วันที่ 24 ธันวาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่ที่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม อยุธยา กรุงเทพฯ และแนวชายแดนพื้นที่เสี่ยงสูง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ตามความเสี่ยง เป็นพื้นที่สีแดง (1 จังหวัด) สีส้ม (4 จังหวัด) สีเหลือง (25 จังหวัด) และสีเขียว (47 จังหวัด) ซึ่งไม่มีผู้ติดเชื้อ
รายละเอียดพื้นที่ 4 โซน
1. พื้นที่สีแดง
เป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก คือ จังหวัดสมุทรสาคร
- ให้มีการจำกัดเวลาปิด-เปิด สถานประกอบการที่มีความจำเป็น
- ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
- ห้ามแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายเข้า-ออก จากพื้นที่โดยเด็ดขาด
- ควบคุมการเข้า-ออก ของยานพาหนะและบุคคลคนไทย โดยไม่ให้กระทบการค้าและอุตสาหกรรมมากเกินจำเป็น
- ให้มีการจัดตั้งด่านตรวจคัดกรอง จุดสกัดและสายตรวจ เพื่อให้การควบคุมการเข้าออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, ใช้มาตรการ work from home อย่างเต็มขีดความสามารถ
2. พื้นที่สีส้ม
ถือเป็นพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 รายและมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ (เฉพาะฝั่งตะวันตก)
- ให้หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากทุกรูปแบบ
- สถานประกอบการและโรงงานที่ยังเปิดดำเนินการให้เน้นมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งในบริเวณโรงงานและที่พักคนงาน หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ ศบค. กำหนด ให้พิจารณาหยุดการดำเนินการ
- เฝ้าระวังการลักลอบเข้ามาในพื้นที่ของแรงงานต่างด้าวที่มาจากพื้นที่สีแดง
- หากตรวจพบให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ
- ให้พิจารณาจำกัดเวลาปิด-เปิดสถานประกอบการที่มีความจำเป็นตามความเหมาะสม
- ให้พิจารณาปิดหรือจำกัดเวลาปิด-เปิดสถานกระกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
- ห้ามแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายเข้า-ออกจากพื้นที่
- ให้ประสานจัดตั้งด่านคัดกรองกับจังหวัดพื้นที่สีแดงตามความเหมาะสม
- ให้ใช้มาตรการ work from home สำหรับบุคคลที่มาจากพื้นที่สีแดง ให้สถานศึกษาพิจารณาหยุดการเรียนการสอน หรือมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์
3. พื้นที่สีเหลือง
เป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย และมีแนวโน้มควบคุมสถานการณ์ได้ คือ สระบุรี, สมุทรปราการ, สุพรรณบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี, อุตรดิตถ์, ฉะเชิงเทรา, กำแพงเพชร, เพชรบูรณ์, พระนครศรีอยุธยา, ภูเก็ต, เพชรบุรี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, กระบี่, ขอนแก่น, ชัยนาท, อุดรธานี, พิจิตร, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ชัยภูมิ, นครสวรรค์ และอ่างทอง
- กำหนดให้เป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย
- กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสถานการณ์ได้
4. พื้นที่สีเขียว
ถือเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และไม่มีสิ่งบอกเหตุว่ามีจะมีเชื้อ ได้แก่จังหวัดอื่นๆ ที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ
- กำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ
สวัสดีปีใหม่ทางออนไลน์
สำหรับการจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่ 2564 และการจัดกิจกรรมงานวันเด็ก มีการกำหนดดังนี้
พื้นที่สีแดง
- ให้งดจัดกิจกรรมฉลองทุกชนิด เว้นแต่จัดกิจกรรมแบบออนไลน์
พื้นที่สีส้ม
- งดการจัดกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ แต่ผ่อนผันให้จัดกิจกรรมที่จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือกิจกรรมที่มีเฉพาะผู้คุ้นเคย หรือพิจารณาจัดกิจกรรมแบบออนไลน์
ส่วนพื้นที่สีเหลือง และพื้นที่สีเขียว
- สามารถจัดกิจกรรมได้ แต่ต้องลดขนาดลงกว่าปกติ มีมาตรการลดความหนาแน่นของผู้ร่วมกิจกรรม และมีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดความคับคั่ง ทั้งนี้ สามารถหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อของ กทม. ได้
The Hammer & The Dance มาตรการที่ไม่ทุบชีวิตคน
The Hammer และ The Dance คือมาตรการที่เรียกว่า ‘ทุบ’ และ ‘คลาย’ ที่หลายประเทศใช้รับมือ COVID-19 เป็นแนวคิดของ โทมัส เปอโย (Tomas Pueyo)
The Hammer คือ มาตรการเข้มข้นที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดโรค เน้นการปิดเมืองเพื่อหยุดโรค แต่ละประเทศมีมาตรการแตกต่างกัน ตามความจำเป็นหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม
The Dance คือ การคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคที่จำเป็นบางส่วนไว้ และผ่อนคลายมาตรการบางส่วนลง เช่น ยังคงปิดสถานบันเทิง การแข่งขันกีฬา งานประชุม งานกิจกรรมทางสังคมต่างๆ แต่เริ่มเปิดสถานที่ราชการ โรงเรียน สวนสาธารณะ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็น และสถานที่อื่นๆ ที่มั่นใจว่าจะควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เป็นอันตรายต่อการแพร่กระจายโรค เพื่อให้ผู้คนในสังคมใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยได้
รายงานจากทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการระบาด อาจทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคเปลี่ยนพลิกได้ทุกเมื่อ แม้ว่าในบางสถานการณ์จะดูเหมือนสามารถควบคุมได้แล้ว แต่ก็เกิดการระบาดระลอกใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว จึงต้องมีการติดตามสัญญาณเตือนด้านระบาดวิทยาในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อมีสัญญาณเตือน อาจมีมาตรการ Circuit Breaker เพื่อกลับมาคุมเข้มด้วยมาตรการทุบอีกครั้ง
การใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งยังต้องคำนึงถึงคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่นกลุ่มคนเปราะบางซึ่งมีมากมายหลายกลุ่มและแต่ละกลุ่มมีปัญหาที่ซับซ้อนแตกต่างกัน เช่น คนจน คนพิการ คนสูงอายุ รวมถึงกลุ่มคนในภาคธุรกิจต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว ที่ยิ่งในช่วงเวลาที่มีมาตรการทุบ ยิ่งมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น และมักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ
แน่นอนว่า เป้าหมายของมาตรการ ทุบ และ คลาย คือ การทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือการระบาด COVID-19 แต่มาตรการและนโยบายดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนในแต่ละพื้นที่จังหวัดและกลุ่มคนต่างๆ ในระดับที่ไม่เท่ากัน ซึ่งแม้พวกเขาจะรอดจาก COVID-19 แต่อาจไม่รอดจากมาตรการ ‘ทุบ และ คลาย’ อย่างการปิดเมือง และปิดกิจการ
ชุดข้อมูลภาคธุรกิจและกลุ่มคนเปราะบางนี้ของทีดีอาร์ไอที่ทำไว้เมื่อครั้งการระบาดในปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นธุรกิจและผู้คน ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากมาตรการซึ่งเป็นความท้าทายที่ภาครัฐต้องพิจารณาใช้มาตรการ ‘ทุบ และ คลาย’ อย่างเหมาะสม เพราะยังมีทั้งธุรกิจและผู้คนอีกหลายส่วนที่รัฐต้องมองให้เห็นและตามหาให้เจอเพื่อให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมต่อคนทุกกลุ่ม ลดผลกระทบจากมาตรการที่มุ่งควบคุมการแพร่ระบาดเป็นสำคัญ