20 มีนาคม ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศที่กำลังประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ขยายความช่วยเหลือออกไปถึงประชากรกลุ่มอ่อนไหวอย่างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรู้กันว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาในการมีสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกสุขอนามัยหรือเข้าถึงระบบประกันสุขภาพที่ดี ผ่านคำขวัญ ‘COVID-19 does not discriminate, and nor should our response’ หรือ ‘ความป่วยไข้ไม่แบ่งแยกชนชั้น ความช่วยเหลือของเราก็ไม่ควรแบ่งแยกเช่นกัน’
โดยปกติแล้ว ไม่ว่าเท้าจะเหยียบอยู่บนประเทศที่รัฐบาลใส่ใจคุณมากน้อยเพียงใด การมีบัตรประชาชนที่ตรงกับชื่อประเทศนั้นๆ อย่างน้อยก็ยังการันตีได้ว่า คุณถูกนับเป็นประชากรที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการเยียวยาการระบาดภายในประเทศ เช่น หากติดเชื้อให้มีสิทธิรักษาฟรีตามกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือหากเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมก็สามารถได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน มีการประกาศปิดสถานบริการที่เสี่ยงว่าจะมีการชุมนุมของผู้คนจำนวนมาก และรณรงค์ให้ผู้คนสมัครใจกักตัวเองอยู่ในบ้าน พนักงานออฟฟิศหลายคนยังสามารถทำงานจากที่บ้าน (work from home) ในขณะที่บางคนจำใจหอบกระเป๋ากลับบ้านเพราะไม่มีงานหน้าร้าน และไม่รู้จะทำงานจากบ้านได้อย่างไรเมื่ออาชีพไม่อำนวย
การสื่อสารที่สับสน การตอบสนองที่ล่าช้า และการออกมาตรการบังคับโดยไม่มีแนวทางการเยียวยาหลังจากนั้นว่าประชาชนชาวไทยจะอยู่อย่างไร กินอย่างไร ในสภาวะที่วิกฤติทั้งโรคภัยและการเงินก็ทำให้ประชาชนตาดำๆ กุมขมับกันวันต่อวัน เราได้เห็นข่าวคราวของผู้มีกำลังทรัพย์บางส่วนที่ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพการจัดการของภาครัฐแห่กักตุนอาหารแห้ง และซื้อประกันสุขภาพเฉพาะโรค COVID-19 จากบริษัทเอกชน
แม้แต่การมี ‘บัตรประชาชนไทย’ บนแผ่นดินนี้ยังไม่อาจการันตีการมีชีวิตที่มั่นคงปลอดโรค ยิ่งนึกภาพไม่ออกว่าผู้ที่ตัดสินใจเข้ามาแสวงโชคทำงานในต่างแดนจะมีชะตากรรมเช่นไร
สถิติล่าสุดจากกรมการจัดหางานเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ระบุว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายมีทั้งสิ้น 3,005,376 คน จำนวนนี้มีทั้งผู้เข้ามาประกอบอาชีพมีทักษะ ได้รับเงินเดือนสูง เช่น ผู้บริหาร ครูอาจารย์ และผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพไม่อาศัยทักษะ เช่น งานกรรมกร งานรับใช้ในบ้าน
เฉพาะจังหวัดตากมีแรงงานข้ามชาติ 57,441 คน เป็นแรงงานไม่อาศัยทักษะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม เกือบครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานประเภทไปเช้า-เย็นกลับ หรือที่เรียกกันว่าแรงงานตามมาตรา 64 ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พุทธศักราช 2560 ซึ่งแรงงานข้ามชาติแบบไปเช้า-เย็นกลับเสียสิทธิหลายประการ แต่ได้รับความนิยมมากในหมู่นายจ้าง เช่น เป็นแรงงานระยะสั้นมีอายุใบอนุญาตทำงาน 90 วัน จึงไม่ถูกนับว่ามีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสมทบอย่างที่จ่ายให้ลูกจ้างประเภทอื่น แรงงานมีหน้าที่ซื้อประกันสุขภาพระยะสั้นๆ ด้วยตนเองเดือนละประมาณ 500 บาทต่อระยะคุ้มครอง 3 เดือน และเนื่องจากนี่เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงยังไม่แน่ชัดว่าประกันสุขภาพที่มีจะครอบคลุมหรือไม่
ในสภาวะปกติ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แทบเรียกได้ว่าเป็น ‘ผู้ถูกลืม’ ที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานแผ่ขยายไปไม่ถึง แรงงานคนหนึ่งอาจดำรงชีพด้วยรายได้ตั้งแต่ 130 บาทต่อวัน จนถึง 220 บาท อันเป็นอัตราที่นายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐเห็นพ้องต้องกันว่า “ในเมื่อทำงานใช้แรงก็ควรได้รับเงินเท่านี้” น้อยรายที่จะรวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 315 บาท และน้อยเสียยิ่งกว่าน้อยรายที่นายจ้างจะสมัครใจจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเอกสารเพื่อเป็น ‘ประชากรถูกกฎหมาย’ เดือนละประมาณ 700 ไปจนถึงหลักพัน นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าอาหาร ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ-ไฟ ให้กับโรงงานในกรณีพักกับโรงงาน ซึ่งมักเป็นเตียงแคบๆ วางเรียงกันเป็นแนวยาว ทั้งร้อนและแออัด ไม่ต้องสงสัยว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากอยู่โดยแทบไม่มีเงินเก็บออม และอยู่ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ใกล้เคียงคำว่ามีสุขอนามัย
การอยู่ร่วมเรียงเคียงหมอนในที่พักแออัด การทำงานในโรงงานปิดสนิท การอาศัยอยู่บริเวณชายแดนซึ่งมีคนต่างชาติสัญจรไปมาเรื่อยๆ การเป็นลูกจ้างรายวัน การมีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบรักษาสุขภาพ กลายเป็นส่วนผสมที่รุนแรงที่ผลักให้แรงงานข้ามชาติบริเวณชายแดนยิ่งกลายมาเป็นกลุ่มเปราะบางในสภาวะโรคระบาด
จิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความจากคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด (Labor Law Clinic: LLC) เล่าว่า ช่วงนี้สถานบริการและร้านอาหารปิดตัวลง ทำให้ลูกจ้างในสถานประกอบการเหล่านี้ขาดรายได้ ไม่ต่างจากที่ลูกจ้างชาวไทยประสบ ลูกจ้างที่ยังคงทำงานอยู่ตามร้านขายของซึ่งต้องต้อนรับลูกค้า หรือลูกจ้างทำความสะอาดก็ยังต้องทำงานด้วยความเสี่ยงว่าจะติดโรค ส่วนลูกจ้างที่ทำงานในโรงงานก็มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะมีการปิดโรงงานเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่
เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ขณะนี้หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือในอำเภอแม่สอดขาดตลาดแล้ว แรงงานเมียนมาร์บางส่วนเริ่มเย็บหน้ากากผ้าไว้ขายหรือสวมใส่กันเอง และระมัดระวังที่จะเดินทางไปในที่ที่อาจมีคนอยู่จำนวนมาก เช่น ตลาดสด แรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วน มีนายจ้างนำเจลล้างมือมาตั้งไว้ให้กดใช้ระหว่างทำงาน แต่แรงงานในภาคการเกษตรซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปเผชิญความเสี่ยงยิ่งกว่า เพราะส่วนมากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย จากการที่นายจ้างไม่ยอมรับผิดชอบต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ แรงงานกลุ่มนี้จึงมักอาศัยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ตามไร่ห่างไกล ไม่มีบัตรประกันสุขภาพหรือประกันสังคม ส่วนหนึ่งไม่มีกระทั่งโทรศัพท์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไว้ใช้
จิรารัตน์เกรงว่า แรงงานภาคการเกษตรอาจไม่ได้รับข้อมูลเรื่องการป้องกันโรคอย่างครบถ้วน ไปจนถึงไม่สามารถป้องกันตัวเองจากโรคได้อยางเหมาะสม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับค่าแรงต่อวันต่ำ อาจไม่เพียงพอให้ซื้อสบู่ ยา หน้ากาก หรือกักตุนอาหาร-ของใช้เหมือนคนอื่นๆ
สุทธิศักดิ์ รุ่งเรืองผาสุข ผู้จัดการและผู้ประสานคดีแรงงานจาก MAP Foundation สาขาจังหวัดตาก เสริมว่า หน้ากากอนามัยสีเขียว-ฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง “หาซื้อแทบไม่ได้แล้ว” เขาพูดติดตลกว่าแม้แต่องค์กรภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานก็แทบไม่มีหน้ากากใช้ ไม่ต้องพูดถึงการส่งหน้ากากช่วยเหลือคนอื่นๆ ช่วงนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากประกาศหาทุนผลิตหน้ากากราว 150,000 ชิ้น แต่ก็เป็นการผลิตเพื่อส่งมอบให้หน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลก่อนตามความจำเป็นที่มากกว่า จากนั้นจึงจะส่งให้ประชาชนที่เดือดร้อน แล้วจึงอาจเหลือมาบริจาคต่อให้แรงงานใช้กันในโรงงาน ช่วงนี้ถ้าใครหาซื้อหน้ากากผ้าไม่ได้ก็อาจจะไม่ใส่เสียเลย
เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้มีคำสั่งปิดด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดีทุกช่องทาง โดยเริ่มจากปิดบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์แห่งที่ 1 บ้านริมเมยตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 ส่งผลให้ชาวเมียนมาร์จำนวนมากกว่า 2,000 คนหันไปข้ามสะพานแห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียน เพื่อจะรีบกลับบ้านให้ทันก่อนจะมีการประกาศปิดด่านที่ 2 ในวันที่ 23 มีนาคม ภาพความแออัดบริเวณสะพานข้ามขนาดใหญ่ถูกบันทึกไว้ได้ จากนั้นมีการแชร์ต่อกันบนโลกออนไลน์ถึงความเสี่ยงของการรวมตัวของผู้คน และวิพากษ์วิจารณ์มาตรการรองรับของภาครัฐ
ขณะที่มีความกังวลว่าอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจะขาดแคลนแรงงาน สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า แรงงานจำนวนอีกไม่น้อยยังเลือกสวมหน้ากากผ้า เผชิญความเสี่ยงจากโรคแล้วทำงานต่อแลกกับค่าแรงรายวัน
การเป็นลูกจ้างรายวันหมายความว่า หากวันใดไม่ทำงานก็ไม่ได้เงิน ตลอดช่วงการทำงาน แรงงานจึงคิดแล้วคิดอีกกว่าจะตัดสินใจลากิจหรือลาป่วยสักครั้งหนึ่ง
“จริงๆ แล้วแรงงานก็อยากกลับบ้าน โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่เป็นช่วงปีใหม่ของชาวเมียนมาร์ เป็นโอกาสสำคัญ แต่แรงงานก็เข้าใจสถานการณ์
“หลายโรงงานอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ไม่ว่าจะกลับมาแล้วติดโรคหรือไม่ก็ตาม จะต้องกักตัวเองเพื่อดูอาการเป็นเวลา 14 วัน ไม่ให้ทำงานทันที แรงงานจึงไม่อยากกลับ เพราะกลับบ้านไปก็มีค่าใช้จ่าย กลับมาไทยก็มีหนี้รออยู่แล้ว เลยเลือกทำงานต่อดีกว่า”
ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย สุทธิศักดิ์คาดการณ์ต่างจากจิรารัตน์ ตรงที่เขามองว่าจะไม่มีการปิดโรงงานในเร็ววันนี้ เนื่องจากสภาอุตสาหกรรมยืนยันจะรักษาระดับการผลิต อีกทั้งจากการพูดคุยกับลูกจ้างบางโรงงาน เขาพบว่าในช่วงเฝ้าระวังโรค โรงงานเหล่านั้นมีมาตรการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยเชื้อเชิญให้แรงงานทำงานแทนที่จะหยุดอยู่ตามบ้านหรือหอพักเฉยๆ
“โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งไม่ให้แรงงานออกไปเดินเพ่นพ่านนอกโรงงาน หรือไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันในช่วงนี้ ยกเว้นกรณีจำเป็น นายจ้างบางส่วนเลยยกเลิกวันหยุดของลูกจ้าง บอกว่าไม่ต้องหยุดแล้ว มาทำงานดีกว่า จะได้ไม่ต้องออกไปเจอใครข้างนอก จากที่แรงงานได้หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ก็กลายเป็นว่าไม่ได้หยุดเลย”
การทำงานในโรงงานจำเป็นต้องอาศัยเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น เครื่องตัดลวด แรงงานที่เป็นลูกจ้างอุตสาหกรรมจึงมองไม่เห็นทางที่ตัวเองจะได้ตอบสนองนโยบาย work from home ของรัฐไทย แต่คิดอีกทีนโยบายเช่นนี้อาจนับว่าเป็น work from home ในแบบฉบับของชาวเมียนมาร์ในแม่สอดผู้มาก่อนกาล ในเมื่อลูกจ้างเองก็พักอยู่ในบริเวณโรงงานอยู่แล้ว
“ยังดีที่โรงงานแห่งนี้จ่ายตามอัตราค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดตามกฎหมาย แต่โรงงานอื่นๆ ที่มีนโยบายเช่นนี้บางแห่งก็รู้กันว่าไม่ได้จ่ายถูกกฎหมายหรอก” สุทธิศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้การห้ามให้ลูกจ้างรวมตัวกันโดยอ้างเหตุผลเรื่องการป้องกันโรค ยังอาจมีผลลดทอนกระบวนการยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้าง อันเป็นช่องทางการรวมกลุ่มต่อรองเท่าที่กฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์จะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติซึ่งไม่มีสิทธิก่อตั้งสหภาพแรงงานกระทำได้
สุทธิศักดิ์เล่าว่าขั้นตอนการยื่นข้อเรียกร้องเหล่านี้จำเป็นต้องชะงักไว้ก่อน เพราะนายจ้างห้ามมิให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาพบปะเพื่ออบรมให้ความรู้แรงงานในช่วงนี้ด้วย อย่างไรก็ตามเขาบอกว่าจะยังจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติจะไม่ถูกฉวยโอกาสละเมิดสิทธิในช่วงไวรัสระบาด
แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งในแม่สอดยังคงทำงานอยู่ตามปกติในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ พื้นที่ที่เมื่อสิ้นเดือนที่แล้วยังมีข่าวลือแพร่สะพัดให้ใจหายใจคว่ำกันเล่นๆ ว่าพบชาวจีนที่เสี่ยงเป็นโรค COVID-19 เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเดียวกันกับที่แรงงานข้ามชาติใช้ตรวจสุขภาพเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน ก่อนจะพลิกไพ่เฉลยว่าชายชาวจีนรายนั้นเพียงแต่ป่วยด้วยโรคปอดธรรมดา ข้อมูลล่าสุดจากโรงพยาบาลแม่สอดเมื่อวันที่ 20 มีนาคมยืนยันว่าไม่พบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จากการตรวจสอบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 14 ราย และกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอีก 18 ราย รวมยอดผู้ป่วยยังคงเป็น 0 ราย กระนั้นความประหวั่นพรั่นพรึงก็ยังคงอยู่ เนื่องจากไม่อาจทราบได้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะพบผู้ติดเชื้อหรือไม่ และถ้าหากมีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อขึ้นมาสักคนหนึ่งแล้วจะเป็นอย่างไร
ท่ามกลางกระแส ‘มึงว่ากูติดหรือยังวะ’ ที่กลายเป็นคำติดปากขำปนขื่นของคนไทยที่ไม่ทราบชะตากรรมตนเองว่าติดโรค COVID-19 แล้วหรือยัง เนื่องจากการตรวจคัดกรองมีราคาแพง อีกทั้งทรัพยากรด้านสาธารณสุขมีไม่พอจะตรวจให้กับทุกคน โรงพยาบาลแม่สอดเปิดบริการรับตรวจคัดกรองในอัตราคนไทย 500 บาท คนต่างชาติ 1,500 บาท คำนวณดูแล้วในกรณีที่ได้รับค่าจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แรงงานคนหนึ่งต้องทำงานถึงเกือบสัปดาห์โดยไม่ใช้เงินเลยเพื่อจะรวบรวมเงินให้ได้ถึง 1,500 บาท และยิ่งร้ายในกรณีที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานคนหนึ่งอาจต้องทำงานมากกว่า 10 วันโดยไม่ใช้เงินเลยเพื่อเป็นค่าตรวจโรค ยังไม่นับสิ่งที่ต้องจ่ายระหว่างการเดินทางมาตรวจ ซึ่งหมายถึงแรงงานต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แล้วยังต้องนั่งรถสองแถวแออัดร่วมกับผู้อื่นซึ่งก็ไม่รู้ว่า ‘เขาเหล่านั้นติดหรือยังวะ’ หากต้องการรักษาสุขภาพก็ต้องเสียค่าแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งคิดค่าบริการในระบบเหมาราคาแพง ไม่มีมาตรฐานมิเตอร์เหมือนแท็กซี่ในกรุงเทพฯ
ต้นทุนการตรวจคัดกรองที่สูง ทั้งในแง่เงินและเวลา จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าคนงานส่วนมากคงไม่มีใครยอมแลกเงินจำนวนหลักพันเพื่อมาตรวจ ในทางกลับกันการไม่ตรวจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับแรงงานข้ามชาติซึ่งอยู่รวมกันหนาแน่น และหากจะมีใครสักคนตั้งคำถามว่า ดูแลคนไทยก่อนค่อยดูแลแรงงานข้ามชาติ ก็ต้องอธิบายอีกสักวรรคตอนว่า โรคระบาดไม่มีพรมแดน หากมีกลุ่มคนถูกลืมในสถานการณ์ COVID-19 จะเอาอะไรมามั่นใจว่า เราไม่ได้หายใจในอากาศเดียวกัน
เจลล้างมือและหน้ากากกลายเป็นของหายากที่ผู้คนต้องการมาก นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องจากองค์กรภาคประชาสังคมว่านอกจากต้องดูแลคนในชาติให้ดีแล้ว รัฐควรดูแลแรงงานข้ามชาติด้วยการแจกจ่ายถุงยังชีพบรรจุข้าวสารอาหารแห้งเป็นเสบียงระหว่างดำเนินนโยบายแยกคนออกจากสังคม (social distancing) รวมทั้งควรตั้งศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงโรคระบาด คุ้มครองคนทำงานที่มีสิทธิประกันสังคมให้ได้รับเงินเยียวยากรณีว่างงาน และออกมาตรการเยียวยาทางการเงินแก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งอีกเกือบครึ่งในแม่สอดที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม
วาทะเด็ดจากอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “จงอย่าถามว่าประเทศชาติให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ” คงเป็นคำกล่าวที่เสียดแทงจิตใจแรงงานข้ามชาติ ผู้ถูกรัฐ ‘ลืม’ ไปว่าตึกรามบ้านช่องและกิจการต่างๆ ใน ‘ชาติ’ ส่วนหนึ่งเติบโตขึ้นมาจากสองมือของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทยโดยไร้หลักประกันดูแล กลายเป็นความขมปากจนคร้านจะทวงถามว่า แล้วพวกเขาจะได้อะไรตอบแทนจากการทำงานในเมืองที่มีคำแฝงทัศนคติเชิงลบว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ เป็นภาษาราชการไว้ใช้เรียกแรงงานข้ามชาติ
ผู้ถูกรัฐลืมเหล่านี้ยังหวังว่าในอนาคตรัฐบาลจะให้พวกเขากลับบ้าน พร้อมกับทำงานหาเงินไปพลางป้องกันตนเองไปพลางตามอัตภาพเท่าที่จะทำได้ แรงงานผู้เปราะบางกำลังพยายามประคับประคองตนเองไม่ให้ร่วงหล่น เพราะการร่วงหล่นครั้งนี้อาจหมายถึงความแหลกสลายในทางเศรษฐกิจและสุขภาพ และเป็นการร่วงหล่นที่ไม่มีตาข่ายใดๆ จากรัฐหรือนายจ้างจะรองรับไว้ให้อุ่นใจได้เลย