Cornnection คน เขา เรา ข้าวโพด: ร่วมกันเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

ภูเขาหัวโล้น
ที่มาภาพ : wachalife.com

ภาพภูเขาหัวโล้นปรากฏอยู่หลายจังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งตอนนี้กำลังจะเผชิญภาวะหมอกควันและฝุ่นละอองจนเป็นอันตรายต่อการหายใจอีกครั้งหนึ่ง หลายคนพุ่งเป้าไปที่เกษตรกรผู้ทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำกินบนพื้นที่สูง แต่คำถามสำคัญคือเกษตรกรเป็นผู้ก่อปัญหาหรือเป็นเพียงเหยื่อในห่วงโซ่การผลิตและการบริโภคของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน

หากวัดจากขนาดพื้นที่  จังหวัดน่าน มาเป็นอันดับที่สองด้วยพื้นที่ 817,012 ไร่   โดยมีเพชรบูรณ์เป็นอันดับ 1 ด้วยพื้นที่เพาะปลูก 979,616  และตาก 680,320 ไร่เป็นอันดับ 3 จากพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศราว 7.2 ล้านไร่ และกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3.6 ล้านไร่อยู่ในเขตป่าหรือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ (ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, มกราคม 2558)

“ใครได้ประโยชน์จากการปลูกข้าวโพดเหล่านี้ ซึ่งจากข้อมูลสัดส่วนในธุรกิจอาหารสัตว์จะเห็นว่า เกษตรกรจะได้เงินเพียง 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่พ่อค้าคนกลางหรือเจ้าของไซโลรับซื้อข้าวโพดจะได้เงิน 3 แสนล้าน และโรงงานอาหารสัตว์จะได้เงินมากกว่าถึง 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อมองว่าพื้นที่ป่าที่หายไปกลายเป็นไร่ข้าวโพด แต่สำหรับจังหวัดน่านที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 8 แสนไร่นั้น ไม่ใช่การบุกรุกป่าใหม่ แต่เป็นการที่ชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่ไร่หมุนเวียนดั้งเดิมให้กลายเป็นไร่ข้าวโพด ดังนั้นเบื้องหลังเขาหัวโล้นเมืองน่านจึงเป็นสิ่งที่เราต้องสืบค้น เพื่อทำให้สังคมเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่ามองชาวบ้านเป็นผู้ทำลายป่าต้นน้ำ” ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตั้งคำถามนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว

03-11-sarinee
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าโครงการวิจัย “การวิเคราะห์การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดอาหารสัตว์เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” ยืนยันว่า เขาหัวโล้นที่จังหวัดน่านเกิดจากการทำไร่ข้าวโพดจริง และมีหลายผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างซับซ้อน ไม่ใช่มีแค่บริษัทค้าอาหารสัตว์รายใหญ่เท่านั้น

“การจัดการปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ เพียงแค่เรียกร้องให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งเลิกรับซื้อผลผลิต หรือเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ เพราะอย่าลืมว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่มีปัญหาก็เป็นเกษตรกรที่ยากจน เขาไม่มีทางเลือกอื่น” สฤณี ให้ข้อมูลเบื้องต้น

ด้านบริษัทค้าอาหารสัตว์รายใหญ่ที่งานนี้โดนพุ่งเป้ามากที่สุด ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ แสดงความเห็นว่า ปัจจัยสำคัญของปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะชาวบ้านไม่มีทางเลือกในการทำมาหากิน ปัญหาสิทธิที่ทำกินที่ไม่ชัดเจน และยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเกษตร เช่น การขาดระบบชลประทาน ทำให้ข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศกลายเป็นทางเลือกของชาวบ้าน

“วันนี้ข้าวโพดเป็นพืชที่ถูกมองว่าเป็นตัวการทำลายป่า การแก้ปัญหานี้จึงมีความท้าทายอย่างมาก และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน ในส่วนของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นมีความตั้งใจจริงและพร้อมที่จะก้าวเข้ามามีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป”

ทั้งนี้ผู้บริโภคเองก็เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน แต่หลายคนคิดว่าปัญหาหมอกควันและเขาหัวโล้นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่จริงแล้วกลับใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง

ยกตัวอย่าง ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวที่เราชอบสั่งเวลาคิดอะไรไม่ค่อยออก ถ้าเราลองสาวถึงต้นทาง เริ่มจากไก่>ไก่กินอาหารสัตว์>อาหารสัตว์ทำจากข้าวโพด>ข้าวโพดมาจากไร่บนภูเขาหัวโล้น

ชั่วระยะเพียง 3 ทอดสั้นๆ นี้คงเป็นคำตอบสำหรับเรื่องนี้ได้อย่างดีแล้วว่า คน-เขา-เรา-ข้าวโพด นั้น ใกล้กันแค่ไหน

จึงเป็นที่มาของงาน Cornnection: คน เขา เรา ข้าวโพด ในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2559 นี้ ที่ Root Garden ทองหล่อซอย 3  โดยมีไฮไลท์อยู่ที่วงเสวนา ‘คน เขา เรา ข้าวโพด: การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน’ นำโดย สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้บริษัทป่าสาละ, ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์, ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และ จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านรณรงค์ นโยบาย องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย  ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

“งานเสวนาในครั้งนี้จะเป็นโอกาสแรกๆ ที่ตัวละครสำคัญ ซึ่งในมุมหนึ่งอาจเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับปรากฏการเขาหัวโล้น แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นผู้ที่สามารถพลิกสถานการณ์ได้อย่างขนานใหญ่ จะได้มาแสดงตัว แสดงจุดยืน บอกเล่าความตั้งใจในการเปลี่ยนผ่าน แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ที่แม้อาจยืนอยู่คนละมุมแต่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาเดียวกัน เราเชื่อว่าการคุยกันอย่างเปิดอก ตรงไปตรงมา กล้าตอบถามยากๆ พร้อมหาทางออกและแสดงความรับผิดชอบร่วมกันตามบทของแต่ละฝ่ายเท่านั้น จะทำให้สังคมสามารถแก้ไขและเยียวยาเรื่องนี้ได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านงานนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ทิ้งท้าย

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า