ฟิตเนสผ่านจอ: การต่อสู้เพียงลำพังของผู้ประกอบการ ในม่านหมอกของไวรัส

“เราเพียงอยากได้แนวทางการเยียวยาที่ชัดเจน ถ้าให้ปิด เขามีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและพนักงานอย่างไร จะปิดนานแค่ไหน คนทำธุรกิจทุกคนอยากรู้ว่าต้องสำรองเงินขนาดไหน ต้องใช้จ่ายเงินอย่างไร เมื่อไม่มีกำหนดอะไรเลย เหมือนเรากำลังสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น”

ภคพงศ์ วิเศษสินธุ์, 35 ปี เจ้าของฟิตเนส

หลังเรียนจบวิทยาศาสตร์การกีฬา โอ๊ต-ภคพงศ์ วิเศษสินธุ์ ได้ก่อตั้งธุรกิจ ‘Fit Forever Fitness’ มาแล้วราว 7 ปี เขามีพนักงานจากธุรกิจฟิตเนส 3 สาขาราว 50 คน ในหนึ่งเดือน โอ๊ตต้องมีกระแสเงินเพื่อจ่ายค่าแรงพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่ คิดแล้วเป็นตัวเลขที่สูงถึง 7 หลัก

ฟิตเนสของโอ๊ตดำเนินไปตามครรลองในสภาวะปกติ รายได้แทบทั้งหมดมาจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ มันคือธุรกิจออฟไลน์ ที่โรคระบาดทำให้รายได้ทั้งหมดของเขาเท่ากับศูนย์​

“ช่วงมีนาคม 2563 ระบาดครั้งแรก ความยากของมันคือ รายได้ของคนทำฟิตเนสไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม รายได้ของเราจะมาจากออฟไลน์ คนต้องเข้ามาใช้บริการถึงจะมีรายได้

“เรากลับมามองภาพรวมธุรกิจตอนนั้นแล้ว อยู่นิ่งๆ คงไม่ดีแน่ ปิดยาวแน่ๆ เพราะค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงพนักงาน เรายังต้องจ่ายอยู่”

เขาไม่มีนโยบายไล่พนักงานออก นั่นคือทางเลือกสุดท้าย COVID-19 ระลอกแรกจึงทำให้โอ๊ตต้องปรับโมเดลธุรกิจอย่างกะทันหัน ชนิดที่ว่า พอให้ถูไถและรอดพ้นจากการ ‘เจ๊ง’

ผ่านไปพักใหญ่ คราวนี้เขามีบทเรียน หลังการระบาดรอบนั้น โอ๊ตปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อขยับขยายช่องทางหารายได้ครอบคลุมไปถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ ประเมินสถานการณ์วิกฤติในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ทั้งการระบาดระลอกสองที่อาจหวนมา หรือวิกฤติใดๆ ในอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้

“จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เราต้องมองการสำรองเงินในบริษัทมากขึ้น เราอยากเป็นบริษัทที่สามารถดูแลพนักงานได้แม้เกิดวิกฤติอย่างน้อย 3-6 เดือน แต่ยังไม่ทันได้เริ่ม ช่วงปลายปีมันจะมาอีกรอบ โควิดมันกลับมาก่อน มันมาไวกว่าที่คิด”

เงื่อนไขของการแพร่โรคระบาดผ่านสารคัดหลั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจอย่างฟิตเนส ประตูธุรกิจปิดลงอีกครั้ง

“เราก็เริ่มขยับไปออนไลน์มากขึ้นผ่านการเทรนออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ส่งท่าออกกำลังกายผ่านคลิปวิดีโอ ลูกค้าสามารถเอาไปฝึกที่บ้านได้ ถ่ายวิดีโอส่งกลับมาปรึกษาเทรนเนอร์ได้ ให้ไลฟ์สดเป็นคลาสกลุ่มออนไลน์ สมาชิกก็สามารถเข้ามาดูได้ เรามองว่า ทำยังไงก็ได้ให้สมาชิกหรือคนที่สนใจมีสุขภาพที่แข็งแรงในช่วงโควิด อาจไม่ต้องแข็งแรงขึ้น แต่ยังรักษาระดับความแข็งแรงไว้ พอเมื่อไหร่ฟิตเนสเปิดได้ ก็ค่อยมาสานต่อ ดีกว่าหยุดไปเลย”

ในฐานะผู้ประกอบการ โอ๊ตทำทุกทางที่ทำได้ภายใต้เงื่อนไขการระบาด ความต้องการสูงสุดสำหรับเขาต่อรัฐบาลในขณะนี้ คือมาตรการการเยียวยา และความสามารถในการเป็น ‘ตัวกลาง’ เพื่อกำหนดทิศทางของภาคธุรกิจในสภาวะที่ผิดปกติเช่นนี้

“ในมุมเจ้าของธุรกิจ การเยียวยาค่อนข้างน้อย เราอาจผ่อนผันหนี้ออกไปได้บ้าง แต่ก็ไม่มาก ไม่มีนโยบายในการลดค่าเช่าที่ในสภาวะวิกฤติ ผู้ประกอบการจะต้องต่อรองทางธุรกิจกับผู้ให้เช่ากันเอง ไม่มีตัวกลางอย่างรัฐในการวางนโยบายช่วยเหลือใดๆ

“การระบาดทั้งสองรอบ ไม่มีเลย เราต้องลุ้นไปเรื่อยๆ ว่าจะยังไง ปิดถึงเมื่อไหร่ สรุปต้องปิดหรือไม่ปิด ทำไมบางจังหวัดปิด บางจังหวัดไม่ปิด มันไม่ชัดเจน”

‘เรา’ ในความหมายของโอ๊ตไม่ได้หมายถึงเพียงธุรกิจฟิตเนสของเขาเท่านั้น แต่เป็น ‘เรา’ ในความหมายของประชาชนผู้ประกอบกิจการ ที่กำลังถูกรัฐเพิกเฉย ที่กำลังต่อสู้เพียงลำพังบนถนนที่ไร้ซึ่งเส้นชัย

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า