กรณีองค์ดาไลลามะชวนเด็กน้อยชาวอินเดียให้ดูดลิ้นท่านในที่สาธารณะ ถูกมองและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยมุมมองที่หลากหลาย ทั้งมิติทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับการทักทายของชาวทิเบต ทั้งประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ทั้งการมองว่าเป็นบุคลิกส่วนตัวที่ขี้เล่นของท่าน แต่มุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจมองข้ามหรือไม่ ทั้งที่เป็นมุมข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์คือ ท่านเป็นผู้สูงอายุ
ด้วยวัย 87 องค์ดาไลลามะไม่ใช่ผู้สูงอายุธรรมดา หากเป็นผู้สูงอายุตอนปลาย ในทางการแพทย์แล้วสามารถเกิดภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment: MCI) ได้เป็นเรื่องปกติ
ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย หมายถึงความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองในการทำหน้าที่ด้านการรู้คิดอย่างน้อยหนึ่งด้าน อันเกิดจากกระบวนการรับรู้ของสติปัญญาที่เสื่อมลงตามปกติของผู้สูงอายุ ในทางการแพทย์ถือว่าเป็นภาวะของสมองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการทำงานของสมองถดถอยปกติตามวัย (normal aging) กับ ภาวะสมองเสื่อม (dementia) โดยการทำงานของสมองจะเสื่อมลงอย่างน้อย 1 ใน 6 ด้าน รวมถึงอาจมีความผิดปกติด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น การแสดงอาการที่ไม่เหมาะสมทางสังคมออกมา การมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา เลือกใช้คำไม่ถูก มีปัญหาเรื่องความจำระยะสั้น และสมาธิ เป็นต้น ผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
หากย้อนกลับไปมองจะพบว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์ดาไลลามะพูดหรือแสดงกิริยาอันไม่สมควรต่อสาธารณะ
ปี 2018 องค์ดาไลลามะในวัย 83 ปี กล่าวในการประชุมที่กรุงมัลโม (Malmo) ประเทศสวีเดน ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่ายุโรปเป็นของชาวยุโรป” และ “ผู้ลี้ภัยควรกลับประเทศบ้านเกิดของตนเอง เพื่อสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่”
การพูดคุยในวันนั้นเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งในสวีเดนไม่นาน และพรรคขวาจัดอย่างเดโมแครตได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก (แม้จะยังตามหลังพรรคฝ่ายซ้าย) ประเด็นหลักของเวทีในวันนั้นว่าด้วยประชาธิปไตยและผู้ลี้ภัย อีกทั้งมัลโมยังเป็นเมืองที่มีประชากรผู้ลี้ภัยชาวอาหรับเป็นจำนวนมาก การแสดงความเห็นขององค์ดาไลลามะ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับไปที่องค์ท่านอย่างรุนแรง ทั้งเรียกท่านว่า ‘หัวดื้ออันดับต้นๆ’ และ ‘มือถือสากปากถือศีล’ ไปจนถึงการไล่ให้ท่านทรงทำตนเป็นแบบอย่างด้วยการกลับไปสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ที่ทิเบต
ปีเดียวกัน ท่านยังกล่าวถึง ยวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ว่าเป็น “พวกเอาตัวเป็นศูนย์กลาง” และพาดพิงไปถึง มหาตมะ คานธี ว่า ต้องการให้โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (ภายหลังได้รับการยกย่องในฐานะบิดาแห่งปากีสถาน) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า แต่เนห์รูไม่ยอม และยังกล่าวด้วยว่า หากความปรารถนาของคานธีเป็นจริง อินเดียและปากีสถานจะยังคงเป็นหนึ่งเดียวกันจนถึงวันนี้
2 วันให้หลัง ดาไลลามะออกมาขอโทษต่อการแสดงความเห็นอันไม่เหมาะสมของตนเอง
ปี 2019 ในวัย 84 ปี พระองค์ท่านออกมาให้สัมภาษณ์ BBC ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ท่านกล่าวว่า หากในอนาคตจะมีดาไลลามะที่เป็นหญิง เธอผู้นั้นก็จะเป็นหญิงที่มีเสน่ห์และสวยที่สุด การสัมภาษณ์ครั้งนั้นถูกวิจารณ์อย่างมาก และเป็นอีกครั้งที่ท่านออกมากล่าวขอโทษต่อสาธารณะ
ข้อสังเกตคือ ไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะว่า ดาไลลามะเคยพูดหรือแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในลักษณะเดียวกันนี้ก่อนเข้าสู่วัยชรา
เหตุการณ์ล่าสุด เริ่มต้นจากเด็กนักเรียนชาวอินเดียขอขึ้นไปกอดองค์ดาไลลามะบนเวทีที่ท่านนั่งบรรยายอยู่ ซึ่งท่านไม่เพียงโน้มตัวเด็กเข้าไปกอด หากยังยื่นริมฝีปากไปให้เด็กใช้ปากสัมผัสตอบและแลบลิ้นให้เด็ก อันเป็นการทักทายตามธรรมเนียมทิเบต ก่อนจะตามด้วยการชวนให้เด็กดูดลิ้นท่าน ซึ่งข้อนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของธรรมเนียมชาวทิเบต
พฤติกรรมการแสดงออกดังกล่าวชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ หลวงปู่แสง จนฺทโชโต (ญาณวโร) อายุ 98 พรรษา วัดป่าดงแสวงธรรม อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เมื่อปีที่แล้ว ปรากฏคลิปภาพการยื้อยุดร่างกายสีกาผู้ไปกราบทำบุญกับท่านเผยแพร่ในออนไลน์ ก่อนที่คลิปดังกล่าวจะถูกขยายความไปสู่ประเด็นอื่นๆ
เรื่องอื้อฉาวของหลวงปู่แสงจบลงด้วยการที่แพทย์ประจำตัวของท่านออกมายืนยันว่าหลวงปู่เป็นอัลไซเมอร์ กิริยาหลายอย่างที่ท่านกระทำเป็นการกระทำโดยไม่รู้ตัว และขบวนการใส่ร้ายท่านได้รับบทลงโทษตามวาระกรรมของตนเอง และพระลูกศิษย์ผู้ถวายการอุปัฏฐากได้รับคำตำหนิที่ไม่คอยกันสีกาให้ห่างจากท่าน เพื่อระวังไม่ให้ท่านแสดงกิริยาไม่เหมาะสม
กรณีดาไลลามะ เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน สิ่งที่โลกมักได้ยินคือ ท่านยังแข็งแรงดี หากไม่นับการเจ็บป่วยที่มีผลการวินิจฉัยของแพทย์ยืนยันว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ความเสื่อมถอยด้านสุขภาพของท่านที่ได้รับการเผยแพร่ให้โลกรับรู้มีเพียงอาการอ่อนล้าและปวดหัวเข่า ซึ่งเป็นอาการทางกายตามช่วงวัยของผู้สูงอายุ ไม่เคยมีการพูดถึงภาวะทางสมองของท่าน
แน่นอนว่า ไม่มีใครบังอาจกล่าวหาว่าท่านมีภาวะการทำงานของสมองที่เสื่อมถอยลง แต่หากพิจารณาด้วยช่วงวัยแล้ว การพูดและการแสดงออกอันไม่สมควรของผู้ชราวัย 80 กว่า ย่อมเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้
โดยปกติแล้ว ย่อมไม่มีผู้ใดต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ อาจเป็นเรื่องที่ผู้ถวายการดูแลของท่านต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง ตระหนักถึงเงื่อนไขสุขภาพของผู้สูงวัย เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำซ้ำ แล้วต้องออกมาขอโทษ ดังที่เคยเกิดมาก่อนหน้านี้
อ้างอิง
- Dalai Lama says “Europe belongs to the Europeans’ and suggests refugees return to native countries
- ‘Past is Past’: Dalai Lama apologises for saying Nehru opposed Gandhi’s wish to make Jinnah PM
- ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์
- ภาวะพุทธิปัญญาการรู้คิดต่อการจำของผู้สูงอายุ