ข่าวที่ไม่เป็นข่าว 2022: EPA ปกปิดรายงานตรวจสอบสารพิษ 1,240 ฉบับ ตลอดปี 2019-2022 ผลิตภัณฑ์อันตรายเสี่ยงเล็ดลอดสู่ผู้บริโภค

ตามปกติแล้ว บรรดาบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบและส่งรายงานไปยังองค์กรภาครัฐเสมอเพื่อความปลอดภัยของสังคม ทว่านับตั้งแต่ปี 2019-2022 กลับพบว่าแทบไม่มีรายงานสักฉบับที่ได้รับการเผยแพร่ออกสู่สายตาสาธารณชนแต่อย่างใด

ประเด็นนี้ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งใน ‘ข่าวที่ไม่เป็นข่าว’ ประจำปี 2022 โดยกลุ่มสื่ออิสระอย่าง ‘Project Censored’ ซึ่งพยายามตีแผ่เรื่องราวที่ถูกปิดบังให้เป็นที่รับรู้ในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ เสรีภาพ และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่ดี

เดือนพฤศจิกายน 2021 ชารอน เลิร์นเนอร์ (Sharon Lerner) จากสำนักข่าว The Intecept เผยว่า ‘สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ’ (United States Environmental Protection Agency: EPA) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี ได้รับรายงานเกี่ยวกับสารพิษอันตรายถึง 1,240 ฉบับ แต่มีเพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่เปิดให้สาธารณชนเข้าถึง ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับรายงานฉบับอื่นๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเล็ดลอดของสารเปอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (Per-and Polyfluoroalkyl Substances: PFAS) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้แม้ใช้เพียงปริมาณน้อยนิด ปัญหาสำคัญคือสารดังกล่าวยากที่จะกำจัดทิ้งและเป็นอันตรายสูงต่อทั้งคนและสัตว์ ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทด้านสารเคมีหลายแห่งพยายามปกปิดการใช้งานสารนี้มาตลอด

ปัจจุบันนี้แม้แต่พนักงานของ EPA จำนวนมากก็ไม่สามารถเข้าถึงรายงานหลายฉบับได้ เนื่องจากรายงานส่วนมากจะเข้าถึงได้เฉพาะผู้มีอำนาจในการประเมินผล ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่บริษัททุนใหญ่ด้านสารเคมีกังวลเรื่องความลับทางการค้าและความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จนทำให้ EPA ในยุครัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยุติการเผยแพร่เอกสารกลุ่มดังกล่าวเรื่อยมา

ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและบริษัททุนใหญ่อาจกำลังทำให้ประชาชนทั้งในสหรัฐฯ และผู้บริโภคทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอย่างมาก อีกทั้งอาจขัดกับหลักการความโปร่งใสและกฎหมายการเข้าถึงข้อมูลอีกหลายฉบับเท่าที่สหรัฐฯ เคยมีมาอีกด้วย

สารพิษที่ถูกละเลย กับการละเมิดข้อบังคับทางกฎหมาย

ตามหลักปฏิบัติแล้ว บริษัททุกบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีจะต้องส่งหลักฐานให้แก่ EPA เพื่อทำการตรวจสอบสารเคมีที่มีความเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง EPA มีข้อบังคับที่ 8 ในชื่อ Toxic Substances Control Act (TSCA) ระบุว่าต้องเผยแพร่รายงานเหล่านี้ต่อสาธารณชนบนฐานข้อมูลสาธารณะที่ชื่อ ‘ChemView’ โดยก่อนหน้าปี 2019 EPA เคยเผยแพร่เอกสารเหล่านี้หลายร้อยฉบับ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมากลับไม่มีการรายงานอีกเลย ทาง EPA ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะข้อจำกัดด้านทรัพยากรข้อมูลและกำลังคนในช่วงการบริหารของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ 

ช่วงเวลาที่ขาดหายไประหว่างปี 2019-2022 จึงหมายถึงความเสี่ยงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวภายใน EPA ที่ไม่ระบุนามของเลิร์นเนอร์ จะพบคำให้สัมภาษณ์ที่น่าตกใจว่า “เราทำเป็นมองไม่เห็นพวกเขา เราไม่ประเมินพวกเขา เราไม่ตรวจสอบว่าพวกเขาปรับเปลี่ยนสารเคมีไปจากที่เราเข้าใจหรือไม่”

จากการติดตามและสืบสวนปรากฏการณ์ดังกล่าว หลายคนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ รายงานหลายฉบับถูกทำให้หายไปจากสายตาของสาธารณชน เนื่องจากหากมีการตรวจพบสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือสาร PFAS จะส่งผลให้บริษัทสารเคมีเจ้าใหญ่หลายแห่งไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดแรงกดดันจากกลุ่มทุนใหญ่ในช่วงการบริหารของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะภายใต้ข้ออ้างด้านการรักษาความลับทางธุรกิจและการค้า รวมไปถึงข้ออ้างด้านความเป็นเจ้าของสูตรสารเคมีที่พัวพันกับกฎหมายลิขสิทธิ์ 

ยื่นฟ้อง EPA เปิดเผยข้อมูลเพื่อสิทธิประชากรโลก 

ในเดือนมกราคม 2022 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ ‘Public Employees for Environmental Responsibility’ (PEER) ได้ยื่นฟ้องให้ EPA เปิดเผยรายงาน TSCA ตามพระราชบัญญัติเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล (Freedom of Information Act) จนทำให้ EPA ยอมเปิดเผยรายงานแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะขั้นตอนการอนุมัติผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตผลิต และรายงานผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการอนุมัติ 

แม้ EPA จะยอมเปิดเผยแต่โดยดี แต่ผู้อำนวยการด้านนโยบายของ PEER ยังกล่าวตำหนิว่า เป็นเรื่องเหลือเชื่อมากที่ EPA มีงบประมาณและทรัพยากรเพียงพอที่จะทำรายงานแบบเรียลไทม์เพื่อกล่อมให้สังคมเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์สารเคมีตัวใหม่ในตลาด แต่กลับไม่มีงบประมาณในการแจ้งเตือนลูกจ้างและผู้บริโภคถึงอันตรายต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากสารตัวเดียวกัน แน่นอนว่า การเปิดเผยข้อมูลแบบเรียลไทม์นี้ ไม่ได้รวมถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่ขาดหายไปในช่วงปีก่อนหน้านั้นแต่อย่างใด 

ปัญหาสำคัญต่อมา มีการค้นพบว่าสำนักข่าวขนาดใหญ่มักเลือกที่จะไม่สนใจในประเด็นดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาการขาดหายไปของรายงาน TSCA แต่ยังรวมถึงการมีอยู่ของวัฒนธรรมองค์กรใน EPA ที่เป็นพิษ (toxic culture) จริยธรรมองค์กรที่เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย และทิศทางองค์กรที่มีแนวโน้มโอนอ่อนเมื่อถูกทุนใหญ่ในธุรกิจสารเคมีกดดันกลับมา หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือ สำนักข่าวเจ้าใหญ่อย่าง Bloomberg Law ได้เขียนบทความที่คาบเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2021 ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการอ้างอิงเนื้อหาจากสำนักข่าว The Intercep แต่ก็เลือกที่จะนำเสนอให้แรงกดดันจากตลาดสารเคมีดูเบาบางลง และนำเสนอในแง่ว่ากลุ่มธุรกิจอาจต้องการข้อมูลที่มากขึ้นสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สารเคมี การออกแบบทางเลือกอื่น หรือยกระดับมาตรการทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยของตนเองแทน เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หนึ่งสัปดาห์ให้หลังจากการฟ้องร้องของ PEER ที่ต่อยอดมาจากการรายงานเชิงสืบสวนของสำนักข่าว The Intercep และข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่ระบุนาม ก็ทำให้ EPA ออกแถลงการณ์ว่าจะกลับมาเผยแพร่รายงานการตรวจสอบสารเคมีต่อสาธารณชนอีกครั้ง ซึ่งหมายความว่าการทำงานข่าวเชิงสืบสวนของสื่อมวลชน สามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ และจากนี้ไปผลการรายงานของ EPA แบบเรียลไทม์ ก็จะกลายเป็นที่จับตามองของสื่อมวลชนมากขึ้น รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้บริโภคทุกคนที่ไม่ต้องการให้มีสินค้าอันตรายชนิดใดเล็ดลอดออกสู่ท้องตลาดได้แม้แต่ชิ้นเดียว        

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า