- จากการศึกษาภาคสนามและการสัมภาษณ์คนขอนแก่นในช่วงเวลาราวสองปี ผนวกกับการวิเคราะห์วาทกรรมสื่อเกี่ยวกับขอนแก่นโมเดล บทความนี้เผยโฉมหน้าเบื้องหลังภาพพลเมืองซูเปอร์ฮีโร่ของบริษัทพัฒนาเมืองขอนแก่น (เคเคทีที) จำกัด ผู้ผลักดันโครงการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาจากการลงทุนเอกชน
- ชี้ชวนให้คิดถึงการ ‘เสกคาถาประชาชน’ ในฐานะยุทธศาสตร์สำคัญของการอ้างตนทางศีลธรรมเพื่อชิงอำนาจการนำของชนชั้นนำธุรกิจท้องถิ่น
- วิพากษ์แบรนด์ท้องถิ่นนิยมแนวผู้ประกอบการ โดยมองว่าปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่มันเกิดขึ้นและใช้ประโยชน์จากภาวะขาดแคลนประชาธิปไตยในท้องถิ่น ไม่เพียงการเลือกตั้งที่ถูกแช่แข็ง แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองท้องถิ่นเป็นรูปแบบองค์กรที่จะมาเสนอวิสัยทัศน์ถึงอนาคตเมืองที่แตกต่างกันไปต่อประชาชนอีกด้วย
- พาผู้อ่านออกจาก ‘หล่มความเป็นท้องถิ่น’ (local trap) ในกรณีขอนแก่นโมเดล โดยสืบสาวลงไปถึงตัวแสดงและวาระเบื้องหลังการประโคมความเป็นท้องถิ่นที่ถูกทึกทักว่าเป็นตัวแทนเจตจำนงประชาชน ตรงข้ามกับส่วนกลาง เพราะภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนิยมนั้นไม่เคยเลยที่จะเป็นของท้องถิ่นทื่อๆ
- เปรียบเทียบ ‘ขอนแก่นโมเดล’ สองรุ่น ระหว่างแผนก่อจลาจลที่กลุ่มคนเสื้อแดงถูกกล่าวหา กับแผนการสร้างรถไฟฟ้าที่กลุ่มนักธุรกิจผลักดัน
- เสนอว่าการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง (Transit-Oriented Development) อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมทางสังคมได้ แต่มันต้องอาศัยนโยบายเชิงยุทธศาสตร์เข้าไปกำกับตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยคำนึงถึงคนอื่นในสังคมเป็นสำคัญ
บทความนี้แปลจากภาษาอังกฤษ Conjuring the People: Entrepreneurial Localism and the Case of the Khon Kaen Model เขียนโดย ริชาร์ด แมคโดนัลด์ (Richard MacDonald) แปลโดย พีระ ส่องคืนอธรรม
อ่าน ตอนที่ 1
นักธุรกิจชนชั้นนำในฐานะพลเมืองแนวหน้า
ท้องถิ่นนิยมเมืองของบริษัทพัฒนาเมืองขอนแก่นปลูกฝังภาพประทับว่าการให้ท้องถิ่นควบคุมเท่ากับว่าประชาชนวงกว้างได้มีส่วนร่วมและสนับสนุนสิ่งที่ท้องถิ่นทำ ในข้อนี้พวกเขามีคนช่วยหมกเม็ดเป็นคอลัมนิสต์กับผู้สร้างคอนเทนต์ที่ติดหล่มความเป็นท้องถิ่นไปโดยไม่ทันได้คิด ดังนั้นพวกเขาจึงพร้อมเชิดชูการให้อำนาจแก่ท้องถิ่นเป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง บ่อยครั้งที่วิธีคิดเกี่ยวกับอำนาจกระทำการของส่วนรวมจะเข้าอีหรอบขั้วตรงข้ามที่มักง่าย นั่นคือไม่รัฐเป็นผู้กระทำการก็พลเมืองเป็นผู้กระทำการ ไม่อำนาจรัฐก็อำนาจประชาชน
ฐานคิดเป็นขั้วตรงข้ามนี้แสดงออกมาอย่างหมดเปลือกในพาดหัวข่าว เดอะบางกอกโพสต์ ว่า ‘Citizens Taking the Initiative in Khon Kaen” [พลเมืองริเริ่มทำเองในขอนแก่น] ตามด้วยพาดหัวรองว่า ‘A Think Tank Formed by Local Entrepreneurs has Propelled Smart City Plans for the Northeastern Province’ [ทีมผู้ประกอบการท้องถิ่นตั้ง Think Tank ขับเคลื่อนแผนการสมาร์ทซิตี้สำหรับตัวจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ] (Chatrudee Theparat 2017)
จริงอยู่ว่านักธุรกิจ KKTT เป็นพลเมือง แต่ไม่ใช่พลเมืองทุกคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ และไม่ใช่เจ้าของธุรกิจทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนขนาดเล็กที่เป็นหุ้นส่วนกันตั้งบริษัทพัฒนาเมืองและบริษัทร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน KKTS กระนั้นพาดหัวข่าวนี้ก็สร้างภาพประทับถึงกลุ่มคนวงกว้างกว่านั้นมากที่พร้อมใจกันลุกขึ้นมามีส่วนร่วมผลักดันโครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ นักพัฒนาเมืองแนวผู้ประกอบการในขอนแก่นก็มักอ้างจริงๆ ว่าตนมีประชาชนหนุนหลังอยู่อย่างล้นหลามเช่นนั้น
a day นิตยสารไลฟ์สไตล์ชาวเมืองจากกรุงเทพฯ ลงสารคดีข่าวชื่นชมขอนแก่นมาแล้วหลายชิ้น โดยวางบทบาทขอนแก่นให้เป็นเมืองที่มองไปข้างหน้าและเป็นตัวกำหนดวาระ สกู๊ปข่าวชิ้นหนึ่งของ a day ลงลึกเรื่องขอนแก่นโมเดลพาดหัวว่า ‘ขอนแก่นทำอย่างไรถึงสร้างรถไฟฟ้าที่มีราคา 15 บาทตลอดสายได้’ (ฆฤณ 2018) แสดงท่าทีว่าจะพาไปดูเบื้องหลังข่าวครึกโครมเกี่ยวกับรถไฟฟ้าขอนแก่น เช่นเดียวกับพาดหัวข่าวบางกอกโพสต์ สกู๊ปข่าวชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการวาดภาพประทับว่ามีเจตจำนงประชาชนเกิดขึ้นเองเป็นตัวตั้งนำไปสู่การลงมือทำของท้องถิ่นโดยส่วนรวม จากนั้นก็อ้างถึงความยากลำบากของการพัฒนาเมืองในต่างจังหวัดว่า ‘หลายคน [ในจังหวัดที่ไกลเมืองหลวง] เลิกคิดไปแล้วว่าจะทันเห็นบ้านเกิดดีขึ้นได้ในช่วงชีวิต แต่ใครที่ว่าคงไม่ใช่คนขอนแก่น’ หลายย่อหน้าต่อมาก็เสริมอีกว่า ‘ชาวขอนแก่น’ ไม่ใช่คนประเภทที่ยอมอดทนกับภาวะขาดแคลนงบประมาณรัฐจากส่วนกลาง
สกู๊ปข่าวชิ้นนี้พ้องกันกับพาดหัวข่าวบางกอกโพสต์ ตรงที่มันทึกทักแบบคลุมๆ ว่าประชาชนวงกว้างในท้องถิ่นมีเจตจำนงบางอย่างที่เป็นบ่อกำเนิดการขับเคลื่อนขอนแก่นโมเดลโดยภาคเอกชน ด้วยตรรกะที่วกเข้าหาตัวเอง สกู๊ปข่าวเล่าว่า KKTT ประสบความสำเร็จในการเป็นแรงผลักดันให้หลายฝ่าย ‘พร้อมจะพัฒนาเมืองตามแผนขอนแก่นโมเดลที่วางไว้’ กระนั้นผู้อ่านก็ได้รับการยืนยันว่าคณะผู้สร้างขอนแก่นโมเดลจะมาเล่าให้เรารับทราบถึง ‘จุดเริ่มต้นของพลังเมืองที่ก่อร่างมาจากพลังประชาชน’ (ฆฤณ 2018)
วาทกรรมสื่อเกี่ยวกับขอนแก่นโมเดลมีกรอบคิดที่อาจเรียกได้ว่าประชานิยมแนวผู้ประกอบการ เป็นการเมืองประชานิยมแบบหนึ่ง เจตจำนงประชาชนที่แฝงเร้นอยู่ในบริษัทพัฒนาเมืองเป็นตัวแสดงชั้นเอก ในกรอบคิดประชานิยมแนวผู้ประกอบการ ‘คนหมู่มาก’ หรือประชาชนชาวขอนแก่น มี ‘คนหมู่น้อย’ ซ้อนอยู่ข้างในอีกวงหนึ่ง โดยผลประโยชน์ของวงนี้ถูกทึกทักเอาว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม และบทบาทของพวกเขาก็คือเป็นผู้ปลุกความปรารถนาที่แฝงอยู่ในตัวคนหมู่มากให้ลุกขึ้นมาทำให้เมืองของตนดีขึ้น บทบาทที่คนหมู่น้อยได้รับมอบหมายคือการเป็นแรงบันดาลใจให้คนหมู่มาก สายใยความรู้สึกที่เชื่อมคนหมู่น้อยเข้ากับคนหมู่มากเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจและความเชื่อ คือคนหมู่น้อยเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจ ส่วนคนหมู่มากถูกขอให้ ‘เชื่อ’ ดังที่ สุรเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง KKTT ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าความท้าทายที่ยากที่สุดที่พวกเขาเจอหลังตัดสินใจทำโครงการสร้างรถไฟรางเบาก็คือ ‘คนไม่เชื่อ’ (ว่ามันจะเกิดขึ้นจริง) เขาพูดต่อไปว่า
“เราก็ต้องมีความแน่วแน่ เพราะงั้นมันต้องทำให้เห็น และความท้อมันต้องไม่มี ทำยังไงให้พวกเขาเชื่อ มันยากมากนะ เราเรียกว่า communication เป็นเรื่องสำคัญ ค่อยๆ แจกทีละข่าว มีเวทีค่อยๆ จัดกันทีละครั้ง ไปต่อหรือไม่ไปต่อ ทำให้คนยังรู้สึกยังลุ้นอยู่ด้วย”
สุรเดช 2018
ในกรอบคิดประชานิยมแนวผู้ประกอบการ บทบาทของ ‘ประชาชน’ มีไม่มากนัก ไม่มีการออกไปเสาะหาความรู้ความคิดจากพวกเขา ตัดสินใจอะไรก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเห็นจากมุมพวกเขา อย่างเดียวที่จำเป็นต้องได้มาคือความเชื่อความกระตือรือร้นจากพวกเขา ‘ประชาชน’ ถูกเนรมิตขึ้นมา ปรากฏเป็นชาวเมืองผู้หยิ่งในศักดิ์ศรีผู้ปรารถนาจะทำอะไรสักอย่างให้เมืองของตนดีขึ้น ซึ่งข่าวแจกเชิงบวกก็กระตุ้นปรารถนานั้น แปลงมันเป็นแรงสนับสนุนแผนการที่บริษัทฯ วางไว้ประชานิยมแนวผู้ประกอบการเสริมความมั่นคงให้แก่ความคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเมืองเป็นกิจกรรมเชิงธุรกิจ ว่าผลประโยชน์เชิงธุรกิจเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม
ขอนแก่นโมเดลได้รับการสรรเสริญให้มีฐานะเป็นหนทางพัฒนาต่างจังหวัดที่ไม่ยอมซ้ำรอยการพัฒนาที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ทว่าคุณสมบัติเด่นที่สุดของมันอันเป็นเอกลักษณ์ของประชานิยมแนวผู้ประกอบการก็คือการที่มันส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งแทนภาครัฐ ใช่เพียงแผนสำรองหากภาครัฐไม่อุดหนุน การใช้แหล่งทุนจากภาคเอกชนกลับกลายเป็นสิ่งพึงปรารถนา เป็นคุณลักษณะสำคัญและหลักการชูโรงของขอนแก่นโมเดล ดังคำสุรเดชว่า
“ทุกคนอาจจะบอกว่า ‘ก็แค่สร้างรถไฟฟ้า’ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่การสร้างรถไฟฟ้า (เน้นเสียง) รถไฟฟ้าที่เราเห็นอยู่ในกรุงเทพมหานคร รถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในต่างจังหวัด รถไฟฟ้าเหล่านั้นใช้ภาษีของคนไทย ขอนแก่นโมเดลที่พวกเราทำ รถไฟฟ้านี้ไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล”
คนจำนวนมากที่แชร์วิดีโอสัมภาษณ์สุรเดชออกความเห็นชื่นชมการชูแนวทางงดเว้นทางการคลังนี้ มีคนหนึ่งถึงขั้นสร้างแฮชแท็กต้านภาษีแปลกๆ ว่า #ผมชอบที่ไม่เอาภาษีของประชาชนมาสร้าง ทัศนคติเช่นนี้เข้าใจได้ไม่ยากในประเทศที่การจัดสรรงบสาธารณะจากหน่วยงานรัฐถูกขีดวงจำกัดไว้แคบอย่างยิ่ง ประเทศที่การบริโภคในภาคเอกชนที่แบ่งชั้นและสลับซับซ้อนอย่างยิ่งได้พัฒนาขึ้นมาเป็นทางหนีสำหรับผู้มีทรัพยากร และไม่ใช่เรื่องผิดแปลกในบริบทรัฐอ่อนแอที่ตัวแสดงจากบริษัทเอกชนจะเข้ามาเติมช่องว่างด้วยการเป็นแหล่งเงิน เป็นเจ้าของ และเป็นผู้ดำเนินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเป็นสาธารณะเฉพาะในแง่ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้โดยไม่ลำบากนัก ด้วยการเติบโตของการจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานโดยตลาดในที่ต่างๆ ทั่วโลก ก็พบได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ ที่บริษัทเอกชนจะอ้างความรับผิดชอบเป็นผู้มาเติมเต็มเป้าประสงค์สาธารณะโดยมักร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในรูปแบบต่างๆ เป็นไปได้ที่ความรับผิดชอบเหล่านี้จะกลายมาเป็นฐานรองรับคำกล่าวอ้างทางศีลธรรมของตัวแสดงจากภาคเอกชน
ฮอร์สท์ ได้เจาะดูปรากฏการณ์ที่ประเทศฟิจิในตลาดโทรคมนาคมหลังการเปิดเสรี ที่บรรดาบริษัทระดับโลกผู้จัดหาสินค้าและบริการให้แก่ชาวฟิจิสวมบทบาทเป็นตัวแสดงทางศีลธรรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสื่อสารภาระผูกพันที่บริษัทมีต่อพลเมือง-ผู้บริโภค (Horst 2018, 85-88) ระเบียบศีลธรรมใหม่ใต้ร่มบริษัทมีความหมายถึงการทลายการผูกขาดและเปิดสนามแข่งขันราคา ในทำนองเดียวกันนั้น คุณสมบัติความน่าเชื่อถือจากความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเอกชนในกรณีขอนแก่นโมเดล ตลอดจนลักษณะประจำตัวของเครือข่ายเบื้องหลังและตัวบุคคลที่โดดเด่น ต่างก็ตั้งอยู่บนข้ออ้างทางศีลธรรม การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนถูกทึกทักว่าจะนำมาซึ่งมาตรฐานที่สูงกว่าของกลไกการรับผิดและการตรวจสอบเมื่อเทียบกับที่พบในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 เวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่โรงแรมแห่งหนึ่งกลางเมืองขอนแก่นถูกจัดขึ้นเป็นการตอบโต้ร่างพระราชกฤษฎีกาที่จะยกให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้สร้างและดำเนินการรถไฟรางเบาในจังหวัดขอนแก่น การจัดเวทีดังกล่าวเป็นโอกาสให้สมาชิก KKTT นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และตัวแทนผู้ได้รับเลือกตั้งจากเทศบาลตำบลทั้งห้าในพื้นที่โครงการ ได้กล่าวย้ำข้อสนับสนุนให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าของโครงการ พร้อมกับสาธิตว่าพวกตนมีประชาชนหนุนหลัง
เสียงผู้กังขาเสียงหนึ่งจากข้างล่างเวที ตัวแทนเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันภาคพลเมือง หยิบยกประเด็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงของท้องถิ่นขึ้นมาว่า “กระทรวงมหาดไทยโกงมากที่สุด และที่โกงมากที่สุดในกระทรวงก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นความเสี่ยงอย่างมหาศาลที่เราจะให้ท้องถิ่นทำโครงการนี้แทน รฟม. ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว” นายกเทศมนตรีตอบความเห็นนี้ว่าโครงการไม่ได้ใช้งบประมาณของเทศบาลแต่ “บริหารอย่างมืออาชีพ” โดย KKTS ซึ่งเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนจะทำงานร่วมกับ ‘บริษัทที่ปรึกษาด้านการบัญชีที่ติดอันดับ 1 ใน 4 ของโลก’ ดูเหมือนว่าเรื่องอื้อฉาวด้านบัญชีที่ท่วมทับบริษัทตรวจสอบบัญชีบิ๊กโฟร์มิได้ส่งผลสะเทือนใดๆ ต่อรัศมีทางจริยธรรมที่เหนือกว่าของธุรกิจนานาชาติในประเทศไทย (Brooks 2018)
ถ้อยคำสนับสนุน KKTS ของนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นยังพยายามรับประกันความน่าเชื่อถือที่เหนือกว่าของสมาชิกบริษัทที่เป็น “คนหนุ่มขอนแก่นที่มีการศึกษาและประสบความสำเร็จอย่างสูง” และเป็นนักธุรกิจชั้นนำและผู้บริหาร “รุ่นใหม่” คำบอกคุณลักษณะรุ่นใหม่เอย มีการศึกษาเอย มักถูกพูดออกมาซ้ำๆ ทางสื่อเมื่อกล่าวถึงขอนแก่นโมเดล พวกเขาได้รับการนำเสนอเป็นคนหัวใสผู้ ‘ดิสรัป’ ระบบราชการที่แข็งทื่อตายตัว ชาวขอนแก่นคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ขนานนามชื่นชมพวกเขาว่า ‘แฮ็กเกอร์’ ทางที่ดีที่สุดนั้นเราควรอ่านคำว่า ‘หนุ่ม’ และ ‘รุ่นใหม่’ โดยอิงความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เป็นรูปสัญญะที่ใช้โวหารผลักบุคคลออกห่างจากภาพจำที่แปดเปื้อนของการเมืองท้องถิ่นในต่างจังหวัด ซึ่งติดภาพการกินสินบาทคาดสินบน อิทธิพลรุนแรง และการครองอำนาจโดยคนแซ่เดียว พื้นเพของนักธุรกิจชาวขอนแก่นกลุ่มนี้ถูกวาดภาพอุดมคติอย่างรุ่มรวยทางสังคมวิทยาที่สุดในบทความสองภาษาโดย เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี
… คหบดีรุ่นใหม่เหล่านี้มีสายสัมพันธ์กันดี ไม่ได้มีความแตกแยก มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ดีและเป็นจุดบ่มเพาะแห่งการร่วมมือกันพัฒนาคือ การมีแชร์โต๊ะจีน โดยกลุ่มคหบดีเมืองขอนแก่นจะมีวัฒนธรรมรวมตัวกันรับประทานอาหารร่วมกัน โดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพทุกเดือน ซึ่งการสมาคมสังสรรค์รูปแบบนี้ คหบดีรุ่นใหม่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นจุดที่ทำให้พวกเขาได้มองเห็นกันและกันจากรุ่นต่อรุ่น เป็นพันธมิตรในการต่อยอดทำธุรกิจมากกว่าจะเป็นศัตรูคู่แข่งขัน … เราจะเห็นความเป็น ‘ภูมิภาคนิยม’ คือ คหบดีส่วนมากเชื่อมั่นในมาตรฐานการศึกษาภายในเมืองขอนแก่น โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเรียนในกรุงเทพฯ และท้ายที่สุดหลายคนได้เติบใหญ่ ไปศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ แล้วได้กลับมาทำงานด้านการพัฒนาเมืองขอนแก่นร่วมกันได้ก็ด้วยการเป็นมิตรที่ดีต่อกันในอดีต
Pechladda 2018
การวาดภาพ ‘สายสัมพันธ์’ (ในฉบับภาษาอังกฤษมีการใช้คำว่า ‘fraternity’ ซึ่งน่าสังเกตว่าไม่สื่อนัยความเป็นพรรคพวกที่สมาคมเฉพาะพวกของตน – ผู้แปล) ในหมู่ผู้ประกอบการเชื้อสายจีนผู้มุ่งมั่นพัฒนาจังหวัดบ้านเกิดอย่างเห็นดีเห็นงามไปด้วยนี้เป็นแกนกลางของระเบียบศีลธรรมใหม่ที่คณะผู้สร้างขอนแก่นโมเดลมุ่งหมายสถาปนา ผู้ประกอบการนิยมกับท้องถิ่นนิยมหลอมรวมกันเป็นบ่อเกิดของความร่วมมือแทนการแข่งขัน เกิดเป็นความรู้สึกผูกพันลึกซึ้งและสำนึกรับผิดชอบต่อขอนแก่นและชาวขอนแก่น
แนวคิดผู้ประกอบการนิยมน้ำดีที่หลอมรวมกันกับท้องถิ่นนิยมเห็นได้ในแนวการนำเสนอตนเองของบรรดาสมาชิกบริษัทพัฒนาเมืองที่โดดเด่นและรู้จักเล่นกับสื่อ ช่วงปลายปี 2561 สุรเดชเริ่มใช้ฉายา ‘Akaenger’ เรียกตัวเองทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยผสมชื่อจังหวัดอย่างลำลองเข้ากับแก๊งผู้พิทักษ์ความดีปราบเหล่าร้ายของมาร์เวล “ความต่างในความเหมือนที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ เหล่า Akaenger จะเปิดให้พี่น้องได้รู้กัน” เขาเขียนกำกับการแชร์วิดีโอสัมภาษณ์ซึ่งอธิบายแหล่งที่มาของทุนสร้างรถไฟรางเบา
มีครั้งหนึ่งที่สุรเดชใช้คำว่า Akaenger แล้วมีคนมาคอมเมนต์ถามด้วยความงงงวยว่าฉายา Akaenger มาได้อย่างไร สุรเดชก็ใจดีอธิบายด้วยท่าทีเปิดรับแบบประชานิยมแนวผู้ประกอบการว่า “ซุปเปอร์ฮีโร่ ขอนแก่น ทุกคนรวมกันเป็น Akaenger คนขอนแก่นทุกคนคือ Akaenger เหล่าซุปบักมี่ 5555 ไม่ใช่ซุปไก่เด้อ” Akaenger คือนักลงมือทำ คือผู้ไม่อยู่นิ่ง ด้านกองกำลังขนาดย่อมของผู้เทใจสนับสนุนบริษัทพัฒนาเมืองและ ‘ผู้บริหารรุ่นใหม่’ ก็ตอบโต้ผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์คนหนึ่งด้วยการกล่าวกระทบพวกที่ดีแต่พูด “คนทำเขาลงทุนลงเงินที่ไม่จำเป็นต้องลงเลย คนพูดก็พูดเอาๆๆๆ หนึ่งในนั้นมีเจ้านายเก่าเราด้วย เราเห็นมาตลอด เขาทำทำไม เพื่ออะไร เขาอยากเห็นขอนแก่นพัฒนาจริงๆๆๆๆๆๆๆๆ” เจอดังนี้ผู้วิจารณ์ก็ตอบโต้ตรงๆ อย่างไม่สะทกสะท้าน เขากล่าวถากถางไปถึงป้ายชื่อผู้บริหารรุ่นใหม่ว่า “งานการเมืองท้องถิ่นนี่แย่งกันสมัครเข้าไปไม่ใช่เหรอครับ?” เขาเขียนต่อไปว่า
“สิ่งที่ผมทำคือการแสดงความเห็นและตรวจสอบผู้มีอำนาจ ตามสิทธิพึงมีพึงได้ของพลเมือง ไม่รู้สิครับ ผมเองไม่ใช่กากีนั้งของใคร และไม่ทะเยอทะยานอยากจะเป็นกากีนั้งกับใครด้วย เลยไม่คิดว่า ต้องแสดงความเห็นลูบหน้าปะจมูกเพื่อใคร ว่าแต่มาว่าคนอื่นอ่านหนังสือน้อยนี่…คุณแสดงความเห็นอะไรบ้างครับ นอกจากพูดจาเอาใจลูกเศรษฐีและพูดจากระแนะกระแหนผู้อื่น”
สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย, Facebook post, 3 พฤศจิกายน 2018
ดังที่ผู้วิจารณ์คนนี้ชวนให้คิด เหล่า Akaengers ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ครองอิทธิพลกำหนดรูปร่างการพัฒนาท้องถิ่นโดยไม่ต้องผ่านการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง พวกเขาคือพรรคพวกที่สมาคมเฉพาะพวกของตน ผูกติดกันด้วยมิตรภาพส่วนบุคคลและผลประโยชน์ธุรกิจร่วมกัน ดังที่นักรัฐศาสตร์ ไมเคิล เนลสัน ได้เขียนไว้ จุดสำคัญเกี่ยวกับพรรคพวกที่สมาคมเฉพาะพวกของตนก็คือมัน “ไม่มีสำนักงานสาขา ไม่มีนัดประชุมประจำเพื่อถกกันเรื่องการเมือง … และมันไม่มีการทำแคมเปญประชาสัมพันธ์หาสมาชิกใหม่ พลเมืองที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่นหรือจังหวัดไม่สามารถขอแบบฟอร์มสมัครสมาชิกได้” (Nelson 2003, 355)
กล่าวอีกแบบคือมันมีลักษณะกีดกันทางสังคมฝังอยู่ในตัว และก็กลับเป็นลักษณะกีดกันนี้เองที่ย้อนมาเป็นตัวบังคับให้เฝ้าเสกคาถาประชาชน ประชาชนผู้สามัคคี ประชาชนที่มารวมตัวกันอยู่ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของมัน
สัญญาณความหวังของสาธารณะ
อาจยอกย้อนอยู่ในทีที่ถึงแม้ไม่มีความกระตือรือร้นต่อการจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานจากภาษีประชาชน หลายคนกลับยอมรับนับถือโครงข่ายรถไฟรางเบาขอนแก่นว่าเป็นของสาธารณะ สาธารณะในแง่ที่มันเป็นโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งมวลชนค่าโดยสารต่ำที่ทำให้คนเข้าถึงได้อย่างเกือบจะถ้วนหน้า เมื่อมีประกาศเคาะค่าโดยสารที่ 15 บาทตลอดสาย สำนักข่าวทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต่างกล่าวขวัญถึงราคาย่อมเยาอย่างผิดธรรมดา โดยมองว่านี่คือชัยชนะของขอนแก่นโมเดลที่นำโดยภาคเอกชน นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทพัฒนาเมืองแชร์บทความนิตยสารที่กล่าวขวัญทำนองนั้นทางเฟซบุ๊คพร้อมแสดงความเห็นกำกับว่า “ร่วมใจ เชื่อใจ ไว้ใจ มั่นใจ และพร้อมใจ”
ขนส่งมวลชนมีสิทธิจะเป็นมากกว่าตัวเคลื่อนย้ายผู้สัญจรไปมารอบเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ดังที่ความเห็นของนักวิชาการขอนแก่นชวนให้คิด โครงข่ายรถไฟรางเบามีสิทธิจะเจาะลงไปถึงสิ่งที่โฮนิกบรรยายว่าเป็นความปรารถนาของพลเมือง ‘ที่จะมีศูนย์รวมใจอยู่ที่วัตถุร่วมถือครองในรูปแบบที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้าหรือก่อนหน้าจะถูกทำให้เป็นสินค้า’ (Honig 2013, 65) โดยอิงแนวคิดทางจิตวิทยาความสัมพันธ์กับวัตถุของ ดี. ดับเบิลยู. วินนิค็อตต์ (D.W. Winnicott) โฮนิกเสนอให้เราใส่ใจถึงอำนาจดลบันดาลของวัตถุ ที่มีอานุภาพในการ ‘ร่ายมนตร์ให้เราหลงใหล เปลี่ยนแปรเรา เรียกขานตัวเรา ผนวกรวมกับเรา เกลี่ยเราให้เท่าเทียม หรือขับเคลื่อนเรา’ (Honig 2013, 69)
โฮนิกขยายความว่า เช่นกันกับแนวคิดวัตถุเปลี่ยนผ่านของวินนิค็อตต์ มันมิใช่ว่าของนั้นเป็นของขลังมีพลังร่ายมนตร์ในตัว เธอเขียนอ้างวาทะของ ลอเร็น เบอร์ลอนท์ ว่าวัตถุที่ปรารถนาไม่ใช่ ‘ของ’ แต่เป็น ‘กระจุกสัญญาณความหวังที่ของดูดติดมา’ (อ้างใน Honig 2013, 64) บรรดาของสาธารณะที่มีความถาวรระดับหนึ่งเป็นเครื่องมือเชิงญาณวิทยา เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากที่สร้างความรู้สึกถึงความเป็นสาธารณะที่จับต้องได้ ดึงสายตาไปที่คนธรรมดาสามัญ และมีสิทธิจะโมเดลพฤติกรรมความคิดที่โน้มเข้าหาประชาธิปไตย โฮนิกชวนให้คิดว่าประชาธิปไตยที่แข็งแรงนั้นยากจะจินตนาการได้หากไม่มีการจัดสรรของสาธารณะอย่างกว้างขวางเพียงพอ
วอล์ฟกัง ชเตรค (Streeck 2016, 113-138) เสนอเหตุผลด้านกลับว่าคุณภาพที่เลวลงของประชาธิปไตยเกิดตามหลังภาวะเสื่อมถอยของบริการสาธารณะถ้วนหน้าตามด้วยการที่กลุ่มผู้มีทรัพยากรหนีไปใช้บริการอื่นจนเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเช่นนั้นอาจสมควรแล้วที่เราจะต้อนรับความรู้สึกถึงความเป็นสาธารณะที่จับต้องได้และการใช้สอยแบบประชาธิปไตย ซึ่งการออกแบบระบบขนส่งมวลชนจะเหนี่ยวนำให้เกิด โดยมิพักต้องพูดถึงว่ามันจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร เหตุผลเหล่านี้ดูคล้ายจะเป็นฐานให้แก่การ ‘พร้อมใจ’ กันต้อนรับระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดที่ราคาย่อมเยาและออกแบบมาเพื่อลดการใช้รถส่วนตัวแบบปัจเจก อาจเป็นได้ว่าในท้ายที่สุดมันไม่ได้สลักสำคัญว่าของสาธารณะจะมีเอกชนหรือหุ้นส่วนรัฐกับเอกชนเป็นแหล่งเงิน เป็นผู้บริหาร หรือเป็นเจ้าของ ขอให้มีของสาธารณะก็เป็นพอ อาจเป็นได้ว่าจะ ‘วิน-วิน’ กันทุกฝ่าย แต่จะประเมินคำกล่าวอ้างนี้ได้ก็ต้องส่องดูความสัมพันธ์ระหว่างการขนส่งและการใช้ประโยชน์ที่ดินเสียก่อน
การมีระบบรถไฟรางเบาที่ลงทุนโดยเอกชนส่งผลโดยนัยอย่างไรบ้างต่อพื้นที่เมืองที่มีรถไฟผ่าน ควบคู่ไปกับการเสนอโครงข่ายรถไฟรางเบา บริษัทพัฒนาเมืองขอนแก่นและเทศบาลยังส่งเสริมแนวทางการวางผังเมืองที่เรียกว่า Transit-Oriented Development (TOD) หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน พวกเขาให้เหตุผลว่าโครงข่ายรถไฟรางเบาเปิดโอกาสให้ขอนแก่นได้ฟื้นฟูความเจริญของทำเลสำคัญๆ ในระยะใกล้เคียงพื้นที่สถานีผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างกระชับและมีความหนาแน่นสูง เสริมด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเดินเท้าและปั่นจักรยาน
แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนมีมาหลายสิบปีแล้ว แต่เพิ่งเด่นขึ้นในวาทกรรมการพัฒนาเมืองทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการส่งเสริมจากหน่วยงานพัฒนาสำคัญๆ อย่างสหประชาชาติและธนาคารโลก TOD ถูกมองเป็นนโยบายผังเมืองที่สร้างทางออกจากปัญหาที่รุมเร้าเมืองที่ใช้รถยนต์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจราจรติดขัด การผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล มลภาวะทางอากาศ หรือการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง (ดูตัวอย่าง Suzuki et al 2013 & 2015) ผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า TOD มีศักยภาพลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างวิถีเมืองที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตชาวเมืองดีขึ้น กระนั้น การวิเคราะห์อย่างเคร่งขรึมกว่านั้นบนฐานการสำรวจสภาพจริงของ TOD ในสหรัฐอเมริกาโดยเบลเซอร์และออตเลอร์ก็สร้างข้อโต้แย้งว่าผลลัพธ์เชิงบวกอย่างเช่นมุมเมืองที่น่าอยู่ การจราจรที่ติดขัดน้อยลง ความสามารถเข้าถึงย่านที่มีชีวิตชีวาและเจริญรุ่งเรืองอย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งล้วนปรากฏเป็นโวหารของ TOD นั้นมักจะต้องยอมอ่อนข้อให้แก่ “เหตุผลด้านการเงินอย่างเพียวๆ” ที่โอบอุ้มโครงการเหล่านี้อยู่ (2002, 6) เธอและเขาอธิบายว่า
โดยทั่วไประบบรางสร้างมูลค่าให้แก่ที่ดินติดราง หน่วยงานขนส่งและรัฐบาลกลางก็มองการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นหนทางที่จะ ‘คว้า’ มูลค่านั้นไว้บางส่วน ถึงแม้ว่าผลตอบแทนทางนี้ไม่ได้มากพอจะคืนทุนที่ลงไปกับระบบรางเสมอไป อย่างน้อยมันก็ยังนับเป็นการชำระเงินคืนคลังสาธารณะไปได้ส่วนหนึ่ง
Belzer & Autler 2002, 6
ในที่นี้เบลเซอร์และออตเลอร์กำลังกล่าวถึงสถานการณ์ที่ค่าก่อสร้างโครงข่ายรางมาจากการลงทุนสาธารณะเสียส่วนใหญ่ ดังที่เธอและเขาชี้บอก เป็นผลประโยชน์ของหน่วยงานขนส่งเองที่จะส่งเสริมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แสวงกำไรรอบพื้นที่สถานีขนส่งเพื่อสร้างรายได้เข้าตัวให้มากที่สุด ในภาคปฏิบัติ เธอและเขาเสนอว่าเหตุผลด้านการเงินที่ครอบอยู่นั้นเปลี่ยนแปรลักษณะของ TOD จากการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์แบบผสมผสานไปเป็นอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และอาคารสำนักงานที่หน้าตาเหมือนๆ กัน ภาวะนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการขาดแคลนหรือขาดไร้ซึ่งการลงทุนกับมาตรการชดเชยเพื่ออุดหนุนบ้านราคาประหยัดและห้างร้านกิจการชนกลุ่มน้อย เช่นนี้แล้วในบริบทที่ค่าก่อสร้างโครงข่ายรางมาจากการกู้ยืมนักลงทุนเอกชนล่ะ จะนำข้อกังวลเกี่ยวกับ TOD จากภาษีประชาชนมาปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง
ตามรายงานข่าวใน เอเชียไทม์ส ในจำนวนค่าก่อสร้าง LRT เฟสแรกรวม 15,000 ล้านบาท แบ่งแหล่งที่มาออกได้เป็น 4,500 ล้านบาทจาก KKTS กับอีกที่เหลือ 10,500 ล้านบาทจากเงินลงทุนต่างชาติ (Janssen 2019) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสุรเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง KKTT กำลังพูดคุยกับบริษัทสินเชื่อลงทุนต่างชาติสามแห่งจากจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา รายงานฉบับเดียวกันอ้างตัวเลขจาก KKTS ว่าอัตราผลตอบแทนภายในจากการดำเนินการระบบรางจะตกอยู่ที่ร้อยละ 2 โดยได้สมทบอีกร้อยละ 11 จากการเก็บค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีก สำนักงาน และพื้นที่โฆษณาจากที่ดินตามแนวราง
กมลพงศ์ สงวนตระกูล อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง KKTT และประธานหอการค้าจังหวัดคนปัจจุบัน กล่าวให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า เพื่อนำความสำเร็จมาสู่ทำเลที่จะเกิดขึ้นตาม TOD ภาคเอกชนในขอนแก่นกำลังเตรียมตัวโปรโมททำเลใหม่ๆ เหล่านี้ให้แก่บรรดาบริษัทใหญ่ด้านโทรคมนาคมหลากสัญชาติที่รู้กันว่ากำลังมองหาที่ทางขยับขยายคอลเซ็นเตอร์ไปยังท้องถิ่น (กมลพงศ์ 2019) พวกเขายังหวังล่อบริษัทผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศที่มุ่งขยายฐานจากกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดอุทกภัยได้ง่ายอีกด้วย ด้วยคำกล่าวเหล่านี้ก็วินิจฉัยได้ว่าผลสัมฤทธิ์ที่พึงมีตามวิสัยทัศน์หลักของ TOD ขอนแก่นถูกกำกับอยู่โดยเงื่อนไขบังคับทางการเงินที่มีต้นตอมาจากโมเดลการลงทุนสร้าง LRT ที่บีบให้หารายได้เข้าตัวให้มากที่สุดเพื่อที่จะจัดสรรอัตราผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจนักลงทุน
ตามที่ผู้วิจารณ์ TOD ตามสภาพจริงเช่นเบลเซอร์และออตเลอร์เน้นย้ำ ความเสี่ยงของมันอยู่ตรงที่ว่าการหารายได้เข้าตัวให้มากที่สุดมีแนวโน้มจะลงเอยด้วยการพัฒนาที่หน้าตาเหมือนๆ กัน มีแต่โครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และสำนักงานเป็นหลัก ผิดกันไกลจากอุดมคติของย่านที่มีการใช้ประโยชน์ผสมผสาน ย่านเดินได้ ย่านมีชีวิตชีวา ดังที่คลาร์คและค็อคเครน (2013, 14) เสนอไว้ ภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนิยมนั้นไม่เคยเลยที่จะเป็นของท้องถิ่นทื่อๆ ความผูกพันกับขอนแก่นที่ผู้ประกอบการคุยโวกลายสภาพเป็นโมเดลการพัฒนาตามกรอบเหตุผลของการประหยัดค่าใช้จ่ายของนักธุรกิจเอกชนข้ามชาติ การพัฒนาเมืองตามเงื่อนไขบังคับทางการเงินของ TOD ภายใต้ขอนแก่นโมเดลจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นของท้องถิ่นพอๆ กับต้นปาล์มของปลอมที่ผุดขึ้นมาอย่างลักลั่นตามภูมิทัศน์ซีจีไอในวิดีโอโปรโมทของบริษัทพัฒนาเมือง
เมื่อมองให้พ้นไปจากการผลักดันภาพลักษณ์ที่ดีโดยมี TOD เป็นสีสันแล้ว ก็ไม่สู้จะเห็นการถกเถียงพูดคุยกันเท่าใดนักว่าการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งที่เสมอภาคและเป็นธรรมทางสังคมนั้นควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร มีการศึกษาหลายชิ้นที่ประเมินสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่มีอยู่รอบทำเลสร้างสถานี LRT พร้อมตีราคาเสร็จสรรพให้แก่ความสามารถดึงดูดการลงทุน มีการวิเคราะห์ TOD ในเมืองอื่นๆ มีการส่งคณะผู้แทนจากบริษัทพัฒนาเมืองไปดูงานและสำรวจข้อเท็จจริงที่เมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน มีการลงนามในเอ็มโอยู (บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ) หลายชิ้นระหว่างหน่วยงานขนส่งที่เกี่ยวข้อง กระนั้นคำถามหนึ่งที่ยังไม่ถูกถามก็คือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี LRT จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้างต่อคนจนชั้นแรงงานและผู้มีที่อยู่อาศัยนอกระบบในขอนแก่น
TOD เป็นกระบวนการที่สร้างให้ความใกล้กับสถานีขนส่งเกิดขึ้นมาเป็นทรัพยากรขาดแคลน ดังที่เชลเลอร์เขียนไว้ว่า “เมืองไหนๆ ล้วนมีอุปทานอยู่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าถึงสถานีขนส่งได้ดี ย่านปลอดภัยและเดินได้ หรือท้องถนนที่โลดแล่นมีชีวิตชีวา ภาคส่วนที่มั่งคั่งของสังคมก็จะคว้าเอาทำเลดีๆ เหล่านี้ไปอยู่วันยังค่ำ โดยผลักผู้ที่อยู่มานานกับคนชั้นแรงงานออกไป” (Sheller 2018, 71) โดยอ้างตัวอย่างโครงการในเมืองจำนวนมากของประเทศโคลอมเบียที่ได้สร้างที่อยู่อาศัยราคาประหยัดตามเส้นทางขนส่งรถบัสความเร็วสูง เชลเลอร์เสนอว่าการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งที่เสมอภาคและเป็นธรรมทางสังคมนั้นเป็นไปได้ แต่มันต้องอาศัยนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้าไปกำกับตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยมีการนับรวมคนอื่นในสังคมเป็นเครื่องนำทาง ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วนโยบายเช่นนี้สวนทางชัดเจนกับแนวความเข้าใจตามขนบต่อการสร้างเอกลักษณ์ให้แก่ท้องถิ่น ไม่ว่าจะพัวพันกับการขนส่งหรือไม่ก็ตาม
วาทกรรมสื่อนำเสนอบริษัทพัฒนาเมืองขอนแก่นในฐานะการแสดงออกซึ่งพลังประชาชนตัวจริงเสียงจริง KKTT ได้กำไรทางสัญลักษณ์จากกรอบคิดอำนาจแบบขั้วตรงข้ามที่มีรัฐราชการอยู่ฝั่งหนึ่ง (รวมศูนย์ ห่างเหิน หยาบ และไม่รู้ความต้องการของท้องถิ่น) และมีพลเมืองอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ผู้นำธุรกิจเบื้องหลัง KKTT มักถูกพูดถึงในกรอบวาทกรรมเช่นนี้ ไม่มีการพูดถึงผลประโยชน์ธุรกิจของพวกเขาในฐานะนายทุนต่างจังหวัดที่มีสายสัมพันธ์ซับซ้อนกับทุนนอกท้องถิ่น (เจ้าสัวอสังหาริมทรัพย์ ผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ของบริษัทข้ามชาติ เจ้าของอาณาจักรค้าปลีก นักอุตสาหกรรมอาหารและการขนส่ง) แต่จะเน้นคุณสมบัติความภาคภูมิใจ ความผูกพัน และสำนึกรับผิดชอบในความเป็นพลเมืองของพวกเขาเป็นอันดับแรก ในฐานะ ‘ผู้นำ’ นักธุรกิจท้องถิ่น
การพรีเซนต์ตัวเองของพวกเขาฉีกแนวอย่างสิ้นเชิงจากภาพจำที่ผู้คนมีต่อข้าราชการ พวกเขาคล่องตัว ไม่ย่ำอยู่กับที่ มีอารมณ์ผูกพัน ไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และมีความรับผิดชอบ พวกเขาเสนอตัวเป็นผู้ทำดี เป็นแบบอย่างพลเมืองผู้เห็นแก่ส่วนรวม เป็นพลเมืองแนวหน้า ผู้ใช้ประโยชน์จากความคับข้องของประชาชนต่อความล้มเหลวของรัฐราชการรวมศูนย์ มันมิใช่เพียงว่าการนำเสนอตัวเป็นผู้ทำดีที่รับประกันว่าเมืองจะดีขึ้นเช่นนี้เข้าไปบดบังพลวัตตามจริงของการลงทุนโดยภาคเอกชนในเมืองแห่งผู้ประกอบการ แต่ประเด็นยังอยู่ที่ว่าการอ้างพลังพลเมืองเป็นคุณสมบัติอันดีงามในตัวนักธุรกิจชั้นนำนั้นยังไปบั่นทอนโครงสร้างพื้นฐานที่รุ่งริ่งของการปกครองแบบประชาธิปไตยในท้องถิ่นด้วย
ท้องถิ่นนิยมเมืองในรูปของการริเริ่มที่นำโดยภาคเอกชนอย่าง KKTT และขอนแก่นโมเดลใช้โวหารเป็นคาถาเนรมิตประชาชนขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ให้พวกเขามีกลไกรับประกันตัวแทนทางการเมืองของตัวเอง ดังที่เนลสันว่าไว้ พรรคพวกนักธุรกิจที่สมาคมเฉพาะพวกของตนไม่เหมือนกับพรรคการเมืองตรงที่ไม่มีใครเข้าร่วมได้ด้วยการกรอกใบสมัครสมาชิก (2002, 355)
หล่มความเป็นท้องถิ่นในกรณีของขอนแก่นโมเดลเป็นเงื่อนกลต่อต้านการเมืองที่ในทางหนึ่งก็ยกระดับการอ้างตนเพื่อชิงการนำของชนชั้นนำธุรกิจท้องถิ่นให้สูงส่งขึ้นไป ขณะที่ในอีกทางหนึ่งก็ต้อนรับอำนาจและพลังกระทำการของพรรคพวกโดยยึดหลักความเป็นจริง การทำเช่นนี้ดำเนินไปโดยปราศจากประชาธิปไตยในท้องถิ่นซึ่งควรจะมีการช่วงชิงอำนาจเทศบาลระหว่างพรรคการเมืองเป็นช่วงๆ สม่ำเสมอ สภาพนี้ใช่เพียงผลพวงจากการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเวลานาน แต่มันยังส่อไปถึงการไม่มีพรรคการเมืองท้องถิ่นเป็นรูปแบบองค์กรที่จะมาเสนอวิสัยทัศน์ถึงอนาคตเมืองที่แตกต่างกันไปต่อประชาชน วิสัยทัศน์ที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ทางปากท้องและอุดมการณ์ที่ประชันกัน สิ่งใดก็ตามที่บริษัทพัฒนาเมืองขอนแก่นสร้างขึ้นมาในสุญญากาศทางการเมืองนี้ มันจะคงอยู่คู่บ้านคู่เมือง ความทุกข์ร้อนที่มันผลิตขึ้นมาก็เช่นกัน เหล่าผู้พิทักษ์สวมเสื้อคลุมไม่มีทางออกจากปัญหานี้ อันที่จริงพวกเขาคือส่วนหนึ่งของปัญหา
อ้างอิง
- Askew, Marc. Bangkok: Place, Practice and Representation. London: Routledge, 2002.
- Brooks, Richard. “The Financial Scandal No One Is Talking About”. The Guardian, 29 May 2018, sec. News. https://www.theguardian.com/news/2018/may/29/the-financial-scandal-no-one-is-talking-about-big-four-accountancy-firms.
- Belzer, Dena, and Gerald Autler. “Transit Oriented Development: Moving from Rhetoric to Reality”. The Brookings Institution Center on Urban and Metropolitan Policy, 2002.
- Chatrudee Theparat. “Citizens Taking Initiative in Khon Kaen”. Bangkok Post, 2017, 1st September 2017 edition. https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1316747/citizens-taking-initiative-in-khon-kaen.
- Clarke, Nick, and Allan Cochrane. “Geographies and Politics of Localism: The Localism of the United Kingdom’s Coalition Government”. Political Geography 34 (1 May 2013): 10–23. https://doi.org/10.1016/j.polgeo.2013.03.003.
- Harvey, David. “From Managerialism to Entrepreneurialism: The Transformation in Urban Governance in Late Capitalism”. Geografiska Annaler. Series B, Human Geography 71, no. 1 (1989): 3. https://doi.org/10.2307/490503.
- Horst, Heather. “Creating Consumer-Citizens: Competition, Tradition and the Moral Order of the Mobile Telecommunications Industry in Fiji”. In The Moral Economy of Mobile Phones: Pacific Islands Perspectives, edited by Robert Foster and Heather Horst. Acton: ANU Press, 2018.
- Janssen, Peter. “All Aboard Thailand’s Decentralization Train”. Asia Times. Accessed 15 January 2020. https://www.asiatimes.com/2019/04/article/all-aboard-thailands-decentralization-train/.
- Keyes, Charles. “In Search of Land: Village Formation in the Central Chi River Valley, Northeast Thailand”. Contributions to Asian Studies 9 (1976): 45–63.
- Keyes, Charles. “Millenialism, Buddhism and Thai Society”. Journal of Asian Studies 36, no. 2 (1977): 283–302.
- Keyes, Charles. Finding their Voice: Northeastern Villagers and the Thai State. Chiang Mai: Silkworm Books, 2014.
- Hewison, Kevin. “Responding to Economic Crisis: Thailand’s Localism”. In Reforming Thai Politics, edited by Duncan McCargo. Denmark: NIAS Publishing, 2002.
- Honig, Bonnie. “The Politics of Public Things: Neoliberalism and the Routine of Privatization”. No Foundations: An Interdisciplinary Journal of Law and Justice, 2013, 18.
- “Khon Kaen Mayor Defends Light Rail Project Against Meddling from Bangkok”. Isaan Record, 29th May, 2018. https://isaanrecord.com/2018/05/29/khon-kaen-mayor-defends-light-rail-project-against-meddling-from-bangkok/
- McCargo, Duncan, ed. Reforming Thai Politics. Denmark: NIAS Publishing, 2002.
- Nelson, Michael H. “Chachoengsao: Democratizing Local Government?” In Thailand’s Rice Bowl: Perspectives on Agricultural and Social Change in the Chao Phraya Delta, edited by Francoise Molle and Srijantr Thippawal, 345–72. Bangkok: White Lotus, 2003. https://www.academia.edu/2089209/Chachoengsao_Democratizing_Local_Government.
- Pan Ananapibut. “Tax Reform for a More Equal Society”. In Unequal Thailand: Aspects of Income, Wealth and Power, edited by Pasuk Phongpaichit and Chris Baker. NUS Press: Singapore, 2017.
- Pechladda Pechpakdee. “The Khon Kaen Model: Eschewing Bangkok-Centric Development”. New Mandala (blog), 22 May 2018. https://www.newmandala.org/khon-kaen-model-eschewing-bangkok-centric-development/.
- Purcell, Mark. “Urban Democracy and the Local Trap”. Urban Studies 43, no. 11 (2006.): 1921–41.
- Sheller, Mimi. Mobility Justice: The Politics of Movement in an Age of Extremes. London: Verso, 2018.
- Skinner, G. William. Chinese Society in Thailand: An Analytical History. Ithaca: Cornell University Press, 1957.
- Peera Songkunnatham. “The Khon Kaen Model(s): When Terror and Transportation Infrastructure Meet”. New Mandala (website), 16 January 2019. https://www.newmandala.org/the-khon-kaen-models-when-terror-and-transportation-infrastructure-meet/.
- Streeck, Wolfgang. How Will Capitalism End?: Essays on a Failing System. London: Verso, 2016.
- Suzuki, Hiroaki, Roberto Cervero, and Kanako Iuchi. Transforming Cities with Transit: Transit and Land-Use Integration for Sustainable Urban Development. Urban Development Series. Washington DC: The World Bank, 2013.
- Suzuki, Hiroaki, Jin Murakami, Yu-Hung Hong, and Beth Tamayose. Financing Transit-Oriented Development with Land Values: Adapting Land-Value Capture in Developing Countries. Urban Development Series. Washington DC: World Bank Group, 2015.
- Thak Chaloemtiarana. Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Chiang Mai: Silkworm Books, 2007.
- Tsing, Anna Lowenhaupt. Friction. Princeton, N.J.: Princeton University Press, 2005.
- “‘กมลพงศ์ สงวนตระกูล’ ประธานหอการค้าฯ ลุยดีลบิ๊กธุรกิจทำ TOD ขอนแก่น”. ประชาชาติธุรกิจ. 16th August 2019. https://www.prachachat.net/local-economy/news-361323
- ฆฤณ ถนอมกิตติ. 2018. “ขอนแก่นทำอย่างไรถึงสร้างรถไฟฟ้าที่มีราคา 15 บาทตลอดสายได้” a day, 4th December 2018. https://adaymagazine.com/khonkaenmodel/?fbclid=IwAR2eaIiamQOf44Oq1-U-pWimrzteEqfjr71TzIs0Ucb78u6h0-YQUg3m7bc Accessed 20th January 2020
- “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสอง (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔)”. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560. https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=6422.
- สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย, สัมภาษณ์, อีสานบิซ. 3rd November 2018. Accessed on 15th January 2020 at Esan Biz Facebook Page. https://www.facebook.com/esanbiz/videos/732567073763322/.