
จ.จ. : มีสองมหา’ลัยเองเหรอ
ค.ม. : ม่ายยยยย มีหลายมหา’ลัยมาก อย่างแม่ฉันจบหมอก็เรียนโรงเรียนแพทย์มา แต่ละมหา’ลัยก็เก่งไปคนละด้าน มีด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี ด้านการทหาร ศิลปะ เกษตรกรรม แบบนี้เฉพาะทางไปเลย ในเปียงยางนี่มีสัก 10 กว่ามหาวิทยาลัยได้มั้ง อย่างมหา’ลัยเปียงยางที่ฉันเรียนอยู่เนี่ยก็เป็นแคมปัสที่ดูเรื่องภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะ เพราะงานแปลหรือเป็นครูสอนภาษาก็ใช้คนจากที่นี่ หรือถ้าอยากเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศก็ต้องมาเรียนที่นี่ก่อน แม้กระทั่งงานที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวก็ใช้นักเรียนของเรา
จ.จ. จึงนึกขึ้นมาได้ว่า ขนาดทหารสาวที่อยู่ประจำพิพิธภัณฑ์สงครามยังสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างยอดเยี่ยม มีโอกาสได้เจอสองครั้งก็เหมือนเดิม แถมจำ จ.จ. ได้อย่างแม่นยำจนน่าขนหัวลุก ด้วยคำทักทายที่ว่า “หวัดดี เธอมาจากประเทศไทยใช่มั้ย มาที่นี่ครั้งที่สองแล้วนี่”
ด้วยความที่ จ.จ. คิดว่าทหารสาวอาจท่องจำบทมาเล่า เธอจึงเริ่มชวนทหารสาวคุยสัพเพเหระ แต่ด้วยชุดทหารที่ใส่อยู่ เธอจึงออกอาการลั้ลลามากไม่ได้ แต่ก็เล่าให้ฟังว่าเธออยากเป็นทหารรับใช้ชาติ เธอไม่เคยออกจากเกาหลีเหนือเช่นเดียวกับน้อง ค.ม. และเลือกมาทำงานหน่วยนี้เพราะตัวเองเก่งภาษา
จ.จ. ประหลาดใจที่ทหารเล่าว่า เธอเลือกที่ทำงานได้ และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเธอก็ยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับน้อง ค.ม. ทั้งที่ทั้งสองคนเรียนภาษามาในระบบปิด ไม่มีอินเทอร์เน็ตในประเทศ มีแต่หนังสือ ภาพยนตร์ และเพลงที่รัฐจัดหามาให้บริโภคเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอย่าลืมไปว่าทั้งสองคือ ที่หนึ่งและที่สองของชั้นเรียน เป็นคนที่ถูกเลือกมาแล้วว่าเหมาะแก่การทำหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของเกาหลีเหนือ
ค.ม. เล่าต่อ
“เรามีเรียนหลายภาษาเลยนะ อย่างรัสเซีย ฝรั่งเศส อารบิก ไทย เขมร ลาว ฮังกาเรียน เออ อย่างเพื่อนฉันคนนั้นน่ะ ที่ดูแลแขกจากประเทศอิตาลี เคยไปอยู่อิตาลีมา ตามพ่อแม่ที่เป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไป พอกลับมาก็ได้มาเรียนที่นี่ อย่างหัวหน้าฉันที่ดูแลพวกคุณน่ะ เขาก็เรียนภาษาไทยมาโดยเฉพาะกับครูสอนภาษาไทยที่นำเข้ามาจากประเทศจีน”
จ.จ. : เออ เขาเก่งมาก เล่นมุกภาษาไทยได้ แถมอ่านเขียนได้ด้วย นี่งงมากว่าหาหนังสือหนังหามาจากไหนกัน แล้วต้องทำไงถึงได้มาเรียนที่นี่
ค.ม. : ต้องได้คะแนนภาษาดีมากตอนสอบเอนทรานซ์เข้ามา แบบสูงสุดของคะแนนภาษาอะไรแบบนี้ ก่อนเลือกสอบ ครูก็เป็นคนช่วยดูคะแนนในห้องก่อน สมมุติว่าห้องหนึ่งมี 30 คน ครูก็คัดคนที่ได้คะแนนสูงสุดในรายวิชานี้ แล้วครูจะเป็นคนบอกว่าควรไปเรียนที่ไหนดี
จ.จ. : เลือกเองเหรอ
ค.ม. : ก็เก่งวิชาไหนก็เรียนอันนั้นแหละ
จ.จ. : แล้วนี่เอกอะไรนะ
ค.ม. : อังกฤษกับจีน
จ.จ. : เออ แล้วเรียนยังไงอ่ะ มีหนังสือเยอะมั้ย
ค.ม. : ก็มีอ่านหนังสือ ครูก็สอนให้ท่องๆ ก่อน แล้วก็มีดูหนังฟังเพลงด้วย ไปยืมจากห้องสมุดก็ได้
จ.จ. : เหรอ หนังอะไรอ่ะ
ค.ม. : ก็แบบ The Sound of Music อะไรงี้
จ.จ. : แล้วครูให้ดูเฉยๆ เหรอ จะพูดได้ไงอ่ะ
ค.ม. : เปล่า ให้ดูแล้วมีให้หัดท่อง แล้วก็พากย์หนัง แบบปิดเสียงแล้วให้เราพากย์เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนครูก็จะประเมินว่าเราทำได้ดีหรือยัง นี่เป็นส่วนที่ฉันตื่นเต้นมาก กดดันสุดๆ เพราะในห้องเก่งกันหมด อย่างห้องฉันตอนนี้มีนักเรียน 25 คน ผู้หญิง 10 คน ผู้ชาย 15 คน เราก็แข่งกันตลอดเพราะต้องทำให้ครูพอใจ กว่าจะพูดได้ก็แทบตาย แต่ฉันก็ยังไม่เก่งมากหรอกนะ เพื่อนๆ เก่งกว่าอีก
จากการมาเยือนเปียงยางครั้งที่แล้ว จ.จ.ได้รู้มาว่า เกาหลีเหนือจะรับนักเรียนตามความจำเป็นและตามฟังก์ชั่นการทำงานเท่านั้น เช่น รับภาษาอังกฤษเยอะหน่อย 25 คน แต่ทั้งหมดต้องได้ภาษาที่สามคือภาษาจีนด้วย เพื่อความคุ้มทุนในการฝึกอบรมคนคนหนึ่งขึ้นมา อย่างภาษาไทยมีรุ่นละคนสองคน สอนจนจบหนึ่งรุ่น แล้วค่อยดูว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรับเพิ่ม หากจำเป็นก็รับ เป็นแบบนี้วนไป
แนวคิดนี้คงเป็นเพราะข้อจำกัดในทรัพยากรต่างๆ ของที่นี่ เนื่องจากเป็นประเทศแร้นแค้น ตัดขาดจากการค้าขายกับโลกภายนอกพอสมควร การสร้างทรัพยากรบุคคลขึ้นมาสักคนเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนกันให้ดี อย่างไรก็ตาม นี่เป็นตัวอย่างจากเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือเท่านั้น ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนจากต่างจังหวัดจะมีโอกาสเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพียง 30 แห่งทั่วประเทศ และเกือบครึ่งอยู่ในเปียงยาง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่นี่ก็ถูกสอนให้พึงพอใจกับงานที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเป็นประชากรระดับไหน ทุกคนถือว่าตนเองทำหน้าที่เพื่อชาติ การเลื่อนชนชั้นต่างๆ ผ่านการศึกษา จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยทำกันมากนัก และสุดท้ายความเหลื่อมล้ำก็กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ผู้คนไม่รู้จัก เพราะต้องรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนเองได้รับ และมีเรียบร้อยแล้ว ขอเพียงทำหน้าที่ต่อชาติให้ดี ก็เติมเต็มความรู้สึกภาคภูมิใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้แล้ว
จ.จ. : ค่าเทอมแพงไหม
ค.ม. : ค่าเทอมอะไร ไม่มี เราเรียนฟรี แล้วเราก็ตอบแทนรัฐด้วยการทำกิจกรรมเพื่อรุ่นน้อง
จ.จ. : อย่างเช่น?
ค.ม. : สร้างหอพัก
จ.จ. : หาเงินมาสร้างเหรอ
ค.ม. : ไม่ เราไปช่วยเป็นแรงงาน เรารู้จักวิธีการก่อสร้าง หิน ดิน ทราย เป็นอย่างดี เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งเลยนะ แถมได้ช่วยให้รุ่นน้องมีหอพักดีๆ อยู่ด้วย
จ.จ. พยายามนึกภาพ ค.ม. แบกหิน ดิน ทราย อยู่ในหัว
จ.จ. : แล้วครูดุมั้ย
ค.ม. : ครูก็ต้องดุสิ ต้องสั่งสอนเรา
จ.จ. : เธอว่าฉันเป็นครูที่ดุมั้ย
ค.ม. : ฉันนึกภาพเธอเวลาเป็นครูไม่ออก
จ.จ. : …
จ.จ. : อ้าว แล้วครูมาจากไหนล่ะ
ค.ม. : มีทั้งครูที่นี่ แล้วก็ครูต่างชาติจากอังกฤษ
จ.จ. : แล้วเรียนจบอยากทำอะไร
ค.ม. : ก็ทำงานในกระทรวงต่างประเทศนี่แหละ อยากเก่งภาษามากๆ อยากฝึกเยอะๆ
จ.จ. เห็น ค.ม. เตรียมข้อมูลเยอะมากเวลาดูแลกลุ่มของพวกเธอ สมุดจดแน่นเอี้ยด แม้เวลาพาชาวคณะไปพิพิธภัณฑ์ เธอก็ยังยืนจดคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำใหม่ๆ ที่เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก ไม่มีช่วงไหนที่ได้ว่างเว้นจากการทำงานเลย เจ็ดแปดวันที่อยู่กับ ค.ม. เธอทำงานเสมอ ตั้งใจ มีความรับผิดชอบสูง เพราะเธอได้รับเลือกมาทำหน้าที่ ‘เพื่อชาติ’ แล้ว
ค.ม. : วันหนึ่งฉันอยากออกไปทำงานต่างประเทศ แต่คงต้องเก่งมากๆ ก่อน ตอนนี้เลยตั้งใจมากหน่อย วันหนึ่งอาจจะได้ไปหาเธอไง
จ.จ. : ก็มาสิ อีเมลมาก็ได้
ค.ม. : อีเมลไม่ได้
จ.จ. นึกไม่ออกว่าจะมีหนทางติดต่อสื่อสารกับ ค.ม. อีกได้อย่างไร เธอจึงตัดสินใจทิ้งที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ รวมถึงอีเมลไว้ให้ ค.ม. เนื่องจาก ค.ม. ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ความรู้สึกประหลาดก่อตัวขึ้นในใจ จ.จ. อีกเจ็ดวันเธอต้องจากคนคนหนึ่งไป โดยที่เธอจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนคนนั้นได้เลย ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะได้เจอกันอีกไหม และแม้จะได้กลับไปเปียงยางอีกรอบ ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าทั้งสองจะได้พบกันอีก
เราอยู่บนโลกใบเดียวกันใช่ไหม
จบ.