ส่องงบประมาณการจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ของแต่ละประเทศ

การระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้วัคซีนกลายเป็นสินค้าที่ทั่วโลกต้องการ หลายประเทศต่างจับจองจัดหาให้ประชาชนของตน ราคาของวัคซีนจากบริษัทยาต่างๆ มีราคาแตกต่างกันไปเนื่องจากใช้เทคโนโลยีและวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่ามีการพัฒนาวัคซีน COVID-19 มากกว่า 70 ชนิด เช่น Moderna ของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา, Pfizer ของบริษัทผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดในโลกร่วมกับ BioNTech หรือ วัคซีน AstraZeneca ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford)

วัคซีน 3 ตัวนี้ถูกคาดหวังถึงประสิทธิภาพการรักษาและมียอดสั่งจองมากที่สุด หลายประเทศสั่งจองให้กับประชาชนของตน

เบลเยียม ทุ่มงบกว่า 279 ล้านยูโร (ประมาณหมื่นล้านบาท) ซื้อวัคซีนจากบริษัทต่างๆ มากกว่า 33 ล้านโดสเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนกว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ

ขณะที่ประเทศอังกฤษ คว้าวัคซีนป้องกันโรคจาก Pfizer ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ กว่า 40 ล้านโดส และสั่งซื้อวัคซีนของ Moderna อีกกว่า 7 ล้านโดส เนื่องจากอังกฤษมีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัฐบาลอังกฤษได้สั่งจองวัคซีนจาก 7 บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนกว่า 357 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนกว่า 55 ล้านคนอย่างทั่วถึง

ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาสั่งซื้อวัคซีนจาก Pfizer และ BioNtech 100 ล้านโดสแรก ในราคากว่า 1.95 พันล้านเหรียญและสั่งจองวัคซีน Pfizer เพิ่มอีก 100 ล้านโดส อีกทั้งสหรัฐยังสั่งซื้อวัคซีนจาก Moderna 200 ล้านโดส เป็นเงินกว่า 3.2 พันล้านเหรียญ รวมแล้วสหรัฐทุ่มงบกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) เพื่อซื้อวัคซีนกว่า 400 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนกว่า 330 ล้านคนอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐคงมีการสั่งเพิ่มวัคซีนเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนอีกแน่นอน

ประเทศในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่นทุ่มงบกว่า 193,000 ล้านบาท สั่งซื้อวัคซีนจาก Pfizer, AstraZeneca, และ Moderna ทั้งหมดรวม 290 ล้านโดสซึ่งเพียงพอกับจำนวนประชากรในประเทศ 145 ล้านคน

อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้ประกาศกับประชาชนว่าได้จัดซื้อวัคซีน COVID-19 จาก AstraZeneca, Pfizer และ Moderna จำนวนบริษัทละ 20 ล้านโดสและอีก 4 ล้านโดสจาก Janssen ของ Johnson & Johnson และจะมีการจัดหายาเพิ่มเติมสำหรับคน 10 ล้านคนผ่านโครงการวัคซีนระดับโลกขององค์การอนามัยโลกหรือที่เรียกว่า COVAX ซึ่งเพียงพอที่จะครอบคลุมผู้คนได้ถึง 44 ล้านคน การจัดซื้อครั้งนี้เกาหลีใต้ใช้งบประมาณกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท

ประเทศไทยเองก็มีโครงการจัดซื้อวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศโดยแบ่งเป็น โครงการจัดซื้อวัคซีนเร่งด่วนจากบริษัทซิโนแวคไบโอเทค จำนวน 2 ล้านโดส เป็นวงเงิน 1,228 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 แสนโดสแรกจะได้รับในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สำหรับส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และอีก 8 แสนโดสหลังจะได้รับในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อจะฉีดเข็มที่ 2 ให้กับบุคคลกลุ่มแรกและกลุ่มคนติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง ซึ่งการจัดซื้อวัคซีนรอบนี้ครอบคลุมประชากรไทยเพียง 10 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้มีรายงานผลการทดลองทางคลินิกพบว่าวัคซีน Sinovac ที่พัฒนาโดยบริษัทซิโนแวคไบโอเทคของจีน มีประสิทธิภาพโดยทั่วไปน้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นอย่าง Moderna, Pfizer หรือ AstraZeneca

นอกจากนั้นไทยยังมีโครงการจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca โดยบริษัทสยามไบโอเอนซ์ร่วมกับบริษัท AstraZeneca ในการจัดเตรียมหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดสในวงเงิน 6 พันล้านบาท และเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. อนุมัติสั่งซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca อีก 35 ล้านโดส รวมทั้งหมดเป็น 61 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุมประชากรไทยเพียง 20 เปอร์เซ็นต์

สุดท้ายคือโครงการจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ร่วมกับองค์การอนามัยโลกอีกร้อยละ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโครงการนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไข

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า