COVID-19: ความสูญเสียที่ผู้กำหนดนโยบายต้องได้บทเรียน

การระบาดของไวรัส COVID-19 ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พยายามหามาตรการรับมือทั้งเชิงรับและเชิงรุกเป็นจำนวนมากในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลย่อมไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีความผิดพลาดในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและสร้างความเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น คำถามสำคัญคือ สังคมไทยจะเรียนรู้สิ่งใดจากอดีตได้บ้าง เพื่อจะรับมือกับการระบาดในครั้งหน้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม

วันที่ 16 มีนาคม 2565 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ ‘นโยบายการจัดการโรคโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมาทำให้เราสูญเสียโอกาสอะไรบ้าง?: บทเรียนราคาแพงจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 กับการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร มาลาธรรม ที่ปรึกษาสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

คำสำคัญที่มักถูกพูดถึงตลอดการเสวนาอย่าง ‘การออกนโยบาย’ หรือ ‘policy maker’ คือหัวใจหลักที่ควรร่วมทำความเข้าใจ ถอดบทเรียนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติในหน่วยงานต่างๆ ไปจนถึงปัจจัยในการสร้างองค์ความรู้จากการรับมือกับไวรัส COVID-19 ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งควรได้รับการพัฒนาต่อยอดทิศทางการกำหนดนโยบายสาธารณะก่อนที่จะนำมาบังคับใช้กับประชาชน

กระบวนการกระจายความรู้ที่รอการเสริมแรง

กรอบแนวคิดหลักที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ หยิบยกขึ้นมา แบ่งออกเป็น 4 ด้าน เพื่อมองย้อนไปยังอดีตและอนาคตในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) Intelligent Support 2) Governance Mechanisms 3) Healthcare System และ 4) Research System

ในด้านแรก นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบ Intelligent Support ของประเทศไทยถือว่าทำได้ดีแล้วระดับหนึ่ง โดยประเทศไทยไม่ได้ผลิตเพียงบุคลากรในงานควบคุมโรคระบาด แต่ยังสามารถส่งต่อองค์ความรู้แก่กันได้ ทว่าในกรณีการระบาดขนาดใหญ่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยควรทำได้ดีมากกว่านี้ ตัวอย่างที่ นพ.สมศักดิ์ ยกขึ้นมาคือกระบวนการทางห้องแล็บสำหรับสอบสวนโรค ซึ่งในสถานการณ์โควิดนับว่าทำได้ดีพอสมควร แต่อาจยังไม่สามารถกระจายความรู้ได้อย่างทั่วถึงเท่าที่ควร และความรู้ส่วนใหญ่ที่ได้มามักเป็นความรู้ดิบ ดังนั้นจึงควรที่จะหาแนวทางนำความรู้ดิบเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากขึ้น

ด้านต่อมาคือระบบ Governance Mechanisms นพ.สมศักดิ์ กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ค่อนข้างมาก เช่น กรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ หรือการฉีดซีนโควิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งในการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยังจำเป็นต้องถอดบทเรียนกันอีกมาก

ด้าน Healthcare System ถึงแม้จะมีข้อดีและมีระบบที่แข็งแรงพอสมควร แต่ก็พบว่ายังมีการละเลยบางอย่างเกิดขึ้น เช่น การละเลยกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์สำคัญของการระบาด อีกประเด็นในระบบสุขภาพคือ การขาดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน ตัวอย่างเช่นกรณีการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งหลายครั้งพบว่ามีผู้ป่วยหนักที่ไม่สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่ได้

ด้านสุดท้ายคือ Research System ซึ่งค่อนข้างแข็งแรง โดยมีแล็บสำหรับทำการศึกษาด้านจีโนมมากขึ้น ทว่าคำถามที่ นพ.สมศักดิ์ เน้นย้ำก็คือ เราได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้มากน้อยเพียงใด และสุดท้ายแล้วองค์ความรู้นี้สามารถนำไปใช้กับการระบาดอย่างไรได้บ้าง 

กรอบคิดทั้ง 4 ด้านที่ นพ.สมศักดิ์ หยิบยกขึ้นมา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายความรู้และนำความรู้เหล่านั้นไปปรับใช้งานจริง ในหลายด้านจะพบว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนามาในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแต่ยังขาดการเสริมแรงให้มีปริมาณมากเพียงพอหรือนำไปใช้ให้ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้จุดที่ขาดหายไปนี้กลายเป็นช่องโหว่สำคัญเมื่อต้องรับมือกับไวรัสโควิดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

การจัดการข้อมูลล่าช้าและนโยบายที่ไม่ทันการณ์

ปัญหาสำคัญที่ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ยกมาพูดถึง คือการจัดการกับข้อมูลในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สามารถรอให้ข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่ได้มานั้นกลายเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุดได้ เนื่องจากการตัดสินใจเชิงนโยบายในสภาวะฉุกเฉินเป็นเรื่องที่ถูกระยะเวลาบีบ จุดนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุของความเสียหายหลายครั้งจากการปรับเปลี่ยนนโยบายบ่อยครั้งหรือฉุกละหุกเกินไป เพราะวิ่งตามสถานการณ์ไม่ทัน

สิ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ นพ.ทวีทรัพย์ ระบุถึงการใช้ Dirty Data with the Clean Mind หรือการจัดการกับชุดข้อมูลที่อาจจะยังไม่สมบูรณ์ให้สามารถนำไปใช้งานต่อได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ทันกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนตลอดการระบาด จุดนี้ นพ.ทวีทรัพย์ ชี้ว่า หน่วยงานด้านองค์ความรู้ หรือ Intelligent Unit จะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับเตรียมการรับมือกับสภาวะฉุกเฉินในอนาคต เนื่องจากต่อไปนี้เราจำเป็นต้องคาดการณ์ถึง ‘ชุดคำถาม’ ที่ฝ่ายองค์ความรู้หรือฝ่ายผู้ออกนโยบายจะต้องถูกถามในอนาคต เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นการวิจัยตามปกติไม่สามารถที่จะทำได้ทันต่อสถานการณ์

ในแง่การลงทุนด้านระบบสาธารณสุขไทย นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยมีการสร้าง Epidemic Intelligent Unit มาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว อย่างการเริ่มก่อตั้ง Field Epidemiology Training Program (FETP) เป็นต้น ทว่าก็ไม่สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิดได้ทัน การรับมือเป็นไปได้ด้วยดีในระยะแรกเพราะจำนวนเคสน้อย แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ต่อเนื่องด้วยการเข้ามาของสายพันธ์ุอัลฟาและเดลตาก็ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรับมือได้ทัน จุดนี้ทำให้เห็นได้ว่าการลงทุนทางด้านสาธารณสุขยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีความหลากหลายและแออัดของชุมชนสูง

จุดสำคัญที่ทวีทรัพย์พยายามชี้ให้เห็นคือ การลงทุนด้านสาธารณสุขนอกจากจะไม่เพียงพอแล้ว ยังต้องเริ่มตั้งโจทย์ใหม่ที่จะนำไปสู่การผลิตความรู้ด้วย เนื่องจากการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ออกไปจะนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายได้ ดังนั้นในอนาคตจึงควรมีการลงทุนในลักษณะพิเศษมากขึ้น เพราะระบบที่ทำมาจนถึงปัจจุบันยังรองรับได้ไม่ดีพอ 

ข้อเสนอของ นพ.ทวีทรัพย์ สามารถสรุปได้ว่า สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยยังลงทุนกับระบบหรือกระบวนการผลิตองค์ความรู้ไม่มากพอ และการประสานระหว่างชุดความรู้กับผู้กำหนดนโยบายยังไม่สมานกันดีนัก เนื่องจากความรวดเร็วของสถานการณ์ ดังนั้นหนทางสำหรับอนาคตคือการคาดคะเนสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ตั้งคำถามล่วงหน้า และลงทุนให้มากกว่าที่ผ่านมา

การตัดสินใจ การสื่อสาร และนโยบายที่ไม่เชื่อมโยง

ในการระบาดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม มองว่า ปัญหาที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งในการควบคุมโรคระบาด คือปัญหาการติดขัดและความล่าช้าไม่ทันการณ์ของระบบ ปัญหานี้ ผศ.นพ.กำธร สะท้อนให้เห็นผ่านตัวอย่างเรื่องวัคซีนที่การตัดสินใจของรัฐกลับไปติดขัดกับข้อกำหนดต่างๆ ของระบบราชการเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทั่วโลกกำลังเคลื่อนประเด็นวัคซีนไปไกลแล้ว แต่กระบวนการต่างๆ ในไทยยังสะดุดอยู่ที่เรื่องกฎระเบียบ

ผศ.นพ.กำธร ระบุว่า ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้นเมื่อหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์พยายามทำตัวเป็นนักกฎหมาย ซึ่งในสถานการณ์ปกติหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์สามารถนำความรู้ที่เรียนมาใช้ปฏิบัติจริงได้ทันที แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินบุคลากรทางการแพทย์กลับต้องเผชิญอุปสรรคจากระเบียบราชการ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่ควรจะทำ อีกทั้งงานวิจัยในช่วงแรกของการระบาดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะถูกกฎระเบียบหลายอย่างห้ามไว้ 

นอกจากการตัดสินใจและการปฏิบัติงานที่สะดุดไปมาแล้ว ยังรวมไปถึงการสื่อสารที่ล่าช้าอีกด้วย ซึ่งสาเหตุก็มาจากระเบียบราชการที่บีบรัดเช่นเดียวกัน 

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของการผลิตความรู้จากงานวิจัย ผศ.นพ.กำธร ระบุว่า ผู้ให้ทุนสำหรับงานวิจัยยังคงมีภาพจำแบบเก่าอยู่ คือ จะให้ทุนกับงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่ละเลยงานวิจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่อาจจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ต่อไปในอนาคต ขณะที่ประเทศต่างๆ ไม่ได้ละเลยงานวิจัยเหล่านี้ เพราะมองว่าเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ฐานรากของงานวิจัยอื่นๆ ได้ต่อไป 

การติดขัดขององค์ความรู้เช่นนี้ยังส่งผลไปยังการกระจายความรู้อีกด้วย โดย ผศ.นพ.กำธร ระบุว่า ในอนาคตงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประเทศไทยจะต้องเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากเป็นบุคลากรสำคัญที่นำความรู้เหล่านี้กระจายไปสู่ชุมชนต่อไป เพื่อให้กลไกชุมชนฐานรากมีความเข้มแข็งมากขึ้นสำหรับการรับมือโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ประเด็นที่ควรมีการศึกษาต่อยอด ผศ.นพ.กำธร ได้กล่าวถึงกรณีตัวอย่างที่ฮ่องกงและไต้หวัน โดยฮ่องกงภายใต้นโยบายจีนเดียวที่มีแคมเปญ ‘Zero Covid’ กลับไม่สามารถรับมือกับโควิดได้ ขณะที่ไต้หวันกลับสามารถรับมือโรคระบาดได้เป็นอย่างดี ทั้งที่สองประเทศนี้ต่างมีประสบการณ์จากการรับมือเชื้อไวรัสซาร์ส (SARS) มาก่อนหน้านี้ ความน่าสนใจจุดนี้จึงเป็นสิ่งที่ไทยควรนำไปศึกษา 

วางแผนรับมือล่วงหน้า ให้สาธารณชนร่วมตรวจสอบ

แม้ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขของไทยจะสามารถสั่งสมความรู้ในการรับมือกับโรคระบาดได้ในระดับหนึ่ง ทว่า ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง กลับมีแง่มุมที่แตกต่างออกไป โดยมองว่ารูปแบบในการรับมือโรคระบาดของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

สาเหตุที่ ดร.วิโรจน์ กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากมองว่า การเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เป็นเรื่องที่นำมาปฏิบัติจริงได้ยาก เพราะมีหลายตัวแปรมาเกี่ยวข้อง โดยประเทศไทยยังใช้รูปแบบเดิมๆ ในการรับมือกับวิกฤติแม้จะมีการปรับปรุงบ้าง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็แตกต่างกับหลายประเทศ ตัวอย่างเช่นการระบาดระลอกแรกประเทศไทยยังไม่ค่อยมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านเท่าไหร่นัก ทั้งยังมีปัจจัยพื้นฐานในด้านต่างๆ ค่อนข้างดี เช่น ศักยภาพในการฉีดวัคซีน การผลิตหน้ากากอนามัย หรือความร่วมมือของประชาชนต่อการรับมือโรคระบาด เป็นต้น แต่เมื่อต้องทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดก็พบกับอุปสรรคมาตลอด อย่างการพยายามจะผลิตวัคซีนด้วยตนเองให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2564 หรือการควบคุมการระบาดในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น 

กรณีการจัดซื้อวัคซีนที่ช่วงแรกประเทศไทยไม่รีบจอง เพราะมองว่าวัคซีนอาจไม่ปลอดภัย จึงรอให้ประเทศต่างๆ ทดลองฉีดก่อนแล้วค่อยทำตาม ทว่าเมื่อรอจนถึงนาทีสุดท้ายก็หมดทางเลือก จนต้องหันไปรับวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ให้การรับรอง 

ประเด็นต่อมาคือการจัดการข้อมูล โดย ดร.วิโรจน์ ยกตัวอย่างกรณีโรงพยาบาลสนามที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นจำนวนมากในการระบาดระลอกหลังๆ ทว่าไม่ได้มีการถอดบทเรียนที่ดีพอเพื่อรับมือกับการระบาดหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ อีกในอนาคต หรือการใช้แนวคิดอัตราการตายส่วนเกิน (excess death) มาใช้อย่างไม่ระวัง ไปจนถึงข้อมูลเรื่องการเสียชีวิตจากการได้รับวัคซีน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าจุดอ่อนสำคัญตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังโควิดระบาด ยังคงเป็นการจัดการข้อมูลข่าวสารที่ไม่ดีพอ 

ดร.วิโรจน์ ยังบอกอีกว่า การจัดการที่ไม่ดีของภาครัฐในระยะยาวจะส่งผลให้มีปัญหาในการจ่ายหนี้ที่กู้ยืมมาจำนวนมหาศาล เนื่องจากรัฐบาลประเทศอื่นเริ่มขึ้นภาษีกันแล้ว แต่ประเทศไทยการขึ้นภาษีถือเป็นเรื่องยาก ส่วนในแง่สุขภาพก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าสุขภาพของผู้ป่วยโควิดในระยะยาว 5-10 ปี จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่คนได้รับผลกระทบน่าจะมีจำนวนมากเช่นกัน

สิ่งที่ ดร.วิโรจน์ เสนอคือ การสร้างมาตรการล่วงหน้าที่สามารถรับรู้ได้ทั่วกันเป็นลำดับ เนื่องจากการบริหารรัฐในสภาวะฉุกเฉินด้วยวิธีการรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ ทำให้ภาคเอกชนรวมไปถึงภาครัฐในหลายครั้งไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับมาตรการ และความวุ่นวายของส่วนกลาง บ่อยครั้งก็ทำให้บางนโยบายถูกปล่อยให้หายไปไม่ได้นำไปใช้งาน ข้อเสนอของ ดร.วิโรจน์ จึงเป็นการท้าทายว่า การดำเนินงานในรูปแบบของ ศบค. นั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นการทำให้เกิด ‘เกียร์ว่าง’ ขึ้นในระบบ 

ดร.วิโรจน์ เสนอว่า รัฐควรมีการจัดทำแผนการล่วงหน้าและจัดให้มีองค์กรวิชาการที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้หน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเดียวกันได้เข้ามาทำหน้าที่ไม่ว่าสภาวะของสังคมจะปกติหรือฉุกเฉินก็ตาม มิใช่การให้ฝ่ายความมั่นคงอย่างทหารหรือตำรวจเข้ามาทำเอง การออกระเบียบหรือมาตรการล่วงหน้าให้สาธารณชนรับรู้ร่วมกันเป็นวงกว้างจะทำให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ยากขึ้นและเกิดการตรวจสอบได้มากขึ้น 

สิ่งที่รัฐต้องลงทุนต่อไปแม้จะกลับสู่สภาวะปกติ

สิ่งที่ผู้ร่วมเสวนาทั้งหมดเห็นตรงกันคือ ประเทศไทยยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ อีกทั้งวิธีการคิดและการจัดการที่ไม่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ รวมถึงกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่มีความรอบคอบ 

การ input ข้อมูลให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) เพื่อเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายในสถานการณ์ฉุกเฉินของไทยมีปัญหาตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ซึ่งก็คือการขาดความสามารถในการจัดการข้อมูลดิบ หรืองานวิจัยที่ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารไปถึงผู้กำหนดนโยบายได้ และในระยะ ‘กลางน้ำ’ ในกระบวนการออกนโยบายก็เต็มไปด้วยสภาพปัญหาจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐราชการ กระทั่งนำไปสู่ปัญหาที่ ‘ปลายน้ำ’ หรือการนำนโยบายลงไปปรับใช้ในพื้นที่ทั่วประเทศ

ข้อเสนอของผู้ร่วมเสวนาหลายท่านมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงการพยายามก้าวข้ามกฎระเบียบของรัฐราชการรวมศูนย์และแสวงหาสมดุลสำหรับการใช้งานข้อมูลดิบให้เท่าทันสถานการณ์ บทเรียนเหล่านี้ยังรวมไปถึงการหันกลับมามองกลไกของระบบสาธารณสุขตั้งแต่การสร้างชุดองค์ความรู้ไปจนถึงกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ที่ได้รับการลงทุนอย่างไม่เพียงพอ จนเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสขึ้นก็ไม่สามารถที่จะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การพยายามก้าวข้ามรัฐราชการรวมศูนย์ที่หลายคนบนเวทีนี้พูดถึง เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงไว้ในเวทีเสวนา Health Justice ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ ‘แรงงานเคลื่อนเมือง: โอกาสและความเหลื่อมล้ำในสถานการณ์โควิด’ จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ว่า “วันนี้สามารถพูดได้เลยว่า รัฐไม่มีมาตรการในการควบคุม และ ศบค. ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ฟังเสียงของประชาชน หรือมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ ที่เขามีความรู้ คุณก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้” ซึ่งปัญหาใหญ่อย่างการตัดสินใจเชิงนโยบายรวมศูนย์จะนำไปสู่ปัญหาอีกมาก ตั้งแต่ความเสียหายทางสังคม ทรัพย์สินของประชาชน ไปจนถึงการสื่อสารที่ยิ่งสร้างความสับสนให้แก่สังคมมากขึ้น 

หลายปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้นนี้จึงเป็นปัจจัยที่รัฐควรหันกลับไปทบทวน หากในอนาคตการระบาดของไวรัสโควิด-19 บรรเทาลง ก็จะเป็นโอกาสทองที่ประเทศไทยจะได้กลับมาพัฒนาและเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต มิเช่นนั้นหากเกิดการระบาดครั้งใหม่ ไม่ว่าจากโรคเดิมหรือโรคอุบัติใหม่ ไปจนถึงภัยพิบัติอื่นๆ ประเทศไทยก็จะไม่สามารถรับมือได้ และจะมีสิ่งที่ต้อง ‘สูญเสีย’ มากกว่าสิ่งที่ ‘ได้มา’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า