ตอบทุกข้อสงสัย อยู่กับ COVID-19 อย่างไร ให้ตัวเองปลอดภัย และคนรอบข้างปลอดเชื้อ

ในภาวะวิกฤติอย่างการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ครั้งนี้ มีอย่างน้อย 2 สิ่งที่จำเป็นในการดูแลตนเองและผู้อื่น อย่างแรกคือ ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างหลังคือน้ำใจที่จะดูแลคนรอบข้าง และสังคม

เนื้อหาต่อไปนี้ เป็นการแปลบางส่วนมาจากหนังสือ The Coronavirus Prevention Handbook: 101 Science Based Tips that Could Save Your Life รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสถานการณ์ระบาด โดยคณะทำงานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่รับมือกับการระบาดในเมืองอู่ฮั่น

หลังจาก WAY ได้ป่าวประกาศขอระดมแรงในการแปลหนังสือเล่มนี้ มีผู้อาสาออกแรงช่วยแปลส่วนต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในภาวะแบบนี้

เพราะข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็น และน้ำจิตน้ำใจก็เป็นสิ่งสำคัญ

วิธีปฏิบัติตัว

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

หมวดที่ 1 แนวปฏิบัติทั่วไป

ไข้หวัดใหญ่จะติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจ รวมถึงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่จะระบาดสูงสุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ไข้หวัดใหญ่ในคน ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส influenza A และ influenza B โดยที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะมีการผ่าเหล่าหรือกลายพันธุ์ง่ายกว่า และกลายเป็นชนิดย่อยเช่น H1N1, H3N2, H5N1 และ H7N9

เมื่อเชื้อไวรัสชนิดย่อยเกิดขึ้น มักจะเกิดการระบาดในวงกว้าง เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อไวรัสเหล่านี้

  1. รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงทุกวัน เช่น ปลา เนื้อ ไข่ นม ถั่ว ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ป่า
  2. รับประทานผักผลไม้สดทุกวัน เพิ่มปริมาณให้เพิ่มขึ้นจากปกติ
  3. ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 1500 มล.
  4. รับประทานอาหารให้หลากหลาย ทั้งชนิด สี และแหล่งที่มา แต่ละวันควรรับประทานอาหารให้มากกว่า 20 ชนิด พยายามรักษาสมดุลของอาหารจากสัตว์และพืช
  5. ให้แน่ใจว่าได้รับสารอาหารที่ต้องการเพียงพอในแต่ละวัน
  6. สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคผอมแห้งเรื้อรัง หรือโรคกวางซอมบี้ แนะนำให้เพิ่มอาหารที่มีการเติมสารอาหารพิเศษ และควรได้รับสารอาหารเพิ่มเติมจากปกติ คิดเป็นพลังงานไม่น้อยกว่า 500 กิโลแคลอรีต่อวัน
  7. ห้ามอดอาหารหรือจำกัดปริมาณอาหาร ในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19
  8. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง
  9. ออกกำลังกายทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ห้ามออกกำลังในกลุ่มคนหมู่มาก
  10. ระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 แนะนำให้กินอาหารเสริมที่มีวิตามินหลากหลายชนิด เกลือแร่ รวมถึงน้ำมันปลาจากทะเลลึก

ออกกำลังกายแบบครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย และพยายามออกกำลังกายให้หลากหลายชนิด เพื่อยกระดับและเสริมสร้างความแข็งแรงทางกายภาพอย่างครบถ้วน

เพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลังกายอย่างช้าๆ เริ่มจากระดับความเข้มข้นต่ำ จนเมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้วจึงค่อยเพิ่มความเข้มข้นขึ้น และควรเริ่มจากการเคลื่อนไหวแบบพื้นฐาน ก่อนจะยกระดับไปสู่ท่าออกกำลังกายที่ยากขึ้น

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัยที่ทำทุกวัน

การสูบบุหรี่จะเพิ่มปริมาณนิโคตินในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดในสมองหดเกร็ง และภาวะพร่องออกซิเจน ซึ่งภาวะพร่องออกซิเจนในระบบทางเดินหายใจและอวัยวะภายใน จะส่งผลทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร ตับ เซลล์สมอง และทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย แนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ และลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้

  1. ตรวจสภาพอากาศของจุดหมายปลายทาง เพื่อเตรียมเสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอ
  2. สวมหน้ากากอนามัยขณะนั่งรถโดยสาร รถไฟ หรือเครื่องบิน และดื่มน้ำให้เพียงพอ
  3. พักผ่อนให้เพียงพอระหว่างการเดินทาง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำ
  4. หลีกเลี่ยงสถานที่ผู้คนแออัด และให้สวมหน้ากากทุกครั้งที่ต้องไปสถานที่ดังกล่าว
  5. พยายามใช้สิ่งของที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น รองเท้าแตะแบบใช้แล้วทิ้ง ถ้วยกระดาษ ทั้งเวลาเดินทาง หรือสำหรับแขกที่มาพักที่บ้าน และหากต้องไปอาบน้ำนอกบ้าน ให้เตรียมผ้าเช็ดตัวของตัวเองไปด้วย
  6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่า รวมถึงสุนัขและแมวจรจัด
  7. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก เพราะเชื้อไวรัสไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้
  8. หากมีอาการป่วย ให้ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ในทันที และหากมีอาการป่วยให้งดเดินทาง

จากลักษณะทางการแพทย์ของเชื้อ COVID-19 อาจถือได้ว่าเป็น ‘โรคระบาด’ หรือ ‘สิ่งรังควาน’ ตามคำนิยามในแพทย์แผนจีน แก่นหลักของเชื้อโรค ก็คือ ‘ความชื้น, ความเป็นพิษ, ความหยุดนิ่ง และการปิดกั้น’ ผลกระทบของโรคจะส่งผลโดยตรงกับปอดและม้าม รวมถึงอวัยวะข้างเคียง และเข้าสู่กระแสเลือด

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับแพทย์แผนจีน ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติของจีน แนะนำให้ใช้สมุนไพร ดังต่อไปนี้ ลู่เกิน (rhizome phragmitis), ไป่เหมาเกิน (rhizome imperatae), ไป่จื้อ (radix angelicae dahuricae), ไป่จู๋ (rhizome atractylodis macrocephalae), คังจู (rhizome atractylodis), จิ้นหยินฮวา (honeysuckle-ดอกสายน้ำผึ้ง), โหวเซียง (herba pogostemonis), หงจิงเทียน (radix et rhizome rhodiolae crenulatae), กวานจง (rhizoma dryopteridis crassirhizomatis), หูจาง (rhizome polygoni cuspidati), เคากั๋ว (fructus tsaoko), เฉินปี้ (pericarpium citri reticulatae), ซางอี้ (folium mori), หวางฉี (radix astragali praeparata), ฟางเฟิง (radix ligustici brachylobi) และเป่ยหลาน (herba eupatorii)

อย่างไรก็ดี สูตรยาจีนนี้ ควรใช้ภายใต้การชี้นำโดยแพทย์แผนจีนผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

นอกจากนี้ ขอย้ำว่า การใช้สมุนไพรจีน ชื่อ ปั้นหลานเกิน (รากของต้น isatis) หรือการอบไอน้ำส้มสายชูต้มเดือด ไม่มีผลใดๆ ในการป้องกัน COVID-19

  1. ปรับทัศนคติโดยการมองโรค COVID-19 ในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ของการระบาด ความรู้เกี่ยวกับโรคและการป้องกันยังมีจำกัด ทำให้เกิดการตื่นตระหนกได้ บวกกับข่าวลือหลายๆ อย่าง ขอให้เชื่อมั่นต่องานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ปรับทัศนคติเสียใหม่ ระมัดระวังตัว แต่อย่าตื่นกลัว
  2. ยอมรับความกลัวของตัวเอง เมื่อเผชิญกับโรคระบาดที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน น้อยคนนักที่จะรักษาความสงบได้ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนคิดว่า เชื้อไวรัสมีอยู่ทุกหนแห่งและไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้ยิ่งกระวนกระวายและตื่นกลัว เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกอย่างนั้น จงยอมรับความกลัวของตัวเอง และหลีกเลี่ยงการโทษตัวเองที่เกิดความรู้สึกหวาดกลัวขึ้น
  3. พยายามใช้ชีวิตตามปกติ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ซึ่งจะช่วยให้เบี่ยงเบนความสนใจจากโรคระบาดได้
  4. ปลดปล่อยอารมณ์ของตัวเองบ้างหากจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะ ร้องไห้ ตะโกนเสียงดัง ออกกำลังกาย ร้องเพลง พูดคุย เขียนหรือวาดรูป เพื่อปลดปล่อยความโกรธ ความกระวนกระวาย และความกลัว รวมทั้งช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ และทำให้จิตใจสงบลงได้ การดูหนังหรือฟังเพลง ก็สามารถช่วยลดความกระวนกระวายได้เช่นกัน
  5. ผ่อนคลายและจัดการกับความรู้สึก มีเทคนิคหลายอย่างที่สามารถใช้ในการปลดปล่อยความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความเครียด ความหดหู่ และความหวาดวิตก การผ่อนคลายด้วยมโนภาพ สูดหายใจลึกๆ และช้าๆ ใช้จินตนาการ นึกภาพพลังงานที่อบอุ่นไหลไปทั่วร่างกาย การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย แขน ขา ลำตัว และศีรษะ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ หรี่ไฟให้มืด รวมทั้งให้มีสิ่งเร้าน้อยที่สุด จากนั้นทำตามขั้นตอน 5 ขั้นตอน ต่อไปนี้ 1. รวบรวมสมาธิ 2. เกร็งกล้ามเนื้อ 3. รักษาความรู้สึกเกร็งที่กล้ามเนื้อไว้ 4. ปลดปล่อยความเครียดช้าๆ 5. ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน การผ่อนคลายด้วยการหายใจ นี่คือวิธีผ่อนคลายที่ง่ายที่สุด ซึ่งสามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ที่รู้สึกกระวนกระวาย ขั้นตอนมีดังนี้ เริ่มจากยืนตรง ปล่อยหัวไหล่ให้ตกลงอย่างเป็นธรรมชาติ จากนั้นหลับตา สูดหายใจเข้าและออกอย่างช้าๆ โดยปกติแล้ว การทำเช่นนี้แค่ไม่กี่นาทีจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้
  6. ขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ คุณอาจต้องขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือขอรับยาเพื่อใช้จัดการกับความเครียด ความกระวนกระวาย ความกลัว การนอนไม่หลับ หรือความผิดปกติทางกายภาพอื่นๆ ในกรณีที่ผู้สงสัยว่าติดเชื้อที่อยู่ระหว่างกักตัว มีอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมรุนแรง เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการกักตัว อาจต้องพิจารณาส่งบุคคลนั้นไปยังสถาบันด้านสุขภาพจิต ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมรุนแรงที่ว่านี้ รวมไปถึง อาการกระวนกระวาย ความรู้สึกหดหู่ อาการหลงผิด การนอนไม่หลับ การพูดหรือแสดงออกที่ไม่เหมาะสมและไม่สามารถควบคุมได้ การปฏิเสธขัดขืนหรือหลบหนีการกักตัว และการพยายามฆ่าตัวตาย

หมวดที่ 2 หน้ากาก

จุดประสงค์หลักของการสวมหน้ากาก ไม่ใช่เพื่อสกัดกั้นเชื้อไวรัสโดยตรง แต่เพื่อสกัดกั้นละอองฝอยที่เป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัส ดังนั้น การสวมหน้ากากที่เหมาะสม จะสามารถป้องกันตัวเราจากละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัส รวมทั้งป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายของเราด้วย

พึงระลึกไว้ว่า ไม่จำเป็นที่เราจะต้องสวมหน้ากากอนามัยเกรดดี เช่น หน้ากาก N95 หรือ KN95 เพราะแค่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ก็สามารถป้องกันตัวเราจากละอองฝอยที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสได้แล้ว

หน้ากากสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ หน้ากาก N95/KN95, หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากผ้า

หน้ากาก N95/KN95 สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมครอน รวมถึงเชื้อไวรัสทุกชนิด ดังนั้น หน้ากากชนิดนี้สามารถใช้ป้องกันโรคระบาดที่มีการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศได้

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง มี 3 ชั้น ชั้นนอกสุดจะกันน้ำเข้า จึงสามารถป้องกันละอองฝอยไม่ให้ผ่านหน้ากากได้ ส่วนชั้นกลาง จะมีแผ่นกรองที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 5 ไมครอนขึ้นไป ส่วนชั้นในสุดที่สัมผัสกับจมูกและปาก จะทำจากวัสดุที่ซึมซับความชื้นได้ดี โดยทั่วไป หน้ากากชนิดนี้ สามารถใช้ในห้องผ่าตัดปลอดเชื้อ รวมทั้งใช้ป้องกันโรคระบาดที่มีการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศได้

หน้ากากผ้า จะมีความหนาและหนักกว่า มักจะไม่ปกปิดใบหน้าแบบแนบสนิท ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้ป้องกันเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หน้ากาก N95 และ KN95 สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมครอนขึ้นไป ได้ไม่ต่ำกว่า 95  เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกัน N95 คือ มาตรฐานที่กำหนดโดยสหรัฐ ขณะที่ KN95 คือ มาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศจีน

หน้ากาก N95 (แบบไม่มีวาล์ว)

  • สามารถดักกรองอนุภาคขนาดเล็กมากได้ดี และสามารถใช้ป้องกันโรคที่มีการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศได้
  • สามารถดักกรองอนุภาคขนาดเล็กมาก (ประมาณ 0.3 ไมครอน) ได้ไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์
  • สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ จนกว่าหน้ากากจะสกปรก เปียกชื้น หรือบิดเบี้ยวผิดรูป

หน้ากาก N95 (แบบมีวาล์ว)

  • เหมือนกับหน้ากาก N95 แต่มีวาล์วช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น และช่วยลดการสะสมความชื้นและความร้อนภายในหน้ากาก
  • สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนได้เหมือนหน้ากาก N95 แบบไม่มีวาล์ว

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์

  • ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันละอองฝอยที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค
  • โดยทั่วไปแล้ว แผ่นกรองในชั้นกลางของหน้ากาก สามารถกรองอนุภาคขนาดไม่เล็กกว่า 5 ไมครอนได้ อย่างไรก็ดี หน้ากากอนามัยชนิดนี้ ไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด บางชนิด อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคด้อยกว่า
  • ใช้เพียงครั้งเดียว

หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป

  • จุดที่แตกต่างจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ คือ แผ่นกรองในชั้นกลางของหน้ากาก ไม่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก หรือป้องกันเชื้อโรคได้ดีเท่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
  • ใช้เพียงครั้งเดียว และมักใช้ในการป้องกันฝุ่นละอองทั่วไป หรือละอองเกสรดอกไม้

หน้ากากผ้า

  • ใช้เพื่อป้องกันฝุ่น รวมถึงให้ความอบอุ่นแก่จมูกและปาก
  • สามารถซักและใช้ซ้ำได้

หากจัดลำดับประสิทธิภาพการป้องกันผู้สวมหน้ากาก จะเป็นดังนี้

หน้ากาก N95 > หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ > หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป > หน้ากากผ้า

หน้ากาก N95 แบบไม่มีวาล์ว อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีการหายใจลำบาก ดังนั้น หากจะใช้หน้ากาก N95 ควรเลือกแบบมีวาล์วจะดีกว่า

อย่างไรก็ดี หากผู้สวมหน้ากาก N95 แบบมีวาล์ว เป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัส เชื้ออาจแพร่กระจายผ่านวาล์วหน้ากากไปสู่บุคคลรอบข้างได้

ดังนั้น หากผู้ใดติดเชื้อไวรัสแล้ว และจำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ จึงไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากชนิดนี้

  • ตรวจดูว่า ด้านไหนคือด้านหน้า ด้านหลัง ด้านบน ด้านล่าง จากนั้น ล้างมือก่อนสวมหน้ากาก โดยให้หน้ากากปิดคลุมจมูกและปากอย่างมิดชิดและไม่มีช่องให้อากาศผ่านด้านข้าง จากนั้นจึงสวมห่วงคล้องหู
  • ด้านบนของหน้ากากส่วนที่หันออกนอก จะมีแถบวัสดุแข็งๆ ที่สามารถบีบให้งอได้ เมื่อสวมหน้ากากแล้ว ใช้นิ้วบีบแถบดังกล่าวให้แนบสนิทกับสันจมูกผู้สวมหน้ากาก
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนถอดหน้ากาก ใช้มือข้างหนึ่งกดหน้ากากไว้ ส่วนมืออีกข้างถอดห่วงคล้องจากหูทีละข้าง เสร็จแล้วให้พับหน้ากากที่ถอดออกโดยให้ด้านหลังของหน้ากาก (ส่วนที่สัมผัสกับหน้า) อยู่ข้างใน หากด้านหลังของหน้ากากยังสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน สามารถใช้ซ้ำได้

หน้ากากทุกชนิด มีประสิทธิภาพการใช้งานที่จำกัด และจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ หากเกิดกรณีดังต่อไปนี้

  • หายใจผ่านหน้ากากลำบาก
  • หน้ากากเกิดความเสียหาย
  • หน้ากากไม่แนบสนิทกับใบหน้าแล้ว
  • หน้ากากเกิดการเปรอะเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่ง
  • หลังจากที่ผู้สวมหน้ากากมีการสัมผัส หรือออกจากห้องกักกันที่มีผู้ติดเชื้อ ให้ถือว่าหน้ากากนั้นเกิดการปนเปื้อนแล้ว

ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีแนวทางชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาในการใช้หน้ากาก N95 ขณะที่มีงานวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพการกรองของหน้ากาก ยังอยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ หลังจากใช้หน้ากากซ้ำ 2 วัน และลดลงเหลือ 94.7 เปอร์เซ็นต์ หลังจากใช้หน้ากากซ้ำ 3 วัน ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ แนะนำว่า หน้ากาก N95 สามารถใช้ซ้ำได้จนกว่าจะพบความสกปรก หรือเกิดความเสียหายขึ้นกับหน้ากาก (เช่น รอยฉีกขาด หรือรอยพับ)

ล้างมือให้สะอาดก่อนจะสัมผัสหน้ากาก จากนั้นขยับหน้ากากให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และให้แนบสนิทกับใบหน้าผู้สวม เพื่อไม่ให้มีอากาศรั่วไหลจากช่องจนกลายเป็นฝ้าจับที่แว่นของผู้สวม

  • หญิงมีครรภ์ควรเลือกหน้ากากที่สวมใส่สบาย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในเรื่องนี้
  • ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเลือกหน้ากาก ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอด อาจรู้สึกไม่สบายเวลาสวมหน้ากาก และอาจทำให้อาการป่วยยิ่งรุนแรงขึ้นได้
  • สำหรับเด็ก ควรใช้หน้ากากสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

หมวดที่ 3 การล้างมือและแอลกอฮอล์

ขั้นตอนที่ 1 ฟอกสบู่ในมือ จากนั้นใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างถูกัน โดยนิ้วสอดประสานกัน

ขั้นตอนที่ 2 วางฝ่ามือข้างหนึ่งบนหลังมืออีกข้าง ก่อนจะถูนิ้วทุกนิ้ว เสร็จแล้วให้สลับมือทำเหมือนเดิม

ขั้นตอนที่ 3 ใช้นิ้วถูบริเวณซอกนิ้วทุกนิ้ว

ขั้นตอนที่ 4 ใช้ฝ่ามือถูด้านหลังของนิ้วมืออีกข้าง เสร็จแล้วให้สลับมือทำเหมือนเดิม

ขั้นตอนที่ 5 ถูบริเวณหัวแม่มือโดยใช้มืออีกข้าง จากนั้นให้สลับมือทำเหมือนเดิม

ขั้นตอนที่ 6 ถูบริเวณปลายนิ้วโดยใช้ฝ่ามืออีกข้าง

ขั้นตอนที่ 7 ถูบริเวณข้อมือให้รอบ จากนั้นทำเช่นเดิมกับข้อมืออีกข้าง

ในแต่ละขั้นตอน ให้ทำอย่างน้อย 5 ครั้ง เมื่อเสร็จทุกขั้นตอนแล้ว ล้างมือโดยผ่านน้ำไหล

  1. หลังจากใช้มือปิดปากเวลาไอหรือจาม
  2. หลังจากพบหรือสัมผัสกับผู้ป่วย
  3. ก่อน ระหว่าง และหลังการทำอาหาร
  4. ก่อนรับประทานอาหาร
  5. หลังจากเข้าห้องน้ำ
  6. หลังจากสัมผัสกับสัตว์
  7. หลังจากสัมผัสปุ่มกดในลิฟต์ มือจับประตู และลูกบิดประตู
  8. หลังจากกลับถึงบ้าน

เชื้อโคโรนาไวรัส ไม่สามารถทนต่อภาวะกรดหรือด่าง อีกทั้งยังอ่อนแอต่อตัวทำละลายอินทรีย์และน้ำยาฆ่าเชื้อ จึงสามารถใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ ทดแทนการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดได้

จริง การล้างมือบ่อยๆ เป็นหนึ่งในมาตรการที่ได้ผลดีที่สุด ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ รวมถึงโคโรนาไวรัส หน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน องค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ ต่างแนะนำว่า การล้างมือด้วยสบู่และผ่านน้ำไหล เป็นหนึ่งในวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด

จริง เพราะโคโรนาไวรัสอ่อนแอต่อตัวทำละลายอินทรีย์และน้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์, คลอโรฟอร์ม, ฟอร์มัลดีไฮด์, น้ำยาฆ่าเชื้อโรคผสมคลอรีน, กรดเปอร์อะซิติค และรังสีอัลตราไวโอเล็ต สามารถทำลายเชื้อไวรัส ดังนั้น การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และเช็ดถูโทรศัพท์มือถือ จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้

หมวดที่ 4 การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และการกักตัว

ควรทำเช่นนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง (ไข้ต่ำ ไอ จาม และเจ็บคอ) โดยไม่มีโรคเรื้อรัง (เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ไตล้มเหลว หรือโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน) สามารถใช้วิธีกักตัวเองอยู่ที่บ้านได้

ข้อสังเกต

  1. ระหว่างกักตัวที่บ้าน ผู้ป่วยต้องมีการติดต่อกับแพทย์อยู่เสมอ จนกว่าจะหายจากโรค
  2. แพทย์จะต้องสามารถติดตามตรวจสอบพัฒนาการของโรค เพื่อประเมินอาการของผู้ป่วยได้
  3. ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว จะต้องรักษาสุขอนามัยที่ดี และรับฟังคำแนะนำด้านสาธารณสุขและการป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอ

ข้อควรระวัง!

การตัดสินใจว่าจะให้ผู้ป่วยได้รับการกักตัวอยู่กับบ้าน จำเป็นจะต้องอาศัยการประเมินทางการแพทย์ ในเรื่องความปลอดภัยและความเสี่ยงด้านสุขภาพ

  1. จัดหาห้องใดห้องหนึ่งในบ้าน ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัวผู้ป่วย
  2. จำกัดจำนวนคนดูแลผู้ป่วย จะให้ดีควรมีคนดูแลผู้ป่วยแค่ 1 คน ซึ่งจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้มีบุคคลอื่นเข้าเยี่ยมผู้ป่วย
  3. สมาชิกคนอื่นในครอบครัว ควรอาศัยอยู่ในห้องอื่น หรืออยู่ในระยะห่างจากผู้ป่วยอย่างน้อย 1 เมตร หากสมาชิกในบ้านเป็นแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมเด็กอ่อน ก็ยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ
  4. จำกัดความเคลื่อนไหวของผู้ป่วย และให้ใช้พื้นที่ร่วมกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวให้น้อยที่สุด สำหรับพื้นที่ที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น ครัว ห้องน้ำ หรืออื่นๆ จะต้องมีอากาศถ่ายเทสม่ำเสมอด้วยการเปิดหน้าต่างบ่อยๆ
  5. สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในห้องร่วมกับผู้ป่วย หน้ากากที่สวมควรจะแนบสนิทกับใบหน้า หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากาก และเปลี่ยนหน้ากากทันทีที่มีการปนเปื้อน รวมถึงล้างมือทันทีหลังถอดหน้ากาก
  6. ล้างมือทุกครั้งหลังมีการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือทุกครั้งหลังเข้าและออกจากสถานที่กักกันผู้ป่วย ล้างมือก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ และทุกครั้งที่สงสัยว่ามืออาจสกปรก หากมองไม่เห็นสิ่งสกปรกที่มือ อาจใช้เจลอนามัยเช็ดมือได้ แต่หากมองเห็นสิ่งสกปรกที่มือ ควรล้างด้วยสบู่และน้ำ
  7. หลังจากล้างมือด้วยสบู่แล้ว ควรใช้กระดาษเช็ดมือแล้วทิ้ง หากไม่มีกระดาษ อาจใช้ผ้าเช็ดมือที่แห้งและสะอาด รวมทั้งให้เปลี่ยนผืนใหม่เมื่อผ้าเช็ดมือนั้นเริ่มเปียกชื้น
  8. รักษาสุขอนามัยของระบบทางเดินหายใจ เช่น สวมหน้ากาก ไอหรือจามใส่ทิชชูหรือในวงข้อศอกของตัวเอง รวมทั้งล้างมือทันทีหลังไอหรือจาม
  9. ฆ่าเชื้อและทิ้งทำลายวัตถุที่ใช้ปิดจมูกและปาก หรือซักทำความสะอาดอย่างถูกต้องหลังใช้งาน (เช่น ซักผ้าเช็ดหน้าด้วยสบู่หรือผงซักฟอก)
  10. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของมนุษย์ โดยเฉพาะของเสียที่ออกจากปากหรือระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเก้าอี้หรือม้านั่งของผู้ป่วย
  11. สวมถุงมือแบบใช้ครั้งเดียว เมื่อต้องทำความสะอาดสิ่งที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง รวมถึงของเสียจากผู้ป่วย ทั้งอุจจาระและปัสสาวะ และให้ทิ้งถุงมือนั้นอย่างระมัดระวัง
  12. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หรือของใช้ของผู้ป่วย เช่น แปรงสีฟัน จานชาม อาหาร เครื่องดื่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าคลุมเตียง หรืออื่นๆ ซักล้างหรือทิ้งทำลายภาชนะที่ผู้ป่วยใช้แล้วอย่างถูกวิธี
  13. ใช้น้ำยาฟอกขาวเจือจาง (1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วน) ล้างทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ในบ้านที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น โต๊ะข้างเตียง เตียง พื้นผิวในห้องน้ำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  14. ซักเสื้อผ้าและของใช้ผู้ป่วย เช่น ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว ด้วยผงซักฟอก หรือซักในเครื่องซักผ้าที่อุณหภูมิ 140-194 องศาฟาเรนไฮต์ จากนั้นตากให้แห้งสนิท เสื้อผ้าและเครื่องนอนของผู้ป่วยควรใส่ในถุงซักผ้า และไม่ควรสะบัดผ้าก่อนอบหรือตาก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผิวหรือเสื้อผ้าของคุณ
  15. สวมถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง และผ้ากันเปื้อน ก่อนจะทำความสะอาดหรือสัมผัสกับเสื้อผ้า เครื่องนอน ตลอดจนวัตถุที่ปนเปื้อนของเสียจากร่างกายผู้ป่วย ล้างมือก่อนสวมถุงมือ และหลังจากถอดถุงมือ
  16. ผู้ป่วยควรอยู่บ้านจนกว่าจะหายสนิท ซึ่งจำเป็นต้องใช้การวินิจฉัยทางการแพทย์ และ/หรือผลตรวจจากห้องแล็บยืนยัน

ทุกคน (รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์) ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ จะต้องเข้ารับการกักตัว 14 วัน เริ่มจากวันที่มีการสัมผัสผู้ป่วย รีบขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทันทีที่มีอาการป่วย อาทิ เป็นไข้ ไอ หายใจลำบาก ท้องเสีย และระหว่างการกักตัว ควรจะมีการติดต่อกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

บุคลากรทางการแพทย์ ควรแจ้งให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดทราบล่วงหน้าว่า หากมีอาการป่วยเกิดขึ้น พวกเขาจะต้องไปที่โรงพยาบาลไหน เดินทางไปอย่างไร รวมถึงมาตรการควบคุมที่จะต้องทำ

คำแนะนำเพิ่มเติม

  1. แจ้งทางโรงพยาบาลให้ทราบล่วงหน้าว่า ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย กำลังจะเดินทางไปที่นั่น
  2. สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ตลอดเส้นทางที่เดินทางไปยังโรงพยาบาล
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ให้เรียกรถพยาบาลหรือใช้รถส่วนตัว ควรเปิดหน้าต่างตลอดการเดินทาง
  4. ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรรักษาสุขอนามัยระบบทางเดินหายใจตลอดเวลา รวมถึงล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1 เมตร ระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล
  5. ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และผู้ดูแล จะต้องล้างมืออย่างถูกวิธี
  6. ทุกพื้นผิวที่เกิดการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ระหว่างการเดินทาง จะต้องถูกทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาวเจือจาง

บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อ นอกจากนี้ พวกเขาจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ด้วยมาตรการคุ้มครองบุคลากรที่ดี สุขอนามัยที่ดี การบริหารจัดการในตึกผู้ป่วย รวมทั้งการจัดการขยะ-การฆ่าเชื้อในสิ่งแวดล้อม

สำหรับห้องสำนักงานและแผนกต้อนรับผู้ป่วย จะต้องสวมชุดทำงานที่ปกป้องอย่างดี หมวกและหน้ากากอนามัยทางการแพทย์

สำหรับตึกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน และตึกที่กักตัวผู้ป่วย ระหว่างการตรวจปกติ ให้สวมชุดป้องกันอย่างดี หมวก และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เมื่อต้องสัมผัสเลือด ของเหลวจากร่างกาย ของเสียจากผู้ป่วย ให้สวมถุงมือยาง เมื่อมีการผ่าตัด ให้สวมหน้ากาก N95 แผ่นกระบังหน้า ถุงมือยาง ชุดที่กันน้ำ และชุดป้องกันอย่างดี

ระบบการควบคุมการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่ถูกกักตัว ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ผู้ที่เข้าเยี่ยมจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด

  1. เพิ่มการตระหนักเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ออกกำลังกายแต่ไม่ต้องหักโหม พักผ่อนให้พอเพียง เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย
  2. รักษาสุขอนามัยส่วนตัว ปิดปาก-จมูกด้วยทิชชูเมื่อไอหรือจาม ล้างมือบ่อยๆ หากยังไม่ล้างมือ ห้ามใช้มือสัมผัสดวงตา จมูก และปาก
  3. รักษาความสะอาดในห้อง ล้างพื้นและเช็ดถูกเฟอร์นิเจอร์ให้สะอาด แยกขยะและหมั่นทิ้งบ่อยๆ
  4. ทำให้อากาศถ่ายเท เปิดหน้าต่างทุกวันเพื่อให้อากาศใหม่สดชื่นหมุนเวียนเข้ามา
  5. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อถูพื้นและเช็ดถูเฟอร์นิเจอร์ เชื้อโคโรนาไวรัสอ่อนแอต่อรังสียูวีและความร้อน ความร้อนที่ 132.8 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นเวลา 30 นาที หรือแอลกอลฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์, น้ำยาฆ่าเชื้อ, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และคลอโรฟอร์ม สามารถทำลายเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้
  6. เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการโรคทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หรือมีไข้
  7. เลี่ยงสถานที่ปิดหรือสถานที่ที่มีผู้คนแออัด สวมหน้ากากหากจำเป็นต้องไปสถานที่ดังกล่าว
  8. ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ป่า ไม่สัมผัสกับสัตว์ปีกและสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อสัตว์ป่า
  9. ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่จำกัดบริเวณ ฉีดวัคซีนประจำปี และดูแลเรื่องสุขอนามัยให้เรียบร้อย
  10. ปฏิบัติตามข้อควรระวังเกี่ยวกับการเตรียมอาหาร รับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุก รวมถึงไข่ที่ต้มสุกจนแข็ง
  11. หมั่นตรวจเช็คสุขภาพตัวเอง หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ หรือไอ ให้รีบปรึกษาแพทย์

ในช่วงฤดูหนาว ประตูและหน้าต่างของบ้าน อาจถูกปิดเป็นส่วนใหญ่ ทำให้อากาศภายในบ้านปนเปื้อนสิ่งสกปรกจากอากาศที่ไม่มีการถ่ายเท และกิจกรรมภายในบ้าน เช่น การหุงหาอาหาร ดังนั้น จึงควรเปิดหน้าต่างบ่อยๆ เพื่อให้อากาศสดชื่นจากภายนอกได้หมุนเวียนเข้ามา

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายเทอากาศในบ้าน ให้อิงจากสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก มีคำแนะนำให้เปิดหน้าต่างในช่วงเช้า บ่าย และเย็น หากคุณภาพอากาศนอกบ้านอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และให้เปิดหน้าต่างทิ้งไว้ 15-30 นาที ความถี่และช่วงเวลาของการหมุนเวียนอากาศในบ้าน อาจลดลง หากคุณภาพอากาศภายนอกอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

หมวดที่ 5 แพทย์และโรงพยาบาล

  1. บุคลากรทางการแพทย์ เป็นกำลังหลักในการป้องกันและควบคุมโรค หากพวกเขาได้รับการปกป้องที่ดี พวกเขาก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. เมื่อได้รับการรับประกันความปลอดภัยทั้งด้านสุขภาพและด้านวิชาชีพ บุคลากรทางการแพทย์ จะสามารถทำงานตรวจหาและจัดการเคสผู้ป่วยติดเชื้อได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ มาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อจะต้องได้รับการยกระดับในทุกส่วนของโรงพยาบาล รวมทั้งเพิ่มความเข้มแข็งในการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการติดตามสุขภาพและให้การสนับสนุนและดูแลอย่างเต็มที่

หน่วยงานสาธารณสุขจะต้องจัดหาอุปกรณ์เครื่องป้องกัน ดังนี้ หมวก หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียว แว่นป้องกัน ชุดทำงาน (ชุดกาวน์สีขาว) ชุดป้องกัน ถุงมือยาง ถุงหุ้มรองเท้าแบบใช้แล้วทิ้ง อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ หรือชุดสวมหัวระบบความดันบวก

เมื่อออกไปข้างนอก

หทัยธร หลอดแก้ว

หมวดที่ 6 การปฎิบัติตัวและป้องกันตัวเองในที่สาธารณะ

ระหว่างที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะที่แออัดและที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท อย่างโรงภาพยนตร์ สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องไปในที่สาธารณะ โดยเจ้าหน้าที่ของสถานที่นั้นๆ เองจะต้องรักษาสภาพแวดล้อมภายในอาคารให้ถูกสุขลักษณะ จัดให้มีการระบายอากาศในพื้นที่และฆ่าเชื้อสถานที่ทุกวัน

เมื่อต้องเดินทางด้วยรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือข้ามฟาก เครื่องบิน หลีกเลี่ยงจุดที่มีคนจำนวนมาก และต้องสวมหน้ากากเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

ควรไอหรือจามใส่กระดาษทิชชู แขนหรือข้อศอก โดยต้องแน่ใจว่าปิดจมูกและปากอย่างดีแล้ว จากนั้นรีบกำจัดทิชชูที่ใช้แล้วในถุงพลาสติกก่อนทิ้งลงในถังขยะที่ติดป้ายว่าขยะตกค้าง/ขยะทางการแพทย์ เพื่อป้องกันไวรัสแพร่กระจายต่อ

จัดสถานที่ทำงานให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่บ้วนน้ำลายในที่สาธารณะ ควรบ้วนน้ำลายลงบนทิชชูและทิ้งในถังขยะปิดที่สนิท ล้างมือบ่อยๆ เพื่อรักษาความสะอาดของร่างกายเสมอ หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเพื่อเข้าสังคม ระหว่างมีโรคระบาด

ระหว่างที่โรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2003 มีรายงานว่าบรรดาผู้ที่ติดเชื้อล้วนติดจากการโดยสารลิฟต์ ลิฟต์กลายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องปริมาณอากาศในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อป้องกัน COVID-19 มาตรการที่ควรนำมาปรับใช้ มีดังนี้

ลิฟต์ควรจะได้รับการฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเล็ตอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงทุกพื้นผิว หรือใช้แอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ และคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อทุกวันได้เช่นกัน

ลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดโดยการเลือกโดยสารลิฟต์คนเดียว

สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องใช้ลิฟต์ และถ้ามีใครสักคนในลิฟต์ไอหรือจามขณะที่คุณไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย คุณต้องปิดปากและจมูกของคุณด้วยแขนตัวเอง หลังจากนั้นให้รีบเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือทำความสะอาดเสื้อผ้าทันที

ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หลังจากสัมผัสกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์

ฆ่าเชื้ออุปกรณ์และพื้นที่ทำงานโดยรอบ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

สวมชุดที่มีการป้องกัน ถุงมือ และหน้ากากอนามัย ทุกครั้งที่ต้องถือหรือสัมผัสเนื้อสัตว์

กำจัดชุดป้องกันทันทีหลังจากใช้งาน ทำความสะอาดชุดทุกวัน แล้วทิ้งชุดนั้นไว้ในที่ทำงาน

ช่วยกันจำกัดบริเวณให้สมาชิกในครอบครัวอยู่ให้ห่างจากเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ที่ยังไม่ได้ซัก

สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะคลินิกสำหรับคนเป็นไข้/หวัด หรือแผนกที่ดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ

หลีกเลี่ยงผู้คนที่มีอาการซึ่งแสดงถึงระบบหายใจมีปัญหา เช่น คนที่มีไข้ ไอ จาม

รักษาสุขอนามัยของตัวเองเสมอ ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม

ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอลล์สำหรับล้างมือ หลีกเลี่ยงการจับตา จมูก ปาก ด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้าง

กำจัดทิชชูที่ใช้แล้วในถุงพลาสติกก่อนทิ้งลงในถังขยะที่ติดป้ายว่าขยะตกค้างหรือขยะทางการแพทย์ เพื่อป้องกันไวรัสแพร่กระจาย

หลีกเลี่ยงการรวมตัวหรือการชุมนุม

สร้างการตระหนักรู้ เจ้าหน้าที่ในองค์กรนั้นๆ ควรให้ความรู้พนักงาน นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรแต่ละคณะ ถึงการป้องกันที่ถูกต้องและการปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงติดเชื้อ

กักตัวและรายงานผลพนักงาน นักเรียน หรือบุคลากรแต่ละคณะ ว่าใครที่มีอาการไข้ ไอ หรืออาการที่แสดงออกถึงปัญหาระบบทางเดินหายใจ และห้ามให้บุคคลที่มีอาการป่วยมาทำงานหรือเข้าเรียน

สำรวจและสอบถามนักเรียนเพื่อหาข้อมูลและประวัติการเดินทาง รวมถึงใส่ใจนักเรียนที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เดินทางไปยังประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ

คัดกรองทุกเช้าและกลางวันว่าใครที่มีอาการไข้ ไอ หรืออาการที่แสดงถึงปัญหาระบบทางเดินหายใจ

ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ และถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง มากเพียงพอต่อความต้องการ

วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งควรแนะนำและกำกับดูแลรักษาความสะอาด จัดพื้นที่ให้ระบายอากาศสม่ำเสมอ ฆ่าเชื้อในพื้นที่สาธารณะอย่างห้องเรียน โรงยิม โรงอาหาร ห้องสมุด และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ในแต่ละคณะ

แผนฉุกเฉินและการบริหารพิเศษภายใต้สถานการณ์โรคระบาด เพื่อรับมือ ป้องกัน และควบคุม COVID-19 ควรได้รับการจัดตั้งขึ้นและสั่งการให้แต่ละหน่วยงาน บุคคล หรือแต่ละภาคส่วนรับผิดชอบ รับรู้ และปฏิบัติตาม

บุคลากรทางการแพทย์ของแต่ละโรงเรียนควรจัดการบรรยายให้ความรู้เรื่องการป้องกันการติดเชื้อแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนทุกท่าน เพื่อทำความเข้าใจและตระหนักรู้

บุคลากรทางการแพทย์ของแต่ละโรงเรียนควรหมั่นตรวจสุขภาพของนักเรียน ตรวจคัดกรองทุกเช้าและกลางวัน และกักตัวนักเรียนที่มีอาการไข้ ไอ และอาการอื่นๆ ที่แสดงถึงการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โดยต้องทำการติดตามและแจ้งเตือนอาการให้กับครอบครัวและหน่วยงานแพทย์ในท้องถิ่นนั้นๆ รับทราบโดยทันที

ดูแลสถานศึกษาให้แห้งและสะอาด ทุกห้องมีอากาศถ่ายเท ฆ่าเชื้อทุกพื้นที่ทุกวัน และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการล้างมือ อย่างอ่างล้างมือและสบู่ให้เพียงพอ

ลดการทำกิจกรรมกลุ่ม ในห้องเรียนควรจัดให้นักเรียนนั่งห่างกัน จัดการเหลื่อมตารางเวลาการรับประทานอาหารในโรงอาหารของคนแต่ละกลุ่ม

แจ้งผู้ปกครองนักเรียนก่อนออกไปทำกิจกรรมภายนอก

ห้องเรียน เมื่อเทียบกับพื้นที่การเรียนรู้อื่นๆ ห้องเรียนจะแออัดมากกว่า ดังนั้นต้องทำให้ห้องเรียนสะอาดและฆ่าเชื้อโรคทุกวัน ระบายอากาศในห้องเรียนวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที รักษาระยะห่างทางสังคมที่เหมาะสม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ดื่มน้ำปริมาณมากๆ หลีกเลี่ยงการตะโกน หรือรับประทานอาหารในห้องเรียน

ห้องสมุด เป็นสถานที่เรียนรู้สาธารณะที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันเชื้อ และดูแลห้องสมุดให้มีอากาศถ่ายเทได้ง่าย แห้ง สะอาด และฆ่าเชื้อโรคทุกวัน ครูและนักเรียนควรล้างมือทุกครั้งหลังจากยืมหนังสือ รวมถึงควรสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการขยี้ตา จมูก หรือปาก ด้วยมือ

ห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น แล็บ ควรสวมใส่ถุงมือยางที่ใช้แล้วทิ้ง และสวมหน้ากากเมื่อศึกษาหรือทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ หลังการทดลองเสร็จสิ้น ขยะที่เกิดจากการทดลองควรทิ้งอย่างถูกต้อง อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในขณะทดลองควรได้รับการฆ่าเชื้อทันที

โรงอาหาร ควรตรวจสอบให้แน่ใจในความปลอดภัยของอาหารและสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อสัตว์ ก่อนเริ่มการทำงานทุกวัน พนักงานโรงอาหารควรสวมหน้ากากและล้างมือเสมอ รวมถึงควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอตามแนวทางการป้องกัน พื้นที่ครัวที่ทำอาหารและโต๊ะสำหรับรับประทานอาหาร ควรได้รับการฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวีและความร้อนสูงทุกวัน ห้องน้ำโรงอาหารควรจัดหาสบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับล้างมือ ลดจำนวนสิ่งของที่มีขนาดใหญ่ระหว่างโต๊ะ เหลื่อมเวลารับประทานอาหารของนักเรียนและครูแต่ละกลุ่ม และรักษาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างแต่ละคนในการรอคิว

สนามกีฬา ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน

หอพัก ควรจะระบายอากาศได้ดีและสะอาด มีการฆ่าเชื้อโรคเสมอ นักเรียนควรล้างมือหลังจากกลับถึงหอ เปลี่ยนและซักเสื้อผ้าและอาบน้ำอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบขั้นตอนทั้งหมดนี้ให้แน่ใจและทำให้เป็นเรื่องปกติ และต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ควรปิดสถานดูแลผู้สูงอายุ ยกเลิกการจัดกิจกรรมกลางแจ้งสำหรับผู้สูงอายุ จำกัดการเข้าเยี่ยมของครอบครัวและเพื่อนจากภายนอก และงดรับผู้เข้าพักรายใหม่

สำรวจประวัติการเดินทางของผู้สูงอายุในสถานดูแลทุกคน รวมถึงกักตัวทันทีเมื่อพบประวัติการเดินทางหรือประวัติการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ

เจ้าหน้าที่ควรรู้วิธีการป้องกันและควบคุม COVID-19 และมีการสลับเวรตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินได้ทันที

ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการจัดหาหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ และถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง มากเพียงพอต่อความต้องการ

เสริมสร้างมาตรการสุขอนามัย รวมทั้งการทำความสะอาดทุกพื้นที่อย่างละเอียด จัดการของเสียทันที มีการระบายอากาศ และฆ่าเชื้อทุกวัน

ตรวจวัดและคัดกรองอาการทุกวัน มีการกักตัวบุคคลที่มีอาการเข้าข่าย และติดตามเฝ้าดูอาการเสมอ

ให้ความรู้เรื่องการป้องกันการติดเชื้อ กระตุ้นให้ทุกคนมีสุขอนามัยที่ดี และมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ

โรงอาหาร ควรกระตุ้นให้คนเหลื่อมเวลามารับประทานอาหาร และเลือกรับประทานในช่วงที่คนน้อย ในระหว่างรับประทานหลีกเลี่ยงการสื่อสารกันต่อหน้า และควรลดเวลาการรับประทานอาหารให้สั้นลง โรงอาหารควรให้คนสามารถซื้อกลับไปแยกรับประทานคนเดียวได้ ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และถ้ารับประทานในโรงอาหารควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

โรงอาหารควรมีมาตรการป้องกันพนักงานของตัวเอง เช่น เครื่องแบบและหมวก พ่อครัว/แม่ครัวและพนักงานเสิร์ฟทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย และใส่ถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ตรวจวัดไข้และคัดกรองพนักงานทุกคนในทุกเช้า และกักตัวพนักงานที่มีอาการไข้ ไอ และอาการอื่นๆ ที่แสดงถึงการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และทำความสะอาดทุกพื้นที่ที่ผู้มีอาการดังกล่าวได้ไปมา ส่วนพนักงานที่มีอาการท้องเสีย ได้รับบาดเจ็บที่มือ หรือโรคอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อความปลอดภัยของอาหาร ควรจะให้พนักงานคนนั้นหยุดงานทันที

Author

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน
อดีตหัวหน้าข่าวโต๊ะต่างประเทศ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Author

หทัยธร หลอดแก้ว
เด็กปิ่นเกล้าที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง เดินทางข้ามฟากมาทำงานที่ลาดพร้าว และใช้อีก 4 ชั่วโมง เพื่อเล่นกับแมวในออฟฟิศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า