ความสำคัญของเจ้าปรสิต ระบบนิเวศอาจพังทลาย หากปรสิตสูญพันธุ์เพราะโลกร้อน

งานวิจัย A reconstruction of parasite burden reveals one century of climate-associated parasite decline (2023) ศึกษาและวิเคราะห์ปรสิต 85 สายพันธุ์ จนพบว่า ปรสิตส่วนใหญ่ประสบปัญหาจำนวนประชากรลดลงในช่วง 140 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเทียบเท่ากับจำนวนสายพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ (threatened species) หรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ

แม้ฟังดูเหมือนจะเป็นข่าวดี แต่การลดลงของประชากรปรสิตกลับเป็นข่าวร้ายเสียมากกว่า เนื่องจากสปีชีส์ของสัตว์บนโลกใบนี้กว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์ คือปรสิต หรือมิฉะนั้นก็เป็นโฮสต์ (host) หรือสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาปรสิตเพื่ออยู่รอด (แม้ปรสิตบางชนิดจะส่งผลเสียต่อโฮสต์) ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับรวมแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และโปรโตซัวอีกหลายชนิดที่ถูกจัดให้เป็นปรสิต

เชลซี แอล. วูด (Chelsea L. Wood) หนึ่งในทีมนักวิจัย เสนอว่า ปรสิตจึงต้องได้รับการอนุรักษ์ ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ “ปรสิตมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ซึ่งอาจล่มสลายลงหากพวกมันสูญพันธุ์ และเราจะรู้ซึ้งถึงความสำคัญของพวกมันก็ต่อเมื่อปรสิตได้จากไปแล้ว”

แม้ปรสิตบางชนิดจะเป็นพาหะนำโรคหรือส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น แต่พวกมันนับเป็นสมาชิกส่วนน้อยของสายพันธุ์เท่านั้น เพราะปรสิตอีกหลายชนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญและส่งอิทธิพลต่อระบบนิเวศในทางที่ดี ตัวอย่างเช่นปรสิตหลายชนิดคอยควบคุมประชากรของสายพันธุ์ที่เป็นเหยื่อ (prey) ไม่ให้ล้นเกิน จนระบบนิเวศเสียสมดุล ปรสิตยังช่วยให้การไหลเวียนของพลังงานในห่วงโซ่อาหารเกิดขึ้นได้ง่าย ผ่านการทำให้เหยื่อที่เป็นโฮสต์ระมัดระวังตัวน้อยลง จนงานของสายพันธุ์ที่เป็นผู้ล่า (predator) ง่ายขึ้น 

จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังมีข้อมูลเรื่องผลกระทบที่ปรสิตต้องเผชิญจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการกระทำของมนุษย์ไม่มากนัก ทีมนักวิจัยจึงดำเนินการศึกษาเพื่อจำลองการเปลี่ยนแปลงประชากรของปรสิต โดยใช้ตัวอย่างจากโฮสต์ที่เป็นปลาจากแหล่งน้ำพูเจ็ต (Puget Sound) ที่ถูกรวบรวมและเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ Burke Museum of Natural History and Culture ในเมืองซีแอตเทิล (Seattle) 

ดร.วูดเรียกปลาที่เก็บรวบรวมตั้งแต่ปี 1880-2019 เหล่านี้ว่า แคปซูลเวลาของปรสิต (parasite time capsule) เพราะฟอร์มาลิน (formalin) และเอทานอล (ethanol) ที่ช่วยคงสภาพร่างกายของปลาหลังมันตาย ได้ช่วยเก็บรักษาบรรดาหนอนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยในเหงือกหรือผิวหนัง รวมไปถึงปรสิตชนิดที่ฝังตัวในกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในของปลาเอาไว้

จากการผ่าชำแหละตัวอย่างปลา 699 ตัว ทีมวิจัยพบปรสิตกว่า 17,702 ตัวจาก 85 สปีชีส์ที่ต่างกัน และพบว่า กลุ่มปรสิตที่ต้องอาศัยโฮสต์มากกว่า 3 ชนิด มีอัตราการลดลงของจำนวนประชากรอยู่ที่ 10.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการลดลงดังกล่าวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล กล่าวคือ ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น จะทำให้จำนวนประชากรของปรสิตลดลงถึง 38 เปอร์เซ็นต์

เควิน ลาฟเฟอร์ตี้ (Kevin Lafferty) นักพยาธินิเวศวิทยา (disease ecologist) จากหน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐ (U.S. Geological Survey) กล่าวเสริมงานวิจัยชิ้นนี้ว่า กลุ่มปรสิตที่มีวงจรชีวิตแบบซับซ้อนจะเป็นกลุ่มแรกที่หายไป เพราะปรสิตกลุ่มนี้วิวัฒนาการตัวเองผ่านการใช้ประโยชน์จากความซับซ้อนของระบบนิเวศ แต่ปัจจุบันนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการกระทำของมนุษย์ มีส่วนสำคัญในการทำลายและลดทอนความซับซ้อนของระบบนิเวศลง จนไม่เอื้อต่อวงจรชีวิตที่ซับซ้อนของเหล่าปรสิตอีกต่อไป

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า การลดลงของจำนวนประชากรปรสิตที่พบในบริเวณแหล่งน้ำดังกล่าวจะใช้อธิบายครอบคลุมถึงระบบนิเวศอื่นๆ หรือไม่ แต่ขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังเดินหน้าวิเคราะห์ตัวอย่างปลาจากแหล่งน้ำอื่นๆ เพื่อค้นหาคำตอบต่อไป

ที่มา:

Author

ณัชชา กันเขตร
นักพิสูจน์อักษรผู้ชอบนอนดึกตื่นเช้า อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ เวลาว่างชอบอ่านเว็บตูนและวาดรูป กำลังค้นหาและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ใช้ชีวิตอยู่เพื่อทักทายและทำความรู้จักกับแมวจร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า