ผลลัพธ์การค้นหาคำว่า ‘วิธีทำครีมเอง’ กับ ‘รับจ้างผลิตเครื่องสำอาง’ ผ่านเสิร์ชเอนจิ้นยอดนิยมอย่างกูเกิล (google) ตัวเลขของผลการค้นหาคำแรกอยู่ที่ 784,000 รายการ ส่วนคำหลัง ผลการค้นหาอยู่ที่ 968,000 รายการ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความนิยมใน “เครื่องสำอางทำเอง” ที่แพร่หลายผ่านโลกออนไลน์ ทั้งซื้อขาย หาสูตร หรือหาแหล่งรับจ้างผลิต ที่ง่ายแค่คลิกเดียว
“เครื่องสำอางทำเอง หมายถึง เครื่องสำอางที่ผู้ใช้หรือผู้ผลิตนำเครื่องสำอางหรือสารอื่นๆ มาผสมใช้เองหรือเครื่องสำอางที่ซื้อมาจากบุคคลทั่วไป ร้านค้าทั่วไป หรือร้านจำหน่ายเครื่องสำอาง ที่นำเครื่องสำอางหรือสารอื่นๆ มาผสมแล้วพร้อมจำหน่าย”
เป็นคำจำกัดความ ‘เครื่องสำอางทำเอง’ จาก ภญ.เพลิน จำแนกพล เภสัชกรชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เจ้าของงานวิจัย “การศึกษาพฤติกรรมในการเลือกใช้เครื่องสำอางทำเองของกลุ่มนักเรียน : กรณีศึกษาจังหวัดเพชรบุรี”
สาเหตที่ลงพื้นที่ศึกษาในจังหวัดเพชรบุรีเพราะ ข้อมูลของสำนักงานสาธาณสุขจังหวัดเพชรบุรี เดือนเมษายน พ.ศ.2556 พบเด็กนักเรียนหญิงใช้เครื่องสำอางทาผิวขาวจากครีมทำเอง แล้วเกิดอาการขาลาย ซึ่งเกิดหลังการใช้ครีมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
“เด็กๆ คิดว่าตัวเองดำ ก็เลยอยากขาว ด้วยที่สังคมมองว่าความขาวจะทำให้ดูดี เป็นที่ยอมรับ เป็นที่ต้องตาต้องใจของเพศตรงข้าม เลยอยากขาว เพราะคิดว่าตัวเองผิวดำ” ข้อมูลเบื้องต้นจากการสนทนากับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมที่ประสบปัญหาขาลาย จากการทาครีมผสมเอง”
เผยสูตร ‘ครีมผสมเอง’
จากการศึกษา พบพฤติกรรมการเลือกใช้ครีม 2 แบบ คือ
1.ซื้อครีมทำเองสำเร็จรูป คือ นักเรียนได้รับข้อมูลจากการบอกต่อๆ กันมาว่ามีครีมที่ทำให้ผิวขาวได้ จากเพื่อน รุ่นพี่ และญาติ โดยสามารถซื้อครีมสำเร็จรูปได้จากเพื่อนร่วมชั้นหรือญาติ ในราคากิโลกรัมละ 2,000 บาท
2.นำครีมแบบต่างๆ มาผสมทำเอง คือ นักเรียนได้รับสูตรจากการบอกต่อๆ กันมา โดยสามารถซื้อส่วนผสมต่างๆ ได้จากร้านเครื่องสำอางทั่วไป
“เราก็ไปดูถึงร้านขายเลย ก็เป็นร้านขายเครื่องสำอางทั่วไป ถ้าเด็กเดินเข้าไปแล้วบอกว่าอยากขาว จะแนะนำสูตรและส่วนผสมให้เลย แต่พอเจ้าหน้าที่ไปถาม จะตอบว่าไม่มี” ภญ.เพลิน อธิบาย
ทั้งนี้ ครีมผสมเอง โดยทั่วไป มีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ
1.ครีมโลชั่นทั่วไป ราคาไม่แพง 1 ส่วน
2.ครีมน้ำนม ที่มีส่วนประกอบของยารักษาโรคเชื้อราและสเตียรอยด์ ฉลากเป็นภาษาจีน ลักลอกนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย 2 ส่วน
3.ครีมโสม ซึ่งอย.ประกาศเป็นเครื่องสำอางห้ามใช้เนื่องจากมีส่วนผสมของสารปรอทและแอมโมเนีย 1 ส่วน
“มีการผสมเครื่องสำอางทำเองแบบนี้ ด้วยวิธีการง่ายๆ โดยการเอาใส่ถุงพลาสติก ใส่ชามบ้าง บีบเอา 3-4 อย่างมาผสมรวมกัน บางทีรวมกันในจานแบนๆ แล้วใช้ไม้ไอศกรีมคนให้เข้ากันก็เสร็จแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ บางรายวิวัฒนาการมากกว่านั้นอีก เนื่องจากมีอินเตอร์เน็ต เด็กก็ศึกษาเพิ่มเติมว่า ถ้าอยากให้ผิวขาวเนียน ก็ใส่วิตามินซีเพิ่ม ใส่วิตามินเอเพิ่มให้ดูสดใส หรือไม่ก็ใส่กลูต้าเพิ่มความขาวเข้าไปอีก”
วิธีการใช้ครีมทำเอง เริ่มจากทาทั้งตัว ยกเว้นหน้าและคอ ทาวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น หลังอาบน้ำ เช็ดตัวให้หมาดๆ และข้อสำคัญในการใช้คือ หลังทาเสร็จ ต้องอบผิวโดยสวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวคลุมให้มิด ห้ามผิวโดนแสงแดด
“จากการสอบถาม เด็กๆ พวกนี้ก็รู้นะว่าครีมที่ใช้มีอันตราย ถึงไม่ยอมทาหน้ากับคอไง” ภญ.เพลิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
หลังจากทาครีมไปประมาณ 2 สัปดาห์ ผิวจะเริ่มขาว แต่พอใช้ไป 6-8 เดือน อาการข้างเคียงเริ่มปรากฎคือ อาการแตกลายช่วงต้นขา โดยไม่มีอาการเจ็บ แสบ หรือคัน
จากการพูดคุยกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่ต้นขาแตกลาย ส่วนใหญ่หยุดใช้หลังพบอาการ และไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแต่ไม่หาย
“ทั้งหมดไม่เคยเรียกร้องให้ผู้ขายเครื่องสำอางทำเอง ออกมารับผิดชอบต่ออาการขาลายที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่าการใช้เครื่องสำอางทำเองเป็นไปโดยความสมัครใจ ถ้าเรียกร้องไปผู้ขายคงไม่รับผิดชอบ”
บทลงโทษไม่รุนแรง
กล่าวในส่วนของผู้จำหน่ายวัตถุดิบและส่วนผสม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบทลงโทษทางกฎหมายนั้นไม่รุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้กลับคืนมา
“พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ซึ่งก็ใช้กันยี่สิบกว่าปีแล้ว ระบุว่า ถ้าผู้ผลิตเครื่องสำอางไม่มาจดแจ้ง โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าขายโดยฉลากไม่ถูกต้อง โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มีข้อยกเว้นด้วยในวรรคสองซึ่งระบุไว้ว่า ถ้าการกระทำ/การขาย ผู้ใดขายโดยไม่ควบคุมฉลากให้ถูกต้องหรือทำโดยประมาท โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนผู้ผลิตครีม ใส่สารที่เป็นอันตราย จะมีโทษจำคุก 1 ปีปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ภญ.เพลิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้ มีความพยายามเสนอพระราชบัญญัติเครื่องสำอางฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ในกระบวนการแปรญัตติของรัฐสภา โดยฉบับปรับใหม่ มีการเพิ่มบทลงโทษมากขึ้น และมีมาตราที่ว่าด้วยการควบคุมมาตรฐานการผลิตซึ่งรวมถึงผู้ผลิตและสถานที่ผลิต
ผลข้างเคียง เสี่ยงถึงชีวิต
ระหว่างที่รอกฎหมาย ทางที่ดีและเป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้ น่าจะอยู่ที่การคุ้มครองและดูแลตัวเองของผู้บริโภค โดยการศึกษาถึงอันตรายและผลข้างเคียงของสารอันตรายที่ผสมอยู่ในมครีมทำเอง
“ปรอทและแอมโมเนีย ถ้าใช้เป็นเวลานาน แน่นอนคือ ขาแตกลาย สองคือระบบไต เภสัชกรที่อยู่ร้านขายยาที่เพชรบุรี สังเกตคนไข้คนหนึ่งที่มาซื้อยาแก้ปัสสาวะขัด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ บ่อยมาก จนเภสัชถามว่า ทำไมหน้าขาวจัง เค้าตอบว่าใช้ครีมตัวนี้เป็นประจำ ปรอทและแอมโมเนียจึงไปทำลายระบบไต”
ต่อมาคือไฮโดรควิโนน ที่มีฤทธิ์ทำให้ผิวขาวเหมือนกัน และเป็นสารห้ามผสมในเครื่องสำอาง แต่แพทย์ผิวหนังมีสิทธิจ่ายได้เพราะถือเป็นยา ผลข้างเคียงคือ ทำลายไตและกรวยไต เช่นกัน
“ส่วนสเตียรอยด์ ทำให้ผิวบาง พอใส่ปรอทแอมโมเนียเข้าไปก็ทำให้ผิวลาย มันเสริมฤทธิ์กัน สเตียรอยด์ทำลายแทบทุกระบบ โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกัน “ ภญ.เพลิน ทิ้งท้าย