ย้อนดูเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 ตุน สว. ไว้แล้ว 225 เสียง

 

  • เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการสังหารหมู่นักศึกษาและรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
  • การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผลมาจากการรัฐประหารซ้ำในหมู่ชนชั้นนำ ที่ต้องการแก้ไขนโยบายขวาตกขอบของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร
  • บรรยากาศการเลือกตั้งเป็นภาพสะท้อนขั้วอำนาจที่เริ่มแบ่งไปสู่นักการเมืองอาชีพ นายทุนภูธร และเจ้าพ่อท้องถิ่น
  • จังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดที่ผู้คนออกมาใช้สิทธิมากที่สุด ขณะที่จังหวัดที่ออกมาใช้สิทธิน้อยที่สุดคือกรุงเทพมหานคร
  • ด้วยโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเสมือนสนามทดลองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ดำรงอยู่อีกหลายปีถัดมา

อนึ่ง คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือนได้ตระหนักว่าการที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ตอนละ 4 ปีนั้น เป็นเวลานานเกินจำเป็นและไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

(บางส่วนจากแถลงการณ์คณะปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520)

แถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในนาม ‘คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน’ ซึ่งล้างกระดานรัฐบาลขวาตกขอบของ นายธานินท์ กรัยวิเชียร สะท้อนให้เห็นความพยายามปรับตัวครั้งใหม่ของกลุ่มชนชั้นนำ ที่ต้องการเคลื่อนจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ อันเปิดให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่อำนาจของกองทัพก็ยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น

ในคำประกาศฉบับเดียวกันอ้างว่า การบริหารงานของรัฐบาลนายธานินทร์ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม อีกทั้ง ‘ประชาธิปไตยที่มีการชี้นำ’ (Guided Democracy) ของรัฐบาลเดิม ซึ่งกำหนดขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไว้ 3 ขั้นตอน ตอนละ 4 ปี ถือเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนและอาศัยเวลาที่ยาวนานเกินไป ดังนั้นเมื่อคณะรัฐประหารนี้ยึดอำนาจเสร็จจึงสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี โดยมอบหมายให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งในวันที่ 22 เมษายน 2522 ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น จึงเป็นการเลือกตั้งแรกนับตั้งแต่การสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

บรรยากาศทางการเมืองคลี่คลายมากขึ้น แต่อำนาจยังถูกตรึง

หลังจากรัฐประหาร 22 ตุลาคม 2520 ผ่านพ้นไป คณะรัฐมนตรีชุดแรกก็มาถึงทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2520 โดยรัฐบาลชุดนี้มีรัฐมนตรีจำนวน 31 คน มี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่น่าสนใจคือในคณะรัฐมนตรีมีทหารประจำการเพียง 2 รายเท่านั้น คือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ซึ่งควบทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอีกหนึ่งคนคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในส่วนกระทรวงที่มีความสำคัญ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม ถูกแบ่งให้นายทหารนอกราชการ ขณะที่กระทรวงอื่นๆ คณะรัฐประหารมอบให้ข้าราชการ และนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพ

นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นคู่ขนานไปด้วย เพื่อทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก 35 คน โดยคณะกรรมาธิการนี้แต่งตั้ง นายจิตติ ติงศภัทิย์ เป็นประธาน และ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

ในแง่การดำเนินนโยบาย รัฐบาลเกรียงศักดิ์ได้ผ่อนปรนด้านสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น เช่น ยกเลิกข้อหาภัยสังคม และปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขัง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2521 รวมถึงผ่อนปรนการเคลื่อนไหวของแรงงาน นักศึกษา ท่ามกลางการต่อสู้ของสงครามประชาชนในเขตพื้นที่ชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวเกินจริงในคำแถลงของคณะรัฐประหารเสียทีเดียว เพราะแม้คณะรัฐประหารจะเปิดให้มีการเลือกตั้งจริง แต่ในตัวบทรัฐธรรมนูญหลายมาตรายังสะท้อนการแทรกแซงการเมืองจากกองทัพและข้าราชการประจำอยู่มาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่เปิดให้กองทัพมีอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเท่าเทียมกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ บัญญัติให้ข้าราชการประจำสามารถเป็นข้าราชการการเมืองได้ เหล่านี้คือรากฐานไปสู่การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่ระหว่างทหาร ระบบราชการ กลุ่มทุน และนักการเมืองอาชีพ

ปรากฏการณ์และตัวแสดงใหม่ในทางการเมืองไทย

การเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 ได้นำมาสู่ตัวแสดงทางการเมืองใหม่ที่น่าสนใจอันสะท้อนให้เห็นผลผลิตของการเริ่มเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากรัฐราชการมาสู่นักการเมืองอาชีพ นายทุนภูธร รวมถึงเจ้าพ่อท้องถิ่น

เนื่องด้วยการเลือกตั้งครั้งนี้มีลักษณะเป็นการเลือกตั้งโดยตรง แบ่งตามเขตจังหวัด ขณะเดียวกันบรรยากาศการรับสมัครการเลือกตั้งและการหาเสียง ก็ยังอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของพรรคที่ไม่มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ราวกับเป็นกลุ่มการเมืองมากกว่าเป็นพรรคการเมือง

รวมไปถึงพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมก็ถูกกวาดล้างตลอดหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ กลายเป็นเวทีประชันความนิยมเฉพาะตัวของนักการเมืองในพื้นที่มากกว่าจะเป็นการต่อสู้เชิงนโยบายเพื่อบอกว่าใครจะชนะเป็นนายกรัฐมนตรี

ในงานเรื่อง ‘Bosses, Bullets, and Ballots: Electoral Violence and Democracy in Thailand 1975-2011.’ ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงทางเมืองกับโครงสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย พบว่า เมื่อการเลือกตั้งมีความสำคัญมากขึ้น การได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งก็มีมูลค่าสูงขึ้นเช่นกัน วิธีการอย่างหนึ่งคือการวิเคราะห์แบบแผนของการใช้ความรุนแรงทางการเมือง

งานชิ้นนี้บรรยายภาพรวมการเลือกตั้งในวันที่ 22 เมษายน 2522 เอาไว้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนั้นมีผู้ลงสมัครแข่งขันบนเวทีเลือกตั้งกว่า 1,623 รายจากทั่วประเทศ โดยมีเก้าอี้ผู้แทนจำนวน 301 ที่นั่งเป็นเดิมพัน การแข่งขันมีผู้สมัครหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงอดีตข้าราชการเกษียณ ผู้สมัครที่โดดเด่นคนหนึ่งคือ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ทายาทของ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งถูกขบวนการนักศึกษาและประชาชนชุมนุมขับไล่ลงจากอำนาจในเดือนตุลาคม 2516

การคัมแบ็คทางการเมืองครั้งนี้ พันเอกณรงค์เลือกลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดเพชรบุรี ท่ามกลางระเบียบการเลือกตั้งที่ยังไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมือง ทำให้การรวมตัวเพื่อลงแข่งขันจึงมีลักษณะเป็นกลุ่มหรือมุ้งการเมือง หรือไม่ก็เป็นผู้สมัครอิสระ

ก่อนเสียงกลองของเวทีเลือกตั้งจะดังขึ้น กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้ 34 จังหวัดเป็นพื้นที่อันตราย แต่นั่นดูจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนัก เพราะความรุนแรงในการเลือกตั้งครั้งนั้นมีลักษณะกระจายไปในพื้นที่ 14 จังหวัดโดยไม่จำกัดภูมิภาค สะท้อนให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการดูแลการเลือกตั้งที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ

จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างการเลือกตั้งทั้งหมดมี 15 ครั้ง โดย 10 ครั้งเป็นการลอบสังหารและการพยายามลอบสังหาร ส่วนที่เหลือเป็นการปะทะและตะลุมบอน ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ในจำนวนนี้มีคนที่ถูกฆ่า 5 คน แบ่งเป็นหัวคะแนน 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง และหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์อื้อฉาวเมื่อ นายช้อง คล้ายคลึง กำนันคนดังเมืองเพชร ถูกมือปืนถล่มด้วยอาวุธสงครามตายคารถระหว่างช่วงโค้งสุดท้ายการหาเสียงลงสมัครผู้แทนราษฎร ซึ่งเขาเป็นผู้สมัคร สส. จากพรรคกิจสังคม และกำลังลงเลือกตั้งในเขตจังหวัดเพชรบุรี ขณะที่ผู้ลงสมัครในจังหวัดลพบุรีและนครสวรรค์ก็ถูกลอบทำร้ายเช่นกัน ทว่าพวกเขายังรอดชีวิต

นอกจากนี้บรรยากาศการเลือกตั้งในช่วงเวลาดังกล่าวในงานของประจักษ์ยังพบว่า ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายขวา ยังเลือกใช้วิธีดึงเอากลุ่มลูกเสือชาวบ้าน (ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งโดยรัฐ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) เข้าร่วมรณรงค์ทางการเมืองด้วย จนถึงขั้นที่กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งให้จับตามองการใช้วิธีนี้ในการหาเสียง เหตุผลเพราะรัฐบาลต้องการลดดีกรีการแข่งขันจากการใช้ฐานมวลชนทั้งปีกซ้าย-ขวามาเคลื่อนไหว อีกทั้งกังวลการเชื่อมโยงระหว่างการเมืองมวลชนกับนักการเมืองแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2518 และ 2519 ซึ่งครั้งนั้นทำให้พรรคสังคมนิยมเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการลดอิทธิพลของกลุ่มองค์กรฝ่ายขวาจริง แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งความรุนแรงจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งกำลังขยายตัวในการซุ่มโจมตีหน่วยเลือกตั้ง ในพื้นที่ที่พรรคมีกำลังแข็งแกร่ง อาทิ ตรัง สุราษฎร์ธานี น่าน เชียงใหม่ แต่นั่นก็เป็นความรุนแรงที่มุ่งขัดขวางการเลือกตั้งที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย กรณีนี้งานชิ้นเดิมสรุปว่า

“การคุกคามความปลอดภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งปี 2522 ไม่ได้มาจากการรบแบบกองโจรของพรรคคอมมิวนิสต์มากเท่ากับความรุนแรงจากกลุ่มอันธพาล เจ้าพ่อ และมือปืนรับจ้าง ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตมาจากผลประโยชน์ส่วนบุคคล”

สัมพันธภาพระหว่างกองทัพ นายทุน และนักการเมืองอาชีพ

เมื่อการเลือกตั้งมาถึง ผลการเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นการรอมชอมระหว่างรัฐราชการและนักการเมืองอาชีพมากขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ และแสดงชัดยิ่งขึ้นจากการแบ่งโควตารัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ เมื่อมีประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 43.90 โดยจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิมากที่สุดคือจังหวัดยโสธรถึงร้อยละ 77.11 ขณะที่จังหวัดที่ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 22.56 คือกรุงเทพมหานคร

ด้วยโครงสร้างกติกาทางการเมืองเช่นนี้ ก็ส่งให้ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่มีกลุ่มหรือพรรคการเมืองใดเข้มแข็งพอจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากผู้แทนราษฎรทั้งหมด 301 คน กระจายไปตามพรรคต่างๆ อีกทั้งในสภายังมีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเสียงเป็น 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ลักษณะเช่นนี้ทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 225 คน มีฐานการเมืองจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มเสรีธรรม 23 เสียง พรรคชาติประชาชน 14 เสียง พรรคพลังใหม่ 10 เสียง พรรคเกษตรสังคม 8 เสียง พรรคประชาธิปไตย 3 เสียง กลุ่มกิจธรรม 1 เสียง กลุ่มธรรมสังคม 1 เสียง กลุ่มสยามปฏิรูป 3 เสียง กลุ่มสนับสนุนเกรียงศักดิ์ 1 เสียง กลุ่มรวมไทย 3 เสียง และกลุ่มอิสระอีก 44 เสียง รวมเป็น 111 เสียง

ในขณะที่กลุ่มการเมืองอื่นๆ ได้แก่ พรรคกิจสังคม 88 เสียง พรรคชาติไทย 38 เสียง พรรคประชากรไทย 32 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 32 เสียง รวมกันเป็นฝ่ายค้านในจำนวน 190 เสียง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ถึงกับประกาศว่า “วุฒิสมาชิกเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุด”

นายกรัฐมนตรียังได้แต่งตั้งนายทหารประจำการดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในรัฐสภาปี 2522 เป็นจำนวนถึง 173 คน คิดเป็นร้อยละ 76.89 ของจำนวนทั้งหมด ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลก็ประกอบไปด้วยข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐมนตรีทั้งหมด โดยดูแลกระทรวงสำคัญที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนที่เหลือจัดสรรให้เหล่านักการเมืองที่หนุนหลังรัฐบาล

การลาออกของพลเอกเกรียงศักดิ์ และประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเต็มตัว

ในงานคลาสสิกของ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล ผู้ศึกษาความคิดทางการเมืองของกองทัพไทย อธิบายไว้ว่า หลังการเลือกตั้ง 22 ตุลาคม 2522 แนวคิดที่ทำให้รัฐบาลเกรียงศักดิ์มีเสถียรภาพ คือ ‘ลัทธิทหาร’ กับ ‘ลัทธิผู้นำ’ เพราะนอกจากจะรอมชอมกับนักการเมืองอาชีพจำนวนหนึ่งแล้ว พลเอกเกรียงศักดิ์ยังได้รับการสนับสนุนจากนายทหารคุมกำลังระดับนายพัน คือคณะทหารหนุ่มซึ่งมุ่งรื้อฟื้นเกียรติภูมิของกองทัพและต้องการให้ผู้นำทหารบกเป็นผู้นำรัฐบาลด้วย รัฐบาลนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากทั้งกองทัพ ข้าราชการประจำ และนักการเมืองอาชีพ ที่ยึดติดอยู่กับผู้นำทหารในฐานะ ‘ผู้อุปถัมภ์’

จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2522 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปีถัดมา ท่ามกลางวิกฤติราคาน้ำมัน ท้ายที่สุด พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เผชิญวิกฤติการเมือง และตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ และเลือกพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 นับจากนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของบรรยากาศของ ‘ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ที่มีพลเอกเปรมเป็นผู้นำอย่างยาวนาน

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, ‘ความคิดทางการเมืองของทหารไทย 2519-2535’. กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, 2535
ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, รูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทย ระหว่าง พ.ศ. ‘2518-2539’, กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2541
Prajak Kongkirati, ‘Bosses, Bullets, and Ballots: Electoral Violence and Democracy in
Thailand 1975–2011.’ PhD diss., Australian National University, 2013

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า