ห้องเรียนนี้ไม่มีครู

ภาพประกอบ:Shhhh

 

หากลองให้คุณผู้อ่านนึกถึงการเรียนแบบที่ไม่มีครูยืนสอนอยู่หน้าห้องเรียนเป็นตัวเป็นตน หลายคนคงนึกถึงการเรียนพิเศษรอบวิดีโอหรือการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม

ถ้าให้ใหม่ขึ้นมาหน่อยก็เห็นจะเป็น MOOC หรือ Massive Online Open Courses ต่างๆ นานา ที่เราสามารถเข้าเรียนวิชาอะไรก็ได้ กับครูที่มาจากทุกหนแห่งตามแต่ที่ใจเราปรารถนา และหลายคอร์สนอกจากจะมอบประกาศนียบัตรให้เราแล้ว ยังช่วยสร้างชุมชนของผู้เรียนไว้ช่วยเหลือกันอีกด้วย ซึ่งบรรดา MOOC นั้นมีทั้งแบบที่เรียนฟรีและจ่ายสตางค์เรียน ราคาถูกแพงแล้วแต่ความแซ่บของผู้สอนและความเอ็กซ์คลูซีฟของเนื้อหาที่สอนค่ะ

แต่ห้องเรียนที่จะเล่าสู่กันฟังในวันนี้ก็เป็นห้องเรียนอีกห้องหนึ่งที่ไม่ต้องมีคุณครูมายืนอยู่เป็นตัวเป็นตนค่ะ และไม่ใช่การเรียนการสอนผ่านดาวเทียมหรืออินเทอร์เน็ต หรือระบบใดๆ ก็ตามที่จะได้เห็นครูอยู่ในจอสักจอ มีแต่นักเรียนและนักเรียนเท่านั้นที่เป็นคนจัดการการเรียนรู้ของตัวเองและสนุกไปในห้องเรียนทั้งสามห้องนี้ค่ะ

ขอประเดิมห้องแรกด้วยคำถามถึงคุณผู้อ่านว่า ถ้าจะสอนเรื่องเงินๆ ทองๆ ทั้งหลายให้เด็กประถมไม่ว่าจะเป็นสกุลเงิน การออมเงิน การใช้จ่าย การทำธุรกรรมที่ธนาคาร หรือแม้แต่การเลือกซื้อของ ทั้งหมดนี้ไปพร้อมๆ กัน คุณผู้อ่านจะสอนอย่างไรคะ ให้เวลาคิดเลยค่ะ…

ห้องเรียนแรก ‘เงินทองเป็นของหายาก’

วิชาที่ได้เรียน: การเงิน คณิตศาสตร์ และวิชา Executive Function Skills (EF) หรือทักษะสำหรับการควบคุมตนเอง

ถ้ายังนึกไม่ออก มาลองดูแนวทางจากโรงเรียนประถม Kirton Primary School ที่ประเทศอังกฤษกันค่ะ เขาจำลองทุกอย่างที่ว่าให้มาอยู่ในโรงเรียนให้เด็กๆ กว่า 500 คน ตั้งแต่อายุ 5 ขวบถึง 11 ปีเริ่มเรียนรู้ได้พร้อมๆ กัน แถมยังสนุกและน่าสนใจอีกด้วย

ครูแคลร์ โฟวากูว์ (Claire Fovargue) รองหัวหน้าครูของโรงเรียนเล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนมีสกุลเงินของตัวเองชื่อว่า Kirts (เคิร์ต) มอบให้เด็กๆ เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านวิชาการจำพวกการสอบวัดผล หรือมีพฤติกรรมน่ารักอย่างการมาเรียนสม่ำเสมอ เข้าร่วมเป็นตัวแทนทำกิจกรรมในโรงเรียน หรืออ่านหนังสือได้หลายๆ เล่ม พวกเขาจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินสกุลเคิร์ตเพื่อเก็บไว้ใช้ซื้อของในร้านค้าจำลองในโรงเรียน

ตัวอย่างเช่น การทำคะแนนสอบสะกดคำหรือการสอบเลขได้เต็มจะได้เงิน 1 เคิร์ต โดยของในร้านรวงที่โรงเรียนจะมีราคาค่างวดตั้งแต่ 3-100 เคิร์ต มีสินค้าทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นลูกเด้ง ปากกาเลื่อมแพรวพราวระยิบระยับ ไปจนกระทั่งถึงของอลังการหน่อยอย่างบอร์ดเกมหรือโต๊ะฟุตบอลชุดเล็ก จุดประสงค์สำคัญคือ การสอนให้นักเรียนทำงานให้จงหนักก่อนจะได้รางวัลตอบแทน และอดออมเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า อย่างเช่น น้องเอวี่ วัย 8 ขวบก็ใช้เงิน 12 เคิร์ตที่สะสมมาถึง 10 อาทิตย์เพื่อซื้อตุ๊กตาหมีที่เล็งไว้มานานแสนนาน

แล้วมันต่างกับดาวเด็กดี สติกเกอร์สารพัด ของรางวัล หรือประกาศนียบัตรต่างๆ ในโรงเรียนอื่นๆ ที่มีกันมาแต่ช้านานแล้วอย่างไรล่ะ?

ต่างสิคะ ตรงที่โรงเรียนนี้มีธนาคารจำลองให้นักเรียนได้สะสมเงินเคิร์ตสำหรับซื้อของที่ตัวเองต้องการจริงๆ และใช่ว่าจะเป็นธนาคารปลอมๆ แบบเด็กน้อยเล่นขายของบ้านเราเสียเมื่อไหร่ ธนาคารโรงเรียนนี้บริหารจัดการโดยนักเรียนประถมของโรงเรียนนั่นแหละค่ะ เมื่อถึงเวลาพัก นักเรียนก็จะมาเปิดธนาคารเพื่อบริหารงานธนาคาร และแน่นอน ทำงานย่อมได้ค่าจ้าง พวกเขาก็ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเคิร์ตเช่นกัน เหมือนกับคนทำงานอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่ผิดเพี้ยน ส่วนกระบวนการทำธุรกรรมก็คัดลอกมาไม่ต่างกับธนาคารเงินปอนด์หรือเงินบาทจริงๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการสมัครคัดเลือกเข้ามาทำงานในฐานะนายธนาคารตำแหน่งต่างๆ หรือการฝากถอนเงินโดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคารที่เป็นนักเรียนมาช่วยกันดูแลการทำธุรกรรมให้

น้องลิลลี่ อายุ 10 ขวบ ผู้จัดการธนาคารชอบการทำงานที่นี่เพราะได้เห็นคนมาถอนเงิน หรือตอนที่พวกเขารู้ตัวว่าตอนนี้ออมเงินได้เยอะแล้ว

ครูแคลร์ยังเล่าให้ฟังอีกว่ากำลังจะขยายโครงการให้ใหญ่ขึ้น เพราะจะขยายธุรกิจไปทำตลาดและร้านอาหารจำลองอีกต่างหาก
อะไรจะดีไปกว่าการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ทั้งเด็กๆ ที่ตั้งใจมาเรียนและตั้งใจเรียนมากขึ้นแถมยังเข้าใจเรื่องการออมเงินไปพร้อมๆ กันอีกล่ะค่ะคุณผู้อ่าน

แต่เดี๋ยวก่อน แบบนี้ก็เหมือนการออมเงินทั่วๆ ไป โรงเรียนไหนก็ทำธนาคารโรงเรียนกันหรือเปล่า?

ส่วนหนึ่งก็จริงดังว่านะคะ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่หลายโรงเรียนประยุกต์กระบวนการธนาคารและสอนเรื่องการออมเงินให้นักเรียน แต่อย่างไรก็ดี ออมแล้วไปไหนเล่า? การสร้างระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับเงินทั้งหมดจนเกือบครบวงจรตามความเป็นจริงและเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบนับเป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับการเรียนครั้งนี้

เอาล่ะค่ะ ไหนๆ ก็พามาชมการจำลองโลกแห่งความเป็นจริงมาอยู่ในห้องเรียนแล้ว ห้องเรียนถัดไปนั้นโปรดักชันใหญ่โตชนิดที่คาดไม่ถึงแน่นอนค่ะ

ให้เวลายาวๆ ไว้นึกคำตอบสำหรับบรรยากาศห้องเรียนที่สองเลยค่ะว่า เราจะสอนวิชาหน้าที่พลเมืองอย่างไรให้สามารถสร้างจิตสำนึกได้อย่างยั่งยืน ให้นักเรียนรู้ว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไรบ้าง และสิ่งที่เราทำส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อผู้อื่น ในสังคมมีธุรกิจและบริการภาครัฐในลักษณะใดบ้าง แถมยังได้ลองทำอาชีพที่ตนเองชื่นชอบอีกด้วย

ถ้ามันจะเยอะแยะปานนั้น ก็จำลองเมืองหนึ่งเมืองขึ้นมาเลยก็แล้วกัน!

photo: saastamoinenfoundation.fi

ห้องเรียนที่สอง ‘Me & My City เมืองนี้หัวใจเราจอง’

วิชาที่ได้เรียน: สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แนวคิดและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

เมืองจำลองขนาด 500 ตารางเมตร กั้นด้วยผนังที่เคลื่อนย้ายได้สะดวกประจำตามหัวเมืองต่างๆ ในฟินแลนด์ คอยให้บริการนักเรียนกว่า 30,000 คนต่อปีได้มาจากการออกแบบสาระการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด ‘ผู้ประกอบการ เศรษฐกิจ และสังคม’ ตามหลักสูตรแกนกลางของการศึกษาฟินแลนด์โดยจัดให้สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นอันดับแรกและเริ่มให้บริการนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อให้นักเรียนได้มาลองเล่นบทบาทสมมุติที่ดูเหมือนไม่แค่จะสมมุติในบรรยากาศสมจริง คลาคล่ำด้วยบริษัทจำลอง 15-20 แห่งที่ร่วมสนับสนุนโดยบริษัทนั้นๆ จริงๆ สามารถรองรับนักเรียนได้ประมาณ 70 คนในการทดลองทำงานที่เมืองจำลองได้จริง

ถ้านึกไม่ออก ลองนึกภาพ KidZania สำหรับเด็กโตที่ออกแบบแต่ละบทบาทสำหรับนักเรียนตามข้อเท็จจริงในสังคม ซึ่งสังคมที่ว่าไม่ใช่สังคมกว้างๆ เท่านั้นนะคะ แต่เป็นสังคมของเมืองที่เมืองจำลองนั้นๆ นี้ตั้งอยู่เลย เด็กๆ จะได้ลองทำงานและได้รับค่าตอบแทนโดยมีเงื่อนไขว่านักเรียนต้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้มาก่อนตามรายวิชาต่างๆ ที่มีในโรงเรียน ผ่านเนื้อหาทั้งหมด 10 บท ทั้งในวิชาสังคมศึกษา เศรษฐศาสตร์ และธุรกิจ คุณครูเองก็ต้องเข้ารับการอบรมก่อนเช่นกัน เพื่อปูทาง ชิมลาง และทำความเข้าใจเพื่อพานักเรียนมาลองปฏิบัติในเวทีเสมือนชีวิตจริงแห่งนี้

เมื่อไปถึง หน้าที่ของครูคือการมอบหมายงานให้นักเรียนตามที่ได้ศึกษาเตรียมการมาก่อนแล้ว และการสัมภาษณ์นักเรียนเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ

ตารางหนึ่งวันแห่งชีวิตการลองเป็นผู้ใหญ่หน้าตาแบบนี้ค่ะ

9.30-9.45 เปิดงาน
9.45-10.00 ประชุมทีม
10.00-10.30 ร้านรวงเริ่มเปิดทำการ
10.30-10.45 ประชุมชุมชน
10.45-11.15 งานกะแรก หรือพัก
11.15-11.45 งานกะที่สอง หรือพัก
11.45-12.15 งานกะที่สาม หรือพัก
12.15-12.25 ประชุมทีม
12.25-12.45 งานกะที่สี่ หรือพัก
12.45-13.05 งานกะที่ห้า หรือพัก
13.25-13.35 ประชุมทีม
13.35-13.45 ปิดร้านค้าต่าง ๆ
13.45-14.00 ประชุมหลังจบกิจกรรม

จะสังเกตได้ว่าการแบ่งกะการทำงานและการประชุมต่างๆ นั้นยิบย่อยมาก (ตามลักษณะการแบ่งคาบที่มักไม่ยาวนักของนักเรียนฟินแลนด์) ซึ่งทุกคนต้องเคารพตารางเวลาอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นกิจกรรมจะดำเนินต่อไปพร้อม ๆ กันอย่างยากลำบาก

พร้อมหรือยัง? หนึ่งวันหรรษาจะเริ่มขึ้นแล้วนะ!

เด็กๆ จะได้รับบทบาทตามที่สมัครงาน ซึ่งมีการกำหนดโจทย์หน้าที่ของบทบาทนั้นๆ ให้ปฏิบัติจนสำเร็จ นักเรียนจะได้เห็นบทบาทของแรงงาน ผู้บริโภค และพลเมืองที่สอดประสานกันเพื่อขับเคลื่อนสังคม และได้รับประสบการณ์ตรงจากการเล่นบทบาทสมมุติเหล่านี้ เช่น ถ้าเขาเป็นนักธุรกิจที่ต้องเปิดกิจการของตัวเองต้องติดต่อหน่วยงานใดบ้าง ต้องจดทะเบียนบริษัทอย่างไร เสียภาษีอย่างไรบ้าง ติดต่อใครบ้าง และเมื่อจ่ายภาษีไปแล้ว ภาษีจะถูกนำมาใช้ผ่านองค์กรรัฐอย่างไรบ้าง

หรือถ้าเป็นการทำงานที่ต้องใช้ทักษะ พวกเขาจะได้ลองใช้ระบบจำลองบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อทดลองทำงานแบบเสมือนจริง ทุกอย่างดำเนินการผ่านระบบเครือข่ายบนจอแท็บเล็ตประจำตัว ที่สำคัญ การดำเนินการทุกสิ่งอันในองค์กรภายใต้เมืองจำลองนี้จะเกิดผลขึ้นแบบเรียลไทม์ ไม่มีกั๊ก ไม่ต้องลุ้น ไม่มีใต้โต๊ะหรือเต้าไต่ เงินเดือนและภาษีเข้าออกบนหน้าจอให้ได้เห็นกันจะๆ

โอ๊ยตายแล้ว! ใช้เครื่องไม้มือทันสมัยมากมายขนาดนี้ ไม่ราคาสูงลิบลิ่วชนิดเอื้อมไม่ถึงกันล่ะมั้ง

อย่าลืมนะคะ ว่าเมืองจำลองเหล่านี้สนับสนุนโดยบรรดาบริษัทห้างร้าน ซึ่งก็ได้ประโยชน์จากการโปรโมตบริษัทตัวเองผ่านกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม ถือว่าวิน-วินกันทุกฝ่ายไม่มีใครเสีย ที่สำคัญ เป็นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทั้งโรงเรียน บริษัทห้างร้าน ต่างเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังภายใต้บริบทของชุมชน

แต่เรื่องน่าเสียดายสำหรับห้องเรียนห้องนี้ก็คือ สามารถใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจชีวิตจริงได้แค่เพียงบริบทในประเทศน่ะสิคะ
ถ้าการเรียนในเมืองจำลองยังไม่พอ ห้องเรียนต่อไปนี้จะนำเสนอโลกใบใหญ่โดยย่อมาอยู่ในห้องเรียนผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริงทั้งหลายทั้ง AR และ VR ค่ะ

  • AR คือ Augmented Reality หรือเทคโนโลยีแบบที่เราใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเก็บภาพอะไรบางอย่างแล้วภาพ 3 มิติจะเด้งขึ้นมาอยู่ในจอของเราตามสภาวะจริงที่เราถ่ายอยู่
  • VR คือ Virtual Reality หรือเทคโนโลยีผ่านแว่นตายักษ์ที่ให้ภาพเสมือนไปอยู่ในโลกอีกใบหนึ่งค่ะ
photo: agent4change.net

ห้องเรียนที่สาม ‘โลกทั้งใบในแห่งเดียว’

จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมชีวิตผู้คนที่เราไม่เคยรู้จักเลยถึงในบ้าน ในห้องครัว ห้องนอน ไปติดตามดูว่าชีวิตประจำวันของเขาเป็นอย่างไร ได้ฟังเขาเล่าเรื่องราวตัวเองผ่านหนังสารคดีที่สวยเก๋จับใจพร้อมกับคิดตามไปว่าเขาเหมือนหรือต่างกับเราไหม ฟังดูชวนบันเทิงใจจนลืมไปได้เลยว่ากำลังเรียนอยู่จริงๆ แถมยังเป็นการเรียนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนตามหลักสูตรแกนกลางอีกต่างหาก

LYFTA บริษัทร่วมทุนสัญชาติฟินแลนด์และอังกฤษซึ่งนำนักการศึกษาจากฟินแลนด์และนักถ่ายทำสารคดีจากอังกฤษมาเจอกันเพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ ของผู้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปด้วยวิธีการเล่าแบบภาพยนตร์สั้น ผนวกกับเทคโนโลยี VR และ AR เพื่อช่วยทำให้รับรู้และรู้สึกได้อย่างสมจริงมากขึ้น บทเรียนของ LYFTA ออกแบบตามสาระในหลักสูตรแกนกลางฉบับใหม่ของฟินแลนด์ (OPS 2016) และหลักสูตร KS2&KS3 ของอังกฤษ (สำหรับระดับประถมศึกษา) ซึ่งส่วนที่ LYFTA ออกแบบนั้นเน้นการส่งเสริมทักษะทางภาษา

ปัจจุบัน คลังบทเรียนของ LYFTA ประกอบด้วยเนื้อหาเรื่องราวของผู้คนที่มีตัวตนจริงๆ จากทั่วทุกมุมโลกซึ่งนำเสนอผ่านรูปแบบ immersive เสมือนว่าเราได้อยู่กับคนนั้น ณ ที่นั้นจริงๆ เช่น DinnerTime360 คือ การใช้เทคโนโลยี VR เล่าเรื่องอาหารเย็นจากครอบครัวในหลากหลายวัฒนธรรม เสมือนไปนั่งล้อมวงกินข้าวอยู่กับครอบครัวนั้น สามารถมองสำรวจบ้านได้ 360 องศา พร้อมสารคดีสั้นสามเรื่องที่เล่าเรื่องราวของสมาชิกในครอบครัว สูตรอาหารต่างๆ ที่ทำออกมาอย่างน่าสนุกพร้อมให้นักเรียนกลับไปลองทำที่โรงเรียนหรือที่บ้าน และกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งในแง่ภาษาและวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน

หรือการที่เราได้เข้าไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน Awra Amba ในเอธิโอเปียชนิดชิดติดขอบทุกความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างเสริมความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม แน่นอนว่าโอกาสในการทำความรู้จักกับชาวเอธิโอเปียด้วยตนเองคงไม่ได้หาได้ง่ายนัก เครื่องมือนี้จึงช่วยพาเราไปสู่ดินแดนแห่งนี้ที่เราไม่รู้จักและอาจไม่คิดจะทำความรู้จักเลยก็ได้

การเรียนรู้นี้มีลักษณะคล้ายกันกับ DinnerTime360 คือ การพาทัวร์หมู่บ้านแบบ 360 องศา ประกอบกับ interactive spaces หรือพื้นที่บนจอคอมพิวเตอร์ที่เด็กๆ จะสามารถเล่นกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับโปรแกรมได้ ประกอบไปด้วยภาพยนตร์สั้น 11 เรื่อง บทความ อินโฟกราฟิก วิดีโอคลิปต่างๆ อีกมากมาย รวมถึงบทเรียนที่ออกแบบกิจกรรมมาคู่กับเนื้อหาเหล่านี้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางทั้งของฟินแลนด์และอังกฤษเรียบร้อยแล้ว

LYFTA กำลังเปิดให้โรงเรียนได้ทดลองใช้สื่อดังกล่าวแบบเหมาจ่ายสนนราคา 1,250 ปอนด์ต่อโรงเรียน หรือประมาณ 56,000 บาทต่อปี ส่วนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Global Learning Programme ของรัฐบาลอังกฤษนั้นสามารถใช้ LYFTA ฟรีได้เลย
เรียนครบทั้งสามห้องแล้วก็อยากกลับไปเป็นนักเรียนมันวันนี้พรุ่งนี้จริงๆ

ห้องเรียนทั้งสามแบบนี้ได้ผ่านการคิดค้น ออกแบบ ประกอบร่างด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและทรัพยากรตามแต่จะเหมาะสมกับสาระที่จะสอน เพื่อมุ่งผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงการโยนเทคโนโลยีไว้ตรงหน้านักเรียนและครูเพียงโดดเดี่ยวเดียวดายเท่านั้น

และที่สำคัญ ตามที่กล่าวไปในหัวเรื่องบทความว่า ‘ห้องเรียนนี้ไม่มีครู’ ก็ใช่ว่าครูจะอันตรธานไปจากการเรียนหรือการศึกษา แต่หมายความถึงครูที่ยืนสอนหรือยืนพูดอยู่อย่างเดียวจะถูกลดทอนบทบาทลงในอนาคต ส่วนครูที่สามารถออกแบบการเรียนรู้อย่างทันโลกโดยใช้เทคโนโลยีและประยุกต์ทรัพยากรที่เหมาะสมมาเป็นเครื่องมือออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนสามารถเผชิญโลกใบใหญ่ ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปแบบใดก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่ถูกเตรียมพร้อมมาอย่างดีแล้ว ครูแบบนี้จะยังคงเป็นที่ต้องการเสมอ ไม่ว่าห้องเรียนจะเปลี่ยนไปไกลเพียงใดหรืออยู่ในรูปแบบใดก็ตาม


อ้างอิงข้อมูลจาก:
spaldingtoday.co.uk
wise-qatar.org
lyfta.com

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า