หลังสหภาพยุโรปปลด ‘ใบเหลือง’ และถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อ ‘ประเทศที่ถูกเตือน’ สำหรับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU fishing) เมื่อต้นเดือนมกราคม 2562 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition) ยังคงติดตามสถานการณ์ประมงผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคประมงไทยอย่างต่อเนื่อง
แม้รัฐบาลไทยจะพยายามปฏิรูปเชิงนโยบายต่างๆ รวมถึงการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 จนนำไปสู่การปลดใบเหลืองได้ แต่ภาคีเครือข่ายฯ ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดการย่อหย่อนของมาตรการและการบังคับใช้กฎหมาย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานประมงมีหลายประเด็นที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้งปัญหาชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน การมีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ การเข้าไม่ถึงสัญญาจ้าง การขาดประสิทธิภาพและขาดความเชื่อมั่นในกลไกการร้องเรียน ประเด็นเหล่านี้มักขาดการตรวจสอบจากสาธารณะอย่างเพียงพอ จึงควรได้รับความใส่ใจมากยิ่งขึ้น
เวทีเสวนา ‘สิทธิประมงไทย ไม่เคย New Normal’ ที่ภาคีเครือข่าย CSO Coalition จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เป็นการร่วมพูดคุยและติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ประมงไทย รวมถึงผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด COVID-19
ร่วมพูดคุยโดย สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซัลวานี ด่อล๊ะ เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิรักษ์ไทย นาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา และ ปภพ เสียมหาญ นักกฎหมายอิสระ ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
เปิดผลวิจัย ‘ชีวิตติดร่างแห’ ปีที่ 2
จากงานวิจัยหัวข้อ ‘ชีวิตติดร่างแห’ ซึ่งเป็นการสำรวจสถานการณ์สิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยในปี 2561 จัดทำโดยภาคีเครือข่าย CSO Coalition และมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องในปี 2562 โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ทั้งความคืบหน้าของสถานการณ์สิทธิและช่องว่างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อสภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานประมง
“ผลการวิจัยในรายงาน ‘ชีวิตติดร่างแห’ ปีที่ 2 พบว่ามี 3 ประเด็นที่มีความคืบหน้าและมีการปรับปรุงที่ดีขึ้นคือ หนึ่ง-การจ่ายค่าจ้าง สอง-พบสัญญาณที่ดีในการเข้าถึงสิทธิและการเจรจาต่อรองของแรงงาน และสาม-สิทธิลาป่วย ทั้งหมดนี้แม้จะไม่ดีขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่ดีของสถานการณ์แรงงานประมงของไทยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า” นาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ระบุ
3 ประเด็นที่มีแนวโน้มดีขึ้น ได้แก่
- การจ่ายค่าจ้าง พบว่าแรงงานประมงส่วนใหญ่ร้อยละ 97 ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 9,000 บาท หรือประมาณ 300 บาทต่อวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยภายหลังจากภาครัฐมีมาตรการให้จ่ายค่าจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีการจ่ายเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน
- การรวมกลุ่มเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ผลสำรวจพบว่า แรงงาน 10 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเคย และอีก 90 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าไม่เคย แม้ว่าตัวเลข 10 เปอร์เซ็นต์ จะดูเหมือนค่อนข้างน้อย แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนว่าแรงงานเริ่มมีความตระหนักในการปกป้องสิทธิของตนเองและนายจ้างเปิดกว้างมากขึ้น
- การลาป่วย พบว่าแรงงาน 58 เปอร์เซ็นต์ สามารถลาได้และได้รับค่าจ้าง แต่ยังคงมีแรงงานอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ลาได้ แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง และ 12 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถลาได้ ทั้งนี้ ตัวเลขในภาพรวมนับว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม นาตยากล่าวว่า ข้อค้นพบจากงานวิจัยพบว่ามีช่องว่างด้านสิทธิแรงงานที่ต้องปรับปรุง 8 ด้าน ได้แก่
- การเข้าถึงสัญญาจ้างและเอกสารประจำตัวของแรงงาน
- การจ่ายค่าจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
- การปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่บนเรือ
- ชั่วโมงทำงานและพักผ่อนของแรงงานประมง
- ช่องทางในการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าถึงสิทธิแรงงาน
- อุปสรรคในการเปลี่ยนงานหรือนายจ้าง
- กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง และ
- การเข้าถึงกลไกการร้องเรียนของรัฐ
นาตยาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเด็นเรื่องการอธิบายเนื้องานให้แรงงานรับทราบก่อนเริ่มทำงาน ในปี 2561 พบว่ามีการปฏิบัติอยู่ที่ 58 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2562 ลดลงเหลือ 42 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรแก้ไข เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการจ้างงาน และแรงงานควรได้รับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนการเริ่มงาน
การอ่านสัญญาจ้างก่อนเริ่มงาน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับแรงงาน โดยในปี 2561 แรงงานมีโอกาสได้อ่านสัญญาจ้าง 31 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันเหลือเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน สัญญาจ้างยังถูกเก็บไว้ที่นายจ้าง 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่จริงแล้วเอกสารสำคัญเช่นนี้ไม่ควรเก็บไว้กับผู้อื่น
เมื่อสอบถามแรงงานว่ามีโอกาสเข้าถึงสัญญาจ้างหรือไม่ 31 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าไม่รู้ 10 เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงไม่ได้ 8 เปอร์เซ็นต์ ขอดูได้ แต่เอาออกมาไม่ได้ ส่วนแรงงานอีก 37 เปอร์เซ็นต์ ขอเอาเอกสารสัญญาจ้างออกมาได้ และอีก 14 เปอร์เซ็นต์ มีสัญญาจ้างเก็บไว้ที่ตัวเอง
“ในทางปฏิบัติแล้ว สัญญาจ้างควรต้องเก็บไว้ทั้งสองฝั่ง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปช่วยดูแลว่า ทำอย่างไรให้ลูกจ้างเข้าถึงสัญญาจ้างนี้ได้ เพื่อความสะดวกในการเดินทางและการใช้ชีวิตของลูกจ้าง”
ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าจ้าง แรงงานส่วนใหญ่ระบุว่าได้รับเป็นเงินสด 65 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ โอนเข้าบัญชีธนาคาร และอีก 15 เปอร์เซ็นต์ ได้รับเงินค่าจ้างผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น มอบหมายผู้อื่นจัดการแทน
ส่วนกรณีการใช้บัตรเอทีเอ็ม ส่วนใหญ่นายจ้าง 53 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นผู้เก็บไว้ให้ ขณะที่มีแรงงานเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ที่เก็บบัตรไว้กับตัวเอง ที่เหลือคือฝากให้ลูกเรือที่มีตำแหน่งสูงกว่าเก็บไว้ให้ และฝากไว้กับผู้จัดการหรือนายหน้า
ถัดมาคือการสำรวจเรื่องชั่วโมงการทำงาน ตามกฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 14 ชั่วโมงต่อวัน และให้พัก 10 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของแรงงาน แต่ปัจจุบันพบว่า มีแรงงานถึง 9 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องทำงานเกิน 14 ชั่วโมง
ทั้งหมดนี้ หากมองในภาพรวมดูเหมือนว่าสถานการณ์สิทธิแรงงานประมงจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในบางประเด็น แต่อีกหลายประเด็นจำเป็นยังต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในเวทีการค้าโลกต่อไป
“จากปัญหาช่องว่างของสิทธิแรงงานประมง ภาครัฐควรมีกระบวนการหรือแนวทางในการเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งจริงๆ มีหลายมาตรการที่สามารถคุ้มครองแรงงานได้ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอีกหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ เช่น กลไกการร้องเรียน จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานได้อย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าภาครัฐ ผู้ประกอบการเรือประมง ผู้ผลิต ผู้แปรรูป รวมถึงภาคประชาสังคม เพื่อให้ช่องว่างเหล่านี้หดแคบลง” นาตยากล่าว
ความมั่นของชาติ vs ความมั่นคงของชีวิต
จากการทำงานใกล้ชิดแรงงานประมงข้ามชาติ ทำให้นาตยามองเห็นปัญหาหลายมิติ เธอให้ข้อสังเกตว่า เวลาที่รัฐพูดถึงความมั่นคงของประเทศ ต้องมองถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย และสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจหลงลืมไปก็คือ ต้นทุนการผลิตที่หมายรวมถึงต้นทุนชีวิตของคนงาน
“การที่แรงงานเคลื่อนย้ายตัวเองเข้ามาในประเทศไทย ชีวิตและความหวังของพวกเขาคือ การมีงานที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง แต่งานเหล่านั้นกลับไม่ได้ส่งเสริมความฝันของเขา รายได้ในกระเป๋าก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้น ทั้งที่ตัวเลข GDP ในประเทศไทยดูดี ดูสวยงาม
“การลงทุนหรือต้นทุนในการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงาน ไม่ใช่เป็นแค่ภาระหน้าที่ของเจ้าของเรือประมงเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ส่งออก ทั้งหมดต้องมาช่วยกันดูว่า เมื่อมีผลกำไรเพิ่มขึ้นแล้ว ตัวแรงงานเองมีอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารหรือรายได้ แต่ต้องดูว่าเขาสามารถอยู่ในสังคมนั้นได้อย่างมีความสุขไหม เขาสามารถอยู่บนเรือได้อย่างมีความสุขไหม”
นาตยาบอกอีกว่า ทุกวันนี้นโยบายของรัฐยังไม่เท่าทันสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ หลายเรื่องเป็นสิทธิที่แรงงานควรจะได้รับโดยทันที แต่กลับกลายเป็นว่าแรงงานต้องเป็นฝ่ายออกมาเรียกร้องหรือร้องขอ ฉะนั้น ทำอย่างไรให้รัฐมีมาตรการที่ตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้สถานการณ์ล่วงเลย
“เวลาเราพูดถึงเรื่องรายได้ของแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยเอง เรามักจะพูดถึงแค่ขั้นต่ำ ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนในอก อะไรก็ขั้นต่ำๆ แล้วเมื่อไหร่เขาได้รับความเท่าเทียมเหมือนกับคนอื่นๆ ฉะนั้น เวลาพูดถึงความมั่นคงของประเทศ เราต้องหันกลับมามองเรื่องความมั่นคงในชีวิตของพวกเขาด้วย”
สุขภาพแรงงานประมงในยุคโรคระบาด
สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ ผู้คลุกคลีทำงานอยู่กับแรงงานประมงไทย อธิบายถึงภาพรวมถึงสถานการณ์ของแรงงานประมง ปัญหาและอุปสรรค โดยเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างทั้งก่อนและหลังสถานการณ์ COVID-19 ไว้ว่า
“ในฐานะที่ทำงานภาคสนามกับเรือประมงมานาน เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ประมงไทยในทิศทางที่ดีขึ้น คือ พี่น้องแรงงานประมงกล้าลุกขึ้นมาเจรจาต่อรองด้วยตัวเองมากขึ้น นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของคนทำงานด้านสังคม เพราะเราคาดหวังอยากเห็นพวกเขาแสดงออกเพื่อสิทธิพื้นฐานของตัวเอง”
แม้สถานการณ์แรงงานประมงไทยจะดูเหมือนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น แต่หากส่องลึกลงไป สุธาสินีบอกว่า ยังพบข้อกังวลอื่นๆ อยู่อีกมาก รวมถึงในช่วงการระบาดของ COVID-19 โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ มาตรการที่นายจ้างหรือผู้ประกอบใช้ในการดูแลความปลอดภัยให้กับแรงงานประมง เช่น การจัดเตรียมห้องน้ำ ห้องพักบนเรือ รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 3 มื้อต่อวัน
“หลังจากเกิด COVID-19 เราพบว่า ในบางพื้นที่นายจ้างมีการแจกอุปกรณ์ป้องไวรัส เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ แต่ในบางพื้นที่ก็ไม่มี”
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสุขภาพของแรงงานประมงในช่วงโรคระบาด อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความปลอดภัยของแรงงานประมงขณะปฏิบัติงาน
“เท่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะรัฐบาลไหน จะเห็นได้ว่าไม่มีการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรบนเรือ เราพบว่าลูกเรือประมงไทยยังขาดทักษะและความเข้าใจในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ขาดการอบรมเรื่องความปลอดภัยก่อนปฏิบัติงาน รวมถึงการดำน้ำเพื่อปลดอวนใต้น้ำอย่างปลอดภัย”
สุธาสินีเล่าว่า หลังเกิด COVID-19 แรงงานประมงข้ามชาติจำนวนไม่น้อยได้เดินออกจากประเทศไทย ส่งผลให้แรงงานประมงที่เหลืออยู่บนเรือต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องทำงานแทนเพื่อนแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับบ้าน แม้กฎหมายจะระบุให้มีเวลาพักไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่นั่นก็เป็นไปไม่ได้เลย
เพิ่มอำนาจต่อรองให้แรงงานประมงข้ามชาติ
สุธาสินีกล่าวถึงประเด็นเรื่องการผลักดันให้ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพื่อให้แรงงานสามารถรวมกลุ่มเพื่อเจราจาต่อรอง ซึ่งภาคประชาสังคมมองว่า นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานพึงมี
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราพูดเรื่องเหตุผลที่ควรมีอนุสัญญาฉบับนี้กันมากว่า 20 ปีแล้ว แต่รัฐยังคงมีความกังวลอยู่มาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ยังคงไม่อนุมัติรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ ดังนั้นสิ่งที่เราคาดหวังคือ อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมาฟังเสียงที่แท้จริงของแรงงาน ฟังเสียงคนยากคนจน พวกเขาต้องการอำนาจการต่อรองในรูปแบบทวิภาคี”
สุธาสินีกล่าวอีกว่า การอนุญาตให้แรงงานรวมตัวกันไม่ได้แปลว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่การที่พวกเขาได้รวมตัวกัน ได้พูดคุยกัน จะช่วยลดความวุ่นวายได้มากกว่า เมื่อลูกจ้างหรือนายจ้างมีปัญหาจะได้คุยกัน แก้ปัญหาร่วมกัน จึงอยากให้รัฐบาลหรือผู้ประกอบการไทยกลับมาทำความเข้าใจนิยามของอนุสัญญาฉบับนี้ใหม่
“การมองว่าอนุสัญญาฉบับนี้จะสร้างความวุ่นวาย เป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง ถ้าคิดเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากการปิดกั้นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของมนุษย์”
‘ไม่รู้-ไม่กล้า-เข้าไม่ถึง’ สิทธิแรงงานที่จมหาย
13 มกราคม 2563 มีรายงานยืนยันพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกในประเทศไทย และหลังจากนั้น สถานการณ์ก็ดูจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ กระทั่งล่าสุด สถานการณ์ระบาดเริ่มคลี่คลายลง โดยตัวเลขเสียชีวิตหยุดอยู่ที่ 58 ราย และมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานข้ามชาติเพียง 82 รายเท่านั้น
กระทั่งวันที่ 19 มิถุนายน 2563 รายงานข่าวจากทางการเมียนมาร์ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 23 ราย ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกส่งกลับจากประเทศไทย
ซัลวานี ด่อล๊ะ เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิรักษ์ไทย เผยข้อมูลด้านสิทธิและความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยว่าสถานการณ์ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยหลักฐานเชิงประจักษ์มีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน หนึ่ง-การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มาตรการป้องกันโรค และสอง-การเข้าถึงบริการสาธารณสุข
“เรื่องการเข้าถึงข้อมูลนั้นมีการสำรวจพบว่า แรงงานข้ามชาติร้อยละ 71.73 รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางออนไลน์ และหลายหน่วยงานได้ผลิตสื่อออกมาให้ความรู้มากมายหลายภาษา แต่เมื่อสอบถามกับตัวแรงงานจริงๆ ในหลายพื้นที่พบว่า เขาไม่มีความรู้เรื่องโรคระบาดเลย รู้แค่ว่าต้องใส่หน้ากาก ต้องล้างมือ สิ่งนี้น่ากลัวมาก เพราะอาจจะทำให้เขาดูแลตัวเองไม่ถูกวิธี และอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดในระยะสองได้
“อีกกลุ่มที่มีปัญหาเช่นกันคือ กลุ่มแม่บ้านของแรงงานประมง กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารและเครื่องมือสื่อสารในการเข้าถึงข้อมูล อาจเพราะไม่มีเงิน และไม่สามารถลงทะเบียนซิมโทรศัพท์ได้ เพราะไม่มีเอกสาร การรับรู้ข้อมูลส่วนใหญ่จึงเป็นแบบปากต่อปาก”
ซัลวานีเล่าว่า เหล่าแรงงานข้ามชาติมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นทุนเดิม ด้วยข้อจำกัดทางภาษาและความซับซ้อนของกระบวนการบริการสุขภาพ ยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ที่มีการเพิ่มมาตรการคัดกรองและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ความยากในการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานก็ยิ่งยากขึ้นเป็นทวีคูณ
“แรงงานจำนวนมากเลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาล เพราะกลัวติด COVID-19 โดยเฉพาะหญิงท้องหรือผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องไปรับยา ยิ่งแรงงานที่ไม่มีเอกสาร แน่นอนว่าแม้เจ็บป่วยด้วยอาการใดๆ ก็ตาม เขาจะไม่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว เพราะกลัวถูกส่งกลับ สุดท้ายแล้วแรงงานเหล่านี้ต้องเลือกใช้บริการคลินิกเอกชนที่ราคาสูง นำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน”
นอกจากนี้ แรงงานหลายคนต้องตกงาน ขาดรายได้ เป็นหนี้ และเสี่ยงต่อการติดโรคโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่ได้รับการคัดกรองหรือรักษาอย่างทันท่วงที แม้ภาครัฐจะมีมาตรการรักษาและตรวจผู้ที่เข้าข่ายติดเชื้อ COVID-19 ฟรี โดยไม่จำกัดสัญชาติ แต่ข้อมูลส่วนนี้แรงงานแทบไม่ได้รับรู้
ความยุติธรรมรอได้ แต่ปากท้องรอไม่ได้
อีกประเด็นที่ซัลวานีชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย คือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบศาลและการเรียกร้องสิทธิจากหน่วยงานรัฐในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยศาลได้มีประกาศเลื่อนพิจารณาคดีต่างๆ ออกไปทำให้เกิดความล่าช้ากว่า 2-3 เดือน
จริงอยู่ว่า การเลื่อนพิจารณาคดีของศาลนั้นไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า ทว่าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีนั้นเรียกได้ว่าผีซ้ำด้ำพลอย เพราะนอกจากเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและบริการสุขภาพแล้ว ยังขาดรายได้ ขาดอาชีพ และไร้สถานะทางกฎหมายในการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย สถานที่แห่งการเดินทางมาเสี่ยงโชคชะตา เสาะแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน
“การร้องเรียนกรณีแรงงานถูกเลิกจ้างก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากหลายหน่วยงานปิดให้บริการตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ และแม้ภายหลังจะมีการเปิดให้บริการกรอกใบคำร้องผ่านระบบออนไลน์ แต่แรงงานข้ามชาติก็มีอุปสรรคด้านภาษาและการเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถใช้บริการของหน่วยงานต่างๆ ได้ เพราะระบบดูเหมือนจะเอื้อให้แก่คนไทยเท่านั้น”
ชีวิตที่ไม่มีหลักประกัน
“เดิมทีเหล่านายจ้างบางกิจการเคยกล่าวอ้างว่า ไม่จำเป็นในการทำประกันสังคมให้ลูกจ้าง รวมถึงลูกจ้างก็ไม่รู้ถึงความสำคัญของประกันสังคม เวลานี้เราอาจต้องมาทบทวนและคิดกันใหม่ว่า แรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องมีประกันสังคมหรือไม่”
คำกล่าวข้างต้นของซัลวานี ครอบคลุมทั้งก่อนและหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งนั่นหมายความว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่มีประกันสังคม และมากกว่า ‘ไม่มี’ คือ ‘ไม่รู้’ ถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับ
นี่คือปัญหาที่ซ่อนอยู่ในท้องเรือมาเป็นเวลานาน และปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาของ COVID-19 นั้นได้เผยให้เห็นปัญหานี้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
“ในช่วง COVID-19 นั้น การเข้าถึงเงินชดเชยหรือประกันสังคมก็มีปัญหา แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง แต่ถูกขอให้หยุดงาน อีกส่วนถูกบังคับให้เซ็นใบลาออก บางส่วนถูกให้ออกจากงานโดยไม่มีเงินชดเชย อีกทั้งการร้องเรียนก็ทำได้ยาก แรงงานที่ถูกให้ออกจากงานหานายจ้างใหม่ไม่ทันตามกำหนดของกรมการจัดหางาน จากคนที่เคยถูกกฎหมายก็กลายเป็นคนผิดฎหมาย และถูกยกเลิกใบอนุญาตการทำงาน ซึ่งปัญหานี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการของรัฐบาล” ซัลวานีระบุ
ปรับบทบาทภาครัฐ ยกระดับกลไกการทำงานเชิงรุก
ปภพ เสียมหาญ นักกฎหมายอิสระที่ติดตามคุณภาพชีวิตแรงงานประมงมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมนำเสนอความเห็นในแง่มุมทางกฎหมายว่า ประเด็นสำคัญที่ควรจะเกิดขึ้นคือ กลไกการร้องเรียน เนื่องจากแรงงานข้ามชาติมีโอกาสเข้าถึงกลไกเหล่านี้ได้น้อยมาก
“กลไกการร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐควรจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่จากเชิงรับเป็นเชิงรุก กรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน สำนักงานจังหวัดต่างๆ พนักงานตรวจแรงงาน ฯลฯ ต้องลงไปในพื้นที่ที่แรงงานประมงอยู่ เพื่อรับเรื่องร้องเรียน เพื่อดูว่าเขาถูกละเมิดสิทธิเรื่องอะไรบ้าง”
ปภพอธิบายเพิ่มว่า การประสานกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติมักไม่กล้าไปพบเจ้าหน้าที่ อาจจะด้วยสถานะที่ไม่พร้อมและความหวาดกลัว ไม่ไว้ใจรัฐ ดังนั้นจึงควรมีข้อต่อในการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการประสานกับเอ็นจีโอในพื้นที่
“อาจไม่จำเป็นต้องให้เอ็นจีโอมารับเรื่องร้องเรียนเอง แต่ทำอย่างไรให้ภาครัฐกับภาคประชาสังคมทำงานไปด้วยกัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นของแรงงานด้วย”
ประเด็นต่อมา ปภพมองไปถึงสวัสดิการและสิทธิต่างๆ ของแรงงานประมงและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกฎหมายระบุไว้ชัดว่าต้องให้ความช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธินี้ได้จริง โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบสวัสดิการประกันสังคม เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายเปิดช่องทางให้แรงงานเลือกได้ว่าจะเข้าสู่ระบบประกันสังคมหรือไม่
“สวัสดิการต่างๆ ต้องเข้าถึงคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วย เพราะเขาอาศัยอยู่ในไทยและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย แต่ปัจจุบันยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่”
อีกหนึ่งประเด็นที่ปภพนำเสนอคือ รัฐบาลควรประสานงานร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยหรือชีวอนามัยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทว่าปัญหาคือรัฐและสถานประกอบการต้องมีกลไกการทำงานร่วมกันที่ดีขึ้นและจริงจังมากขึ้น
“จะทำอย่างไรให้เรือต่างๆ มีมาตรฐานที่ดีขึ้น การทำงานบนเรือต้องมีระยะห่างแค่ไหน รวมกันได้แค่ไหน มีอุปกรณ์ความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำเป็นตัวชี้วัดขึ้นมาว่า เรือแต่ละลำมีมาตรฐานแค่ไหนอย่างไร หรือพิจารณาจากมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับการช่วยเหลือที่เท่าเทียมกับแรงงานไทย
รวมพลัง 3 ฝ่าย ร่วมสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมประมง
หากมองไปยังอนาคตของสถานการณ์แรงงานประมงไทยจะดำเนินไปอย่างไรภายใต้สถานการณ์ New Normal ปภพชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ปกติใหม่ของแรงงานประมงยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น
“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประมงไทยพยายามปรับตัวสู่ New Normal มาตั้งแต่ยุคที่มี IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing – การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) ซึ่งเวลานั้นมีปัญหาที่รุนแรงมาก เช่น การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไปมีการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายหลายฉบับ มีการนำอนุสัญญาระหว่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทย ทำให้เกิดมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็มีการถกเถียงกันอยู่ว่าจะเข้าไปสู่มาตรฐาน New Normal ได้อย่างไร ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีความชัดเจนและมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดขึ้น”
ปภพมองว่า เวลานี้ทุกฝ่ายเริ่มมีความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมประมงไทย และเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่าเดิม เขายกตัวอย่างจากรายงานวิจัย ‘ชีวิตติดร่างแห’ โดยงานชิ้นนี้เสนอว่า อุตสาหกรรมประมงไทยยังมีหลายมุมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นการบ้านที่ภาครัฐต้องขบคิดว่า เหตุใดเมื่อทุกคนเข้าใจกฎหมายแล้วแต่ยังไม่ปฏิบัติตาม
“รัฐมีความพยายามมากขึ้นในการให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม แต่สิ่งหนึ่งคือเราต้องเข้าใจข้อจำกัดของกันและกัน เพราะภาคประชาสังคมไม่ใช่หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เป็นเพียงหน่วยงานรับเรื่องและสนับสนุน เช่น การสนับสนุนเรื่องล่ามแปลภาษา การพาแรงงานไปดำเนินกระบวนการต่างๆ ดังนั้นภาครัฐและเอ็นจีโอต้องมาออกแบบร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้กลไกราบรื่นขึ้น และหากจะไปไกลกว่าก็คือ ให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อให้เห็นพ้องต้องกันและเห็นปัญหาเดียวกัน”
อีกเรื่องที่สำคัญในประเด็นนี้คือ ปภพเสนอให้มีความร่วมมือกับผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประมงไทย
“แน่นอนว่าอุตสาหกรรมประมงไทยมีการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คนที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมประมงไทยก็คือผู้ซื้อ ผู้ซื้อจากต่างประเทศจะมีบทบาทอย่างมาก คนเหล่านั้นมีทรัพยากรที่ดีกว่า สามารถมองปัญหาเชิงลึกได้มากกว่า ซึ่งผู้ซื้อจากต่างประเทศจะสามารถกำหนดได้ว่า มาตรฐานที่ดีควรจะเป็นอย่างไร เพื่อให้สินค้าประมงไทยไปได้สุดทาง”
ปภพมองว่า การเอื้อให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งในส่วนภาครัฐและผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภครับทราบว่าสินค้าเหล่านี้ผ่านกระบวนการผลิตแบบใด จะมีส่วนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมประมงได้
“ถ้าผู้ประกอบการเปิดเผยข้อเท็จจริงออกมา และผู้บริโภคมีสิทธิมีเสียงในการพิจารณามาตรฐานของอาหาร ว่ามีความครอบคลุมในเรื่องสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความสะอาด จะช่วยยกระดับสินค้าบ้านเราให้ต่างประเทศเชื่อถือมากยิ่งขึ้น”
ประเด็นสุดท้ายที่ปภพนำเสนอคือ “การเปิดให้มีการรวมกลุ่มและการต่อรองของแรงงาน แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะสามารถเข้าสู่ระบบสหภาพแรงงานได้ แต่เขาก็ยังไม่มีสิทธิมีเสียงในการจัดตั้งสหภาพของตัวเอง ถ้าเราลองเปิดใจให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพของตัวเองได้ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย และไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคง ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและจะเป็น New Normal ที่ดีมากๆ” ปภพกล่าวปิดท้าย