เมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) ได้จัด ‘การประชุมวิชาการประจำปีด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ครั้งที่ 1: เชื่อม ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด’ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อพัฒนาความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ
หนึ่งในวงเสวนาที่น่าสนใจคือหัวข้อ ‘มรดกวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้’ ประกอบด้วยสี่บทความย่อย ซึ่งพยายามตั้งคำถามกับสถาบันการเรียนรู้ อย่างโรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน บ้าน ว่าในสถาบันที่ให้ความรู้เหล่านี้มีปัญหาอะไรบ้าง เช่น กรณีโรงพยาบาลหรือโรงเรียนก็มีเรื่องอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรู้ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่สะอาดหรือมีความสำคัญศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับเป็นความรู้ที่กดขี่ กดปราบเราก็ได้ จึงเป็นความรู้ที่เราต้องตั้งคำถามกับสถาบันเหล่านี้ว่ามีปัญหาอะไร
หนังสือฝากสีโหม้: เชื่อมโลกล้านนา มาพบโลกสากล
กมลธร ปาละนันทน์ นิสิตปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ศึกษาแบบเรียนหนังสือ ฝากสีโหม้ เธอเล่าว่า ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2410 หรือประมาณ 150 ปีที่แล้วในเมืองเชียงใหม่ สมัยยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา มิชชันนารีอเมริกันกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังเมืองล้านนาโดยมีจุดประสงค์สามประการคือ นำการแพทย์ การศึกษา และศาสนา แผ่ขยายเข้าไป พวกเขามองว่าล้านนายังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน นับถือผี เต็มไปด้วยไข้ป่า มาลาเรีย ด้วยอุดมการณ์ขยายดินแดนของพระผู้พระเจ้า เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้กลุ่มมิชชันนารีขึ้นไปเผยแพร่ศาสนายังแผ่นดินล้านนา
เริ่มแรกมิชชันนารีเปิดโรงเรียนสอนสำหรับผู้หญิงเท่านั้น เพราะมองว่าผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่าผู้ชาย และที่สำคัญผู้หญิงล้านนาเป็นผู้สืบทอดการนับถือผี ถ้าผู้หญิงมาเรียนก็จะชักจูงให้ผู้ชายมาเรียนได้ เพราะโดยทั่วไปผู้ชายจะเริ่มเรียนที่วัด
10 ปีต่อมามิชชันนารีก่อตั้งโรงเรียนชายล้วนชื่อ โรงเรียนชายวังสิงห์คำ ในล้านนา แต่ไม่มีแบบเรียนที่สามารถใช้สอนได้ เพราะสมัยนั้นมีเพียงคัมภีร์ไบเบิลและวรรณกรรมล้านนาเท่านั้น มิชชันนารีจึงได้รวบรวมหนังสือ ฝากสีโหม้ และจัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2439 ใช้ชื่อว่า หนังสือสีโหม้ฝากแต่เมืองนอกถึงพ่อและแม่ เพื่อใช้ประกอบการเรียนวิชาภูมิศาสตร์ในโรงเรียน
หนังสือฝากสีโหม้ เป็นจดหมายของ สีโหม้ วิชัย คริสเตียนชาวล้านนา (เชียงใหม่) ผู้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2432 ที่เขียนด้วยอักษรล้านนาส่งมาถึงบิดามารดา บอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบเห็นระหว่างออกเดินทางไปยังเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และบรรยายสภาพความเป็นอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งปีเศษที่สหรัฐอเมริกา
จุดเด่นของ หนังสือฝากสีโหม้ คือเป็นหนังสือที่นายสีโหม้บรรยายสิ่งที่พบเจอในต่างแดน โดยนำมาเปรียบเทียบกับเมืองล้านนาและกรุงเทพฯ ด้วยภาษาล้านนา เช่น เปรียบภูเขาที่ฮ่องกงว่าเหมือนดอยสุเทพ เปรียบบ้านเมืองสกปรกเหมือนกรุงเทพฯ
สรุปง่ายๆ คือสีโหม้อธิบายดินแดนอื่นด้วย ‘โลกทัศน์ของชาวล้านนา’ ด้วยภาษาล้านนา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่มิชชันนารีรวบรวมจดหมายของสีโหม้มาตีพิมพ์เป็นแบบเรียน เพื่อให้เข้าถึงคนพื้นเมืองได้ง่าย
หนังสือฝากสีโหม้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ามิชชันนารีใช้เป็นยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรมด้านภาษา ภายใต้อุดมการณ์ทางศาสนาและสังคมของมิชชันนารีอเมริกัน อันนำไปสู่การเปิดโลกแห่งความรู้ที่กว้างไกลและเปิดโลกทัศน์ใหม่ในสังคมล้านนา
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกล่าวสรุปถึงงานชิ้นนี้ว่า ในมุมหนึ่งหนังสือแบบเรียนเล่มนี้เป็นการมองของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นคนล้านนาทั่วไป แต่เป็นคริสเตียน เป็นคนที่อยู่ในแวดวงของผู้ดี มีความรู้ แล้วก็เดินทางไปต่างประเทศ สอง อาจมองในแง่ว่าเป็นหนังสือที่คริสเตียนเองใช้หนังสือเล่มนี้ในการประกาศศาสนา ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้นอกจากเชื่อมโลกล้านนาให้พบกับโลกสากลแล้ว ยังเชื่อมให้คนล้านนาได้พบกับคริสต์ศาสนาอีกด้วย
ลอดกลางพื้นที่รัฐ: รอดอำนาจของรัฐ
เมื่อ 150 ปีที่แล้ว หนังสือฝากสีโหม้ เป็นหนึ่งในกระบวนการเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีฉันใด วิชาหน้าที่พลเมืองในโรงเรียนก็เป็นหนึ่งในกระบวนการปลูกฝังชาตินิยมฉันนั้น แต่เมื่อมีการเกิดขึ้นของมาตรา 12 ใน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ระบุให้บุคคล ชุมชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ทำให้มีเด็กจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการอบรมอยู่นอก ‘โรงเรียน’ จึงเป็นโอกาสให้ ผไท วงศ์อนุตรโรจน์ ผู้เคยศึกษาและทำงานด้านมานุษยวิทยา ปัจจุบันได้กลายมาเป็นพ่อบ้านเต็มตัว และสอนหนังสือลูกอยู่บ้าน หรือเรียกว่าเป็น ‘พ่อบ้าน homeschool’
สิ่งที่ผไทนำเสนอในหัวข้อ ‘ลอดกลางพื้นที่รัฐ: ประสบการณ์จากพ่อบ้าน homeschool’ คือการสังเกตลูกตัวเอง และพบว่า ลูกมีความเป็นเด็กฝรั่งมากกว่ามีลักษณะแบบเด็กไทย หลักสูตรที่ผไทสอนลูกแม้ว่าจะเป็นแกนที่ได้มาจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่กระบวนการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับผไททั้งหมด
เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐจะมาตรวจสอบที่บ้านเพื่อดูผลการเรียน แต่สิ่งที่ผไทสนใจคือ ลูกของเขามีความเป็นไทยน้อยกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน เพราะโรงเรียนต้องปฏิบัติตามหลักสูตรอย่างเคร่งครัด มีวิชาพลเมือง สอนหน้าที่ 12 ประการ เพื่อหล่อหลอมให้เด็กมีสำนึกเรื่องการรักชาติ
แต่ในการเรียนแบบ homeschool ผไทไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบผลการเรียนของลูก แต่ความรักชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินหรือวัดเป็นคะแนนได้ เพราะฉะนั้นสำหรับผไท การเรียนการสอนแบบ homeschool
“…ทำให้เห็นถึงความพร่ามัว ลื่นไหล ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงบริเวณชายแดนเท่านั้น หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ต่างๆ กลางรัฐชาติ ความเป็นพลเมืองในกรอบของดินแดนที่คับแคบเริ่มไม่ชัดเจน การเลื่อนไหลไปมาข้ามพรมแดนของรัฐชาติอาจเกิดขึ้นทุกขณะ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายของคน”
homeschool จึงเป็นเป็นช่องทางที่สร้างพลเมืองขึ้นมาใหม่ที่นอกจากลอดกลางพื้นที่รัฐแล้วยังรอดจากการควบคุมของรัฐอีกด้วย
แพทย์ vs คนไข้: ข้ามเส้นแบ่งความรู้สู่โลกที่มีความจริงหลายชุด
หลุดจากพื้นที่การศึกษามาสู่พื้นที่สีขาวอย่างสถานพยาบาล มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะระหว่างคนไข้กับแพทย์ หรือบุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งการแก้ปัญหาไม่สามารถแก้ได้โดยฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หมอมีความรู้ชุดหนึ่ง คนไข้ก็มีความรู้อีกชุดหนึ่ง หมอจะเป็นฝ่ายถูกเสมอไปหรือ คนไข้มีอำนาจ ฉะนั้นเราจะพูดได้ไหมว่า การเรียนรู้เฉพาะทาง การมีวัฒธรรมเพื่อการเรียนรู้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอาจไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป
บุษบงก์ วิเศษพลชัย จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ได้นำเสนอบทความ ‘สมรรถนะวัฒนธรรม-ทำ-ทำไม’ ในบทความชิ้นนี้ บุษบงก์ยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟังในเวทีเสวนา เธอเล่าว่าในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทุกๆ สัปดาห์จะมีผู้สูงอายุผลัดกันมาตรวจสุขภาพ ต้องมาแต่เช้าทุกครั้ง และใช้เวลารอนานกว่าจะได้ตรวจ จึงมีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งสร้างพื้นที่สันทนาการขึ้นมา โดยจ้างนักร้องหมอลำมาร้องเพลงที่โรงพยาบาล คนไข้ที่มานั่งรอตรวจจะได้ไม่เบื่อ ถือเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง และเรียกการแสดงนี้ว่าเป็น ‘ดนตรีบำบัด’
หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดข้อพิพาทขึ้นในโรงพยาบาล เมื่อหมอเรียกร้องให้ยกเลิกการแสดงนี้ เนื่องจากรบกวนการทำงานของหมอ และมองว่าดนตรีหมอลำที่แสดงอยู่นั้นไม่ได้เรียกว่าดนตรีบำบัด มันผิดหลักการ และนิยามของแพทย์ พอมาถึงจุดนี้เราจะอธิบายอย่างไรว่าใครถูกหรือใครผิด คำว่า ‘ดนตรีบำบัด’ ควรถูกกำหนดโดยใคร ผู้ป่วย หรือหมอ?
เหตุการณ์นี้ทำให้บุษบงก์ตั้งคำถามกับสมรรถนะวัฒนธรรม (cultural competence) ในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย
สมรรถนะวัฒนธรรมที่บุษบงก์ว่านั้นคืออะไร
สมรรถนะวัฒนธรรมในระบบบริการสุขภาพหมายถึง ความสามารถในการสร้างระบบบริการที่มีคุณภาพให้แก่ผู้รับบริการที่มีความหลากหลายของระบบคุณค่า ความเชื่อ และพฤติกรรม รวมทั้งการออกแบบการบริการที่สามารถไปถึงความต้องการทางสังคม วัฒนธรรม และภาษาของผู้รับบริการ
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆ พยายามให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเรียนภาษาต่างชาติ เช่น เขมร พม่า เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีความหลากหลาย แต่การแก้ไขปัญหาไม่ได้อยู่ที่ภาษาอย่างเดียวเท่านั้น แพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาลต้องเข้าใจวัฒนธรรมของผู้มารักษาด้วย
ดังนั้น สิ่งที่บุษบงก์พยายามทำความเข้าใจคือ การก้าวข้ามศาสตร์เพื่อพัฒนาสมรรถนะทางวัฒนธรรมให้กับนักศึกษาพยาบาล สร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน มีกระบวนการอย่างไรที่จะเชื้อเชิญผู้คนในสายวิทยาศาสตร์ ให้ก้าวข้ามเส้นแบ่งความรู้มาสู่โลกของสังคมวิทยา มานุษยวิทยาที่เต็มไปด้วยชุดความจริงอันมากมายหลากหลายไร้คำตอบสำเร็จรูป
จากการรวบรวมองค์ความรู้เรื่องสมรรถนะวัฒนธรรมในระบบสุขภาพ การตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกับการถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะวัฒนธรรมของนักศึกษาพยาบาลในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นเวลากว่าหนึ่งปี พบว่า
หัวใจของการพัฒนาสมรรถนะวัฒนธรรมคือการฟังอย่างเท่าทันและเท่าเทียม กับดักของความล้มเหลวคือการมองวัฒนธรรมอย่างเหมารวมและหยุดนิ่ง และกำแพงกั้นความเข้าใจคือวัฒนธรรมวิชาชีพ (professional culture)
ทำความดีในพื้นที่พิพิธภัณฑ์
‘ความดี’ มักถูกนำมาจับคู่กับศีลธรรม ศาสนา จิตอาสา โดยเฉพาะในสังคมไทยที่นิยามตัวเองว่าเป็นเมืองพุทธ จึงมีภาพจำคือการทำบุญตักบาตร เข้าวัด ถือศีล 5 แต่หารู้ไม่ว่ามันมี ‘การทำความดี’ ในพื้นที่ที่หลายคนคงนึกไม่ถึง นั่นก็คือ ‘พิพิธภัณฑ์’
พิพิธภัณฑ์ถือเป็นพื้นที่ทางสังคมซึ่งมีพันธกิจอันก้าวข้ามผ่านไปไกลจากนิยามดั้งเดิมของการเป็นแหล่งพิทักษ์รักษาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ มาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้และการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่พิพิธภัณฑ์มักประสบปัญหาทั้งการขาดแคลนงบประมาณดำเนินงาน และขาดแคลนบุคลากรผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการทำงาน
เมื่อพิพิธภัณฑ์ขาดแคลนทุนตั้งต้นประเภทต่างๆ ในการดำเนินงาน จึงเป็นที่มาของการแสวงหากลวิธีในการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ โดยใช้การระดมทุนเป็นทางเลือกที่ช่วยสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ธีรวรรณ มิ่งบัวหลวง สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จึงสนใจศึกษาปฏิบัติการระดมทุนในพิพิธภัณฑ์ โดยมองว่าเป็นปฏิบัติการของคนดีในพื้นที่ทางเลือกของสังคม
การระดมทุนในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นปฏิบัติการข้ามสู่สาธารณะ การแลกเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจ ทุนวัฒนธรรม ทุนสังคม ทุนปัญญา และทุนคุณค่า อันวางอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า การบริจาคทรัพย์หรือทุนให้แก่พิพิธภัณฑ์ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกของการกระทำความดี
ขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์จะระดมทุนผ่านปฏิบัติการต่างๆ ที่ตรงกับความคิดเห็นและค่านิยมของผู้ให้ว่าเป็นการกระทำความดีเช่นเดียวกัน นำไปสู่การจัดกิจกรรมให้ตรงกับวิถีการบริโภคและการดำเนินชีวิตของผู้มีจิตอาสาและผู้บริจาคทุนในพิพิธภัณฑ์
ก่อนจบงานเสวนา สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ได้กล่าวสรุปเอาไว้ว่า ทั้งสี่บทความมองมรกดทางวัฒนธรรมว่ามีศักยภาพอย่างไรในการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำประโยชน์กับสังคมหรือในพื้นที่นั้น อย่างโรงพยาบาล ศักยภาพในทางวัฒนธรรมที่สามารถทำให้เกิดการเปิดรับผู้คนมากขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
หรืออย่างโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ ก็มีปัญหาทั้งเรื่องอำนาจและการหาแหล่งทุน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มีมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่างที่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ เพียงแค่เราพลิกหรือเปลี่ยนมุมมองก็สามารถเห็นได้ว่า สถาบันที่ให้ความรู้นั้นๆ มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่จะทำให้เรารู้ว่าเราควรจัดการกับมันอย่างไร