ธุรกิจส่งออกการศึกษา ณ ฟินแลนด์

ภาพประกอบ:Shhhh

เชิญพบกับ ‘Education Finland’ [1] (ก่อนหน้านี้ชื่อว่า Future Learning Finland) องค์กรในการดำเนินงานโดยองค์การการศึกษาแห่งชาติ (Finnish National Agency for Education) ร่วมกับ Team Finland หน่วยงานรัฐอีกแห่งที่เป็นดั่งศูนย์กลางการให้บริการทางธุรกิจต่าง ๆ ที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนแก่ธุรกิจห้างร้านของประเทศฟินแลนด์ ปัจจุบัน Team Finland, Tekes หรือ Finnish Agency for Innovation ซึ่งคล้ายกับ สำนักงานนวัตกรรม ในประเทศไทย และ Finpro หน่วยงานที่ดูแลด้านการให้คำปรึกษาด้านการส่งออกแก่ธุรกิจฟินแลนด์ในต่างประเทศ จะรวมเป็นองค์กรเดียวกัน และเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ต้นปี 2018 เป็นต้นไป ภายใต้ชื่อว่า ‘Business Finland’ และทำหน้าที่

“ส่งออกการศึกษาฟินแลนด์”

ขายกันเป็นล่ำเป็นสันแบบนี้เลยหรือ?

ค่ะ และไม่ได้เพิ่งเริ่มทำ มาทำความเข้าใจการส่งออกการศึกษาแบบฟินแลนด์ก่อนค่ะ สิ่งที่ฟินแลนด์ส่งออกไม่ได้เป็นการชวนให้นักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก ในประเทศมากขึ้น แต่เป็นทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญ (know-hows คำนี้ถูกใช้เป็นคีย์เวิร์ดในการสื่อสารถึงการส่งออกการศึกษาอย่างแพร่หลาย) ในการจัดและการปฏิรูปการศึกษาของตัวเอง

  1. ผลิตภัณฑ์การศึกษาของฟินแลนด์นั้นประกอบด้วยการขายอุปกรณ์การศึกษาต่างๆ ให้กับต่างประเทศ
  2. การขายความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาให้กับต่างประเทศ
  3. การขายทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ โปรแกรมการศึกษา ปริญญาต่างๆ ให้กับต่างประเทศ ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศฟินแลนด์

ทั้งนี้กระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จาก ทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญนั้น เริ่มจาก เฮนน่า วิร์กุเน็น (Henna Virkkunen) รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์ (ชื่อสมัยนั้น) ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2009 เพื่อศึกษาอุปสรรคต่างๆ ในการส่งออกการศึกษา พร้อมทั้งร่างยุทธศาสตร์และมาตรการในการทำงานต่อไป (ผลการศึกษาชื่อ Finnish Education Export Strategy: Summary of the Strategic Lines and Measures) โดยเป็นผลมาจากนโยบายสมัยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ อเล็กซานเดอร์ สตุปป์ (Alexander Stubb) ผู้ริเริ่มการศึกษาและปรับปรุงภาพลักษณ์ของประเทศโดยการแต่งแต่งผู้แทนด้านภาพลักษณ์ของประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือ คณะผู้แทนด้านแบรนด์ประเทศฟินแลนด์ (Country Brand Delegation) ขึ้นเมื่อปี 2008 และคณะทำงานนี้ได้ระบุว่า

การศึกษาต้องเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ฟินแลนด์

ช่วงเดียวกันนั้นมีการแก้ไขพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในปี 2008 และต่อมาปี 2009 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอาชีวะก็ได้รับการแก้ไขเช่นกัน เพื่อให้องค์กรการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นมีอิสระในการทำงานมากขึ้น

ฟินแลนด์ตั้งเป้าหมายในอนาคตไว้ว่า จะก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าของโลกด้านธุรกิจการศึกษา โดยอาศัยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงของตัวเองเป็นต้นทุน นอกจากนี้ภายในปี 2015 ฟินแลนด์ต้องการเห็นการเติบโตของการส่งออกการศึกษาและความรู้ความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้นเทียบเท่าการส่งออกประเภทอื่นของประเทศ

“เป้าหมายเป็นตัวเลขคือการเพิ่มมูลค่าการส่งออกการศึกษาจาก 260 ล้านยูโร เป็น 350 ล้านยูโร ภายในปี 2018”

ปัจจุบันรัฐบาลฟินแลนด์แต่งตั้งให้ มาริอันเน่ ฮูสโกะ (Marianne Huusko) เป็นทูตด้านการส่งออกการศึกษา ตัวแทนประเทศฟินแลนด์ในการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการนี้

ถ้าจะจริงจังขนาดนี้ ขอถามกลับบ้างเถิดว่าทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ยังไงกันในเมื่อ…

จะส่งออกการศึกษานี่แต่การศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศฟินแลนด์ยังใช้ภาษาฟินแลนด์หรือสวีเดนอยู่เลย แล้วมันจะรอดเหรอ?

นโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคการส่งออกการศึกษาของฟินแลนด์นั้นถือเป็นผลพวงของความสำเร็จในการประเมินระดับนานาชาติอย่าง PISA และระบบการศึกษาที่แข็งแรงของตน ดังนั้นรัฐจึงเล็งเห็นว่า ความรู้และทักษะที่ได้สั่งสมมานี้ สามารถนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศได้

ทำความเข้าใจกันก่อนว่าสิ่งที่กำลังขายอยู่นี้ไม่ใช่การยกห้องเรียนฟินแลนด์ไปวางแปะไว้ตามที่ต่าง ๆ แต่เป็นการขาย การท่องเที่ยวเชิงการศึกษา แพคเกจการอบรมต่าง ๆ เทคโนโลยีด้านการศึกษา การให้คำปรึกษาเชิงนโยบาย การแลกเปลี่ยนครู ความร่วมมือระดับโรงเรียนและอุดมศึกษา โดยมีทั้งการดำเนินงานโดยองค์กรต่อองค์กร (ทั้งภาครัฐและเอกชน) และการดำเนินงานผ่านสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดรัฐบาลฟินแลนด์ย้ำเสมอว่า ยุทธศาสตร์การส่งออกการศึกษาฟินแลนด์จะไม่ขายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เรามีแต่การพัฒนาพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันกับประเทศคู่ค้าของเรา

แล้วทำไมถึงทำธุรกิจกับการศึกษากับคนอื่น ทั้งที่มันเป็นของฟรีสำหรับคนฟินแลนด์ล่ะ?

เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) อังเคล กูร์เรีย (Angel Guerria) ได้กล่าวไว้ในปี 2007 ว่า

“ก่อนอื่น การศึกษาจะช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์และทำให้คนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขั้นที่สอง การศึกษาจะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศนั้นๆ ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อความสามารถในการเติบโตและการแข่งขันในโลกที่มีระบบเศรษฐกิจบนฐานความรู้”

กล่าวคือ การศึกษาขั้นพื้นฐานของคนในประเทศนั้นถือเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฟินแลนด์จึงยึดหลักว่าทุกๆ  คนต้องได้รับบริการนี้จากรัฐอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน จึงเป็นสาเหตุให้การศึกษาสำหรับคนฟินแลนด์นั้น ‘ฟรี’ จนกระทั่งถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งการจัดการศึกษาให้คนในประเทศและการส่งออกการศึกษานั้นใช้แว่นคนละชนิดในการมองและดำเนินงาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในระบบการศึกษาบางแห่ง คนอาจมองการศึกษาคือสินค้าอุปโภคบริโภคที่คนเราต้องลงทุนเพื่อสร้างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับตัวเอง การศึกษานั้นยังไม่ใช่บริการที่รัฐมอบให้ประชาชนโดยสมบูรณ์ จึงเกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างสถานศึกษาต่างๆ อยู่

การส่งออกการศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่บุกเบิกธุรกิจด้านนี้ รัฐบาลออสเตรีเลียทำเงินสูงถึง 19 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นปริมาณร้อยละ 36.1 ของบริการที่นำเข้าและส่งออกทั้งหมดในช่วงปีการศึกษา 2009/2010

รัฐบาลฟินแลนด์เองถือว่าตนเป็นผู้เล่นใหม่ในธุรกิจนี้บนเวทีระดับโลก เมื่อมองการส่งออกการศึกษาเป็นธุรกิจ ก็ต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าตนกำลังขายอะไร มีใครร่วมขายสินค้าหรือบริการนี้กับรัฐบ้าง และจะขายด้วยวิธีใด ยุทธศาสตร์หลักแปดประการของการส่งออกการศึกษาฟินแลนด์คือ

  1. การจะส่งออกการศึกษาได้นั้นต้องมีการศึกษาภายในประเทศที่แข็งแรงก่อน จึงต้องพัฒนาการศึกษาภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
  2. การส่งออก know-hows ด้านการศึกษาจะช่วยให้การส่งออกด้านอื่นมั่นคงมากขึ้น
  3. เครือข่ายที่ดีทั้งในและนอกประเทศจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
  4. เป้าหมายต้องชัดเจนในการทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น ผ่านการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
  5. การตลาดต่างประเทศนั้นอาศัยกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรง ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ ต้องลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
  6. คุณภาพเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ
  7. การรวมกลุ่มกันเป็น cluster เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
  8. สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนการส่งออกการศึกษาของประเทศ

อ้าว! ครูไม่ไปหาเงินกันหมด แล้วใครจะสอนนักเรียนล่ะ?

ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้มหาวิทยาลัยต่างๆ มักจับมือกันตั้งขึ้นมา เช่น มหาวิทยาลัยที่ถนัดด้านครุศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอาชีวะ อาจตั้งบริษัทลูกขึ้นมาร่วมกันเพื่อให้บริการการศึกษา ในบริษัทมีพนักงานประจำทำงาน และสามารถใช้บุคลากรจากมหาวิทยาลัยได้

ดังน้ันจึงมีวิธีการจัดการบุคลากรหลากหลายแบบมากขึ้นอยู่กับการจัดการขององค์กรนั้นๆ เลย เช่น

กรณีแรก บุคคลากรในมหาวิทยาลัยมีชั่วโมงการทำงานต่อปีระบุเรียบร้อยแล้ว การออกมาทำงานให้บริษัทลูกของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินงาน หากยังไม่เกินจำนวนชั่วโมงทำงาน บุคคลากรคนนั้นจะไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติม

กรณีที่สอง หากต้องการจ้างงานบุคคลากรที่อยู่ในองค์กรอื่นๆ เช่น โรงเรียน คนคนนั้นต้องลางานมาอย่างถูกต้องโดยไม่ได้รับค่าจ้างจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานนี้ โรงเรียนก็สามารถใช้งบที่ต้องจ่ายคนคนนั้นไปจ้างบุคคลากรอืกคนมาทำงานแทนในช่วงที่ลาไป

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงและจัดการระหว่างองค์กรต่างๆ ที่ทำเช่นนี้ได้เพราะตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว องค์กรทางการศึกษาของฟินแลนด์มีพื้นที่อิสระมากพอที่จะดำเนินการตามที่ตนเห็นสมควรได้

ครั้งที่ไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เฮลเรกา (Heureka) ณ เมือง วานตา (Vantaa) ประเทศฟินแลนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายของศูนย์บอกว่า

“เราพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ทุกอย่างให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพื่อจะส่งออกต่อไปยังประเทศต่างๆ ที่สนใจ เงินที่เราได้ก็นำมาซื้อนิทรรศการวิทยาศาสตร์อย่างที่คุณกำลังเดินชมอยู่นี้ (นิทรรศการชั่วคราวชุดนั้นคือการจัดแสดงสัตว์และเครื่องในสัตว์ต่างๆ อย่างละเอียดด้วยสเกล 1:1 กล้ามเนื้อเป็นมัด เส้นเลือดเป็นเส้น และสัตว์ทุกตัวคือสัตว์ที่ตายแล้วจริง) มาจัดแสดงได้ มันราคาสูงเอาเรื่องเลยล่ะ”

การศึกษาทำเงินได้ ไม่น่าอาย แต่ถ้าได้ทำแล้ว จงทำอย่างมืออาชีพ ฟินแลนด์น่าจะคิดแบบนี้

หมายเหตุ:
Education Finland ประกอบไปด้วยบริษัท มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอาชีวศึกษา และสถาบันอาชีวศึกษาอื่นๆ

อ้างอิงข้อมูลจาก:
Finnish Education Export Strategy: Summary of the strategic lines and measures by Ministry of Education and Culture
Education as Finland’s Hottest Export? A Multi-Faceted Case Study on Finnish National Education Export Policies by Monika Schatz (Doctoral Dissertation)
http://minedu.fi/en/article/-/asset_publisher/marianne-huusko-koulutusviennin-ladunavaaja

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า