หลังจากนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้เปิดเผยผลตรวจสอบ #องุ่นไชน์มัสแคท ที่พบสารพิษตกค้างถึง 50 ชนิด ใน 24 ตัวอย่าง ตกค้างเกินมาตรฐาน 23 ตัวอย่าง และสารบางตัวซึมลึกถึงเนื้อเยื่อองุ่น ที่สำคัญใน 1 ตัวอย่าง พบเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ‘คลอร์ไพริฟอส’ (Chloryrifos) ซึ่งมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และถูกแบนห้ามใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 แต่หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร กลับบิดเบือนประเด็นจนสร้างความสับสนต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ ผลตรวจดังกล่าวเป็นการสุ่มจาก 15 แหล่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งจากซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ และออนไลน์ โดยระบุได้ว่ามาจากประเทศจีน 9 ตัวอย่าง แต่อีก 15 ตัวอย่าง ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้
ล่าสุดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN เรียกร้องว่า การแสดงฉลากผักผลไม้นำเข้าที่มีรายละเอียดของสารเคมีในกระบวนการปลูกและผลิต เป็นสิทธิที่ผู้บริโภคต้องได้รู้ (Right to Know) และต้องระบุแหล่งที่มาของผักผลไม้เพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้ หากพบสารพิษเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
กรณีที่มีข้อมูลความปลอดภัยไม่เพียงพอ ตามหลักสากลจะยึดหลักการ ‘ป้องกันไว้ก่อน’ (Precautionary Principle) โดยสหภาพยุโรปกำหนดค่าดีฟอลต์ไม่เกิน 0.01 มก./กก. แต่บางประเทศที่เข้มงวดอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา หากไม่มีการกำหนดค่าไว้ จะต้อง ‘ห้ามตรวจพบ’ โดยเด็ดขาด
ในทางกลับกัน หากไม่มีการกำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRLs (Maximum Residue Limits) อาจหมายถึงเป็นสารเคมีที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว เพราะความหมายที่แท้จริงของกรณีนี้คือ ผลกระทบที่เกิดจากการตกค้างแม้เพียงเล็กน้อยก็เกินกว่าที่จะยอมรับได้ จึงต้องเพิกถอน MRLs ดังนั้นอย่ารีบด่วนสรุปว่าไม่มีค่า MRLs แล้วจะปลอดภัย
“ดังนั้นการที่ภาครัฐออกมาให้ข้อมูลว่า สารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานนิดๆ หน่อยๆ นั้นปลอดภัย เป็นการทำลายหลักการปกป้องผู้บริโภค สิ่งที่สำคัญคือ หน่วยงานกำกับดูแลอาหารปลอดภัยต้องเร่งขับเคลื่อนระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเร่งด่วน (rapid alert system) ตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงกำหนดให้มีฉลากอ้างอิงประเทศแหล่งที่มาและสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการเพาะปลูกและผลิต”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ดร.วัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้อำนวยการกองด่านอาหารและยา ระบุว่า อย. ได้ยกระดับมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังการนำเข้าผักและผลไม้ 3 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการตรวจสอบสารพิษในผักผลไม้อย่างเข้มแข็ง จากทั้งหมด 52 ด่านทั่วประเทศ โดยมี 3 จุดใหญ่ คือ สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และเชียงของ จังหวัดเชียงราย หากพบสินค้าที่เสี่ยงสูงจะใช้มาตรการ ‘กัก-เก็บ-ตรวจ-ปล่อย’ และจะนำข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 2565 มาวิเคราะห์แหล่งที่มา เพื่อไม่ให้หลุดรอดเข้ามาในไทย หากสุ่มตรวจพบสารพิษตกค้าง ปรับ 1 แสนบาท ของแต่ละชนิดและแต่ละตัวอย่าง แต่หากถึงขั้นทำให้ผู้บริโภคเป็นอันตราย มีโทษอาญาต้องจำคุก
2. ประสานกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดวิธีเพิ่มมาตรการตรวจสอบ วิธีการทดสอบของแล็บ เพื่อรับรองให้เป็นมาตรฐานเดียวกับทั่วโลก เพื่อยกระดับมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. มาตรการเชิงรุก เจรจากับประเทศคู่ค้า โดยจะขอเข้าไปสำรวจแหล่งผลิต หรือ ‘ล้ง’ จนถึงกระบวนการส่งออกเข้ามาที่ประเทศไทย
ด้าน เภสัชกรหญิงสุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล กล่าวในวันแถลงข่าวผลการทดสอบเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ว่า หากเจอปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในสินค้าเกษตร (maximum residue limit for pesticide: MRL) มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท แต่หากเจอสารเคมีวัตถุอันรายชนิดที่ 4 ที่ไทยแบนไปแล้ว มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท และยิ่งหากตรวจสอบพบว่า เข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ คนกินแล้วเกิดอันตราย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจาก มาตรการดำเนินคดียังมีคำสั่งทางปกครองที่ใช้บังคับทั้งกับผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและผู้ผลิตในประเทศไทย โดยหากตรวจที่ด่าน เจอผัก-ผลไม้มีสารพิษตกค้างถึง 3 ครั้ง หรือเจอวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จำนวน 2 ครั้ง ใน 1 ปี จะถูกพักใช้ใบอนุญาต 120 วัน ถือเป็นการยกระดับเข้มข้น