หลายปีก่อน ผมเคยลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหาดเลนและป่าชายเลนของจังหวัดสมุทรปราการ หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ผมถือโอกาสแวะพักผ่อนที่สถานตากอากาศบางปู ระหว่างที่กำลังทอดสายตามองริ้วคลื่นและดวงอาทิตย์ที่ใกล้ลับขอบฟ้า นกนางนวลตัวหนึ่งก็บินเฉียดศีรษะของผม แล้วทิ้งวัตถุบางอย่างลงในทะเล เสียงดัง ‘จ๋อม’ ใช่ครับ เจ้านกสีขาวตัวนั้นปล่อย ‘มูล’ ของมันออกมา เฉี่ยวตัวผมไปนิดเดียว แต่โชคดีที่นกตัวนั้นอาจจะท้องผูก ทำให้มูลของมันค่อนข้างเกาะกันเป็นก้อน ไม่เช่นนั้นผมคงต้องเสียเงินซื้อเสื้อตัวใหม่เปลี่ยน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนั้นได้กระตุกต่อมสงสัยของผมจนเกิดคำถามว่า ‘มูลของนกส่งผลต่อทะเลอย่างไร?’ ซึ่งผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า คำตอบของมันมีอิทธิพลต่อชีวิตของปะการัง ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ และเสถียรภาพของหาดทรายเลยทีเดียว!
ลองจินตนาการถึงพื้นที่ริมทะเลที่มีหาดทรายสีขาว ป่าชายหาดเขียวขจี และฝูงนกทะเลโบยบินอยู่บนท้องฟ้า เมื่อเหล่านกทะเลจิกกินแมลงและสัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อยเป็นอาหาร พวกมันก็จะปล่อยมูลลงบนชายฝั่งและทะเล มูลของนกที่อุดมไปด้วยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และธาตุอาหารอื่นๆ จะเรียกว่า กัวโน (Guano) เมื่อกัวโนไหลลงสู่ทะเลก็จะกลายเป็น ‘ปุ๋ยธรรมชาติ’ ที่คอยหล่อเลี้ยงสาหร่ายและปะการังให้เจริญเติบโต
ผมจะขออธิบายเรื่องปะการังแบบรวบรัดนะครับ ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตในไฟลัมไนดาเรีย (Phylum Cnidaria) คนส่วนใหญ่มักจะคุ้นชินว่าพวกมันมีลักษณะคล้ายก้อนหินหรือต้นไม้ทะเลที่มีเปลือกแข็งและสีสันสวยงาม แต่ความจริงแล้วปะการังเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มีร่างกายอ่อนนุ่ม เนื้อเยื่อที่บอบบางของพวกมันจะถูกห่อหุ้มด้วยหินปูนที่แข็งแกร่ง ส่วนสีสันที่สวยงามเกิดจากสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ที่มาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยปะการังทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของสาหร่าย ส่วนสาหร่ายจะสังเคราะห์ด้วยแสงแล้วแบ่งพลังงานส่วนหนึ่งให้กับปะการัง ด้วยเหตุนี้ ปะการังส่วนใหญ่จึงอาศัยอยู่ในทะเลน้ำตื้นเพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องลงไปถึง แต่ก็มีปะการังบางชนิดที่ไม่ต้องการสาหร่ายซูแซนเทลลีและอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึก แต่พวกมันจะเติบโตช้าและอาจไม่สามารถขยายขนาดเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ได้
เมื่อสาหร่ายและปะการังอยู่ดีกินดี เพราะมีธาตุอาหารจากมูลของนกทะเลคอยหล่อเลี้ยง ปะการังที่มีสุขภาพดีก็จะดึงดูดปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ เข้ามา ปลาชนิดหนึ่งที่จะกล่าวถึงก็คือ ‘ปลานกแก้ว’ ซึ่งคอยกัดกินสาหร่ายส่วนเกินบนปะการังและซากปะการังที่ตายแล้ว ทำให้ตัวอ่อนของปะการังมีโอกาสเข้ามาเติบโต (บางครั้ง ปลานกแก้วจะกินปะการังที่มีชีวิตเข้าไปบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย) หลังจากปลานกแก้วกินจนอิ่มหนำสำราญ พวกมันก็จะถ่ายมูลออกมาเป็นเม็ดตะกอนสีขาว ซึ่งตะกอนเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของหาดทรายบางแห่ง
กล่าวโดยสรุปก็คือ หากริมทะเลมีนกเยอะ ธาตุอาหารในทะเลก็จะเยอะ สาหร่ายกับปะการังจะเติบโตได้ดี ปลานกแก้วที่เข้ามากินสาหร่ายส่วนเกินและทำความสะอาดปะการังก็จะผลิตทรายได้มากขึ้น หาดทรายจึงสะสมพอกพูน และทะเลที่อุดมไปด้วยปลาก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารอันโอชะของนก วนเวียนแบบนี้เป็นวัฏจักร
แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ป่าชายหาดริมทะเลได้ถูกมนุษย์ปรับเปลี่ยนเป็นเมือง ที่อยู่อาศัยของนกทะเลจึงลดลง เช่นเดียวกับปะการังที่ถูกทำลายจากการท่องเที่ยวที่ไม่ระมัดระวัง การทำประมงที่ไม่ใส่ใจระบบนิเวศ และการปล่อยมลพิษลงสู่ทะเล เมื่อปะการังถูกทำลาย ปลานกแก้วและสัตว์น้ำอื่นๆ ก็จะลดลง ส่งผลให้ตะกอนบนหาดทรายน้อยลง และหากที่ใดมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น (seawall) ที่รบกวนสมดุลของตะกอน หาดทรายก็จะถูกเร่งให้เกิดการกัดเซาะเร็วยิ่งขึ้น
อีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือ การแพร่กระจายและเพิ่มจำนวนของหนู เพราะหนูจะกินไข่ของนกทะเลเป็นอาหาร ทำให้จำนวนของนกทะเลลดลง และสิ่งที่นำพาหนูจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งก็มักจะเป็นมนุษย์นี่เอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาเกาะที่มีหนูกับเกาะที่ไม่มีหนู พบว่าเกาะที่มีหนูจะมีจำนวนนกทะเล สารอาหารในทะเล และมวลของสัตว์น้ำ น้อยกว่าเกาะที่ไม่มีหนูอย่างมีนัยสำคัญ
แต่สิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศโดยรวมก็คือ ภาวะโลกร้อน (global warming) เพราะอุณหภูมิของบรรยากาศที่สูงขึ้นจะเร่งอุณหภูมิของน้ำทะเลให้สูงขึ้นตามไปด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศจึงละลายลงสู่มหาสมุทรมากขึ้น เกิดเป็นปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเล (marine heatwave) และมหาสมุทรเป็นกรด (ocean acidification) ส่งผลให้นกทะเลนับล้านล้มตาย สัตว์ทะเลบางชนิดสร้างเปลือกได้ยาก และสาหร่ายซูแซนเทลลีผละตัวเองออกจากปะการังจนเกิดภาวะปะการังฟอกขาว (coral bleaching)
พออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ทุกคนคงพอเห็นภาพแล้วว่า ระบบนิเวศคือสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน หากสิ่งหนึ่งลดจำนวนลงหรือหายไปจากระบบ สิ่งที่สอง สาม สี่ ห้า … ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย และในหลายๆ ครั้ง สาเหตุของปัญหาก็มาจากมนุษย์อย่างเรานี่เอง
อ้างอิง
- https://www.nature.com/articles/s41598-019-41030-6
- https://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(21)00477-2
- https://oceanservice.noaa.gov/facts/sand.html
- https://www.coris.noaa.gov/activities/marine_heatwave_coral_decay/
- https://www.climate.gov/news-features/featured-images/no-safe-haven-coral-combined-impacts-warming-and-ocean-acidification