เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา
1
ทำนายดักคอไว้ผมไม่คิดว่า รัฐบาลจะเอาจริงเรื่องห้าม ‘มนุษย์’ ที่ใช้ชีวิตในโลกมาไม่ถึง 25 ปี ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ถ้าให้พูดตรงๆ พ่อของผมซึ่งเป็นทหารนั้น กินเหล้ามาตั้งแต่ยังเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร กินเรื่อยมาจนเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยจปร. โรงเรียน เสธ. และกินมาตลอดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อนของพ่อที่เป็นทหารก็กินเหล้าไม่ได้กินกันธรรมดาๆ แต่กินชนิดที่เรียกได้ว่าถ้าเอาหัวจุ่มลงไปในเหล้าเพื่อให้แอลกอฮอล์ซึมซาบเข้าไปในกระแสเลือดได้ก็คงทำ มีอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ไม่กินเหล้า
ผมจึงรู้สึกสนุก ที่ได้เห็นรัฐบาลซึ่งมี ‘อดีตทหาร’ เป็นผู้นำ ตั้งใจจะออกกฎเกณฑ์ประหลาด ห้ามเด็กวัยต่ำกว่า 25 ปี ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะเรา ‘ไว้ใจ’ ให้เด็กไปเลือกตั้งได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี บรรลุนิติภาวะ (แปลว่าเป็นผู้ใหญ่?) ตอนอายุ 20 ปี แถมยังจับเกณฑ์ทหารกันตอน 21 ปี แต่ไม่ให้กินเหล้า? ผมจึงสงสัยมันเป็นโลกแบบไหนกัน แล้วผมก็ยิ่งสงสัยมากขึ้น เมื่อได้อ่านเรื่องของลียุงบัก
ในเมืองที่ไม่มีพิพิธภัณฑ์ชั้นดี ไม่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่ไม่มีรั้วกั้นไม่มีหอศิลป์ที่ดี ไม่มีกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ ไม่มีทางเลือกอื่นใดให้เด็กๆนอกจากการไปเดินห้างและเที่ยวกลางคืน คุณคิดว่าเด็กๆ ในเมืองนั้นจะใช้ชีวิตแบบไหน
2
ลียุงบักเป็นนายกเทศมนตรีของกรุงโซล-เกาหลีใต้ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2002 เขาได้ชื่อว่าเป็น ‘นักรื้อ’ ฉายานี้ไม่ได้ได้มาเปล่าๆ แต่เขามีพื้นฐานทำงานในบริษัทเกี่ยวกับการก่อสร้างมาก่อน จึงได้ฉายาว่า The Bulldozer เมื่อเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรี เขารักษาชื่อเสียงเรื่องการ ‘รื้อ’ เอาไว้ ด้วยการจัดการกรุงโซลเสียใหม่ในหลายพื้นที่
เริ่มต้นด้วยทางน้ำชื่อ Cheonggyecheon (ผมไม่แน่ใจว่าออกเสียงอย่างไร) ซึ่งเป็นทางน้ำเล็กๆ ที่ไหลผ่านกลางกรุงโซล ที่จริงแล้ว ทางน้ำสายนี้เคยถูกกลบฝังด้วยน้ำมือของเขาเองมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเป็นยุคซิกซ์ตี้ส์ เขาทำงานอยู่กับบริษัทก่อสร้าง และเป็นหนึ่งในคณะทำงานสร้างทางด่วนคร่อมทางน้ำนี้ เขาจัดการออกแบบแผ่นปูปิดทางน้ำ แล้วสร้างทางด่วนยกระดับอยู่ด้านบน มันเป็นทางด่วนที่ใช้ ‘ขนรถ’ ได้ถึงวันละ 168,000 คัน เข้าสู่ใจกลางเมือง มันคือการ ‘พัฒนา’ ขนานใหญ่ของกรุงโซล แต่แล้วเมื่อเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรี ลียุงบักก็เริ่มต้นทำสิ่งตรงกันข้ามเขารื้อทางด่วนออก รื้อแผ่นปูปิดทางน้ำ เติมน้ำใส่ลงไปในลำธารอีกครั้ง พร้อมทั้งตกแต่งแลนด์สเคปของสองฝั่งน้ำยาว 5.8 กิโลเมตร ใช้เงินไป 360 ล้านเหรียญ เพื่อให้ทางน้ำนี้กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง โดยเฉพาะเด็กๆเขาบอกว่าตอนนี้น้ำกำลังเย็นเจี๊ยบใสแจ๋ว ซึ่งแปลว่าเป็นน้ำที่ปราศจากมลพิษจากโรงงาน แต่เมื่ออากาศอุ่นขึ้นในหน้าร้อน เด็กๆ ก็จะได้มาเล่นในลำธารกลางเมือง แล้วเขาก็จะมีความสุข
โซลเคยเป็นเมืองแบบเดียวกับกรุงเทพฯ นั่นก็คือไม่มีสวนสาธารณะหรือไม่ก็มีแต่ชื่อ แต่ลีไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว เขากำลังสร้าง ‘ป่า’ ที่เรียกว่า โซลฟอเรสต์ ขึ้น โดยใช้งบ-ประมาณ 224 ล้านเหรียญ เป็นสวนที่ใหญ่โตเทียบเท่ากับไฮด์ปาร์คของลอนดอน ที่สำคัญก็คืออยู่กลางเมืองด้วย แต่ไม่ใช่แค่ปาร์ค ต่อไปนี้ถ้าทีมเกาหลีใต้เข้าชิงฟุตบอลโลก ทุกคนก็จะได้ไปเชียร์บอลกันที่โซลพลาซ่า ซึ่งเป็นลานหญ้าใจกลางเมืองขนาดใหญ่แห่งใหม่กันแล้ว แถมลียังเพิ่มพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ อีกหลายแห่ง ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์เก็บของเก่ามาขาย แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีแนวคิดใหม่ๆ เช่นพิพิธภัณฑ์ศิลปะของบริษัทซัมซุง ออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลก
ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้แล้วยังกระตุ้นปลุกเร้าให้เด็กๆ รู้จักใช้สินค้าตราเกาหลีโดยการ ‘แสดงให้เห็น’ ไม่ใช่แค่ ‘บอกให้ทำ’ เหมือนที่เราเอาแต่โฆษณาปาวๆ ให้อนุรักษ์ไทย แต่มองไปมองมาก็ต้องตั้งคำถามว่านอกจากของเก่าๆแล้ว ยังมีอะไรควรค่าให้อนุรักษ์บ้างไหม ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าลีให้คุณค่ากับเด็กๆอย่างที่เด็กๆเป็นและพยายามส่งเสริมไลฟ์สไตล์ของเด็กๆ ด้วยการลงมือทำไม่ใช่แค่ใช้ปากสั่ง
3
เราคนไทยมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจควบคุมกันและกันอยู่เสมอด้วยการ ‘สั่ง’ อาทิ สั่งไม่ให้ดื่มเหล้าก่อนอายุ 25 ปี สั่งไม่ให้เด็กผู้หญิงมีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่รู้ว่า ‘ควร’ คือเมื่อไหร่) และสั่งอื่นๆ อีกมากมายเพื่อให้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เด็ก’ อยู่ในรีตในรอย ซึ่งก็คืออยู่ในการควบคุมของเราอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
แต่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เด็ก’ โง่และขาดไร้ซึ่งวุฒิภาวะถึงขนาดนั้นเลยเชียวหรือ?
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงคำถามที่ต้องย้อนถามกันหนักๆ ก็คือแล้วพวกเขาเป็นผลผลิตของใคร…ของสังคมแบบไหน,ของเมืองแบบไหน?
ในเมืองที่ไม่มีพิพิธภัณฑ์ชั้นดี ไม่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่ไม่มีรั้วกั้น ไม่มีหอศิลป์ที่ดี ไม่มีกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ ไม่มีทางเลือกอื่นใดให้เด็กๆ นอกจากการไปเดินห้างและเที่ยวกลางคืน คุณคิดว่าเด็กๆ ในเมืองนั้นจะใช้ชีวิตแบบไหน
แน่นอนพวกเขาก็ย่อมต้องนัดกันกลางเมือง เดินดูของ ช็อปปิ้งเท่าที่พอจะทำได้ ดูหนังตลาดๆ สนุกๆ สักเรื่อง กินข้าวร้านหรูที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจากนั้นก็ไปเที่ยวกลางคืน กินเหล้า แล้วก็มีเซ็กส์ พวกเขาจะนัดกันไปเดินลุยลำธารกลางเมือง ไปฟังคนอ่านบทกวีในสวนสาธารณะ ไปดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์มีเซียม ยิบอินซอย ซึ่งมีรถใต้ดินตัดผ่านไปถึง หรือไปสุมหัวกันอยู่ในห้องประชุมในหอสมุดกลางเมืองเพื่อจัดละครประจำปีได้อย่างไร ในเมื่อเมืองไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้พวกเขาเลย พวกเขาก็ต้องนัดกันไปบริโภค ดื่ม แดก ดริงค์ แล้วก็จบลงบนเตียงด้วยเซ็กส์ที่น่าเบื่อกับคู่ที่น่าเบื่อ (เพราะขาดไร้ซึ่งวุฒิภาวะและปัญญาพอๆ กันไปหมดทั้งเมือง) จนต้องตระเวนหาคู่ใหม่ไปเรื่อยๆ ทุกคืนๆ แล้วเราก็ ‘บังอาจ’ ไปห้ามพวกเขาดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าไม่มีแอลกอฮอล์ อะไรจะบดบังสติ ทำให้พวกเขามึนเมา และมองเห็นความงามในตัวคู่ที่กำลังคั่วอยู่ได้เล่า
4
คุณคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ สุดจะ vibrant และมี ‘ทางเลือก’ ให้ไลฟ์สไตล์มากมายนักหรือที่จริงกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีทางเลือกจำกัดมากต่างหาก และข้อจำกัดนี้ นับวันจะยิ่งขีดวงตัวเองให้แคบลงเรื่อยๆ