ภาพประกอบ: Shhhh
ความเดิมจากบทความตอนที่แล้ว ได้พาทุกท่านเดินทางรอนแรมข้ามเวลาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการศึกษามนุษย์จนมาถึงยุคโบราณ ที่การเรียนรู้อย่างเป็นระบบสงวนไว้สำหรับผู้คนเพียงไม่กี่หยิบมือเท่านั้น ในยุคถัดมา การศึกษาเรียนรู้ของมนุษย์ถูกนวัตกรรมทางวัฒนธรรมมากมายกระทบกระแทกและทิ้งร่องรอยมากมายไว้เบื้องหลัง แม้จะผ่านเวลามานาน บางร่องรอยก็ยังแจ่มแจ้งแดงชัดอยู่กับการจัดการศึกษาปัจจุบัน
ไปค่ะ! ไปขุดคุ้ย ค้นหา สำรวจรอยเท้าที่บรรพบุรุษของเราย่ำเหยียบจากยุคกลางจนถึงยุคด้วยกันนะคะ
ดินแดนตะวันตกในยุคกลาง…ใจกลางแห่งความรุ่งเรืองทางศาสนา
จากเดิมการศึกษาเคยเป็นสิ่งเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้มีการจัดให้กันอย่างเป็นทางการตามนิยามการศึกษาในปัจจุบัน เมื่อมาถึงยุคนี้ การศึกษาเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างด้วยความช่วยเหลือจากศาสนา และเมื่อศาสนาเข้ามาเป็นกลไกขับเคลื่อนการเรียนรู้อย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คน การถกเถียงเชิงปรัชญาจึงเป็นวิชาอันสำคัญยิ่งในยุคนี้
โรงเรียนช่วงต้นยุคนั้นหลากหมายมากตามความเชื่อในแต่ละศาสนา แม้ว่ายุคนั้น ศาสนาที่สำคัญก็เห็นจะมีเพียงศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ความขัดแย้งที่เกิดจากมุมมองต่อเนื้อหาสาระของการเรียนรู้นำพาให้การเรียนรู้ในยุคนั้นมีแนวทางหลากหลาย บ้างต้องการให้เด็กเรียนรู้เรื่องทางโลกเป็นหลัก บ้างต้องการมุ่งเน้นไปที่ปรัชญาศาสนาเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งการจัดการศึกษาแบบเน้นเรื่องราวทางโลกในยุคนี้หมายถึงวิทยาศาสตร์ ที่เพิ่มเข้ามาจากการศึกษาศาสนาคริสต์ การจัดการเรียนรู้แบบนี้ได้เดินทางจากยุโรปไปยังซีเรีย อียิปต์ และบางพื้นที่ในตะวันออกกลาง เมื่อจักรวรรดิโรมันสิ้นสุดลงไม่นาน โรงเรียนลักษณะนี้ก็เสื่อมสลายไปตามครรลองด้วย
คริสตจักรโรมัน
จักรวรรดิโรมันเองนั้น เมื่อถูกพลิกโฉมหน้าครั้งใหญ่จากผู้บุกรุกและผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย วัฒนธรรมโรมันกระแสหลักจึงพลอยอ่อนแอลงตามไปด้วย ผู้บุกรุกจากดินแดนอื่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา แต่ทว่า คาสสิโอโดรุส (Cassiodorus – ค.ศ. 490-585) ได้รับหน้าที่ให้ดูแลจัดการ civilitas หรือโปรแกรมการศึกษาว่าด้วยเรื่องมวลชนและการพัฒนาโครงสร้างรัฐ ภายใต้การนำของชาวออสโทรกอท (Osthrogoth) และถือเป็นผลงานที่แม้กระทั่งเหล่าผู้บุกรุกต่างก็ยอมรับ
ความงอกงามของคริสตจักรโรมันจนกลายเป็นศาสนาในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่เรียกว่า ‘katholikos’ (แปลได้ว่า ‘ทั้งหมด’) ซึ่งเป็นรากฐานของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในปัจจุบัน แหล่งเรียนรู้นี้กลายเป็นโรงเรียนในโบสถ์ใหญ่ต่างๆ (cathedrals) เน้นสอนให้เด็กชายเห็นคุณค่าของชีวิตตามวิถีแห่งพระเจ้าผ่านการสอนอ่านและเขียนภาษาละติน เพื่อให้สามารถศึกษาพระธรรมคำสอนได้อย่างลึกซึ้ง การสอนคณิตศาสตร์เพื่อให้เด็กๆ สามารถคิดคำนวณวันสำคัญและเทศกาลทางศาสนาได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการร้องเพลงสำหรับกิจกรรมทางศาสนา
ทั้งนี้ เด็กๆ จะไม่ได้รับการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมเพื่อบริหารร่างกายมากนัก เพราะในมุมมองศาสนา ความสำคัญของรูปร่างหน้าตาถือเป็นเรื่องทางโลก ดังนั้น เด็กๆ จึงควรใช้เวลากับการฝึกระเบียบวินัยอันเคร่งครัดในโรงเรียนมากกว่า
การเรียนของชาวกรีก
ในอีกฟากหนึ่ง ชาวกรีกกลับมองต่างออกไป ยุคนั้นเด็กๆ อายุ 6-16 ปีได้เข้าเรียนในโรงเรียนโดยไม่มีการแบ่งระดับชั้น ไม่ได้แบ่งแยกว่าใครเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่เด็กคือส่วนหนึ่งของผู้ใหญ่ ถือเป็นผู้ที่ต้องซึมซับความรู้จากปราชญ์หรือผู้ใหญ่ในสังคม
ในยุคศตวรรษที่ 12 และ 13 อันเป็นช่วงปลายยุคกลางนั้น มหาวิทยาลัยได้เริ่มถือกำเนิดขึ้นโดยเรียกว่า Liberal Arts หรือศิลปศาสตร์ แบ่งเป็นสองสายใหญ่ๆ
- สาย trivium หรือสายพื้นฐาน สอนหลักภาษา ศิลปะการใช้ถ้อยคำ และตรรกวิทยา (logic)
- สายขั้นสูง สอนศิลปศาสตร์ขั้นสูง หรือ quadrivium คือ คณิตศาสตร์ (arithmetic) เรขาคณิต (geometry) ดนตรี และดาราศาสตร์
มหาวิทยาลัยและการเรียนรู้ยุคนี้ไม่แบ่งการเรียนรู้เป็นแผนกหรือเป็นลักษณะอาชีพชัดเจนดังเช่นการแบ่งคณะในปัจจุบัน แต่แบ่งหยาบๆ ตามเป้าหมายการเรียนรู้ เส้นแบ่งขอบเขตของรายวิชาก็ยังไม่ชัดเจนนัก วิชาต่างๆ ยังคงถูกสอนแบบเชื่อมโยงกันอยู่ ความรู้ในยุคนี้ไม่ถือเป็นความจริงจากธรรมชาติที่มนุษย์สังเกต ทดสอบ ตั้งคำถาม และค้นพบเพื่อตอบสนองความสงสัยใคร่รู้ของตัวเองอีกต่อไป หากแต่เป็นการตีความตามหลักการต่างๆ ที่มีอยู่
ข่าวดีสำคัญที่จะผ่านเลยไปไม่ได้คือบทบาทของผู้หญิง ในยุคนี้ผู้หญิงเริ่มได้รับโอกาสให้เข้ามาเรียนในโรงเรียนมากขึ้น แต่เช่นเคย พวกเธอยังคงต้องมาจากตระกูลชนชั้นสูงเท่านั้น ทั้งนี้ ชนชั้นสูงเองก็ไม่จำเป็นต้องส่งลูกหลานไปเรียนไกลๆ พวกเขาสามารถเรียนอยู่ที่บ้านได้โดยเน้นเฉพาะวิชาจำเป็น เช่น ประวัติศาสตร์ การเต้นรำ ดนตรี จรรยามารยาท การฝึกฝนร่างกาย เป็นต้น
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญเช่นกัน คือ เด็กชายชนชั้นล่างๆ ก็สามารถเรียนรู้การค้าโดยฝึกงานตามร้านรวงต่างๆ ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พวกเขายังคงไม่อาจเข้าถึงบรรดาศิลปศาสตร์อันเป็นของชนชั้นสูงได้เช่นเคย
ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ให้เฟื่องฟู
ยุคนี้ถือเป็นยุคแห่งศาสตร์ความเข้าใจมนุษย์ ผู้คนล้วนต้องการให้การศึกษาช่วยยกระดับจิตใจและปัญญา (intellect) ผ่านนวัตกรรมเดิม คือ Liberal Education หรือการศึกษาศิลปศาสตร์ อย่างไรก็ดี ศาสตร์ดังกล่าวก็แตกต่างไปจากยุคก่อน เพราะเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์นั้นเห็นจะเป็นวรรณกรรม และคนยุคนี้เริ่มมีมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาเปลี่ยนไปจากยุคก่อนที่ศาสนาเป็นแกนกลางในการเรียนอย่างเข้มข้นมาเป็นแนวคิดว่าการศึกษาควรเป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกรอกยาขมใส่ปากอีกต่อไป การตั้งคำถามกับกระบวนการเรียนรู้และพยายามค้นหากระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ถือเป็นวิวัฒนาการในยุคนี้ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
โรงเรียนนั้นมีไว้สำหรับเด็กจนถึงวัยรุ่น อายุ 6-20 กลางๆ นักเรียนจะได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา คณิตศาสตร์ เรขาคณิต ดนตรีและดาราศาสตร์ แต่หลักสูตรได้ให้น้ำหนักความสำคัญกับวรรณกรรมกรีกและโรมันด้วย ส่วนพลศึกษานั้นเรียนผ่านกิจกรรมและเกมต่างๆ
ปลายยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาถือเป็นยุคปฏิรูปการศึกษาก็ว่าได้ อันมีเหตุมาจากความเห็นของฝ่ายศาสนาที่เห็นว่าการมุ่งศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์มากเกินไปนั้นขัดกับนิยามการศึกษามนุษย์ตามแบบคริสต์ศาสนา ฝ่ายศาสนาจึงเริ่มจัดการเรียนแบบฝึกซ้ำๆ โดยใช้อย่างเข้มข้นในการเรียนภาษากรีกและละติน อันเป็นที่มาของการเรียนรู้แบบฝึกฝนทำซ้ำจนช่ำชอง
อย่างไรก็ดี ในยุคนี้ก็เริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์เพื่อให้เด็กยากจนได้ร่ำเรียนทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่านและการเขียน แน่นอนว่าต้องเรียนรู้ศาสนาประกอบไปด้วย ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษาที่เริ่มขยายไปสู่ชนชั้นอื่นๆ มากขึ้นซึ่งยังคงส่งผลต่อการศึกษาในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับโลกตะวันตก ศาสนายังคงมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาในโลกตะวันออก ในอารยธรรมจีน ลัทธิเต๋า ขงจื๊อ และพุทธศาสนาถือว่าเป็นหัวใจแห่งการศึกษา ส่วนการศึกษาในอารยธรรมอินเดียนั้นมีรากฐานจากการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม
เมื่อศาสนาทรงอิทธิพลกับมนุษย์อย่างล้นเหลือในยุคเหล่านี้ แล้วเกิดสิ่งใดที่สั่นคลอนแนวคิดเดิมจนลดบทบาทศาสนาในการจัดการศึกษากันเล่า และทำไมมนุษย์เริ่มหันเหไปค้นหาวิธีการเรียนรู้แบบอื่นๆ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการเรียนรู้ในแบบปัจจุบัน และจากปัจจุบันเราจะเดินทางต่อไปยังทิศทางใด อดใจรอติดตามได้ในบทความตอนจบนะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก: britannica.com
history-world.org