จาก ‘หมอกควัน’ ถึง ‘อาหารเรา’

กะเพราไก่ไข่ดาวราดข้าวสวยร้อนๆ เมนูโปรดที่ทุกคนรับประทานกันได้ไม่รู้เบื่อ เป็นได้ทั้งมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อค่ำ หรือถ้าหิวขึ้นมาเมื่อไหร่ก็แค่แวะเข้าร้านสะดวกซื้อ คว้าข้าวกล่องสำเร็จรูปแช่เย็นมาสักกล่อง อุ่นพร้อมทานได้ทันใจ ตามประสาคนอยู่ง่ายกินง่าย ไม่เห็นต้องคิดอะไรให้มากความ

ทว่าในโลกใบที่อยู่ยากและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ใครจะคิดว่าไก่เนื้อนุ่มที่วางโปะบนจานข้าวตรงหน้าอาจเป็นปลายทางของ feed ข่าว ‘หมอกควันภาคเหนือ’ ที่เรากำลังไล่อ่านผ่านๆ บนสมาร์ทโฟนอยู่ก็ได้

เราอาจเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ‘หมอกควันมาจากไหน’ …เดี๋ยวไก่ก็จะตามมาเอง

www.cmhealthmap.com

หมอกจางๆ และควัน

ต้นฤดูร้อนกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พื้นที่ภาคเหนือตอนบนหลายจังหวัด ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแพร่ ต้องกลายเป็นเมืองสีเทาอยู่นานหลายสัปดาห์ อบอวลอยู่ใต้หมอกควันผืนใหญ่ที่หอบเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กจนทำให้ผู้คนหายใจได้ไม่เต็มปอด ส่งผลให้มีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจแน่นขนัดโรงพยาบาล เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมวลมหาหมอกควันเข้ายึดน่านฟ้าบริเวณพื้นที่แอ่งกระทะของภาคเหนือตอนบน สภาพเมืองในหมอก (พิษ) จึงเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

สืบสาวไปพบตอใหญ่คือ ‘การเผาป่า’ หนึ่งในวงจรของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มจากการบุกรุกแผ้วถางป่ามาทำเป็นพื้นที่ทำกิน และหลังจากเก็บเกี่ยวก็มักมีการเผาตอซัง เหตุที่ต้องเผาเพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูกเป็นที่ดอน ไม่สามารถไถกลบได้เหมือนกับพื้นที่ราบ

เมื่อพิจารณาสัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่เพาะปลูก ตามรายงานการวิจัยเรื่อง ‘การวิเคราะห์ การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน’ โดย สฤณี อาชวนันทกุล และคณะ พบว่า ในช่วงปี 2545-2556 มีการทำไร่ข้าวโพดเพิ่มขึ้นถึง 109 เปอร์เซ็นต์ โดย 61 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่ป่า หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่

ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน ปี 2556 ระบุถึงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉพาะภาคเหนือมีจำนวนทั้งสิ้น 5,592,375 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่า 3,025,959 ไร่

ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นคือ ‘ธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ โดยมีอุตสาหกรรมต้นน้ำอยู่ที่โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่สองรายที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ และอันดับ 2 ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นที่มาของอำนาจการต่อรองสูงสุด

ลำดับถัดมาคือ ธนาคารหรือสถาบันการเงินรายใหญ่ที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกให้เกษตรกร โดยมีเงื่อนไขในการปล่อยกู้ไม่เข้มงวดเท่าที่ควรจะเป็น คือ ไม่ต้องใช้เอกสารสิทธิ์ในการขอรับสินเชื่อ หรือใช้บุคคลเพียงห้าคน มาค้ำประกันก็ได้

ปลายน้ำของวงจรการผลิตอย่างเกษตรกรที่มาพร้อมกับอำนาจการต่อรองต่ำสุด โดยเฉพาะรายที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงจำต้องบุกรุกป่าสงวนโดยเฉพาะป่าในที่ดอน และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีโรงงานผู้รับซื้อรายใดกล้าระบุเงื่อนไขว่า จะไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากพื้นที่เพาะปลูกผิดกฎหมาย และถึงแม้จะระบุเงื่อนไขข้างต้นไว้ แต่จะมีเกณฑ์การพิสูจน์อย่างไรว่าผลผลิตดังกล่าวไม่ได้มาจากพื้นที่เพาะปลูกที่ผิดกฎหมาย

รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกว่าเจ็ดล้านไร่ มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรประมาณ 400,000 ครัวเรือน โดยประมาณการว่าในปี 2558-2559 พื้นที่เพาะปลูกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 0.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณสี่ล้านตัน/ปี ซึ่งการใช้ข้าวโพดเลี้ยวสัตว์มีอัตราเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคปศุสัตว์ โดยผลผลิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จะเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

Picture rz

ข้าวโพดเท่านั้นที่ต้องการ

เหตุที่บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่เลือกใช้วัตถุดิบประเภทแป้งอื่นๆ มาทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะในข้าวโพดมีสารอาหารจำเป็นบางชนิดที่วัตถุดิบอื่นๆ ไม่มี ที่สำคัญราคาข้าวโพดยังถูกกว่า เมื่อต้องผลิตในปริมาณที่มาก  นอกจากนี้นโยบายจำนำผลผลิต ประกันราคา และส่งเสริมการนำเข้าของรัฐล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เปิดไฟเขียวให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ด้วยนโยบายลดภาษีนำเข้า ส่งผลให้อุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เติบโตต่อเนื่อง และเป็นแรงจูงใจในการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรต่อไป

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหล่านี้คือ แหล่งอาหารอันดับ 1 ของปศุสัตว์ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไก่เนื้อ ไก่ไข่ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมถึงเป็ด หมู วัว และปลา

ผลกระทบที่ซัดกันมาเป็นทอดๆ กลับกลายเป็นว่า แม้รายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น จากราคารับซื้อกิโลกรัมละเกือบเก้าบาท (ข้อมูลจาก พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) แต่สิ่งที่ตามมาคือ ‘หนี้สิน’ ทั้งในและนอกระบบ รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้อันเนื่องมาจากระบบตลาด ‘ผู้ขายน้อยราย’

อีกด้านหนึ่งยังเกิดการบุกรุกป่าแผ้วถางเพื่อทำไร่ข้าวโพด ยังไม่รวมถึงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่บ่อนทำลายทั้งคุณภาพดิน น้ำ และสุขภาพ โดยมีการใช้ปุ๋ยเคมีมากกว่า 100 กิโลกรัมต่อไร่ และใช้ยาฆ่าหญ้ากว่า 1 ลิตรต่อไร่ ซึ่งราคาปุ๋ยและยาเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สุดท้ายหลังจากเก็บเกี่ยวต้องมีการเผาตอซังเพื่อเตรียมที่ดินปลูกต่อไป ทำให้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นยิ่งทวีความรุนแรง

สถานการณ์ปัญหาที่เกิดในหลายจังหวัดทางภาคเหนือแทบไม่แตกต่างกัน เรื่องนี้ยืนยันได้จาก จงคล้าย วรพงศธร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งระบุชัดเจนว่า สาเหตุของปัญหาหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดจากการเผาในพื้นที่ไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกือบทั้งหมด และสาเหตุอื่นๆ เช่น การเผาป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์

เช่นเดียวกับ วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่ยอมรับในเวที ‘ความจริงเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กับทางออกประเทศไทย’ เมื่อต้นเดือนเมษายนหลังเกิดวิกฤติหมอกควันภาคเหนือว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง และยังพบว่าปีนี้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น โดยมีตัวเลขถึง 3.5 ล้านไร่ที่เพาะปลูกในพื้นที่ป่า

เมื่อเกิดปัญหาซ้ำซากเป็นวงจรเดิมๆ เช่นนี้ทุกปี จึงนำมาสู่มาตรการป้องกันในอนาคตที่จะต้องกดดันให้เอกชนไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่มีการเผาหรือบุกรุกป่า ส่วนมาตรการสุดท้ายอธิบดีกรมควบคุมมลพิษย้ำว่า รัฐจะต้องแบนสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับซื้อข้าวโพดที่ก่อให้เกิดมลภาวะ โดยการกดราคาหรือซื้อในราคาที่ต่ำกว่า

“แต่เอกชนจะร่วมมือหรือไม่ ผมฝากคำถามถึงทุกคน” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ทิ้งไว้เป็นคำถาม

ปากคำผู้รับผิดชอบต่อสังคม

ท่ามกลางข้อสงสัยถึงความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องต่อวิกฤติหมอกควัน ผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส ออกมายืนยันว่า การทำ ‘เกษตรพันธสัญญา’ ของบริษัทไม่ได้มีส่วนต่อการเผาไร่ข้าวโพดและปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ โดยระบุว่า มีพื้นที่ไร่ข้าวโพดประมาณ 20,000 ไร่ ที่ได้ทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกร เพื่อนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์ ซึ่งบริษัทสามารถควบคุมการจัดการได้ และยืนยันว่าไม่ได้มีการเผาวัสดุทางการเกษตร

อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าวยอมรับว่า ในการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรเป็นรายๆ บริษัทไม่สามารถเข้าไปควบคุมการบริหารจัดการพื้นที่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทดำเนินธุรกิจพร้อมๆ กับให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เช่น การส่งเสริมโครงการเกษตรพึ่งตนเอง ปลูกข้าวโพดแบบยั่งยืน รวมถึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Picture2
 

‘ปลาป่น’ องค์ประกอบอาหารสัตว์

จากภูเขาภาคเหนือถึงทะเลภาคใต้ ดูเหมือนจะห่างไกลกันอย่างไม่น่าจะเกี่ยวโยงกันได้ แต่เอาเข้าจริง ทุ่งข้าวโพดพันธสัญญากับอุตสาหกรรมประมงเป็นห่วงโซ่ที่สัมพันธ์อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

เพราะปลายทางของผลผลิตจากข้าวโพดเกือบห้าล้านตันจะถูกแปรรูปเป็นแป้งข้าวโพด เพื่อนำไปผสมกับ ‘ปลาป่น’ หรือที่เรียกว่าปลาเป็ด ก่อนจะป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตเป็นอาหารสัตว์ในท้ายที่สุด

ปัญหาอยู่ตรงที่การได้มาของปลาป่นไม่ได้เกิดจากการใช้เครื่องมือจับปลาที่ถูกกฎหมาย แต่ได้มาโดยการใช้เรืออวนลาก อวนรุน ลากไถไปใต้ผืนน้ำ ซึ่งไม่เพียงทำให้ปลาเล็กปลาน้อยร่อยหลอไปจากท้องทะเล แต่ยังส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างร้ายแรง

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างน่าใจหาย สาเหตุหลักเพราะมีการจับปลาเป็ดไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์

เขาบอกอีกว่า อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ต้องใช้ปลาป่นเป็นส่วนผสมถึง 65 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญในอาหารสัตว์ โดยจะมีเรือประมงออกล่าปลาเป็ดไม่ต่ำกว่าครั้งละ 300,000 ตัน เพื่อส่งขายให้โรงงานปลาป่น 149 แห่งทั่วประเทศ ทั้งที่ปลาเป็ดเหล่านี้ก็คือ ลูกปลาทู ลูกปลาอินทรี หากตัวอ่อนของสัตว์น้ำเหล่านี้มีโอกาสรอดชีวิตจากการล่า ก็จะสามารถเติบโตและขยายพันธุ์ต่อได้

ล่าสุดวันที่ 21 เมษายน 2558 สถานการณ์ประมงไทยกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากสหภาพยุโรป (EU) โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบที่มาของแหล่งอาหาร การใช้เครื่องมือประมงที่กระทบสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานทาส ส่งผลให้ไทยได้รับโทษ ‘ใบเหลือง’ โดยอียูประกาศให้เวลาไทยอีกหกเดือน ในการปรับปรุงรูปแบบการทำกิจการประมง มิเช่นนั้นจะถูกระงับการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลไปอียู ซึ่งสร้างรายได้ให้ไทยปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้รับคำเตือนหลายครั้ง แต่ทางการไทยยังไม่สามารถควบคุมดูแลได้

ณ จุดนี้สะท้อนว่า ในประเทศสากลเริ่มขยับตัวและจับตามองพฤติกรรมของภาคอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการไทยจะสำนึกหรือดันทุรังตักตวงทรัพยากรอย่างไม่สิ้นสุดต่อไป

infographic rz

ผูกมัด…ไม่ผูกพัน

ทั้งข้าวโพดและปลาป่นที่มีปลายทางสุดท้ายคือ การนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไก่ เป็ด หมู วัว ปลา เป็นวงจรของเกษตรพันธสัญญา ที่นำบทเรียนอันล้ำค่ามาสู่ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง

เสาวลักษณ์ เหลืองเรณู หรือ ‘แอน’ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่วัย 45 ปี ชาวจังหวัดสิงห์บุรี ที่วันนี้ต้องย้ายที่ทำกินมาปักหลักอยู่ปทุมธานี พ่วงด้วยหนี้ก้อนโต 32 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ต้องเสียที่ดินไปแล้วสามแปลง

เรื่องราวเริ่มต้นจากปี 2541 แม่ของเสาวลักษณ์ลงทุนทำฟาร์มไก่เนื้อด้วยตนเองราว 20,000 ตัว อาชีพเกษตรกรดำเนินไปได้ด้วยดี ไร้หนี้สิน ทว่าเจ็ดปีต่อมา เมื่อบริษัทรายใหญ่มาเคาะประตูถึงหน้าฟาร์ม ชวนเสาวลักษณ์ให้หันมาเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมยื่นข้อเสนอครบวงจรตามแบบเกษตรพันธสัญญา

เงินกู้ห้าล้าน มาพร้อมกับการลงไก่ไข่รุ่นแรก 26,000 ตัว อาหาร และอุปกรณ์โรงเรือนต่างๆ ผลปรากฏว่าทุกอย่างไปได้สวย ราบรื่นทุกขั้นตอน เพราะพันธุ์ไก่รุ่นแรกที่ได้รับมาสุขภาพแข็งแรง มีอายุตามเกณฑ์ ออกไข่ดี กินอาหารตามปริมาณที่กำหนดไว้ เมื่อถึงเวลาปลด (เปลี่ยน) ไก่ ก็ไม่มีปัญหา

เข้าปี 2549 ฟาร์มไก่ของเธอต้องประสบปัญหาน้ำท่วม บริษัทเสนอให้เช่าฟาร์มอื่นเลี้ยงไก่ในราคาตัวละห้าบาท/เดือน แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือ บริษัทไม่ส่งพันธุ์ไก่ให้ เธอต้องกู้เงินอีก 3.7 ล้านบาทมาซื้อพันธุ์ไก่เอง

พอปี 2550 เกิดน้ำท่วมซ้ำ บริษัทเสนอให้ย้ายฟาร์มใหม่ ต้องกู้เงินอีก 1.1 ล้านสำหรับค่าที่ดินและโรงเรือน จากนั้นไม่นานบริษัทมาพร้อมนโยบายใหม่ เปลี่ยนการเลี้ยงไก่เป็นระบบอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยโรงเรือนหนึ่งหลัง ให้เลี้ยงไก่ 36,000 ตัว และใช้เครื่องจักรทั้งหมด

“เราก็เห็นว่าบริษัทใหญ่โต เลยไปกู้อีกธนาคารอีก 12.5 ล้านบาท เขาก็ให้กู้ เพราะบริษัทยืนยันให้เราเป็นฟาร์มต้นแบบ พาสื่อมาทำข่าวเยอะแยะ พร้อมสัญญาว่าจะปรับเพิ่มราคารับซื้อไข่ไก่มากกว่าเดิมอีกใบละ 20-30 สตางค์”

จากนั้นเป็นต้นมา ความผิดปกติก็ปรากฏขึ้นอย่างเงียบๆ เช่น ไก่ออกไข่น้อยผิดปกติ แม้จะยังกินอาหารในปริมาณเท่าเดิม สัญญาที่จะเพิ่มราคารับซื้อไข่ก็หายไปกับสายลม ซ้ำเมื่อไก่อายุครบกำหนดปลดเล้า บริษัทก็ไม่มาปลดให้ ฯลฯ รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ท่ามกลางการผัดผ่อนเจรจาของบริษัท

เธอตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่ง-พันธุ์ไก่มีปัญหา สอง-อาหารไก่ก็มีปัญหา

เมื่อปัญหาคาราคาซัง ซ้ำรุมเร้ามากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาของการบอกเลิกสัญญาทั้งหมด และเมื่อสืบทราบว่ามีเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันนี้อีกหลายจังหวัด เธอจึงพยายามนัดแนะและเอาปัญหามาคุยกัน

“ถ้าอยู่ต่อเราก็ตาย แถมสัญญาใหม่ระบุว่า ถ้าเราทำได้ไม่มีคุณภาพ เขามีสิทธิ์ยึดได้ทันที ทั้งๆ ที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิดเรา เขานั่นแหละที่ไม่ให้ความเป็นธรรม”

แอนและเพื่อนๆ ตัดสินใจหยุดส่งไข่ให้บริษัทและดิ้นรนหาตลาดเอาเอง ไม่เกี่ยงว่าจะตลาดนัดหรือข้างถนน ระหว่างนั้นใจก็ยังหวังว่าผู้บริหารลงมาเคลียร์ปัญหา แต่สิ่งที่ได้มากลับเป็นหมายศาล กล่าวหาว่าเกษตรกรทำผิดสัญญา

เมื่อเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ที่กระทบต่อภาพลักษณ์บริษัท ในที่สุดบริษัทจึงยินยอมเจรจาและจ่ายเงินชดเชยให้ส่วนหนึ่ง แอนกำเงินก้อนนั้นไปโปะหนี้สิน และตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ด้วยการหวนกลับมาเป็นเกษตรกรอิสระที่ไม่ต้องตกอยู่ใต้พันธสัญญาใดๆ

“หนี้สินก็ยังมีอยู่ แต่ชีวิตไม่ถูกกดขี่ เรามีสิทธิ์เลือกเอง มีสิทธิ์กำหนดชีวิตตัวเองได้ ไม่ต้องรอให้ใครมาเลือกให้เรา”

www.salforest.com

เราจะ (ไม่) ทำตามสัญญา

ชีวิตเกษตรกรที่ต้องเผชิญวิบากกรรมเช่นเดียวกับเสาวลักษณ์ไม่ได้มีหยิบมือเดียว และใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสดิ้นหลุดจากวงจรนี้ไปได้ง่ายๆ เพราะไร้อำนาจต่อรอง ด้วยหนี้ก้อนโตเป็นชนักติดหลังที่ยากจะปลดแอกลงได้ สุดท้ายจึงต้องยอมจำนน กลายเป็นผู้ใช้แรงงานรับจ้างในที่ดินของตนเอง

จากการศึกษาของคณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ในปี 2556 พบว่า ตัวเลขเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และเกษตรกรผู้ปลูกพืช (มันฝรั่ง อ้อย ข้าวโพด เมล็ดพันธุ์) คาดการณ์ได้ว่า มีเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญามากถึง 400,000 ราย ซึ่งแม้จะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบสัดส่วนของเกษตรกรทั้งประเทศ แต่เกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาถือเป็นกำลังหลักในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

ขณะเดียวกัน ข้อมูลสถานการณ์หนี้สินเกษตรกรไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ในปี 2553 เกษตรกรมีหนี้สิน 3.6 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 แสนล้านบาท ในปี 2555 ขณะที่ข้อมูลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปี 2556 พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ 2,222,365 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 224,237 ล้านบาท

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเกษตรพันธสัญญา ก่อตัวขึ้นจากความไม่เป็นธรรมของเงื่อนไขสัญญา กล่าวคือ เป็นข้อตกลงที่มิได้นำ ‘ต้นทุนแอบแฝง’ เข้ามาคำนวณเป็น ‘ต้นทุนการผลิตที่แท้จริง’ ซึ่งก็คือค่าความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องแบกรับเอง ทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ราคาผลผลิตผันผวน รวมถึงค่าตอบแทนที่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

ขณะที่ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตถูกลิขิตไว้แล้วโดยบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคารับซื้อ มาตรฐานสินค้า หรือบังคับให้เกษตรกรต้องใช้อุปกรณ์ อาหารสัตว์ ยา และสารเคมีที่บริษัทจัดหาให้เท่านั้น

จากจุดเริ่มต้นนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยอย่างกว้างขวาง ดังปรากฏเป็นภาพเทือกเขาและยอดดอยทางภาคเหนือที่กลายสภาพเป็นทุ่งข้าวโพดพันธสัญญาสุดลูกหูลูกตา ไร่อ้อยพันธสัญญาที่รุกคืบเข้าครอบคลุมแถบที่ราบสูงภาคอีสาน กระชังปลาเรียงรายเต็มสองฝั่งลำน้ำแม่ปิง (เชียงใหม่) ลำน้ำชี (มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด) ขี้หมูขี้ไก่ส่งกลิ่นรบกวนและเป็นชนวนความขัดแย้งในหลายชุมชน

สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดขึ้นจากการผลักดันของบริษัทและการละเลยของหน่วยงานภาครัฐ โดยมิได้คำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และทั้งหมดยังเป็นต้นทุนสาธารณะโดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุน แต่ผลักภาระไปให้สังคมทั้งระบบต้องรับผิดชอบกันเอาเอง

สภาพความไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญาที่เด่นชัดที่สุดคือ เป็นระบบผูกขาด ทั้งข้อมูล ความรู้ ปัจจัยการผลิต และกลไกตลาด ให้อยู่ในมือของบริษัทแต่เพียงผู้เดียว รวมไปถึงการบิดเบือนราคาด้วยอำนาจเหนือสายพานการผลิต ช่องทางการตลาดและการกระจายสินค้า โดยที่รัฐมิอาจควบคุมราคาได้

กล่าวได้ว่า การผูกขาดทั้งปัจจัยการผลิต ตลาดทุน ตลาดสินค้า เป็นต้นตอสำคัญของความไม่เป็นธรรม การเอาเปรียบ ความเหลื่อมล้ำ และความล่มสลายของครอบครัวชุมชนเกษตรกร ขณะที่กระบวนการยุติธรรมมีช่องโหว่ที่ไม่สามารถเข้าตรวจสอบ ปกป้อง และให้ความคุ้มครองผู้ที่ด้อยกว่า ในทางตรงกันข้าม บริษัทกลับใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ได้อย่างชอบธรรม

ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของระบบเกษตรพันธสัญญา คือประเด็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการสะสางและยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาจึงมีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป เป็นก้าวแรกของการคืนความเป็นธรรม

เครือข่ายฯ เสนอว่า ระบบการผลิตแบบพันธสัญญาจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปโครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ โดยในระยะเฉพาะหน้าต้องมีหน่วยงานที่รับเป็นเจ้าภาพและเกิดการบูรณาการร่วมกัน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยเฉพาะ และต้องมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาระบบการเกษตรแบบพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. …

ในระยะกลาง ต้องปรับความสัมพันธ์ในวงจรการผลิตในภาคการเกษตร โดยสร้าง ‘ธรรมนูญการเกษตร’ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์พื้นฐานเกี่ยวกับภาคการผลิตและภาคการตลาด ภายใต้หลักการสำคัญของ ‘สิทธิเกษตรกร’ อาทิ สิทธิการรวมกลุ่ม สิทธิการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม มีหลักประกันรายได้ที่ยุติธรรม สิทธิในความมั่นคงและคุณภาพชีวิตเกษตรกร ฯลฯ

ในมิติทางกฎหมายต้องตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ เช่น ให้เกษตรกรมีฐานะเป็นหุ้นส่วนที่มีสิทธิ์ในผลผลิต และผู้ประกอบกิจการอีกฝ่ายต้องเข้ามาร่วมรับความเสี่ยงจากกระบวนการผลิตด้วย ให้นำหลักการแบ่งปันผลประโยชน์มาใช้ในการจัดสรรผลตอบแทนที่เป็นธรรม บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ให้เข้ามาตรวจสอบความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากข้อตกลง จัดตั้งระบบการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท เป็นต้น

ล่าสุด คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้บรรจุกฎหมายว่าด้วยเกษตรพันธสัญญา ในมาตรา 292 เพื่อป้องกันหรือขจัดการผูกขาด มิให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาด และมาตรา 293 (3) เรื่องการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจรายภาค โดยมีหลักการให้ “คุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการผูกขาดทางการเกษตร ระบบเกษตรพันธสัญญา และการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบเกษตรพันธสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร”

กระเพราไก่

อาหารจานนี้ได้แต่ใดมา

นอกเหนือจากที่เรารับรู้กันอยู่ก่อนแล้วว่า อาหารที่วางจำหน่ายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าทั่วไปที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามน่ารับประทาน ส่วนใหญ่แล้วล้วนมีอันตรายแอบแฝงจากการใช้ฮอร์โมนเร่งโต ยาและสารเคมีรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพ

อีกมุมหนึ่งเราอาจหลงลืมไปว่า ก่อนจะมาเป็นอาหารจานด่วนที่วางอยู่ตรงหน้า มันอาจถูกปรุงด้วยน้ำตาเกษตรกร หรืออาจมีส่วนประกอบของหนี้สินเจือปนอยู่ และกว่าจะผลิตออกมาเป็นเนื้อหมู ไก่ ปลา สดใหม่ในตู้แช่แข็ง ก่อนหน้านี้มันอาจผ่านกระบวนการบังคับใช้แรงงาน และมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หากผู้บริโภคตระหนักถึงที่มาของอาหารแต่ละมื้อ อย่างน้อยที่สุดก็อาจช่วยให้ฉุกคิดอะไรบางอย่างก่อนที่จะตัดสินใจเลือกกินเลือกซื้อ วิธีที่ง่ายที่สุดและทำได้ทันทีคือ เลิกอุดหนุนสินค้าที่ไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม และไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม

น่าแปลกใจที่ในเมื่อวงจรการผลิตอาหารและสินค้าในระบบเกษตรพันธสัญญาสร้างความเสียหายทั้งลึกและกว้างเช่นนี้แล้ว คนกลุ่มหนึ่งที่ยืนอยู่บนยอดสุดของปัญหา พวกเขานอนหลับตาลงได้อย่างไร

 


หมายเหตุ:
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ sub-way
นิตยสาร WAY ฉบับ 85, พฤษภาคม 2558

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า