ห่างกัน 6,000 ไมล์ คุยกับทูตไทยในแอฟริกาใต้ ชีวิตคนไทยและการสู้ไวรัสในอีกซีกโลก

18 มิถุนายน 2563

แอฟริกาใต้ (Day-84 Lockdown)

ติดเชื้อเพิ่มเติม 3,478 ราย / ผู้ป่วยรวมสะสม 83,890 ราย / ผู้เสียชีวิต 1,737 ราย / รักษาหาย 44,920 ราย

สถานการณ์อาจเลวร้ายได้อีก หากพิจารณาจากคำเตือนของของ พญ.มัตชิดิโซ โมเอติ (Matshidiso Moeti) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคแอฟริกา ที่ออกมาพูดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“แม้ไวรัสเดินทางเข้ามาถึงทวีปแอฟริกาช้ากว่าภูมิภาคอื่น แต่แอฟริกาจัดเป็นหนึ่งในทวีปที่มีความเสี่ยงสูงที่ COVID-19 จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หากแอฟริกายังไม่มีนโยบายด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และวิกฤตินี้จะอยู่นานหลายปี’

บทสนทนาถัดจากนี้เกิดขึ้นในยามบ่ายของวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ตามเวลาท้องถิ่นในทวีปแอฟริกา ท่ามกลางวันที่อากาศเย็นสบายราว 20 องศาเซลเซียส ราวกับนั่งอยู่ในห้องแอร์ เรากำลังสนทนาอยู่กับ เรือโทโกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (Republic of South Africa) เพื่อไต่ถามถึงความปั่นป่วนจากไวรัส COVID-19 ทวีปแอฟริกาได้รับผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้

ย้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-แอฟริกาใต้ ตั้งแต่อดีตเป็นอย่างไร

ระบบการเมืองของแอฟริกาใต้ในอดีตไม่เหมือนในปัจจุบัน เป็นระบบที่เรียกว่า Apartheid เป็นระบบกีดกันประชาชนคนผิวดำ ผิวสี ไม่ให้ได้รับสิทธิเสรีภาพพื้นฐานเหมือนคนผิวขาว

จนกระทั่งในปี 2536 ภายหลังที่แอฟริกาใต้ยกเลิกระบบดังกล่าว ไทยและแอฟริกาใต้ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาผ่านไป 27 ปี มีความสัมพันธ์อันดีมาตลอด

แต่ต้องยอมรับว่าแอฟริกาใต้ยังเป็นประเทศใหม่ และทวีปแอฟริกาเป็นภูมิภาคใหม่สำหรับคนไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการค้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเฉพาะแค่ในประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศไทยยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา

ปัจจุบันไทยและแอฟริกาใต้มีการค้าอันดีระหว่างกัน สินค้าสำคัญของไทยที่ส่งมาที่นี่ คือข้าวหอมมะลิและชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนแอฟริกาใต้ส่งสินค้าจำพวกเหล็ก เคมีภัณฑ์ ผลไม้ เช่น ส้มและองุ่น สำหรับการค้าระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้มีมูลค่าสูงราว 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผมมองว่าเรายังมีโอกาสขยายความสัมพันธ์ได้อีกมาก รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง เช่น เลโซโท ที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ จึงมีความใกล้ชิดกับประเทศไทยเป็นพิเศษ ไทยส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ช่วงนี้อาจจะติดปัญหาเรื่องไวรัส แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ เราก็สามารถที่จะขยับขยายเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้นแน่นอน

เมื่อโลกเจอวิกฤตไวรัสระบาดตั้งแต่ในประเทศจีน แอฟริกาเป็นอย่างไร

เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด แต่ในระยะแรกรัฐบาลหลายประเทศในทวีปแอฟริกายังไม่ได้ประกาศใช้มาตรการเข้มข้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม แอฟริกาใต้พบผู้ติดเชื้อรายแรก ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากการท่องเที่ยวในประเทศแถบยุโรป จากวันนั้นจำนวนของผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอัตราการเพิ่มเฉลี่ย 400-500 คนต่อวัน

หลายประเทศในทวีปแอฟริกาเริ่มออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยรณรงค์ให้ประชาชนล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และเริ่มให้ข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 เพื่อให้ประชาชนดูแลตัวเองในเบื้องต้น เช่น ซิมบับเว (Zimbabwe) ออกมาตรการให้คนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงกักตัวอยู่ที่บ้าน

ในเวลาต่อมา เพียงไม่กี่วันหลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกในแอฟริกาใต้ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนั้นจะมีเพียงหลักร้อย แต่รัฐบาลแอฟริกาใต้ก็ได้ประกาศให้สถานการณ์ COVID-19 เป็น ‘ภาวะภัยพิบัติแห่งชาติ’ และมีคำสั่งประกาศให้ล็อคดาวน์ทั่วประเทศ (Nation-wide Lockdown) ในวันที่ 27 มีนาคม โดยแรกเริ่มให้มีการล็อคดาวน์เพียง 3 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 16 เมษายน แต่เมื่อใกล้วันครบกำหนด ประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) ออกมาประกาศขยายระยะเวลาออกไป และขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตาม โดยให้เหตุผลถึงความสำคัญของการรักษาชีวิตและสุขภาพของประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง

ผมจำได้ว่าช่วงต้นเดือน ประมาณวันที่ 8-9 มีนาคม ผมต้องเดินทางไปเมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ซึ่งขณะนั้นยังเดินทางข้ามมลรัฐได้ ร้านอาหารในเมืองเคปทาวน์เปิดให้บริการตามปกติ ยังไม่มีคนใส่หน้ากากสักคน แต่รัฐบาลเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนล้างมือ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ จนกระทั่งกลางเดือนมีนาคมเริ่มมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจอุณหภูมิผู้โดยสารบนเครื่องบิน ผมมองว่าในมุมสาธารณสุข แอฟริกาใต้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าขณะนั้นตัวเลขจะแค่หลักร้อย แต่เขาตอบสนองต่อสถานการณ์เร็วมาก

ลักษณะของมาตรการล็อคดาวน์ในแอฟริกาใต้แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ระดับที่ 5 คือระดับที่เข้มข้นสุด หมายถึงร้านค้าปิดหมด ประชาชนออกไปไหนไม่ได้นอกจากไปซื้ออาหาร รับบริการทางการแพทย์ ห้ามขายบุหรี่และสุรา สถานเอกอัครราชทูตฯ ก็ต้องปิดทำการชั่วคราว ทุกคนต้องย้ายมาทำงานกันที่บ้าน (work from home) ห้ามเดินทางข้ามมลรัฐ

เมื่อเริ่มมาตรการล็อคดาวน์ระดับ 5 ประเทศแอฟริกาใต้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ของกองทัพมาเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อควบคุมเรื่องการรักษาระยะห่าง (physical/social distancing) โดยเฉพาะในชุมชนแออัด (township) และด้วยความที่แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่เพิ่งจะหลุดพ้นภาวะในอดีต จึงยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคม มีคนผิวขาว ผิวสี มีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ต่างกัน สภาพจริงคือเราเห็นการใช้กำลังทหารตำรวจมากำกับการรักษาระยะห่างในพื้นที่สาธารณะ

แต่การที่แอฟริกาใต้ประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์เร็ว ในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะช่วยให้อัตราการแพร่เชื้อลดลงมาก ชะลอเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มแบบพุ่งสูงสุดจากเดิมคาดว่าในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นเดือนสิงหาคม-กันยายน

เมื่อโรคระบาดเข้ามา สถานการณ์ด้านสาธารณสุขในประเทศแอฟริกาใต้เป็นอย่างไร

ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ เพราะมีทั้งในส่วนที่ดีมากและอีกส่วนที่ยังเป็นเรื่องท้าทาย

ปัญหาหนึ่งของแอฟริกาใต้คือ คนจำนวนมากในสังคมยังเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ส่วนกลุ่มที่มีกำลังจ่ายก็จะได้รับการดูแลที่ดีในโรงพยาบาลเอกชน เป็นขั้วที่ต่างกัน

แต่อย่างน้อยทางออกหนึ่งคือ การมีหน่วยแพทย์ของทางการออกไปสุ่มตรวจคนในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง เช่น คนในชุมชนแออัดขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า township เช่น ในเขตโซเวโต (Soweto) ซึ่งเป็น township ในนครโจฮันเนสเบิร์ก ถ้าเรามองจากถนนจะเห็นความแออัดติดกันเลย ทำให้ไม่มี physical distancing และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงมีโอกาสการแพร่ระบาดอย่างมาก

สำหรับวงการแพทย์ในแอฟริกาใต้ มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์หลายแห่ง ผมเห็นความพยายามของรัฐบาลที่กำหนดสถานพยาบาลสำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อเป็นการเฉพาะ รวมถึงมีการช่วยเหลือจากทีมแพทย์จากคิวบาอีกด้วย ผมคิดว่าสาธารณสุขของแอฟริกาใต้มีคุณภาพดี เพียงแต่มีจำนวนที่จำกัด

ถ้ายกตัวอย่างประเทศไทยที่มีระบบประกันสุขภาพ ชาวบ้านสามารถเข้ารับการรักษาถ้วนหน้า ถามว่าแอฟริกาใต้มีระบบประกันสุขภาพอย่างไร ผมเคยได้รับการสอบถามในประเด็นนี้ว่า ประเทศไทยจัดหางบประมาณจากไหนในการดูแลประชาชน คำตอบง่ายๆ ก็คือ จากภาษี เพราะฉะนั้นแอฟริกาใต้ก็กลับมาดูโครงสร้างภาษีของตัวเอง โดยเริ่มศึกษามาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เขาอยากจะทำ National Health Insurance (ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า) แต่ยังไม่ถึงแบบที่ไทยเป็นอยู่ ขณะนี้พยายามศึกษาอยู่ แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐได้ฟรีหรือในอัตราที่ค่อนข้างถูก

หลังจากพบผู้ป่วยคนแรก ทำไมตัวเลขในแอฟริกาใต้พุ่งสูงภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

สาเหตุคือการอยู่ในที่ชุมชนแออัด ถ้าแบ่งตามมลรัฐ ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ในมลรัฐเวสต์เทิร์นเคป (Western Cape) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเคปทาวน์ สูงมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ ฉะนั้นการติดเชื้อจากชุมชนแออัดจึงเป็นโจทย์สำคัญ เพราะประชาชนไม่สามารถทำ physical & social distancing ได้มากพอ

เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ภาครัฐจัดการอย่างไร

สาธารณรัฐแอฟริกาใต้แบ่งการปกครองออกเป็น 9 มลรัฐ (province) คือ KwaZulu-Natal, Northern Cape, Northern Province, North-West, Eastern Cape, Mpumalanga, Free State, Western Cape และ Gauteng ซึ่งแต่ละมลรัฐจะมีมุขมนตรีที่มีอำนาจในการบริหารการจัดการ สามารถตัดสินใจและจัดการได้ แม้แต่เรื่องการลดระดับมาตรการล็อคดาวน์ แต่ละมลรัฐก็รักษาระดับของตัวเองได้

ยกตัวอย่างในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้คนในบางพื้นที่ของมลรัฐเวสต์เทิร์นเคป ไม่ยอมอยู่ภายในบ้านตามเวลาที่กำหนด ยังไม่สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า แต่ตอนนี้หลายพื้นที่เริ่มเข้มงวดขึ้น ตอนนี้เป็นช่วงของการคัดแยกผู้ติดเชื้อเพื่อเข้ารับการรักษาและเฝ้าระวังการแพร่ระบาด โดยในเดือนมิถุนายนจะเป็นช่วงเข้าสู่มาตรการล็อคดาวน์ ระดับ 3 ที่อนุญาตให้ธุรกิจต่างๆ ทยอยกลับมาทำงานได้

ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์ ระดับ 4 ร้านอาหารยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดรับคนเข้าไปนั่งรับประทานภายในร้านได้ และไม่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่และสุรา แต่เปิดให้ขายเสื้อผ้ากันหนาวได้ เพราะใกล้จะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว จึงอนุญาตให้ซื้อเสื้อผ้าตามฤดูกาลเท่านั้น เสื้อผ้าจำพวกเชิ้ต เสื้อกล้าม ยังห้ามขาย ทั้งหมดนี้รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อลดการรวมตัวของประชาชนในที่สาธารณะ

ขั้นต่อไป เมื่อลดลงสู่ระดับ 3 โรงเรียนอาจจะเปิดได้แล้ว อยากให้ลองนึกภาพการเรียนออนไลน์นะครับ การเรียนออนไลน์แปลว่าคุณจะต้องมีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต เป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงของความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ประเทศเคลื่อนมาถึงจุดนี้

วิธีจัดการต่างๆ ฟังดูคล้ายกับประเทศไทย แต่สิ่งหนึ่งที่บ้านเราใช้คือประกาศเคอร์ฟิว ที่แอฟริกาใต้มีแบบนี้ไหม

มีครับ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม รัฐบาลประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น. นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดการขึ้นรถประจำทางด้วย แท็กซี่ที่นี่ ขนาด 7-8 ที่นั่ง (คล้ายๆ รถตู้ที่จอดรับผู้โดยสารบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) จะต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสาร ยกตัวอย่าง หากมีจำนวน 18 ที่นั่ง ก็ต้องลดเหลือ 6 ที่นั่ง และถึงแม้จะมีเคอร์ฟิว แต่ผู้คนก็ยังมีอิสระในการออกกำลังกายในเวลาที่รัฐบาลกำหนดให้ (06.00-09.00 น.)

แอฟริกาใต้มีเคอร์ฟิวเหมือนประเทศไทย แล้วมีการแถลงข่าวแบบประเทศไทยไหม

มีทุกวันเลยครับ หน่วยงานสาธารณสุขแอฟริกาใต้จะรายงานผ่านทั้งทางเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของแอฟริกาใต้ ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งในที่สาธารณะ ล้างมือเป็นประจำ เว้นระยะห่าง ผมยังมีหน้ากากรูปธงชาติเลย ส่วนใหญ่คนที่นี่ใช้หน้ากากแบบผ้า ส่วนหน้ากากอนามัยชนิดอื่นๆ เขาเก็บไว้ให้แพทย์ใช้ ที่นี่บังคับเลยนะ ‘No Mask, No Mall.’ ไม่ใส่หน้ากากก็เข้าห้างไม่ได้

ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะแจ้งตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในช่วงค่ำของทุกๆ วัน (เวลาเช้าตรู่ของไทย) และสถานเอกอัครราชทูตฯ จะส่งข่าวให้คนไทยทราบทางกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้คนไทยที่นี่รับทราบ

ชีวิตคนไทยในแอฟริกาเป็นอย่างไรบ้าง นับตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อ

คนไทยที่มาอยู่นี่มีหลายประเภท ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 หลายคนได้เดินทางกลับไทยไปแล้ว ขณะที่หลายคนยังคงอยู่ที่นี่ต่อไป บางส่วนมีครอบครัวที่นี่ บางส่วนก็อยากจะกลับไทย บางคนไม่ได้ตั้งใจจะมาอยู่แอฟริกาใต้นาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว แต่ก็มาเจอล็อคดาวน์ ปรากฏว่าตอนนี้ติดอยู่ที่นี่กว่า 2 เดือนแล้วครับ

คนไทยส่วนใหญ่มีกำลังใจดี เราพยายามป้อนข่าวสารให้เป็นประจำทุกวัน เปิดให้ลงทะเบียนหากว่าใครประสงค์จะกลับไทย เพราะตอนนี้ไม่มีเที่ยวบิน อีกทั้งรัฐบาลไทยมีการกำหนดโควตาคนเข้าประเทศในแต่ละวัน ไม่ใช่วันนี้อยากจะส่ง 200 คนกลับไทยแล้วส่งเข้าไปได้เลย เราก็ต้องประสานกับหน่วยงานไทยก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไทยให้การดูแลได้อย่างเต็มที่ และเป็นการควบคุมการแพร่เชื้อ

นอกเหนือจากแอฟริกาใต้ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 2 เท่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังดูแลประเทศอื่นๆ ในอาณาเขตรอบๆ แอฟริกาใต้ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดเที่ยวบินพิเศษเพื่ออพยพคนไทยกลับประเทศ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม จำนวน 135 คน จากแอฟริกาใต้ 129 คน จากแองโกลา 4 คน และจากเลโซโท 2 คน ซึ่งในจำนวนคนไทยจากแอฟริกาใต้ กระจายมาจากหลายพื้นที่ ทั้งจากนครโจฮันเนสเบิร์ก เมืองเคปทาวน์ เมืองเดอร์บัน เมืองอีสต์ลอนดอน ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามมลรัฐ โดยออกหนังสือขออนุญาตเดินทางและจัดรถรับคนไทยจากเมืองเคปทาวน์หรือสถานที่ต่างๆ ให้มารวมตัวกันที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ก็ไม่ทอดทิ้งคนไทยที่ยังคงพำนักอยู่ในแอฟริกาใต้ โดยผมและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดถุงยังชีพซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าไทย และนำไปมอบให้กับคนไทยที่พำนักในพื้นที่ต่างๆ

สิ่งที่น่าภูมิใจจากเที่ยวบินอพยพดังกล่าวคือ สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถนำคนไทยกลับไปร้อยกว่าคน และด้วยเครื่องบินลำเดียวกันนี้ ได้นำชาวแอฟริกาใต้ที่ติดค้างอยู่ที่ไทยกลับมาแอฟริกาใต้ ชาวแอฟริกาใต้ที่ติดอยู่ไทยบอกว่า ติดอยู่ไทยเหมือนติดอยู่บนสวรรค์ (stranded in paradise) นักท่องเที่ยวชาวแอฟริกาใต้ชอบไปเที่ยวประเทศไทยมาก ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ที่เขาฝันว่าอยากไป

ภาพ: Royal Thai Embassy in Pretoria (FB fanpage)

ในวาระนี้ รัฐบาลไทยกับรัฐบาลแอฟริกาใต้ทำงานร่วมกันมากน้อยแค่ไหน

หากเป็นเรื่อง COVID-19 คงไม่มากเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น คิวบา ที่ส่งทีมแพทย์เข้ามาช่วยเหลือ แต่สิ่งที่ทำร่วมกันคือเราพยายามหาทางออกร่วมกันกับรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือ เช่น การพาพี่น้องคนไทยหรือคนแอฟริกาใต้อพยพกลับบ้าน

ตอนนี้กำลังเข้าสู่การช่วยเหลือระยะสอง สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างแจกถุงยังชีพให้พี่น้องคนไทยในแอฟริกาใต้ เพราะแต่ละพื้นที่ในแอฟริกาใต้มีระยะที่ห่างกันมาก ยิ่งภายใต้มาตรการล็อคดาวน์การขนส่งยิ่งไม่สะดวก การเดินทางข้ามระหว่างมลรัฐหรือจังหวัดจะต้องแสดงใบอนุญาตทุกคน ซึ่งเรารู้ว่าพี่น้องคนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ในนครโจฮันเนสเบิร์กไม่สะดวกมารับถุงยังชีพที่สถานเอกอัครราชทูตฯ แน่นอน

สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงออกไปแจกถุงยังชีพตามจุดต่างๆ รวมถึงทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ซึ่งก็คือแกนนำพี่น้องคนไทยที่กระจายอยู่ตามหัวเมืองอื่นๆ โดยที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางข้ามมลรัฐได้ จึงต้องใช้วิธีขอความร่วมมือพี่น้องคนไทยในต่างจังหวัดช่วยกันประกอบและแจกถุงยังชีพ

การจัดการของแอฟริกาใต้คล้ายกับประเทศไทยมาก ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนหรือช่วยเหลือในเรื่องข้อมูลกันอย่างไร

สถานเอกอัครราชทูตฯ ทั้งสองแห่งก็มีการประสานงานกันในยามปกติในเรื่องความสัมพันธ์ทั่วไปเป็นประจำอยู่แล้ว

ขณะนี้เราพยายามช่วยเหลือคนไทยอย่างเต็มที่ ยังมีคนไทยซึ่งประสงค์จะเดินทางกลับตกค้างอยู่ราวร้อยกว่าคน หรืออาจจะมีคนไทยบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะเดินทางกลับไทย แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ โดยเฉพาะคนไทยที่มาเป็นพนักงานร้านอาหารและร้านนวด สถานเอกอัครราชทูตฯ ก็พยายามจะเยียวยาให้ได้มากที่สุด

ในอนาคตหาก COVID-19 ทุเลาลง สถานเอกอัครราชทูตฯ เตรียมการที่จะออกไปให้บริการ ‘กงสุลสัญจร’ ตามเมืองสำคัญๆ เช่น เมืองเคปทาวน์ เพื่อไปให้บริการทำหนังสือเดินทาง ต่ออายุบัตรประชาชน เพราะพี่น้องคนไทยบางคนไม่มีโอกาสเรื่องเวลาและความสะดวกในการเดินทาง ยกตัวอย่าง จากเมืองเคปทาวน์มากรุงพริทอเรีย ก็พันกว่ากิโลเมตร ถ้าขับรถต้องใช้เวลาถึง 15-20 ชั่วโมง

ในการคลายมาตรการจากระดับ 5 ลงมา แอฟริกาใต้ใช้เกณฑ์อะไรวิเคราะห์ เพราะตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงอยู่

ถ้าถามว่าทำไมตัวเลขจึงเพิ่มสูงมาก เพราะรัฐบาลเอาตัวเลขของทุกมลรัฐมารวมกัน จึงทำให้ตัวเลขยอดรวมดูสูง แต่ถ้ามองเป็นรายมลรัฐ จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงไม่เท่ากัน

รัฐบาลแอฟริกาใต้จะดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายเร็วที่สุด

การลดจำนวนผู้ติดเชื้อและหยุดจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง ต้องควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง บางประเทศเปิดเร็วก็กลับมาระบาดรอบสองอีก ที่สำคัญรัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพของประชาชนกับเรื่องเศรษฐกิจให้ได้

ตั้งแต่ก่อนมี COVID-19 คนตกงานในแอฟริกาใต้สูงถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารัฐบาลไม่สร้างความสมดุลระหว่างเรื่องของสุขภาพกับเศรษฐกิจ ประเทศก็จะลำบาก อาจต้องหันไปกู้เงิน IMF

ถ้าถามความเห็นของผม แน่นอนรัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องหางานให้ประชาชนทำ พอเปิดประเทศแล้วประชาชนต้องกลับไปมีงานทำ

บทบาทของฝ่ายค้านท่ามกลางสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร

พรรคการเมืองหลักของแอฟริกาใต้ในขณะนี้คือ African National Congress (ANC) มีพรรคฝ่ายค้านสำคัญ ได้แก่ Democratic Alliance (DA) และ Economic Freedom Fighters (EFF) เป็นเงาคอยสอบถามและติดตามรัฐบาลพรรค ANC ตลอด

แอฟริกาใต้ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะถามตลอดว่าทำไมต้องมีล็อคดาวน์ ผู้นำฝ่ายค้านก็อยากจะให้ยกเลิกล็อคดาวน์ และเมื่อรัฐบาลแจ้งว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงก็เห็นควรน่าจะเปิดประเทศได้ ดังนั้น เราจะเห็นภาพทั้งสองพรรคถกเถียงกันบ่อยครั้ง

ในด้านหนึ่ง COVID-19 ทำให้เห็นภาพการบริหารงานของประธานาธิบดีซึ่งทำงานได้เป็นอย่างดี ประธานาธิบดีรามาโพซาเพิ่งรับตำแหน่งปีที่แล้ว ประชาชนอาจยังไม่เห็นภาพการทำงานสักเท่าไร แต่พอมาเจอ COVID-19 ทำให้ประชาชนเห็นการทำงานของเขามากขึ้น

บทบาทสื่อมวลชนเป็นอย่างไร

แน่นอนว่า ขณะนี้เรื่อง COVID-19 เป็นวาระของโลก สื่อหลายสำนักรายงานข่าวได้ไว เร็ว เจาะลึก ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก สถานีหลักของแอฟริกาใต้ อาทิ South African Broadcasting Corporation มีการนำเสนอข่าว COVID-19 ที่รวดเร็วและเจาะลึกเช่นกัน ทั้งในมิติด้านสาธารณสุขหรือเศรษฐกิจ

ชีวิตประจำวันตั้งแต่ท่านทูตไปอยู่ ‘ไกลบ้าน’ เป็นอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ ผมใช้ชีวิตหลากหลาย นอกจากทำงานแล้วก็สามารถที่จะหาเวลาพักผ่อน ดูโทรทัศน์ เดินเล่นนอกบ้าน ไปออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ไปทัศนศึกษาต่างเมือง เพื่อทำความรู้จักสภาพบ้านเมือง ผู้คน วัฒนธรรม แอฟริกามีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติหลายแห่ง ถือเป็นทวีปที่เป็นแหล่งเกษตรกรรม โดยเฉพาะแอฟริกาใต้เป็น Top 10 ของการผลิตไวน์ ผลไม้อร่อย มีซาฟารี สิงโต เสือ ฯลฯ ให้เที่ยวชมและลงไปศึกษาธรรมชาติควบคู่ไปด้วย

ทวีปแอฟริกามีชนเผ่าที่หลากหลาย มีวัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นจำนวนมาก COVID-19 ทำให้วิถีวัฒนธรรมเปลี่ยนไปไหม

แน่นอน ตอนนี้ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพใหม่ที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะอยากให้ชีวิตเหมือนเดิมก็ตาม แต่สิ่งที่เรายังคงต้องทำ คือการปรับตัว work from home ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงส่วนตัวของผมคือ การใช้อุปกรณ์ดิจิตอลเป็นเครื่องมือในการทำงานกันมากขึ้นกว่าเดิม และทำให้มีเวลาคิดทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำมากขึ้น เป็นเวลาที่มีค่า ซึ่งเราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องทำงานตลอดนะครับ ต้องหาโอกาสศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ

ไม่ว่าจะเป็นสภาพวิถีเดิม หรือ New Normal สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเราขาดไม่ได้คือ human touch ในช่วงล็อคดาวน์ ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 80 วัน ถามว่าใช้ชีวิตอยู่ได้ไหม คำตอบคือ ได้ แต่หากจะให้สมบูรณ์ก็ยังคงต้องมี human touch

ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีล็อคดาวน์ก็ตาม สิ่งที่ต้องมีอยู่ควบคู่กันไปตลอด คือ life และ livelihoods เหมือนดังที่ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้กล่าวกับประชาชนในช่วงล็อคดาวน์ว่า “save lives and livelihoods.”

อ้างอิง: https://www.reuters.com

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า