วรรณา แต้มทอง
เชียงใหม่ในตอนนี้ไม่เหลือเค้าเมืองท่องเที่ยวที่เคยเต็มไปด้วยผู้คน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และไฟป่าที่กำลังลุกลามไปทั่วดอยสุเทพ เปลี่ยนเชียงใหม่ให้เงียบเหงา ไร้ชีวิตชีวา และกลายเป็นเมืองแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก สีเขียวของต้นไม้ทั่วเมืองถูกแทนที่ด้วยสีส้มที่พร่ามัวของฝุ่นควัน ยิ่งในตอนกลางคืนกลิ่นไฟป่าจากบนดอยจะลอยตลบอบอวลไปทั่วทั้งเมือง
อย่างที่ทราบดีว่า การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วประเทศ การ work from home และการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้หลายคนต่างพากันเก็บตัวเองอยู่บ้าน ไม่ออกมาเผชิญกับความเสี่ยงต่อเชื้อไวรัสข้างนอก แต่กับคนที่มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ ปากท้องของตัวเองและคนในครอบครัวทำให้พวกเขาไม่อาจหลบเลี่ยง COVID-19 อยู่ในบ้านได้ตลอดเวลา หลายคนยังต้องออกมาทำงานกันตามปกติท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
พี่ๆ คนสวนกลุ่มนี้เป็นลูกจ้างรายวันของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่ยังคงต้องมากวาดใบไม้ทำงานกันตั้งแต่เช้ายันเย็นตามปกติ แม้ทางจังหวัดจะมีการประกาศสั่งปิดสถานศึกษาทั่วทั้งเชียงใหม่ไปเป็นสัปดาห์แล้วก็ตาม แต่เพื่อค่าแรงวันละ 320 บาท ทุกคนยังคงออกมาทำงาน
พี่นี (นามสมมุติ) ต้องหอบลูกสาว 2 คนที่ไปโรงเรียนไม่ได้ในช่วงนี้มาเลี้ยงด้วยทุกวัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “อยู่บ้านก็บ่มีคนดู พ่อเขาก็ต้องออกไปยะก๋านข้างนอก” เด็กๆ จึงต้องตามแม่ออกมาวิ่งเล่นรับฝุ่นควันและเสี่ยงต่อ COVID-19 ทุกวัน
เมื่อถามว่ากลัวโควิดไหม แกก็ได้แต่ตอบว่าก็กลัวอยู่ไม่น้อย แต่ไม่รู้จะทำเช่นไร ไม่ออกมาก็ไม่มีเงิน ได้แต่หาหน้ากากมาใส่ให้ตัวเองและลูก ถ้าหากทางมหาวิทยาลัยสั่งให้หยุดงานเมื่อใด ก็คงต้องพาลูกกลับไปอยู่บ้านที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชั่วคราว
แรงงานก่อสร้างในเชียงใหม่เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้หยุดงานในช่วง COVID-19 ไซต์งานก่อสร้างหลายแห่ง ยังคงมีคนมาทำงานกันตามปกติ
ลุงสัน (นามสมมุติ) ชายร่างเล็กที่กำลังแบกสายไฟม้วนใหญ่อยู่บนบ่า เป็นหนึ่งในแรงงานก่อสร้างของไซต์งานที่ผู้เขียนไปถ่ายภาพ ลุงสันมาทำงานได้ค่าแรงวันละ 400 บาท “แต่สิ้นเดือนนี้หัวหน้าเขาก็จะสั่งหื้อหยุดละ” ซึ่งเป็นการสั่งให้หยุดไปก่อนโดยที่คนงานอย่างลุงสันเองไม่รู้ว่าจะได้กลับมาทำงานอีกทีเมื่อไหร่ แกจึงวางแผนที่จะกลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รอจนกว่าจะถูกเรียกกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง
ความเงียบเหงาไร้นักท่องเที่ยวของเชียงใหม่ในช่วงนี้ ยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออาชีพที่ผูกติดอยู่กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักอย่างคนขับรถตุ๊กตุ๊ก มีคนขับรถตุ๊กตุ๊กหลายคันที่สู้ความเงียบช่วงนี้ไม่ไหว ต้องเอารถไปคืนที่อู่เช่ารถตุ๊กตุ๊กกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถ้าเก็บรถไว้กับตัวเองก็ต้องเสียค่าเช่าให้อู่ทุกวัน และเอารถออกมาวิ่งก็ไม่มีคนขึ้น สอดคล้องกับคำบอกเล่าของเจ้าของอู่เช่ารถตุ๊กตุ๊กรายใหญ่แห่งหนึ่งย่านวิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา ที่บอกว่าช่วงนี้ “รถมี 60 คัน ก็เอามาคืนกันหมด 60 คัน”
ลุงป๋าคนขับรถตุ๊กตุ๊กวัย 72 ปี ประจำคิวรถตุ๊กตุ๊กที่ไนท์บาร์ซ่าเล่าให้ฟังถึงความเงียบของคนขับรถตุ๊กตุ๊กช่วงนี้ว่า ก่อนหน้าที่จะมี COVID-19 คิวรถตุ๊กตุ๊กของแกมีรถวิ่งกันอยู่ถึง 20 กว่าคัน แต่ตอนนี้เหลือแกคันเดียวที่ยังออกมาวิ่งอยู่ คนอื่นไม่มีใครออกมาแล้ว และจากที่แกเคยวิ่งรถวันละรอบคือตอน 4 โมงเย็น ถึงเที่ยงคืน ปัจจุบันลุงป๋าต้องออกมารอรับลูกค้า 2 รอบ ช่วง 8 โมงเช้า ถึงเที่ยง และ 4 โมงเย็น จนถึง 4 ทุ่ม แต่ก็ยังหาเงินไม่ได้ครึ่งหนึ่งของที่แกเคยวิ่งได้
“ออกมาตั้งแต่ 8 โมงเช้า เพิ่งวิ่งได้เที่ยวเดียว ตอน 5 โมงเย็น รับฝรั่งย้ายโรงแรมไปใกล้ๆ นี่เอง ได้มา 60 บาท เป็นอย่างนี้มา 3-4 วันแล้ว”
ลุงป๋าเล่าให้ฟังต่อด้วยความเจ็บใจว่า วันก่อนแกได้ลูกค้าเป็นฝรั่งเรียกให้ไปส่ง แกเรียกเงินค่ารถไป 200 บาท พอไปส่งถึงที่แล้วถึงได้รู้ว่าผู้โดยสารไม่มีเงิน ขอจ่ายค่ารถให้เป็นโทรศัพท์มือถือเก่าๆ เครื่องหนึ่งที่ไม่มีแบตเตอรี่ เอามาก็ใช้ไม่ได้ แต่ลุงป๋าก็ต้องรับไว้ ดีกว่าไม่ได้อะไรเลยในเที่ยวนั้น
การออกมาขับรถตุ๊กตุ๊กในแต่ละวัน ลุงป๋ามีต้นทุนหลายอย่างที่ต้องจ่าย ทั้งค่าเช่ารถวันละ 180 บาท ค่าแก๊สครั้งละ 200 บาท แต่บางวันออกมาก็ไม่ได้ลูกค้าสักคนเดียว – ก็มี เมื่อไม่มีผู้โดยสาร ลุงป๋าต้องติดหนี้ค่าเช่ารถกับทางอู่มาเกือบเดือนแล้ว “มันต้อง 5 วันจ่ายที อันนี้เกือบจะเดือนแล้วไม่ได้ไปจ่ายเลย เจ้าของอู่ก็ไม่ได้โทรมาว่าอะไรสักอย่าง” ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะหนึ่ง ลุงป๋าเช่ารถกับอู่นี้มานานถึง 7-8 ปี จนเกิดความไว้ใจกันแล้ว หรือสอง เจ้าของอู่เองก็ไม่รู้จะเอารถไปจอดกองไว้ที่อู่ทำไม เหมือนอย่างที่เพื่อนของลุงป๋าอีกคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่แถวนั้นเล่าเสริมให้ฟังว่า
ผมไม่วิ่งมาเกือบเดือนแล้ว มันส่อมาตั้งแต่ตอนพวกจีนไปแล้ว รถที่เช่าเอาไปคืนเขาแล้ว แต่ที่อู่เขาก็ให้มา เอาไปขับเถอะ เอาไปก็ไปจอดก๋องปะเลอะอยู่ฮั่นบ่ดาย ขนาดไม่คิดค่าเช่าแล้ว ยังไม่ออกมาขับเลย มันไม่มีลูกค้า ออกมามันก็มีค่าใช้จ่ายอีก
ก่อนหน้าที่จะมี COVID-19 ลุงป๋าเคยวิ่งรถได้วันอย่างต่ำ 400-500 บาท วันไหนดีหน่อยอาจได้ถึงหลักพัน แกไม่เคยติดค่าเช่ารถเลย ถึงกำหนดก็ไปจ่ายให้เจ้าของอู่ตามเวลาตลอดทุก 5 วัน แต่เดี๋ยวนี้วิ่งรถได้วันละไม่ถึง 100 บาท ลุงป๋าบอกว่าขับรถตุ๊กตุ๊กมา 20 กว่าปี ตั้งแต่ 2541 ไม่เคยเงียบขนาดนี้มาก่อน แต่แกก็ยังออกมาทุกวัน เพราะถึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่ารถก็ยังมีค่าเช่าบ้านที่แกต้องจ่ายทุกเดือนอยู่ดี ความจนทำให้ลุงป๋าไม่อาจเก็บตัวหนีโรคภัยอยู่บ้านได้ เมื่อเราถามลุงป๋าว่ากลัวโควิดกับเขาไหม แกตอบออกมาแทบจะทันทีว่า “เป็นก็ตายจะให้ทำหยัง”
ไม่ต่างจากลุงๆ คิวรถตุ๊กตุ๊กที่กาดหลวงตลาดใหญ่ใจกลางเมืองของเชียงใหม่ที่เคยมีลูกค้าประจำเป็นแม่ค้าพ่อค้า และคนที่มาเดินซื้อของในตลาด ถึงจะไม่ต้องง้อนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่เมื่อทางจังหวัดประกาศให้ปิดตลาด เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ลูกค้าที่เคยมีของพวกแกจึงหายหมด บางคันออกมาตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงตอนเที่ยงที่ผู้เขียนไปถึงก็ยังไม่ได้วิ่งสักเที่ยว ลุงๆ ต่างเอ่ยปากบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า
“ถ้าไม่ติดโควิดตาย ก็อดตาย”
ตอนนี้โควิดอาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับคนอาชีพอย่างลุง เงินวิดต่างหากที่น่ากลัวกว่า (เงินวิดภาษาเมืองแปลว่า เงินไม่พอ เงินขาด)
“กลัวเงินวิดมากกว่าโควิด โควิดมันจะมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่เงินวิดนี่มันมาทุกวัน”
ลุงบางคนมีหนี้นอกระบบที่ต้องจ่ายทุกวัน ทำให้ยังต้องออกมาวิ่งรถกันอยู่ แม้รู้ว่าจะหาลูกค้าได้ยากเต็มที “ถ้าเจ้าหนี้ไม่หยุดก็ตายแน่”
ป้าศรีแม่ค้ารถเข็นขายกับข้าวถุงและตำส้มในเมืองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 การประกาศให้ปิดสถานบันเทิงทั่วเมืองเชียงใหม่ ทำให้สาวบาร์ที่เคยเป็นลูกค้าของป้าศรีในซอยลอยเคราะห์หายหมดเกลี้ยง ตอนนี้ซอยลอยเคราะห์ถนนที่เคยเป็นสถานที่เที่ยวกลางคืนของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติบริเวณคูเมือง กลายเป็นถนนที่ร้างผู้คน และไร้แสงไฟหลากสีสันจากบาร์เล็กนับสิบแห่งที่เคยเปิดให้ชีวิตชีวากับซอยแห่งนี้
จากการพูดคุยกับเจ้าของบาร์แห่งหนึ่งทำให้ทราบว่า บาร์ในซอยนี้ถูกทางจังหวัดสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม และจะต้องปิดต่อไปอีกนานเดือน สาวบาร์หลายคนที่เคยทำงานกันอยู่ที่นี่จึงต่างพากันแยกย้ายกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เพื่อประหยัดค่าเช่าที่พักในเชียงใหม่
ทุกทีถ้าเข็นเข้ามาในซอยนี้ ป้าศรีก็ต้องขายของได้อย่างน้อยก็ 300-400 บาท แต่ “กำไรคืออยู่ในท้องลูกป้าหมด” ทีแรกผู้เขียนเข้าใจว่าป้าศรีมีลูกเล็กต้องดูแล แต่พบว่าลูกที่แกพูดถึงกลับเป็นลูกของป้าศรีอีก 3 คนที่กำลังตกงานกันอยู่ในช่วงนี้ ลูกคนกลางของแกก็เป็นหนึ่งในคนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ไม่ออกวิ่ง เพราะหาลูกค้าไม่ได้ในขณะนี้ เมื่อทำกับข้าวเสร็จก่อนเข็นรถออกมาขายป้าศรีจะโทรตามลูกมาเอากับข้าวไปกินกัน “ลูกมาอาศัยกินกับแม่ ไม่งั้นป้าก็ตายถ้าเอาเงินให้เขา เราก็ไม่มีเงิน ก็ได้แต่เอาอาหารให้เขา”
รายได้จากรถเข็นขายอาหารคันเล็กๆ ของป้าศรีจึงต้องดูแลคนถึง 4 ชีวิตด้วยกัน ปกติแล้วป้าศรีจะเริ่มเข็นรถขายของตั้งแต่ 15.00 – 22.00 น. “แต่เดี๋ยวนี้ไม่ถึงหรอก มันเงียบ ป้าก็จะเข้าบ้าน” ตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เชียงใหม่เงียบเหงาไร้นักท่องเที่ยว ผู้คนพากันเก็บตัวอยู่ในบ้าน ซอยลอยเคราะห์ที่เคยเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แกก็ถูกปิด ป้าศรีจึงจำเป็นต้องเข็นรถเข้าบ้านเร็วกว่าปกติ เพราะเข็นไปก็ไม่มีคนซื้อ
เสียงของคนหาเช้ากินค่ำเหล่านี้ที่ไม่อาจหยุดทำงานได้ต่อให้เชื้อไวรัส COVID-19 จะระบาดขนาดไหนก็ตาม สะท้อนให้เห็นแล้วว่าตอนนี้เชียงใหม่กำลังเป็นเมืองที่เศรษฐกิจบอบช้ำจาก COVID-19 เพียงใด และคนหาเช้ากินค่ำต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ชีวิตของคนจนในตอนนี้เหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่ไม่รู้ว่าระหว่างเชื้อไวรัส COVID-19 กับความจนอะไรจะฆ่าพวกเขาให้ตายไปก่อนกัน