รางวัลแด่ครูช่างฝัน

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ถ้าวันหนึ่งคุณทำงาน สอนหนังสือ และมีคนบอกมาบอกว่า คุณได้รับรางวัลครูที่ดีที่สุดในโลก คุณคงดีใจปนตกใจ และถ้าคนคนนั้นบอกคุณอีกว่ารางวัลนี้มาพร้อมกับเงินรางวัลมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ…

ใช่ค่ะ เอา 1 ล้าน คูณกับ 31 จะได้ 31 ล้านบาทไทยโดยประมาณค่ะ

และถ้าวันนี้ผู้เขียนขอบอกว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง มีองค์กรที่ให้ความสำคัญกับครู และไม่ใช่ครูทั่วๆ ไป แต่เป็นครูที่ทำงานอยู่ในท่ามกลางความยากลำบาก ความขาดแคลน ความยากจน ความขัดแย้ง ปัญหาด้านสุขภาพ และอคติอีกนานัปการ เพราะเชื่อว่าครูช่วยเปลี่ยนโลกนี้ได้ และองค์กรนี้มีความเชื่อว่าพวกเขาอยากเปลี่ยนวิธีที่โลกมองอาชีพครู และองค์กรนี้มีอยู่จริง

องค์กรที่ว่านี้คือ Varkey Foundation หรือ มูลนิธิวาร์คีย์ ผู้มอบรางวั ‘The Global Teacher Prize’ มาตั้งแต่ปี 2013 ผู้สนับสนุนหลักขององค์กรนี้คือ ชีค มูฮัมมัด บิน รอชิด อัลมักตูม (HH Sheikh Mohammed bin Rashid Almaktoum) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรก และรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บุตรชายเจ้าผู้ครองนครดูไบ ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2015 สิ่งที่องค์กรนี้ทำหลักๆ คือการยกระดับอาชีพครู ในฐานะวิชาชีพที่สำคัญและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม จนกลายเป็นที่มาของแฮชแท็ก #TeachersMatter และรางวัลนี้

รางวัล The Global Teacher Prize ได้รับแรงบันดาลใจจากแบบสอบถามเรื่องมุมมองที่ผู้คนมีต่อครูจากกว่า 330,000 คนใน 21 ประเทศว่าครูมี ‘สถานะทางสังคม’ อย่างไรบ้าง อาทิ คนมองว่า

  • ครูมีฐานะเท่ากับหมอในประเทศจีน
  • เท่ากับพยาบาลในประเทศฝรั่งเศส โปรตุเกส และตรุกี
  • เท่ากับบรรณารักษ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และบราซิล
  • เท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับบริหารในญี่ปุ่น
หมายเหตุ: งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้วิเคราะห์บริบททางการศึกษาของประเทศไทย และคำถามเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อครูไม่ได้มีการนิยามคำว่าเคารพเอาไว้ชัดเจนนัก

การวิจัยเรื่องสถานะทางสังคมของครูอาจก่อให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรมมากขึ้น ความพึงพอใจในการทำงานและในที่สุดอาจส่งผลต่อคุณภาพของงาน

และนี่จึงเป็นที่มาของการฉายไฟดวงโตเพื่อควานหาครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง โดยต้องเป็นครูที่ทำงานในระบบการศึกษาภาคบังคับของประเทศนั้นๆ สอนเด็กอายุ 5-18 ปี แต่ก็รวมถึงครูที่ทำงานสอนไม่เต็มเวลาและครูที่สอนออนไลน์ โดยไม่กำหนดว่าครูผู้นั้นจะสอนวิชาอะไรหรือระดับไหน ซึ่งจะพิจารณาทั้งแง่วิธีการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน การสร้างผลกระทบในชุมชน การเชื่อมร้อยการศึกษา เตรียมพร้อมให้นักเรียนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และการส่งเสริมวิชาชีพครูให้แก่ครูคนอื่นๆ เป็นต้น

จากนั้นครูจะถูกเลือกจากการเสนอชื่อออนไลน์โดยบุคคลทั่วไป (มีครูกว่า 30,000 จากทั่วโลกถูกเสนอชื่อ) และคัดเลือกโดยผู้ทรงคุณวุฒิในรูปแบบคณะกรรมการที่ประกอบด้วยครูใหญ่ของโครงการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา สื่อมวลชน ผู้ประกอบการเทคโนโลยี ผู้บริหารกิจการต่างๆ เป็นต้น โดยมีการตรวจสอบกระบวนการลงคะแนนเสียงทุกขั้นตอนโดย PwC หรือ บริษัท PricewaterhouseCoopers บริษัทตรวจสอบบัญชีเจ้าใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง

เชื่อเหลือเกินว่าเขียนมาจนถึงตอนนี้คนที่อ่านอยู่ก็อาจนึกภาพตามไม่ออกว่า แล้วครูแบบไหนกันที่จะได้รางวัล 1 ล้านเหรียญสหรัฐ นี้ไปครอบครอง เมื่อรางวัลประจำปี 2018 นี้ยังไม่ประกาศออกมา ผู้เขียนจึงขอแบ่งปันเรื่องราวน่าสนใจของผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวนสองจาก 10 คนของปีนี้ ซึ่งเป็นครูที่ผู้เขียนแอบเชียร์อยู่ดังๆ เลือกมาจากอคติล้วนๆ เลยค่ะ เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากค่ะ ครูสองคนนี้ล้วนทำงานร่วมกับทุกๆ ฝ่ายในชุมชนตัวเองเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของนักเรียน

photo: samsunkulishaber.com

ครู Mission Never imPossible

ครูนูร์เตน อัคคุส (Nurten Akkus) เคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลที่อายุน้อยที่สุดในตุรกี เธอเลือกมาทำงานในเมืองอายวาชิก (Ayvacik) เมืองขนาดเล็กจิ๋วของตุรกี มีประชากรเพียง 6,000 กว่าคน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตรกรรม ที่สำคัญเมืองนี้ยังไม่มีโรงเรียนอนุบาลเป็นชิ้นเป็นอันตอนที่เธอมาถึง และเด็กนักเรียนส่วนใหญ่พูดแนะนำตัวเองไม่เป็นด้วยซ้ำ

วันที่ฉันมาถึงเมืองนี้ ทุกคนตกใจ ก็มีแต่ตึกเรียนอนุบาลว่างเปล่าให้ฉันทำงาน

นูร์เตนต้องเดินทางไปตามบ้านเพื่อชักชวนให้พ่อแม่ส่งลูกๆ มาเรียนที่โรงเรียน เธอเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาทั้งหมดทั้งมวลของเด็กๆ ถ้ามันเปลี่ยนชีวิตหนึ่งคนของเด็กได้ เด็กคนนั้นจะช่วยเปลี่ยนโลกได้อีกมากมาย เธอไม่ได้สอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่พยายามหาอุปกรณ์การเรียนเพื่อให้ได้สอนศิลปะ กีฬา และสนามเด็กเล่นที่เธอถือว่าเป็นสนามแห่งการเรียนรู้อันสำคัญสำหรับเด็กๆ ห้องเรียนของเธอเป็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณมหาศาล แต่อาศัยกระบวนการคิดและวางแผน หยิบจับเอาสิ่งของที่พอจะหาได้ และหาบริจาคได้มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือช่วยการเรียนรู้

แต่สิ่งของหรือจะสำคัญเท่ามนุษย์

“การมอบการศึกษาให้เด็กหนึ่งคน ไม่ได้หมายถึงตัวเด็กคนนั้นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการให้การศึกษาแก่คนรอบข้างตัวเด็กๆ อีกด้วย”

เมื่อเป็นเช่นนั้น นูร์เตนจึงเริ่มไปเยี่ยมบ้านเด็กๆ เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่หากเด็กๆ มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และเธอหวังผลระยะไกลให้พ่อแม่ได้เข้าใจว่า พวกเขาต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาของลูก และมันเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่ง

ยัง ยัง ยังไม่พอค่ะ เธอยังชวนคุณพ่อเข้าร่วมโครงการ Daddy Tell Me A Story ชักชวนให้คุณพ่อมาอ่านนิทานในห้องเรียนลูกๆ ของตัวเอง สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันสัปดาห์ละครั้ง เพื่อเพิ่มบทบาทของพ่อในการเลี้ยงดูลูก ทำให้พ่อเล็งเห็นถึงความสำคัญของตัวเองที่มีต่อกระบวนการเรียนรู้ของลูกๆ

มันยังไม่จบค่ะ นูร์เตนยังได้จัดการอบรมอาชีพต่างๆ ให้กับแม่ๆ ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว เพื่อเป็นช่องทางให้พวกเธอหารายได้เสริม และแม่บางคนยังริเริ่มคิดกลับไปเรียนต่ออีกด้วย เหล่านี้เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาให้กับคนในชุมชนได้อย่างดี

ทำมาทั้งหมดนี้นูร์เตนได้เพิ่มขีดความรู้และความสามารถของนักเรียนในชุมชนตัวเองจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 90 อีกทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ในเด็กได้อีกด้วย นอกจากนั้นเธอยังทำให้การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 95 และครอบครัวที่พาลูกๆ มาเรียนที่โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ต่างพอใจกับพัฒนาการของลูกตัวเอง

ปัจจุบันนูร์เตนได้ทำโครงการร่วมกับ UNICEF กระทรวงศึกษาธิการตุรกี รวมถึงองค์กรการกุศลอื่นๆ ในพื้นที่ต่างๆ เธอได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูยอดเยี่ยมแห่งปีของประเทศตุรกีในปี 2015 2016 และ 2017 รวมถึงเป็นหนึ่งใน ‘ผู้หญิงที่ร่วมสร้างอนาคตแห่งตุรกี’ (Turkey’s 30 Women Leaving a Mark on the Future) จากทั้งหมด 30 คนอีกด้วย

เหตุผลที่ผู้เขียนเชียร์ครูนูร์เตนเพราะแนวคิดเรื่องการให้การศึกษาในองค์รวม คือการรวมทุกคนเข้ามาอยู่ในกระบวนการ และการสร้างพลังให้กับทุกๆ คนที่อยู่รอบๆ ตัวเด็กเพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืนของทุกๆ คนค่ะ

photo: gestaoescolar.org.br

ครูผู้ไม่ยอมแพ้

ตอนที่ ครูดิเอโก มาฟุซ ฟาริอา ลิมา (Diego Mahfouz Faria Lima) มาเริ่มทำงานในโรงเรียน Escola Municipal Darcy Ribeiro ณ ซาโอ โจเซ โดริโอ เปรโต (São José do Rio Preto) เมืองทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของบราซิล ห่างออกไปจากเมืองเซาเปาโล 440 กิโลเมตร เป็นเมืองขนาดใหญ่ลำดับที่ 12 ของบราซิล เล่ามาขนาดนี้แล้วก็ขอหักมุม ณ ที่นี้เลยว่า ครูดิเอโกไม่ได้ย้ายมาทำงานในโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางความรุนแรงและการค้ายาแห่งหนึ่งของบราซิล

วันแรกที่ผมเข้ามาทำงาน ผมเข้าห้องน้ำ เด็กจุดไฟเผาห้องน้ำ ปาแอปเปิลใส่ผม เทขยะใส่ผม ราดน้ำใส่ผม ผมได้แต่บอกพวกเขาว่า ครูยังเชื่อมั่นในตัวพวกเธอ และครูจะไม่ไปไหน

สภาพโรงเรียนที่ดิเอโกเห็นคือ เด็กประถมพกปืนยาวมาโรงเรียน มีการพ่นกราฟฟิตีตามผนังตึก ห้องเรียนผุพัง ยับเยิน (เหมือนสภาพจิตใจเด็กๆ ที่นี่) เขาเริ่มพูดคุยกับเด็กๆ และบอกพวกเขาเสมอว่า “เมื่อเธอพูด ครูจะฟัง และเสียงเธอจะต้องมีคนได้ยิน”

สิ่งที่เด็กๆ เล่าให้ฟังคือ พวกเขามองว่าโรงเรียนคือสถานที่ทำโทษ การถูกพักการเรียนทีละสามวันเจ็ดวัน ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าพวกเขาถูกทำโทษจากการมาโรงเรียน ถ้าเป็นเช่นนั้นออกไปอยู่กับแก๊งค้ายาก็น่าจะสนุกกว่า ดิเอโกคิดว่าวงจรการเข้าสู่วงการค้ายาต้องถูกตัดให้ขาดเสียที และโรงเรียนนี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ก่อนจะซ่อมหัวใจเด็ก เรามาซ่อมที่พักพิงหัวใจเด็กๆ ก่อน

ดิเอโกชักชวนคนในชุมชนและผู้ปกครองของเด็กในโรงเรียนมาได้ 20 คน พวกเขาเริ่มซ่อมโรงเรียน ทาสีใหม่ เพื่อให้โรงเรียนเป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้น และระดมทุนหาเงินจากภาคธุรกิจในชุมชนเพื่อหาซื้ออุปกรณ์การเรียน นอกจากนั้นยังเปลี่ยนลานค้ายาหลังกำแพงโรงเรียนให้เป็นมุมอ่านหนังสือที่เด็กๆ จะมาอ่านหนังสือและทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย เมื่อความพยายามนี้ดำเนินไปได้สักพัก ทั้งผู้ปกครองและเด็กๆ ก็กลายเป็นผู้ดูแลโรงเรียนด้วยตัวเอง เมื่อใดเด็กๆ เริ่มเห็นว่าพ่อแม่ของตัวเองใส่ใจโรงเรียนของเขา พวกเขาก็เดินเข้ามาหาโรงเรียนมากขึ้น

วีรกรรมของดิเอโกยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเขาเปลี่ยนวันศุกร์ซึ่งปกติเด็กๆ ในประเทศบราซิลจะไม่ต้องมาโรงเรียน ให้เป็นวันกิจกรรม ทั้งศิลปะ ดนตรี และกีฬา โดยอีกนั่นแหละค่ะ เขาชักชวนผู้คนในชุมชนมาร่วมสอนและจัดกิจกรรมกับเด็กๆ ความสำคัญมันอยู่ที่ว่าเด็กจะไม่รู้สึกว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่น่าจะมาแค่วันศุกร์เท่านั้น แต่พวกเขาจะอยากมาโรงเรียนมากขึ้นในวันอื่นๆ ด้วย

แต่แน่นอนว่าระหว่างทางมันต้องมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง โรงเรียนของดิเอโกเผชิญปัญหาสำคัญคือปัญหาเด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน เขาจึงริเริ่มการเช็คชื่อนักเรียนด้วยบาร์โค้ด และเมื่อมีนักเรียนที่ไม่มาโรงเรียน เขาจะแวะไปหาที่บ้าน เพื่อถามไถ่ และบอกนักเรียนคนนั้นว่าเพื่อนๆ และครูที่โรงเรียนคิดถึงเขานะ รีบกลับมาเรียนเถอะ

เรื่องราวจากครูดิเอโกยังให้บทเรียนเรื่องเดิมเหมือนกับที่ครูนูร์เตนเคยกล่าวไว้ว่า โรงเรียนไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก การแก้ปัญหาใดๆ ไม่ได้ต้องการซูเปอร์ฮีโร่เพียงหนึ่งคน แต่ต้องการครอบครัว ชุมชน สังคมที่ร่วมแรงร่วมใจเข้าใจเป้าหมายของการศึกษาที่เอาไว้ใช้สร้างมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์ โดยสร้างจากมนุษย์ที่พร้อมหยิบยื่นความเอื้ออาทรให้แก่กันเป็นจุดเริ่มต้น เรื่องของครูทั้งสองจึงไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรมากมาย มีเพียงความเข้าใจปัญหาที่ชัดเจน หาวิธีแก้ที่ตรงจุด และหาแนวร่วมผู้ซึ่งมีเป้าหมายตรงกัน ก็เท่านั้น

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลจะมองเห็นความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ และฉายไฟดวงโตๆ ให้กับครูอีกหลายคนที่พยายามทำภารกิจที่ไม่ impossible เหล่านี้นะคะ

ส่งท้ายด้วยกาารเชิญชวนให้ทุกท่านมาติดตามการประกาศรางวัลครูยอดเยี่ยมด้วยกันเถอะค่ะ ปีที่แล้วประกาศรางวัลจากสถานีอวกาศเลยค่ะ แกรนด์ได้อีกจริงๆ ตามลิงค์นี้เลยค่ะ

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า