อุ้ย…ตาย…ว้าย…กรี๊ด

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ตายแล้ว! ใครเขาให้พูดเรื่องตายกัน อัปมงคลตายเลย

ในประโยคนี้มีความว่า ‘ตาย’ จำนวนสามคำถ้วน

หลังจากที่ไปชมภาพยนตร์เรื่อง Die Tomorrow ของ คุณเต๋อ-นวพล ซึ่งยกเรื่องความตายขึ้นเป็นสารัตถะนั้นก็สงสัยว่า เมื่อความตายอาจเกิดขึ้นกับเราๆ ท่านๆ ได้อย่างปัจจุบันทันด่วน เดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้โดยไม่บอกไม่กล่าวหรือต้องตอบคำถามสุขภาพก่อนสักคำ พวกเรานั้นได้รับรู้หรือคุ้นเคยกับกระบวนการเตรียมพร้อมรับมือกับความตายอย่างไรบ้าง สมัยเด็กๆ พอเราพูดเรื่องความตายขึ้นมา ไม่พ้นหรอกจะต้องได้โดนดุโดนกรี๊ดใส่จากบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ว่า “อัปมงคล” เป็นแน่

คุณกลอเรีย สไตเน็ม (Gloria Steinem) นักสื่อสารมวลชนชาวอเมริกัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“The truth will set you free, but first it will piss you off.”

ความจริงจะปลดปล่อยคุณ แต่คุณจะต้องหงุดหงิดกับมันก่อน

ในกรณีความตาย ก็ช่างสะกิดใจให้คิดตามว่าความจริงเจืออยู่ในข้อความนี้ไม่น้อยทีเดียว ด้วยความตายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ต้องประสบพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ในปัจจุบันซึ่งยังไม่มีอุบัติการณ์ใดๆ ที่เป็นไปเพื่อยื้อยุดความตายไม่ให้เกิดขึ้นได้) ความกลัวตายจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าไม่ค่อยถูกแบ่งแยกด้วยวัฒนธรรมสักเท่าใดนัก

คนจีนหลีกเลี่ยงการใช้เลข 4 ในชีวิตประจำวัน เช่น ในลิฟต์อาจไม่มีชั้น 4 ในสิงคโปร์ไม่มีรถเมล์หมายเลข SBS***4* คนกวางตุ้งในฮ่องกงมองว่าเลข 14 และ 24 อัปมงคล จึงมักสร้างตึกที่สูงกว่า 14 และ 24 เป็นเหตุให้ห้องชั้นสูงๆ ราคาแพงตามไปด้วย หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์โนเกียสมัยยังรุ่งโรจน์ ระบบปฏิบัติการซิมเบียน (Symbian) ไม่มีซีรีส์ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 4 แต่ใช้หมายเลข 3410 แทน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นที่สบายใจแก่ผู้ใช้ชาวเอเชีย เป็นต้น เพราะเสียงบังเอิญไปพ้องกับคำว่า ‘ตาย’ ภาษาอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นและจีน รวมถึงเวียดนามก็ได้รับอิทธิพลนี้มาด้วยเช่นกัน

นี่มนุษย์เราเกลียดกลัวความตายถึงขนาดไม่อยากได้ยินแม้กระทั่งเสียงของมันเลยหรือ? และเมื่อกลัวมากจนไม่ใคร่พูดถึง ความตายจึงต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ถูกเหวี่ยงออกไปจากบทสนทนาทั้งปวง เหมือนว่าเราลืมไปแล้วว่าสุดท้ายแล้วเราก็ต้องตายทั้งๆ ที่เราก็ก้าวเข้าสู่ความตายอยู่ทุกเสี้ยวเวลาที่ผ่านไป แน่นอนว่าการพูดถึงหรือระลึกถึงความตายทุกขณะจิตดังเช่นที่พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงการเจริญมรณานุสติกับพระอานนท์ก็อาจทำให้ชีวิตบางคนไร้ชีวาลงไปมาก แต่หากจะตั้งใจลืมไปเลยก็คงทำให้ไม่ทันตั้งตัวหากเกิดความสูญเสียขึ้น ไม่ว่าจะของผู้ใดก็ตาม

เคยได้ยินคำว่า ‘bereavement’ หรือการสูญเสียคนที่เรารักไปไหมคะ คำนี้มาจากคำว่า bereafian ในภาษาอังกฤษโบราณซึ่งหมายความว่า ‘ปล้น’ bereavement จึงเป็นคำที่ใช้อธิบายประสบการณ์ที่เราอาจถูก ‘ปล้น’ คนที่เรารักไปด้วยความตาย นั่นคือการไม่ทันตั้งตัว ไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจ อันนำมาซึ่งความเศร้าโศกแก่ผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในหลายระดับ ถึงขนาดยอมตายตกไปตามกันก็มี

เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าความตายจะโจมตีเราทุกคนอย่างไม่อาจมีใครล่วงรู้ได้ เพื่อบรรเทาความสูญเสียแก่บรรดาผู้ที่ยังอยู่ในโลกนี้ต่อไป เราจึงต้องหัดตั้งรับเพื่อเผชิญหน้ากับความตายค่ะ

ตามที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น หากสังเกตดูจากวัฒนธรรมบ้านเรา ผู้คนดูเหมือนจะไม่คุ้นเคยกับการให้เด็กได้รู้จัก เข้าใจ หรือเผชิญหน้ากับความตาย ลองนึกถึงใบหน้าฉงนฉงายของบรรดาเด็กๆ ที่ได้รับคำอธิบายจำพวกว่า “โตไปเดี๋ยวหนูก็เข้าใจเองจ้ะ” (หากปรับมุมมองดู นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ อยากโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นได้ เพราะการจะเข้าใจอะไรๆ ในวัฒนธรรมบ้านเราต้องอาศัยการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากอยู่หลายสถานการณ์)

แต่ที่อังกฤษไม่เป็นเช่นนั้นค่ะ เนื่องจากเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี กว่าร้อยละ 92 จะต้องเคยประสบกับการสูญเสียใครสักคน มีเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปีกว่า 250,000 คนต้องเคยสูญเสียพ่อหรือแม่ไป เมื่อเป็นเช่นนั้น การเล่าเรียนเรื่องเกี่ยวกับความตายของคนใกล้ตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาในอังกฤษ โดยเป็นส่วนหนึ่งในสาระวิชา PSHE (Personal, Social, Health and Economic Education) หรือกลุ่มวิชาที่ว่าด้วยการเรียนเรื่องของตัวเอง สังคม สุขภาพ และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรแกนกลางของอังกฤษตั้งแต่ปี 2000 เพื่อเพิ่มพูนทักษะชีวิตที่นำไปใช้ได้จริงให้แก่นักเรียน กล่าวคือ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและทัศนคติในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย เป็นประโยชน์ และใช้ชีวิตด้วยความรับผิดชอบพร้อมกับสุขภาพที่ดีได้ ทั้งนี้การเรียนการสอนในสาระวิชานี้แตกต่างกันไปตามแต่โรงเรียนจะออกแบบ

นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องความตายในเชิงทฤษฎี เหมือนที่เราเรียนกันในวิชาพระพุทธศาสนา โดยได้รับการบอกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำนองว่า ความตายเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ประการหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดพึงปรารถนาให้มาสู่ตน ความประมาทในชีวิตเป็นหนทางแห่งความตาย แต่เรื่องเกิดแก่เจ็บตายล้วนเป็นอนิจจัง ใครๆ ก็ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเรียนการสอนในบ้านเราช่วยให้รู้หรือเข้าใจหรือไม่ว่าความตายเป็นอย่างไรกันแน่ ช่วยให้พอจะสัมผัสได้หรือไม่ว่าถ้ามีคนที่รักตายไปจริงๆ จะรู้สึกอย่างไรบ้าง เราอาจได้เรียนรู้ข้อมูลเชิงสถิติอย่างในวิชาสุขศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือโรคภัยจำนวนเท่านี้เท่านั้น แต่แล้วอย่างไร มันเชื่อมโยงกับตัวเราอย่างไรบ้าง แม้กระทั่งในอีกมุมหนึ่งของประเด็นเรื่องความตาย การเรียนเรื่องราชาศัพท์และคำสุภาพที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ‘ตาย’ ที่มีเป็นกระบุงโกยช่วยให้เราเข้าใจคำแต่ละคำอย่างลึกซึ้งกว่าการจัดคำให้ถูกคนได้มากน้อยเพียงใด

ยิ่งหาข้อมูลเรื่องนี้จากประเทศอย่างอังกฤษก็ยิ่งพบว่ามีองค์กรและมูลนิธิมากมาย ทั้งให้ข้อมูล ช่วยจัดอบรม มีฮอตไลน์สายด่วนต่างๆ นานา เพื่อช่วยเยียวยาเด็กๆ ที่ต้องผ่านประสบการณ์เช่นนี้ ว่าแต่องค์กรต่างๆ ในประเทศอังกฤษที่ช่วยกันเตรียมพร้อมให้เด็กๆ รับมือกับเหตุการณ์ความตายของคนใกล้ตัวผ่านกิจกรรมอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างมาสักสองกิจกรรมนะคะ

กิจกรรมในวันแม่

การเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของแม่ในแต่ละครอบครัวผ่านกิจกรรมบูรณาการด้วยวิชาสุขศึกษา (ในอังกฤษเรียกว่า สุขภาพและสุขภาวะ หรือ Health and Wellbeing) ภาษาและศิลปะ สำหรับช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น

กิจกรรมนี้ดูจะแตกต่างจากกิจกรรมวันแม่บ้านเราที่ผู้เขียนประสบในโรงเรียนไปมาก และกิจกรรมนี้อาจไม่ได้ออกแบบมาเพื่อกล่าวถึงเรื่องความตายของแม่โดยตรง เพราะกิจกรรมนี้สร้างขึ้นเพื่ออธิบายบทบาทและความสำคัญของแม่ พร้อมทั้งเพื่อให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันหากมีแม่ของใครจากไปแล้ว ผ่านบทสนทนาง่ายๆ เกี่ยวกับกิจวัตรของแม่ หรือสิ่งที่แม่คอยทำให้ลูกๆ ที่บ้าน และคำถามเช่น

“เวลาคิดถึงคนสำคัญอย่างแม่หรือคนอื่นๆ ที่บ้านนั้นรู้สึกอย่างไร”

“เมื่อนึกภาพแม่หรือคนสำคัญคนอื่นๆ จะมองเห็นอะไรบ้าง”

“บุคคลเหล่านี้สำคัญกับเด็กๆ เพราะอะไร”

ผู้ออกแบบกิจกรรมแนะนำว่าอย่าเน้นที่เด็กคนใดคนหนึ่งมากนัก เพราะบรรดาแม่ๆ ย่อมต่างกันไปในแต่ละบ้าน บางบ้านอาจมีแม่ที่เป็นแม่เลี้ยง แม่บุญธรรม หรืออาจมีแต่พ่อ หรือผู้ปกครองคนอื่นๆ ก็ได้ และถือโอกาสนี้คุยกับเด็กๆ ไปเลยว่าบางบ้านแม่อาจเสียชีวิตไปแล้ว แล้วก็ชวนเด็กๆ วาดรูปแม่หรือบุคคลพิเศษในชีวิตตัวเอง ถือเป็นความทรงจำที่เราจะมอบให้แม่หรือบุคคลพิเศษที่บ้านเป็นของขวัญ

หากมีเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว ควรบอกเด็กๆ เรื่องกิจกรรมนี้ล่วงหน้า

กิจกรรม ‘ตาย’ เป็นเช่นไรหนอ?

กิจกรรมนี้ถูกออกแบบสำหรับเด็กระดับประถมศึกษาเช่นกัน โดยสามารถบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์เข้ากับวิชาสุขศึกษา (Health and Wellbeing) ได้

กระบวนการนั้นแสนเรียบง่าย เพียงชวนนักเรียนให้เตรียมใบไม้แห้งมา หรือต้นพืชที่ตายแล้ว ส่วนครูก็สามารถเตรียมนิทานที่ตัวละครหลักตายไปแล้วมาสมทบ หรือหากหาไม่ได้เลยจริงๆ อาจให้นักเรียนมาเล่าเรื่องสัตว์เลี้ยงที่ตายไปแล้วของตัวเองก็ได้

แต่ถ้าหากครูมีสื่ออุปกรณ์ดังว่า ก็เพียงส่งใบไม้ต้นไม้แห้งให้เด็กๆ และชวนเด็กๆ อธิบายว่าสิ่งที่อยู่ในมือเขาหน้าตาเป็นอย่างไร และถามว่ารู้ได้ยังไงนะว่ามันตายแล้ว จากนั้นสามารถขยายความไปคุยกันต่อเรื่องส่วนต่างๆ ในร่างกายว่า ถ้าอย่างหัวใจไม่สบาย มีปัญหาจะเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น ประเด็นของการพูดคุยคือการบอกเด็กๆ ว่าเมื่อคนคนหนึ่งตายจากไปแล้วจะกลับมามีชีวิตอีกไม่ได้ เพราะหมดความรู้สึกไปแล้ว ดังนั้นเมื่อเขาถูกฝังอยู่ใต้ดินหรือถูกเผา เขาก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวดแล้วน่ะจ้ะ

แค่เพียงกิจกรรมนี้เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ประเด็นหลัก 3 จาก 4 ประเด็นหลักของความตายแล้วไม่ว่าจะเป็น

คนเราเมื่อตายแล้วจะไม่กลับมามีชีวิตอีกแล้ว (Irreversibility)

เมื่อความตายมาเยือนทุกอย่างในร่างกายจะหยุดทำงาน (Finality)

สิ่งมีชีวิตต้องตายทั้งนั้น (Inevitability)

อะไรหรือสิ่งใดเป็นสาเหตุของการตาย (Causes of Death)

ดูๆ ไปแล้วไม่เห็นจะมีกิจกรรมอะไรที่พิเศษหวือหวาเลย ไม่เห็นจะโลดโผนอะไร ทำไมไม่เห็นความครีเอทีฟเลย ซึ่งประเด็นมันอยู่ตรงนี้ล่ะค่ะ การเตรียมพร้อมให้เด็กๆ เข้าใจความตาย คือการพูดคุยกันด้วยจริตปกติ เพราะความตายเป็นเรื่องที่ใครต่างก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ไม่ว่าใครก็ต้องเจอเข้าสักวันหนึ่งของชีวิต ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่พูดถึงได้ ไม่เป็นเรื่องต้องตระหนกตกใจ สามารถใช้อธิบายเด็กๆ ได้อย่างมีเหตุมีผลมากกว่าถ้อยคำที่ตัดสินว่ามันน่าเกลียดน่ากลัวและไม่ควรพูดถึง และนอกจากกิจกรรมในห้องเรียนแล้ว การพูดคุยทำความเข้าใจกันในครอบครัวยามต้องประสบพบเจอกับความตายก็น่าจะช่วยเตรียมพร้อมให้กับเด็กๆ ได้เช่นเดียวกัน

ไม่กรี๊ด…คุยกันตรงๆ นะ

ที่สุดแล้วคงไม่มีอะไรต้องเป็นกังวลหรือกลัวไป พูดเรื่องความตายกันกับเด็กให้ชัดเจนไปเลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องบอกว่าพ่อแม่ไปสวรรค์ หรือไปสบายแล้วและปล่อยให้เด็กๆ โตขึ้นอีกต่อไปกับคำพูดเหล่านั้น หรือหากพูดว่า “พ่อจากเราไปแล้ว” เด็กเล็กๆ อาจเข้าใจได้ว่าพ่อทอดทิ้งเขาไปค่ะ สำหรับเด็กเล็กๆ สัก 5 ขวบที่เริ่มคุยรู้เรื่องแล้ว เราสามารถบอกเขาได้ว่าตอนนี้ร่างกายของคนคนนี้หยุดทำงานแล้ว เขาเลยหยุดหายใจ หยุดคิด แล้วก็หยุดพูดไปแล้ว ไม่ต้องบอกว่าเขาหลับไปแล้วก็ได้ค่ะ เพราะการณ์จะไพล่ไปเป็นว่าเด็กๆ จะกลัวการหลับแทน ส่วนเด็กในวัยเรียนนั้นเริ่มเข้าใจได้แล้วว่าคนเราต้องตาย เราสามารถพูดตรงๆ ได้

สิ่งสำคัญคือการรับฟัง ไม่บอกให้เด็กๆ เก็บกลั้นความรู้สึกเอาไว้กับตัวเองคนเดียว เพราะความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ต้องเผชิญหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ที่เหลือก็อยู่ที่คนที่ยังไม่ตายที่จะมอบความรักความอบอุ่น และการอยู่เคียงข้างเด็กๆ ในยามที่พวกเขาต้องผ่านประสบการณ์เหล่านี้ไปค่ะ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
winstonswish.org
childhoodbereavementnetwork.org.uk
elephantsteaparty.co.uk
psychologytoday.com

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า