สิ่งที่คนไร้บ้านต้องเจอ ไวรัสและมาตรการจัดการไวรัส

ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลบ่อยๆ กักตัวอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น เว้นระยะห่าง (social distance) ระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เหล่านี้ต่างก็เป็นคำแนะนำให้ผู้คนป้องกันตัวเองจากไวรัส COVID-19 ที่เห็นผ่านตาจนจำขึ้นใจ และดูเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็นนัก

แต่สำหรับคนไร้บ้าน ข้อปฏิบัติทั้งหมดนั่นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

“เราทุกคนที่อยู่บนถนนกังวลกันหมดนั่นแหละ” ชายไร้บ้านคนหนึ่งในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา กล่าวกับสำนักข่าว Fox และยอมรับว่ามันเป็นไปไม่ได้จริงๆ ที่จะให้พวกเขารักษาสุขอนามัยอย่างการล้างมือ โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่สาธารณะพากันปิดลง

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ต้องติดอยู่กับบ้านในช่วงนี้ คนไร้บ้านส่วนใหญ่ในฟิลาเดลเฟียก็ยังต้องติดแหง่กอยู่บนท้องถนน ใกล้ๆ กับสถานที่แจกข้าว ที่ที่พวกเขาพากันส่งเสียงแสดงความกังวลว่า “มันแออัดมาก” “คิดดูสิ ถ้ามีคนป่วยอยู่ในนี้แล้วดันติดไวรัสเพิ่มเข้าไปอีก” แต่พวกเขาก็ยังต้องยืนอยู่ในฝูงชนนั้นด้วยระยะห่างจากกันและกันไม่เกิน 6 ฟุต

จริงอยู่ที่ไวรัสไม่เลือกคนติด แต่ความหิวและชีวิตไร้บ้านก็เช่นกัน

ความเสี่ยงสูงของคนไร้บ้าน

คนไร้บ้านคือหนึ่งในกลุ่มที่อ่อนแอต่อไวรัส COVID-19 มากที่สุด

เชอร์รี โอนีเอโก (Sherri Onyiego) จากสาธารณสุข Harris County สหรัฐอเมริกา กล่าว ก่อนจะอธิบายว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่มักจะมีอายุมาก และป่วยเป็นโรคเรื้อรังเช่นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง

“หลายคนที่มีภาวะเรื้อรังอยู่แล้ว อย่างหอบหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อเจอกับเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีผลกระทบต่อปอด ก็จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาด้วย” เชอร์รีบอก

ออนคาร์ ซาโฮตา (Onkar Sahota) สมาชิกสมัชชาลอนดอน (London Assembly) และแพทย์จากบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ กล่าวว่า

ในหลายกรณี เราพบว่าผู้ที่มีฐานะยากจนจะมีสุขภาพไม่แข็งแรงเท่ากับผู้ที่มีฐานะร่ำรวยกว่า ส่วนในกรณีของโคโรนาไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขาจะอ่อนแอกว่า เพราะมันยากที่จะเข้าถึงอาหารหรือไลฟ์สไตล์ที่จะทำให้มีสุขภาพดีๆ ตั้งแต่ต้น

“ถ้าคุณเป็นคนไร้บ้าน คุณก็มีโอกาสที่จะมีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจรุนแรงมากกว่าคนอื่นๆ 3 เท่า” ออนคาร์กล่าว

กักตัวอย่างไรไม่ให้เหลือไวรัส

ในหลายประเทศมีการเปิดสถานที่ต่างๆ ให้คนไร้บ้านเข้าไปอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาทั้งติดเชื้อและแพร่เชื้อ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสำนักงาน

ประเทศอังกฤษกำลังจะเปลี่ยนโรงแรมหลายๆ แห่งให้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของคนไร้บ้าน ซึ่งอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการระดับชาติ (National Action Plan) ดังนั้น พวกเขาจะต้องมีที่พักสำหรับให้คนไร้บ้านกักตัวเองได้ทั้งหมด 45,000 คน เนื่องจากมีข้อมูลว่า คนไร้บ้าน 5,000 คนกระจัดกระจายอยู่บนท้องถนน และอีก 40,000 คนอยู่ตามโฮสเทล หรือที่พักสำหรับคนไร้บ้านอีกหลายแห่งที่พวกเขาต้องแชร์พื้นที่พักอาศัยภายในห้องเดียวกัน

แน่นอนว่าการปล่อยให้คนจำนวนมากอยู่ร่วมกันเช่นนั้นไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัยนัก โดยเฉพาะเมื่อมีรายงานว่าเมืองกลาสโกว์ ต้องปิดศูนย์พักพิงสำหรับคนไร้บ้านบางแห่งเพราะพบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ

โรงแรมจึงเป็นหนทางแก้ไขแบบสำเร็จรูปที่พร้อมที่สุด เพราะนอกจากจะมีห้องส่วนตัวแยกแล้ว ภายในห้องก็ยังมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งจะถูกเหมาโดยใช้เงินทุนที่รัฐบาลจัดสรรไว้เพื่อจัดการกับการระบาดของโคโรนาไวรัส และกลุ่มคนไร้บ้านจะต้องได้รับการตรวจเชื้อทั้งก่อนและระหว่างเข้าไปกักตัวภายในโรงแรม

ขณะเดียวกันในอีกทวีปหนึ่ง นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ก็พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 6 รายจาก 6 ที่พักพิงของคนไร้บ้าน 3 รายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ส่วนอีก 3 รายต้องกักตัวอยู่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ไปอีก 14 วัน

แอมเบอร์ ฮาร์ดิง (Amber Harding) นักกฎหมายจากคลินิกกฎหมายสำหรับคนไร้บ้านของกรุงวอชิงตัน แสดงความกังวลถึงไวรัสที่อาจระบาดในที่พักของคนไร้บ้านในวอชิงตันว่า “ที่พักบางแห่งมีเตียงสองชั้น มีห้องนั่งเล่น ห้องน้ำที่พวกเขาต้องแชร์ร่วมกัน และความสะอาดก็อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน”

แอมเบอร์ยังกล่าวอีกว่า ในอเมริกายังคงมีการตรวจหาเชื้อไวรัสที่น้อยอยู่ และทุกคนที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงอย่างคนชราไร้บ้านที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ควรจะได้รับการตรวจทั้งหมด

“ถ้าเรามีระบบการตรวจที่ดี เราก็จะสามารถคัดแยกผู้ที่ติดเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว”

อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลใหญ่ๆ ที่แอมเบอร์เป็นห่วงก็คือ เมื่อมีคนจามหรือไอในศูนย์พักพิง หากคนคนนั้นถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส เชื้อก็อาจจะแพร่กระจายไปติดคนอื่นๆ ในศูนย์เรียบร้อยแล้ว

“ผู้คนกำลังจะตายอยู่ในศูนย์พักพิงเหล่านั้น” เธอบอก

เมื่อคนไร้บ้านถูกขู่ให้จ่ายค่าปรับเพราะไร้บ้าน

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศนโยบายให้ประชาชนทุกคนแยกตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยให้ออกมาข้างนอกได้เพื่อทำงาน ออกกำลังกาย หรือจับจ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น

มาตรการดังกล่าวจะคงอยู่ไปอีก 15 วัน และคนที่ไม่ทำตามจะถูกปรับตั้งแต่ 38-135 ยูโร

ตามข้อมูลจากองค์กรการกุศล มีคนไร้บ้านในปารีส ลียง และบายอน ถูกปรับจากข้อหานั้น

โมด์ บีโกต์ (Maud Bigot) ผู้อำนวยการองค์กรที่ให้บริการด้านมนุษยธรรม – Samu Social สาขาเมืองลียง กล่าวว่า ทีมของเธอได้รับโทรศัพท์จากคนไร้บ้านที่ต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่ให้จ่ายค่าปรับเมื่อพวกเขาอยู่ตามท้องถนน แล้วเธอก็ได้ยินเรื่องคล้ายๆ กันนี้ในเมืองลีล บอร์กโดซ์ และตูลูส ด้วย

“ฉันได้รับสายจากคนที่แพนิคมากๆ” โมด์กล่าว “ที่ที่พวกเขามักจะไปอาศัยหลบก็ปิดกันหมดแล้ว พวกเขาจึงกลัวกันมาก เพราะตำรวจบอกว่าพวกเขาจะต้องจ่ายค่าปรับถ้าไม่หาที่พักให้ได้”

“ต่อให้ตำรวจแค่ขู่เฉยๆ ไม่ได้ปรับจริง พวกเขาก็กลัวแล้ว” เธอบอก

แม้ว่าฝรั่งเศสจะกำลังเปิดศูนย์กักตัวสำหรับคนไร้บ้านที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล โมด์บอกว่านั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไรคนไร้บ้านที่ยังไม่ติดเชื้อหรือยังไม่มีอาการใดๆ เลย พวกเขาก็ยังคงไม่มีที่ไปอยู่ดี

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนไร้บ้านในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ก็คือเมื่อสถานที่สาธารณะปิด พวกเขาก็ไม่มีที่สำหรับทำความสะอาดตัวเอง

โมด์เล่าว่า ในเมืองลียงมีที่อาบน้ำสาธารณะเพียง 1 แห่งเท่านั้น และเธอก็ได้ขอผู้มีอำนาจให้อนุญาตกลุ่มคนไร้บ้านใช้สระว่ายน้ำสาธารณะสำหรับอาบน้ำแล้ว

“นี่คือการตีแผ่ดราม่าแบบเรียลไทม์เลยแหละ สำหรับคนไร้บ้านที่อ่อนแอสุดๆ อยู่แล้ว COVID-19 ก็เป็นเหมือนบทลงโทษซ้ำซ้อนเลย”

 

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า