เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2558-2573 หรือ PDP2015 รัฐบาล กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้อนุมัติแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ รวมกำลังผลิต 7,300 เมกะวัตต์ หนึ่งในนั้นคือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ชายฝั่งตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งใช้พื้นที่กว่า 2,850 ไร่ เพื่อผลิตไฟฟ้า 2,200 เมกะวัตต์
แม้ยังอยู่ในขั้นตอนระหว่างดำเนินงาน กระนั้นด้วยความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ทะเลเทพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวปัตตานี คุ้นเคยในความทรงจำของชาวบ้านมาอย่างยาวนานในชื่อ ‘ตือโละปาตานี’ เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงจัดเวทีสาธารณะเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสันติภาพ เพื่อ ‘พูดความจริงกับอำนาจ’ ทักท้วงให้รัฐบาลหันกลับมาทบทวนการใช้พลังงานจากถ่านหินด้วยข้อกล่าวอ้างว่า เป็นทางเลือกสุดท้ายจริงหรือ?
พลังงานในมือใคร
“ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช จนมาถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้มุ่งมายังอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เราจึงไม่เคยปลอดจากการคุกคาม แม้ในระดับสากล ประเทศต่างๆ จะมีการทบทวนเพื่อหาพลังงานทดแทนถ่านหิน แต่รัฐบาลประเทศไทยกลับไม่เคยเรียนรู้เรื่องนี้เลย”
ประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ตัวแทนเครือข่ายตือโละปาตานี มองย้อนกลับไป 5 ปี จนมาถึงปัจจุบันที่ภาคใต้กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกรุกไล่จาก กฟผ. มาโดยตลอด เพื่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ประสิทธิชัยอธิบายว่า เพราะรัฐต้องการทำให้การผลิตไฟฟ้าไปสู่มือเอกชนมากขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะดี เพราะลดการผูกขาด ทว่าในความเป็นจริง กำลังผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในมือรัฐ 40 เปอร์เซ็นต์นั้น อีก 60 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ กลับอยู่ในมือของทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่ม
ถ่านหินเพื่อกลุ่มทุน
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น เพราะนโยบายที่ไม่ปรับตัวของ กฟผ. โดยผ่านการร่วมมือกับเอกชนในการรับซื้อถ่านหินจากต่างประเทศนั่นเอง ทำให้ กฟผ. กระทรวงพลังงาน และรัฐบาล ต้องการวางกรอบให้ทั้งสังคมเชื่อว่า พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นพลังงานที่ ‘สะอาด’ และ ‘ราคาถูก’ แต่ความเป็นจริงคือ ไม่มีประเทศไหนที่รับซื้อถ่านหินจากรัฐบาลประเทศไทยอีกแล้ว ทางออกของการระบายถ่านหินจึงมุ่งไปที่การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินกลับคืนสู่ประชาชนในนามของพลังงานสะอาด แต่ที่จริงแล้ว คือ มลพิษที่ส่งผลทั้งต่อสุขภาพส่วนบุคคล สุขภาพชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ประเด็นต่อมา ประสิทธิชัยกล่าวว่า หน่วยงานของรัฐซึ่งมีภาระผูกพันในการทำงานรับใช้ประชาชน แต่ กฟผ. กลับดำเนินการผลักดันให้เกิดโรงงานถ่านหินอย่างสกปรก โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพและผลกระทบต่อประชาชนที่ยังคงมุ่งนโยบายในการระบายถ่านหินไปสู่เอกชนด้วยการรุกไล่พื้นที่ชาวบ้าน เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แทนที่จะดำเนินนโยบายมุ่งแสวงหาพลังงานทดแทนมาใช้ กลับอ้างเหตุผลเดิมๆ ที่ว่า ถ่านหินเป็นพลังงานที่ราคาถูกและสะอาดมากกว่า
ข้อจำกัดสายส่ง
ข้ออ้างอีกประการที่ กฟผ. นำมาเป็นใช้เป็นเหตุผลในการไม่ยอมปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน จนถึงขนาดมีคำพูดในทำนองว่า “ถ้าไม่เอาถ่านหินก็ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าสิ” คือข้ออ้างที่ว่าสายส่งไม่พอต่อการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน ซึ่งในแง่นี้ รองศาสตราจารย์ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ระบบพลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อระบบผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้า เกิดเป็นเครือข่ายพลังงาน ระหว่างครัวเรือน ชุมชน กับโรงไฟฟ้า ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ปัญหาเรื่องสายส่งไม่พอก็จะหมดไป เพราะเครือข่ายจะเข้ามารองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่หมุนเวียนนั้นเอง
ทว่าการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง มีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น เพียงแต่กระบวนการเช่นนี้มีอุปสรรคอยู่ประการหนึ่ง
อุปสรรคที่ว่านั้นอยู่ที่ “ความเชื่อ” ของรัฐและสังคมไทย
ปลูกฝังความเชื่อผิดๆ
ความเชื่อประการหนึ่ง ทั้งในส่วนของ กฟผ. และสังคม คือความเชื่อที่ว่า พลังงานหมุนเวียนไม่เสถียรที่จ่ายไฟฟ้าไม่ได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ซึ่ง รศ.ชาลี บอกว่า หากไปดูโรงไฟฟ้าอื่นๆ ก็จะเห็นว่ามีการปิดซ่อมบำรุงเช่นกัน
ความเชื่อประการต่อมา พลังงานหมุนเวียนมีราคาแพง แต่ข้อเท็จจริงคือ ในระดับสากลทั่วโลกที่เริ่มมีการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งผลให้กระบวนการผลิตไฟฟ้าเริ่มมีแนวโน้มถูกลง
และอีกความเชื่อที่ว่า พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมีน้อย ในเรื่องนี้ รศ.ชาลี กล่าวว่า หากเพียงแค่เรากักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ 2 นาที เราจะมีพลังงานใช้ไปได้ทั้งปี เปรียบให้ชัดกว่านั้น ประเทศเยอรมนีมีขนาดพื้นที่เล็กกว่า 1.4 เท่าของประเทศไทย แต่สามารถผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนได้ 2,225 เมกะวัตต์
ทางออกพลังงานหลังยุคถ่านหิน
รศ.ชาลี มองว่า การผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก และต่อให้ประเทศไทยยังดื้อรั้นด้วยความเชื่อเดิมๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ถึงที่สุดรัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน คำถามก็คือ ทางออกว่าจะไปถึงตรงนั้นมีไหม
รศ.ชาลี กล่าวว่า คำตอบของทางออก อยู่ที่รัฐจะต้องลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล ไม่สร้างโรงงานไฟฟ้าขึ้นใหม่ รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่กำลังจะก่อสร้าง พัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนลงไปสู่ชุมชน
“ถ้าหากรัฐไม่ยอมปรับนโยบาย รัฐก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในนโยบายเพื่อการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน เพราะถ้าหากเราเปลี่ยนมุมมองต่อการใช้พลังงาน เพียงเท่านี้ก็จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ยั่งยืน
“ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 28,000 เมกะวัตต์ แต่เรามีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 41,000 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่า เรามีไฟฟ้าเกินกว่าที่จำเป็น”
ในฐานะอนุกรรมการร่างแผน PDP2015 เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความต้องการพลังไฟฟ้าของทั้งประเทศลดจำนวนลงจากปี 2559 ในช่วงใช้ไฟฟ้าสูงสุด เมื่อนำตัวเลขมาเทียบดู จะเห็นได้ว่ากำลังไฟฟ้าที่ในประเทศผลิตได้นั้นมีสูงกว่ากำลังความต้องการ นั่นทำให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ว่า กำลังไฟฟ้าที่เกินมานี้จะทำเช่นไร โดยได้เชิญตัวเขาเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ
จากผลการศึกษา เดชรัตพบว่า ลำพังเพียงโรงไฟฟ้าที่กระบี่ให้กำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่กว่า 2,000 เมกะวัตต์ อยู่ในระดับเดียวกับปริมาณความต้องการที่รัฐจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา
“คำตอบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ใช่แค่เรื่องสร้างหรือไม่สร้างเท่านั้น แต่อยู่ที่ทิศทางในการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งรัฐบาลไม่อยากฟัง จึงให้ยุบกรรมการชุดนี้ลง”
คนสร้างพลังงาน พลังงานสร้างคน
ประเด็นสำคัญต่อมา เดชรัตอธิบายถึงแนวโน้มที่ลดลงของการใช้พลังงานถ่านหินทั่วโลก ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และจีน ยกตัวอย่างเยอรมนีที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่กว่า 2,800 เมกะวัตต์ ขณะที่พลังงานจากถ่านหินลดลงเหลือเพียง 45 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของการใช้พลังงานจากถ่านหินจนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นมหาอำนาจด้านถ่านหินของโลกอย่างประเทศอังกฤษ ก็กลับลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลงเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนกับพลังงานธรรมชาติชนิดอื่นๆ
ไม่เพียงเท่านั้น จากจำนวนการใช้ถ่านหินที่ลดลงส่งผลกระทบต่อดัชนีหุ้นในกลุ่มบริษัทถ่านหินที่ดาวน์โจนส์ดิ่งเหวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่กระแสการใช้ถ่านหินปักหัวดิ่งลง สวนทางกับกระแสการจ้างงานของบริษัทในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งด้วยจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่ไทยผลิตได้มากเกินกว่าปริมาณการใช้จริง จนไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทั้งด้วยกระแสเสื่อมความนิยมของการใช้พลังงานจากถ่านหินทั่วโลก รวมถึงมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของบริษัทพลังงานหมุนเวียน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น ‘ความจริง’ ที่ ‘อำนาจรัฐ’ ไม่อยากรับฟัง
“เรายังสามารถที่จะทบทวนได้ ไม่จำเป็นต้องรีบ ที่จริงเราสามารถเลื่อนออกไปได้ด้วยซ้ำ ข้ออ้างที่บอกว่า พลังงานถ่านหินเป็นพลังงานที่สำคัญ แต่ข้อเท็จจริงทั่วโลกขณะนี้พลังงานถ่านหินลดลงหมดแล้ว ดังนั้น ข้ออ้างนี้จึงไม่เป็นความจริง และความเป็นจริงกว่านั้นคือ พลังงานหมุนเวียนกำลังกลายเป็นพลังงานหลักของโลกและที่สำคัญที่สุด ไม่เพียงแค่ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังก่อให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลต่อเศรษฐกิจ”
สิ่งที่ไม่ปรากฏใน EHIA
ดิเรก เหมนคร จากเครือข่ายตือโละปาตานี บอกเล่าในฐานะคนเทพาแต่กำเนิดว่า ตนเองนั้นมีโอกาสได้มาเรียนที่กรุงเทพฯ มีโอกาสได้ภรรยาเป็นคนกรุงเทพฯ สามารถที่จะทำงานต่อที่กรุงเทพฯ โดยไม่กลับคืนบ้านเกิดก็ยังได้ แต่เพราะเทพานั้นเป็นเหมือนนิยายเรื่อง ‘ดอกไม้และผีเสื้อ’ ทุกอย่างที่มกุฎ อรฤดี เขียนไว้ในนั้น ผ่านมาถึงวันนี้ยังคงเป็นเช่นเดิม เว้นแต่ว่าหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจริง เทพาในภาพจำที่คนกับปลาโลมาอยู่ร่วมอาศัยกันได้ จะไม่มีอีกต่อไป
“เมืองเทพาเป็นเมืองปากน้ำชายทะเลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน คนกรุงเทพฯ มีอยุธยา เราก็มีเทพา เรามีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่มีความสัมพันธ์อย่างมหัศจรรย์จนถึงปัจจุบัน เทพาไม่ใช่เมืองโดดเดี่ยวอย่างที่คนบางกลุ่มพยายามให้ความหมาย แต่เป็นพื้นที่ใจกลางที่รายล้อมไปด้วยเมืองน้อยใหญ่ ทั้งสงขลา จะนะ สะบ้าย้อย ปัตตานี
“ทะเลเทพาเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวปัตตานีที่เรียกกันว่า ‘ตือโละปาตานี’ คือ ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยเรือน้อยใหญ่นับพัน ชาวประมงนับหมื่น และชุมชนนับร้อยที่อาศัยอยู่ทำมาหากิน เราจะไม่ยอมให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามาทำลาย”