ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ นักกฎหมายเสนอวิธีจำกัดอำนาจ ตรวจสอบความชอบธรรม ให้ สส.-รมต. ร่วมสรรหา

1 ธันวาคมที่ผ่านมา วาระครบรอบ 20 ปี ของสำนักงานข่าวประชาไท มีการจัดเสวนา ‘องค์กรอิสระ-ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบอย่างไร ไม่ขวางประชาธิปไตย’ โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศุภณัฐ บุญสด นักวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า โดยทั้ง 2 คน มีประสบการณ์การทำวิจัยเกี่ยวกับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ

ปัญหาการ copy-paste จากตัวแบบตะวันตก

“จากการปลูกถ่ายสู่การผ่าเหล่าผ่ากอทางกฎหมาย หรือ ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปเป็นกลายเป็นบ้องกัญชา” สมชายเริ่มต้นโดยการกล่าวถึงปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะเริ่มจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีเจตนาดี ต้องการเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลระบบการเมืองที่เข้มแข็ง รักษาเสรีภาพของประชาชน แต่ท้ายที่สุดกลายเป็น ‘บ้องกัญชา’ ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย และพิทักษ์อำนาจชนชั้นนำทางการเมือง 

สมชายวิเคราะห์ปัญหาโดยอธิบายผ่านบรรยากาศในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กระแสในหลายประเทศมองศาลรัฐธรรมนูญว่า คือนวัตกรรมที่ช่วยปกป้องรัฐธรรมนูญและเสรีภาพของประชาชนที่ดีเยี่ยม เมื่อชุดความรู้นี้แพร่เข้ามาในประเทศไทย จึงเกิดเป็นงานวิชาการที่ศึกษาตัวแบบของต่างประเทศ ส่วนใหญ่คือฝรั่งเศส เยอรมนี และบางส่วนจากอังกฤษ สหรัฐ เพื่อนำมาปรับใช้ในเมืองไทย จนเกิดเป็นองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ 2540 

อย่างไรก็ดี เมื่อนำมาใช้อย่างตรงไปตรงมา (Legal Transplant) โดยไม่คำนึงถึงบริบทภายในประเทศไทย ผลที่ได้กลับคืนมาจึงเป็นความพลิกผันจากที่เคยตั้งใจเอาไว้ ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า ‘Hegemonic Preservation’ หรือการ ‘พิทักษ์อำนาจนำดั้งเดิม’ ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ

“เมื่อชนชั้นนำดั้งเดิมไม่สามารถเอาชนะในสนามเลือกตั้งได้ รวมมาถึงจนกระทั่งหลังสุด สิ่งที่ชนชั้นนำดั้งเดิมจะทำคือ ใช้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากำกับทิศทางการเมืองแทน องค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ยังรวมถึง กกต. ป.ป.ช. และศาลยุติธรรม นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการพลิกผัน ศาลรัฐธรรมนูญไทยจากเดิมที่จะทำหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย กลายเป็นการพิทักษ์อำนาจนำดั้งเดิม” อาจารย์ประจำ มช. กล่าว 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่า เรามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 50 กว่าคน แต่หากจะหาผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเป็นที่ประจักษ์ กลับพบว่ามีน้อยมากๆ ทั้งที่ควรเป็นรากฐานของทำงาน ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยที่ยกระดับสังคมไปสู่ความก้าวหน้าก็ถูกตั้งคำถามว่ามีหรือไม่ ส่วนใหญ่กลับเป็นคำวินิจฉัยที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล แม้เป็นเพียงการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้เสนอยกเลิก ทำให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเริ่มต้นเป็นลำไม้ไผ่ค้ำยันความแข็งแกร่งของประชาธิปไตย แต่กลับตาลปัตรกลายเป็นส่วนขยายอนุรักษ์อำนาจนิยม รักษาสถานะอำนาจของชนชั้นนำดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไป

“ในความเห็นผม คำวินิจฉัยที่มีคุณภาพเปลี่ยนแปลงสังคมมีน้อยมาก และเราจึงพบเห็นการบ่อนทำลาย พื้นฐานหลักฐานทางกฎหมาย เกิดขึ้นเรื่อยๆ และเกิดขึ้นภายใต้การปราศจากการรับผิด ไม่มีความรับผิดทางกฎหมาย และทางการเมือง การเอาผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการเมืองช่องทางเหมือนเอาช้างลอดรูเข็ม คือยากมาก” สมชาย กล่าว 

ไม่ยึดโยงประชาชน ออกแบบบนฐานคิด ‘เกลียดนักการเมือง’ 

ศุภณัฐ บุญสด นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ เกิดในบรรยากาศที่เราอยากมีประชาธิปไตย แต่เราเกลียดนักการเมือง เราพยายามขับเคลื่อนประชาธิปไตย โดยไม่พึ่งนักการเมือง เลยให้ข้าราชการประจำมากำหนดทิศทางการเมืองไทย สะท้อนผ่านการออกแบบองค์กรอิสระมาคอยกำกับนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) และฝ่ายบริหาร (รัฐบาล)

ปัญหาขององค์กรอิสระมีด้วยกัน 4 ประการ คือ ประการแรก ไม่ยึดโยงกับประชาชน ยกตัวอย่าง สมาชิก กกต. มี 7 คน เสนอโดยคณะกรรมการสรรหาที่สัดส่วนจากศาลและองค์กรอิสระสรรหากันเอง สรรหาแล้วเสนอสมาชิกวุฒิสภารับรอง ซึ่ง สว. ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 

ประการที่สอง เมื่อเกิดสภาพที่ไม่มีตัวแทนของประชาชน และคนที่คัดเลือกคือข้าราชการประจำ เราเลยได้องค์กรอิสระที่มาจากข้าราชการที่เกษียณ หรือขึ้นตำแหน่งสูงสุดของตัวเองไม่ได้ ทำให้เราได้ที่ไม่เชี่ยวชาญจริงๆ มาทำงานสำคัญของรัฐ 

ประการที่สาม เมื่อการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระมาจากความเกลียดชังนักการเมือง กลายเป็นว่าเราก็ออกแบบให้องค์กรอิสระมีอำนาจข้ามเส้นเข้ามาในปริมณฑลทางอำนาจของฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ เพื่อควบคุมอำนาจไม่ให้นักการเมืองมีอำนาจมากเกินไป ซึ่งปัจจุบันมีสะท้อนเรื่องนี้ผ่านคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การถอดถอนนักการเมืองจากประเด็นจริยธรรม การยุบพรรค การทำให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ต้องรับผิดทางการเมือง-กฎหมาย 

ประการที่สี่ คือไม่มีใครตรวจสอบองค์กรอิสระได้ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ สภาฯ มีเอกสิทธิ์ในการอภิปรายวิจารณ์การทำงานขององค์กรอิสระในการประชุมของรัฐสภาได้ แต่กลับกัน รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 124 กำหนดไว้ว่า สส. เวลาพูดหรือวิจารณ์ต้องพูดถึงรัฐมนตรีเท่านั้นจึงจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ถ้าจะอภิปรายองค์กรอิสระก็เสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญาและทางแพ่ง อีกทั้งในคณะกรรมาธิการของสภาฯ ก็ไม่สามารถเรียกองค์กรอิสระมาให้ข้อมูลตามกฎหมาย นี่เป็นช่องว่างใหญ่มากที่ทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระได้อย่างเต็มที่ และทำให้อำนาจขององค์กรอิสระขยายตามใจได้

นักวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ระบุต่อว่า ตอนที่ทำวิจัยเรื่ององค์กรอิสระ เคยมีข้อเสนอให้ศาลปกครองตรวจสอบองค์กรอิสระได้ แต่ปัญหาคือพอศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า องค์อิสระเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ นักวิชาการบางท่านจึงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบ แต่กลายเป็นว่าในรัฐธรรมนูญแทบไม่ให้อำนาจเข้ามาตรวจสอบองค์กรอิสระ ดังนั้น ทำให้องค์กรอิสระนอกจากไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง และยังไม่ต้องรับผิดขอบทางกฎหมายด้วย

อย่างไรก็ดี ศุภณัฐ กล่าวว่าดูเหมือนแนวโน้มนี้จะดีขึ้น เพราะเมื่อปี 2566 ศาลปกครองพยายามเข้าไปตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ โดยนิยามว่าอะไรคืออำนาจตามรัฐธรรมนูญ หรืออะไรคืออำนาจระดับปกครอง อำนาจตามรัฐธรรมนูญ คือถ้ารัฐธรรมนูญระบุอำนาจ กระบวนการ ตลอดจนผลทางกฎหมายอย่างชัดเจน ให้ถือว่าเป็นอำนาจระดับรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองจะเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ แต่ถ้ากำหนดอำนาจหน้าที่ในลักษณะคร่าวๆ แต่ไม่กำหนดกระบวนการหรือผลทางกฎหมายเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าเป็นอำนาจระดับปกครอง และศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบได้ ดังนั้น ปี 2566 เรื่องการแบ่งเขตไม่ชอบด้วยกฎหมายของ กกต. ศาลปกครองก็เริ่มเข้ามาตรวจสอบแล้ว ยืนยันต้องมีผู้วินิจฉัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

สมชาย มองว่า แนวทางปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญมีด้วยกัน 3 แนวทาง คือ 

  1. ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และให้อำนาจตัดสินข้อพิพาทด้านรัฐธรรมนูญ อยู่กับศาลยุติธรรม แต่ปัญหาที่พบคือ ศาลยุติธรรมก็มีความยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก การเลื่อน ลด ปลด ย้าย ไม่เกี่ยวกับประชาชนเลย 
  2. การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญบางจุด โดยดูเรื่องที่สำคัญ เช่น กระบวนการคัดคนเข้ามา เพิ่มการตรวจสอบความรับผิดทางกฎหมาย
  3. ตั้งองค์กรรูปแบบใหม่ขึ้น โดยยึดโยงกับสถาบันทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยใช้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมืองเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาดมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้นำฝ่ายค้าน ตัวแทน สส. และอื่นๆ นี่จะเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับอำนาจทางการเมืองมากขึ้น

ถามว่าตัวแบบไหนดีกว่ากัน สมชายระบุว่า ตอบไม่ได้ เพราะว่าการจัดวางในสังคมให้ผลกระทบแตกต่างกัน แต่นี่เป็นความเป็นไปได้ 3 ทาง อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวยืนยันว่าควรยังต้องมีองค์กรชี้ขาดข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไปดูว่าจะคัดคนเข้ามาอย่างไร และมีกระบวนการตรวจสอบองค์กรอิสระอย่างไร

ครม.-สภา เป็นผู้สรรหา มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

ศุภณัฐ กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการออกแบบองค์กรอิสระว่าต้องทำให้องค์กรอิสระมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย หรือให้มีความยึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเสนอว่าคนที่จะเข้ามาทำงานในองค์กรอิสระ ต้องผ่านจากสถาบันที่ได้รับอำนาจจากประชาชน หรือก็คือรัฐสภา โดยใช้ขั้นตอนคือ รัฐมนตรีเสนอแล้วให้สภาฯ เห็นชอบ เพื่อให้เขาได้รับความชอบธรรมจากตัวแทนประชาชนอย่างเต็มที่

“การเข้าสู่ตำแหน่งต้องยึดโยงของประชาชน การเลือกตั้งต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา กำหนดให้ ครม. หรือรัฐสภา มีส่วนในการเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่ง และทำให้เกิดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย” ศุภณัฐ กล่าว 

ด้านสมชายให้โจทย์เพิ่มว่า เวลาให้คนเข้ามาเป็นองค์กรอิสระ มีเรื่องที่ต้องคำนึงคือ 2 ตัวแสดงทางการเมือง อย่างกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง อำมาตย์ และกลุ่มนักธุรกิจกลุ่มทุนใหญ่ เราจะทำยังไงไม่ให้องค์กรอิสระเป็นส่วนขยายของระบอบข้าราชการ และธุรกิจเอกชน 

เสนอ 3 ทางออก แก้ปัญหาองค์กรอิสระ-ศาลรัฐธรรมนูญใหญ่เกินไป

ศุภณัฐ ยังเสนอให้เอาองค์กรอิสระออกจากรัฐธรรมนูญ เพราะปัญหาทางกฎหมาย ก่อให้เกิดการรับผิดได้ยาก หากถอดองค์กรอิสระออกจากรัฐธรรมนูญ แล้วบัญญัติในระดับพระราชบัญญัติ ให้กลายเป็นองค์กรอิสระตามกฎหมาย ก็เกิดการตรวจสอบโดยรัฐสภาได้ นอกจากนี้ เขาเสนอด้วยว่าเราต้องแก้มาตรา 124 ของรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาสามารถอภิปรายวิจารณ์การทำงานขององค์กรอิสระได้โดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดการรับผิดรับชอบทางการเมือง 

นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ระบุต่อว่า เราเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระเพราะว่าไม่ไว้ใจนักการเมือง แต่เราต้องทวงพื้นที่ทางการเมืองปกติ ดึงปริมณฑลทางอำนาจให้นักการเมืองถูกตรวจสอบโดยตัวแทนของประชาชน ซึ่งปัจจุบันนักการเมืองตัวแทนของประชาชนถูกตรวจสอบตลอดเวลาอยู่แล้ว อย่างกรณีของรัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้ใจจากฝ่ายค้าน หรือการทำผิดของนักการเมืองก็ทำให้เขาเสียความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจนำมาสู่การปลดออกจากรัฐมนตรี หรือประชาชนไม่เลือกตั้งคราวหน้าก็ได้ ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มอำนาจขององค์กรอิสระ

ให้รับผิดทางกฎหมาย บรรเทาพิษร้ายองค์กรอิสระ

อาจารย์จาก มช. เชื่อว่าหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ารูปเข้ารอย ก็คือ ทำให้รับผิดทางกฎหมายได้ในกรณีที่ตีความกฎหมายอย่างบิดเบือน กรณีการตีความกฎหมายเราพอยอมกันได้ แต่ถ้ามีกรณีที่เกี่ยวกับการบิดเบือนกฎหมายเข้ามา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องได้รับโทษทางอาญาหรือติดคุก นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด 

“การติดคุกได้ จะทำให้เขาใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง การให้ใช้อำนาจอย่างไม่ต้องรับผิด มันจะทำให้เละเทะ” สมชาย กล่าว 

สมชาย กล่าวต่อว่า อาจต้องมีองค์กรทำหน้าที่ชี้ขาดว่า คำตัดสินบิดเบือนกฎหมายหรือไม่ โดยบางประเทศให้ศาลยุติธรรมชี้ หรือบางประเทศให้การร้องต่อสภาฯ และสภาฯ ตั้งคณะกรรมการฯ ที่มีสัดส่วนหลากหลายอาชีพเข้ามาวินิจฉัย แต่ต้องอยู่หลักไม่คุกคามความเป็นอิสระของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ตุลาการไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ยอมรับว่านี่คงไม่ได้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นง่ายๆ

โจทย์ใหญ่ร่างรัฐธรรมนูญ สร้างสมดุลอำนาจใหม่

ด้านศุภณัฐให้ข้อคิดเห็นว่า หากมีโจทย์การร่างรัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปกฎหมายขึ้นมาอีกครั้ง สิ่งที่เราต้องทำคือการคำนึงถึงบริบทภายในประเทศ และยอมรับว่าเราไม่มีความเป็นประชาธิปไตย หากเราไม่คำนึงถึง มันจะทำให้ฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนทำงานได้ยาก และองค์กรอิสระเหล่านี้จะเข้ามาทำลายประชาธิปไตยในที่สุด 

ประเด็นต่อมา เราต้องรักษาสมดุลของคนที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้ ถ้าเรามีหมุดหมายว่านักการเมืองเลวร้าย สุดท้ายอำนาจที่ออกแบบมันจะเอียง คนที่มีอำนาจจริงไม่ได้มาจากประชาชน คนที่มาจากประชาชนมีอำนาจนิดเดียว เราต้องหาสมดุลให้เจอระหว่างฝ่ายตรวจสอบ และฝ่ายการเมือง เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยมันเดินต่อไปได้

“ถ้าตัวแทนประชาชน (สสร.) ตอบว่า องค์กรอิสระยังควรมีอยู่ ก็ต้องหาคำตอบว่าเขาต้องมีอำนาจแค่ไหน ที่เหมาะสมระบอบประชาธิปไตย” ศุภณัฐ กล่าว

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า