นิทรรศรัฐประหาร

 

ดอกกุหลาบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa spp. อยู่ในวงศ์ Rosaceae มีหลายสายพันธ์ุในแต่ละพื้นที่ มีกลิ่นหอมและมีหนาม

สถานที่ค้นพบ:

แหล่งกำเนิดส่วนใหญ่อยู่ที่ปากคลองตลาด ก่อนมีผู้ค้าปลีกนำมาขายทั่วไป ผู้ซื้อปลายทางมักนำไปใช้บริเวณกองบัญชาการกองทัพบก มักพบร่วมกับดอกไม้ชนิดอื่นหรือพวงมาลัยที่สามารถนำไปคล้องคอทหารหรือสรรพาวุธของกองทัพได้

ประวัติการใช้งาน:

กุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความรักและความยินดีอย่างจริงใจที่ผู้ให้ส่งถึงผู้รับ หลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงมีประชาชนจำนวนหนึ่งนำดอกกุหลาบมาให้กำลังใจทหารที่ประจำจุดต่างๆ ทั้งให้กับมือ เสียบบนปากกระบอกปืน และนำไปประดับยานเกราะของกองทัพ

ผู้ค้นพบ:

ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้หนึ่งผู้ใด แต่โดยรวมคือประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่เกิดจากการทำรัฐประหารโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

มือตบ

อุปกรณ์เชียร์กีฬาทำด้วยพลาสติก มีด้ามจับ เมื่อเขย่าจะมีเสียงดังจากพลาสติกกระทบกัน คล้ายเสียงปรบมือ ใช้ตบทำเสียงแทนการตบมือ มือตบผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีน ผลิตออกมาสำหรับเด็กเล่น จนกระทั่ง ค.ศ. 1963 สหรัฐอเมริกาได้นำมือตบนี้ไปใช้ในการเชียร์กีฬา

สถานที่ค้นพบ:

พบครั้งแรกที่ถนนราชดำเนิน สถานที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ประวัติการใช้งาน:
ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เกิดการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเดือนพฤษภาคม ปี 2551 เพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มี สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (ตามลำดับ)

ผู้ค้นพบ:

หลักฐานที่พบชี้ว่า อัญชะลี ไพรีรัก และ กมลพร วรกุล คือผู้นำมาใช้ขณะจัดรายการเล่าข่าว ออกอากาศทาง ASTV และเมื่อ พลตรีจำลอง ศรีเมือง นำขึ้นมาใช้บนเวที เพื่อตอบโต้ สมัคร สุนทรเวช ที่กล่าวหาว่า มี ‘มือที่มองไม่เห็น’ อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของพันธมิตรฯ

 

ผ้าโพกหัวรักชาติ

เป็นแถบผ้าสีเหลือง กว้างไม่เกิน 2 นิ้ว ความยาวสามารถคาดศีรษะได้แบบ universal ใส่ได้ตั้งแต่ผู้ใหญ่ยันเด็กเล็ก มีไม่น้อยที่ใช้ผูกติดกับสัตว์เลี้ยง ด้านหน้ามีสกรีนคำว่า ‘กู้ชาติ’

สถานที่ค้นพบ:

เริ่มต้นที่ถนนราชดำเนิน สถานที่สำคัญต่างๆ เช่น สยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี สยามสแควร์ สวนลุมพินี และสนามบินสุวรรณภูมิ

ประวัติการใช้งาน:

เริ่มปรากฏในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2548 เมื่อแกนนำการชุมนุมใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ผ้าโพกศีรษะจึงถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ และอุดมการณ์ที่มีร่วมกันอยู่ที่คำว่า ‘กู้ชาติ’ ที่เกิดขึ้นมาจากจุดประสงค์เริ่มต้นของการชุมนุมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ที่มี สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำ ต้องการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ด้วยข้อหาขายชาติ

ผู้ค้นพบ:

คาดว่าเป็นหนึ่งในพ่อค้าหรือแม่ค้าสกรีนมาขายในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครั้งแรกๆ

ภาพต้นฉบับ: การประท้วงของนักศึกษาที่ Beaconhouse National University (BNU) ปากีสถาน

ผ้าอนามัยใช้แล้ว

สถานที่ค้นพบ:

ไม่มีหลักฐานการพบเห็นเป็นภาพถ่าย แต่คนที่ยืนยันเป็นคำพูดว่าสิ่งนี้ถูกใช้เพื่อแก้เคล็ดทางไสยศาสตร์บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจริง คือ สนธิ ลิ้มทองกุล

ประวัติการใช้งาน:

สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพัธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยกล่าวปราศัยบนเวทีปราศรัยเมื่อปี 2551 ดังมีข้อความอยู่ในคลิปวิดีโอทางยูทูบว่า

“…พระรูปทรงม้าที่ผมเล่าให้พ่อแม่พี่น้องฟัง เข้าทำของ ทำเป็นหมุดหกเหลี่ยม ตรึงพระรูปทรงม้าไว้เป็นรูปแบบนี้ อย่างนี้ แล้วก็อย่างนี้ แล้วอย่างนี้ (ทำมือวาดเส้น) แล้วตรงกลางคือพระรูปทรงม้า ไม่ให้เสด็จพ่อทรงส่งพลังออกมาได้ ซึ่งผมเล่าให้ฟังแล้ว ว่าเราไปถอดออกมาหมดแล้ว ทั้งหกจุด (เสียงเฮจากผู้ร่วมชุมนุม) แล้วก็ต้องขอบคุณพ่อแม่พี่น้องพันธมิตรผู้หญิง เพราะว่าพอถอดออกหมดเรียบร้อยแล้ว ไม่ให้มันกลับมา เขาก็เลยเอาโกเต็กซ์ผู้หญิงที่มีประจำเดือนหกชิ้น เอาไปวางหกจุด ผู้มีอภิญญาก็บอกว่า ไอ้หมอผีมันโกรธมาก เพราะมันส่งผีกลับมาไม่ได้อีกแล้ว มันเสื่อมหมด…”

(เสียงเฮจากผู้ร่วมชุมนุม)

ผู้ค้นพบ:

สนธิ ลิ้มทองกุล หรืออาจเป็นที่ปรึกษาด้านไสยศาสตร์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

โทรทัศน์

รูปธรรมอันชัดเจนของการยึดอำนาจ ช่วงชิงเวลาสันทนาการของครอบครัว

นกหวีด

รูปพรรณสัณฐาน:

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเป่าให้มีเสียง โดยคาบไว้ที่ปากแล้วเบ่งลมหายใจจะเกิดเสียงดังปรี๊ด…ปรี๊ด ไพเราะจับใจดุจเสียงนกไนติงเกล นกหวีดของแท้ต้องมีสายสะพายลายธงไตรรงค์ และสำหรับนักเป่าระดับวีไอพีจะได้รับนกหวีดทองคำเป็นอุปกรณ์ประจำกาย แต่เป็นอันตรายสำหรับผู้มีตำแหน่งทางการเมืองที่อาจเข้าข่ายรับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติในมูลค่าเกิน 3,000 บาท

สถานที่ค้นพบ:

โดยปกติสามารถพบเห็นได้ทั่วไป หาซื้อได้ตามร้านศึกษาภัณฑ์และแผนกอุปกรณ์กีฬา เป็นที่นิยมในหมู่โค้ชหรือกรรมการตัดสินกีฬาชนิดต่างๆ จนกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับกิจกรรมสันทนาการเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน รวมไปถึงเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจจราจรบริเวณสี่แยกไฟแดง

ประวัติการใช้งาน:

ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่นักชุมนุมเคลื่อนไหว ในนามกลุ่ม กปปส. โดยเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการผดุงความยุติธรรม ขับไล่รัฐบาลขายชาติ มีอานุภาพร้ายกาจถึงขั้นปลุกรถถังให้ออกมาวิ่งเพ่นพ่านบนถนนได้

ผู้ค้นพบ:

คาดว่ามาจากทีมมันสมองของนักจัดอีเวนท์ในนามกลุ่ม กปปส.

ปิกนิก

มาจากคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ‘picnic’ แปลความได้ว่า “การไปเที่ยวนอกบ้านและนำอาหารไปรับประทาน” องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการปิกนิกคือ ‘เต็นท์ผ้าใบ’ ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจและที่ฝากท้องของนักปิกนิกผู้มีหัวใจรักชาติ เป็นกิจกรรมสำหรับกลุ่มผู้มีรสนิยมการใช้ชีวิตกลางแจ้งที่จะได้พบปะเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน แม้แดดจะร้อนปานใด แต่บรรยากาศกลับอวลไปด้วยความอบอุ่นจากลุงกำนัน

สถานที่ค้นพบ:

พื้นผิวจราจรตลอดจนบาทวิถี โดยเฉพาะในย่านธุรกิจใจกลางเมืองมักเป็นสถานที่ยอดนิยมในการพบปะสังสรรค์ เป้าหมายคือ งานเลี้ยงไม่มีวันเลิกราจนกว่าจะบรรลุภารกิจไล่รัฐบาลสำเร็จ

ประวัติการใช้งาน:

ก่อนหน้านี้กิจกรรมในรูปแบบปิกนิกเริ่มได้รับความนิยมสูงสุดตั้งแต่ยุค “ท้ากษิณ…ออกไป” ที่อำนวยการสร้างโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกองกำลังกู้ชาติ ดังปรากฏในวลีเด็ดของ กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ว่า “อาหารดี ดนตรีไพเราะ”

ผู้ค้นพบ:

ไม่ปรากฏว่าผู้หนึ่งผู้ใดเป็นตัวตั้งตัวตีในการริเริ่มกิจกรรมที่ว่านี้ แต่อาจเกิดจากดีเอ็นเอที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ที่เลิกจากการเป็นชนเผ่าเร่ร่อน จนกระทั่งเรียนรู้ที่จะปักหลักอยู่กับที่

ผลงานของ Anish Kapoor ‘Blood’ (2000) Fibreglass and lacquer, 15×231×122cm

เทเลือด

ของเหลวสีแดงบรรจุในภาชนะ เช่น แกลลอน และขวดบรรจุน้ำดื่ม ไม่ระบุกรุ๊ปเลือด มีข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า อาจเป็นเลือดมนุษย์หลายคนที่กรีดมารวมกัน รวมถึงข้อสรุปที่มาจากพยานบุคคลที่ระบุว่า เลือดที่ใช้มาจากสัตว์กีบ เช่น วัวหรือควาย

สถานที่ค้นพบ:

หน้าประตูรั้วทำเนียบรัฐบาล และหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

ประวัติการใช้งาน:

วันที่ 16 มีนาคม 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงเทเลือดที่บรรจุใส่ภาชนะบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และทำพิธีสาปแช่งคู่ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งมีข้อมูลชี้ว่าเป็น ‘อำมาตย์’ และหลังจากพิธีเทเลือดได้สิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ได้รุดเข้ามาทำความสะอาด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนกับเลือดแพร่ออกไปสู่สาธารณะ

ส่วนที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มคนเสื้อแดงได้กระทำการแบบเดียวกัน เท่าที่มีข้อมูล ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้น้ำที่รองจากมวยผมพระแม่ธรณีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคมาทำน้ำมนต์ราดล้างเลือด ก่อนที่ทีมผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์จะเข้ามาทำความสะอาดภายหลัง

ผู้ค้นพบ:

ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ หนึ่งในแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้ให้ตัวแทนนำเลือด 2 แกลลอนแรกไปเทลงพื้นหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยเบื้องหลังอาจมีพราหมณ์หรือผู้มีความรู้ด้านไสยศาสตร์หรือมนต์พิธี คอยให้คำปรึกษา แต่ไม่มีการระบุชื่อว่าเป็นใคร

หมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อค

เดิมทีใช้เพื่อป้องกันศีรษะกระแทกจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ และสวมใส่เพื่อป้องกันการถูกตำรวจจราจรจับปรับ ต่อมาได้วิวัฒนาการกลายมาเป็นเครื่องแบบประจำกายของทั้งสื่อมวลชนและผู้ชุมนุมฝ่ายต่างๆ บางส่วนยังมีการมิกซ์ แอนด์ แมทช์ กับเสื้อเกราะกันกระสุน พร้อมด้วยปลอกแขนระบุต้นสังกัด ได้อย่างเข้ากันเป็นยูนิฟอร์ม ราวกับอยู่ในสงครามกลางเมือง

สถานที่ค้นพบ:

ทุกที่ที่มีม็อบ แก๊สน้ำตา หนังสติ๊ก อิฐตัวหนอน และไม้ตะบองของเจ้าหน้าที่

ประวัติการใช้งาน:

หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเหตุการณ์กระชับพื้นที่ 2553 ล้วนถูกคมกระสุนความเร็วสูงเจาะเข้าที่กะโหลกศีรษะ อีกทั้งยังมีอาสาสมัครพยาบาลและสื่อมวลชนต่างประเทศที่แม้จะอยู่ในชุดเครื่องแบบก็ไม่อาจรอดพ้นจากความสูญเสียในเหตุการณ์เดียวกัน จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ทั้งหมวกกันน็อค เสื้อเกราะกันกระสุน และปลอกแขนที่บ่งบอกต้นสังกัด ไม่สามารถต้านทานภยันตรายถึงชีวิตได้

ผู้ค้นพบ:

องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ที่ส่งนักข่าวไปเสี่ยงชีวิตในภาคสนาม

ดัดแปลงจากผลงานของ Alicia Martin ‘Contemporaries’ (2002) Installation

หนังสือ 1984

เป็นนิยายแนวดิสโทเปียเขียนโดย จอร์จ ออร์เวล ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1949 และได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้ โด่งดังถึงขั้นที่มีภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ครบเรียบร้อย หนังสือดังกล่าวถูกแปลมาแล้วแทบทุกภาษาทั่วโลก นอกจากนั้นยังถูกนำใช้เป็นหนังสือสำหรับวิชาเรียนในสายสังคมศาสตร์อีกด้วย

สถานที่ค้นพบ:

ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนังสือต้องห้ามในหลายๆ ประเทศ แต่ปัจจุบันสามารถหาซื้อและหาอ่านฟรีได้ตามร้านหนังสือช้ันนำทั่วไป

ประวัติการใช้งาน:

ถูกนำมาใช้เป็นเชิงสัญลักษณ์ ไม่เอารัฐประหาร ของกิจกรรมนัดกันอ่านหนังสือของกลุ่ม RAR บนสกายวอร์คหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 พฤษาภาคม 2557

หลังจากนั้นสองวันได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมดังกล่าวอีกครั้งที่ทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สาธร แต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ กิจกรรม ‘ไม่อะไรมว๊าก อยากกินแซนด์วิช’ ของกลุ่ม LLTD เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 เป็นกิจกรรมกินแซนด์วิชอ่านหนังสือ ที่หน้าลานพารากอนพาร์ค ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ก่อนตำรวจเข้าจับกุมผู้เข้าร่วมจำนวนเก้าคน และถูกปล่อยตัวออกมาในคืนวันเดียวกัน

ผู้ค้นพบ:

กลุ่ม Reading As Resistance (RAR) และ กลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

 

ขนมปังแซนด์วิช

ถูกคิดค้นขึ้นมาจาก จอห์น มอนทากิว เอิร์ลแห่งแซนด์วิชที่ 4 (John Montagu, 4th of Earl of Sandwich) โดยหน้าตาของแซนด์วิชมีหลากหลาย ทั้งแบบหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ สามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง จนไปถึงขนมปังชิ้นใหญ่ แต่หน้าตา ความน่ากินและราคาขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่จะสรรค์สร้างข้ึนมา ส่วนใหญ่มักเป็น ขนมปังหนึ่งคู่ ไข่ แฮม ผัดกาด และชีส ถือเป็นอาหารที่ใช้เวลาทำเร็วและรับประทานง่าย มักรับประทานคู่กับกาแฟหรือนมในยามเช้า

สถานที่ค้นพบ:

ร้านอาหารฝรั่ง ร้านกาแฟ ร้านข้างทาง และร้านสะดวกซื้อทั่วไป

ประวัติการใช้งาน:

เป็นหนึ่งในแกนหลักของกิจกรรมกินแซนด์วิชอ่านหนังสือที่ลานพารากอนพาร์ค ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบหนึ่งเดือนแรกของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ขณะที่พวกเขากำลังดำเนินกิจกรรม ‘ไม่มีอะไรมว๊าก อยากกินแซนด์วิช’ อ่านหนังสือ 1984 ไป กินแซนด์วิชไป พวกเขาก็ถูกตำรวจเข้าจับกุมทันที ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาในคืนเดียวกัน อย่างไรก็ตามกิจกรรมดังกล่าวยังคงถูกจัดอยู่และย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเรียกร้องหรือแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร อาทิ หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กรุงเทพฯ

ผู้ค้นพบ:

ประชาชน นักศึกษาผู้ไม่เอารัฐประหาร และกลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

ชูสามนิ้วและปิดปาก

แล้วแต่ขนาดนิ้วของแต่ละคน กำมืออย่างหลวมๆ ชูนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางขึ้นมา ยืดแขนเหนือหัวและใช้มืออีกข้างปิดปากตัวเอง จากนั้นทำหน้าให้นิ่งเข้าไว้ให้เหมือนกับ แคตนิส เอเวอร์ดีน นางเอกภาพยนตร์ชุด เรื่อง Hunger Games ซึ่งถูกดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ ซูซาน คอลลินส์

สถานที่ค้นพบ:

การจัดกิจกรรมชูสามนิ้วและปิดปาก ไม่เอารัฐประหาร มีทำอยู่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 และย้ายสถานที่ไปเรื่อยๆ เช่น สกายวอร์ค สนามกีฬาแห่งชาติ, หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 แยกอโศกและห้างสรรพสินค้าเมยา จังหวัดเชียงใหม่

แต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ หน้าโรงภาพยนตร์สยามพารากอนและโรงภาพยนตร์สกาลา เมื่อนักศึกษารวมตัวกันชูสามนิ้วและปิดปาก ก่อนเข้าดูภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games: Mocking Jay Part 1 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557

ประวัติการใช้งาน:

หลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติประกาศห้ามประชาชนแสดงออกทางการเมืองใดๆ ก็ตาม การชูสามนิ้วจึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หมายความว่า ‘สันติภาพ เสรีภาพและภราดรภาพ’ เพื่อแสดงเจตนาว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

การชูสามนิ้วถูกพูดถึงที่สุดคือ กลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อเสรีประชาธิปไตย (LLTD) และกลุ่มดาวดิน จากจังหวัดขอนแก่น ที่ถูกตำรวจจับกุมทันทีหลังชูสามนิ้ว แม้ พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทรเจริญ รองโฆษก กองทัพบก จะกล่าวว่า กิจกรรมชูสามนิ้วและปิดปาก จะไม่ผิดกฎหมาย แต่การชุมนุมเกินห้าคนก็ต้องถูกจับกุม

ผู้ค้นพบ:

เหล่านักศึกษาและประชาชนใจกล้าผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร กลุ่ม LLTD และกลุ่มดาวดิน จากจังหวัดขอนแก่น

บังเกอร์

มีลักษณะคล้ายกระท่อมหรือเพิงขนาดย่อม บรรจุคนได้ประมาณ 4-8 คนในท่านั่ง แล้วแต่ขนาดความใหญ่ บางแห่งกั้นด้วยกระสอบทรายแบบลักษณะคล้ายกับกระสอบที่ใช้กันน้ำท่วม หลังคาและเสาคลุมทับด้วยวัสดุพรางสีเขียวคล้ายใบไม้ เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ

สถานที่ค้นพบ:

พบตามสี่แยกใหญ่ๆ ด่านตรวจ ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ และบนสะพาน เช่น สะพานพระราม 8 ที่มีบังเกอร์รูปลักษณ์คล้ายๆ กันนี้ตั้งอยู่บนบาทวิถีของสะพาน เมื่อมองไกลๆ จะพบว่า วัสดุพรางสีเขียวทำให้บังเกอร์คล้ายศาลาดังกล่าวดูกลมกลืนกับเสาคอนกรีตของสะพานมาก

ประวัติการใช้งาน:

หลังการรัฐประหาร 2557 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทหารและยานเกราะของกองทัพสามารถพบเห็นได้ทั่วไป แม้กระทั่งซอยขนาดเล็ก บังเกอร์นับเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยเพื่อความมั่นคง ให้เกิดความสงบสุข และเป็นที่หลบฝนของประชาชนในช่วงฤดูมรสุมอีกด้วย

ผู้ค้นพบ:

ค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นทหาร


 

นิทรรศรัฐประหาร: รวมรวมสิ่งของและความทรงจำแห่งการรัฐประหาร
เป็นนิทรรศการสมมติ จัดแสดงในโลกเสมือน ควบคู่ไปกับบทความข้อเขียนต่างๆ ในเพจ way magazine และ waymagazine.org เนื้อในวาระครบรอบรัฐประหาร 19 กันยายา 2549

เนื้อหานิทรรศการ: กองบรรณาธิการ WAY

ออกแบบ: antizeptic

ศิลปินที่ถูกเชิญ (โดยไม่รู้ตัว)

  • Alicia Martin
  • Anish Kapoor
  • นักศึกษา Beaconhouse National University (BNU), ปากีสถาน

 

 

ยังมีวัตถุจัดแสดงอีกหลายชิ้นที่ตกหล่นไปเนื่องด้วยเวลาและทุนทรัพย์ นิทรรศการอาจกลับมาจัดแสดงอีกครั้งและสมบูรณ์มากกว่านี้ในวาระหน้า

ขอบพระคุณผู้ชมทุกท่าน.

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า