ข้อเสนอเชิงนโยบาย รองรับสังคมสูงวัย 4 มิติ

อีก 2 ปี ข้างหน้า 1 ใน 5 ของประชากรไทย จะกลายเป็นผู้สูงอายุ

ปัญหาของผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มีผลกระทบถึงเราทุกคนใน ‘สังคมสูงวัย’

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของโลกที่คนเกิดน้อยลงและอายุยืนยาวมากขึ้น องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินสถานการณ์ว่า ช่วงปี 2544-2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 1 ใน 10 ของประชากรมาตั้งแต่ปี 2548 และจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 โดยจะมีประชากรสูงวัยจำนวน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และภายในปี 2578 ประมาณการว่าประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยส่งผลกระทบในหลายด้าน จากข้อมูลวิชาการพบว่า ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 95 มีโรคประจำตัว แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตประวันได้ตามปกติ โดยส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และผู้สูงอายุวัยปลายจะมีอัตราการมีโรคประจำตัวสูงขึ้น

ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุถึงร้อยละ 34 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่มีประชากรวัยทำงานเพียง 15 ล้านคน จาก 40 ล้านคน อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ ส่วนปัญหาด้านสังคม พบว่า ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพังคนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สถานการณ์สังคมสูงวัยจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐต้องหามาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงจัดให้มีการประชุมสมัชชานโยบายรองรับสังคมสูงวัย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัยที่ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสุขภาพ มิติสภาพแวดล้อม และมิติสังคม โดยจะเสนอต่อหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

สังคมสูงวัย

ผลักดันนโยบายรับมือสังคมสูงวัยให้เป็นจริง

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ประธานกรรมการดำเนินการประชุมสมัชชานโยบายรองรับสังคมสูงวัย อธิบายความเป็นมาของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ แต่มักแยกส่วนกันทำงานและทำเฉพาะประเด็นของตนเอง สช. จึงทำการศึกษาและรวบรวมข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ มาทำให้เกิดการบูรณาการในการวางแผน รวมถึงจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนมติสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งประกอบด้วยภาคีที่หลากหลาย คอยติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน และรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยยังมีช่องว่างด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ที่ประชุมสมัชชาฯ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 มิติ ได้แก่

  1. ด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นเรื่องการออมหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างที่กำลังเริ่มเป็นที่สนใจคือ การออมด้วยการปลูกไม้ยืนต้น โดยสมัชชาฯ เสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับรองสิทธิของผู้ปลูกในการตัด แปรรูป และจำหน่ายไม้ยืนต้นในพื้นที่กรรมสิทธิ์ตนเองได้ และให้กระทรวงการคลังร่วมกับส่วนอื่นๆ จัดตั้งองค์กรส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อการออม โดยรับรองให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ เช่น การประกันตัว การกู้ยืม การลงทะเบียนเรียน เป็นต้น
  2. ด้านสังคม เน้นการเสริมสร้างศักยภาพและชมรมผู้สูงอายุ เพราะการรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาวะ ข้อเสนอของสมัชชาฯ คือ การมีพื้นที่กลางที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้สำหรับผู้สูงอายุในทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมภายใต้การบริหารงานของผู้สูงอายุเอง โดยหน่วยงานต่างๆ สามารถให้การสนับสนุนผ่านพื้นที่กลางดังกล่าวได้
  3. ด้านสภาพแวดล้อม ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ร้อยละ 5 ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังร้อยละ 11 ผู้สูงอายุอยู่กับคู่สมรสร้อยละ 21 แต่การเดินทางของผู้สูงอายุไทยเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องพึ่งพิงผู้อื่น ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จำเป็นต้องอยู่แต่กับบ้าน จึงเสนอว่าให้ขยายโครงการ 1 ตำบล 1 ศูนย์อยู่ดี ออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
  4. ด้านสุขภาพ เนื่องจากมีผู้สูงอายุที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ศาสนสถาน สถาบันการศึกษา หน่วยบริการสุขภาพ เข้ามาช่วยดูแลคนในชุมชน สร้างสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว รวมถึงการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านเครื่องมืออย่างสมัชชาสุขภาพพื้นที่ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เป็นต้น

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมรับรองมติทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง

สังคมสูงวัย

อนาคตประเทศไทยกับสังคมสูงวัย

ศ.กิตติคุณ เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และที่ปรึกษากรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทยกับสังคมสูงวัย’ ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่น่ากังวลและควรอภิปรายกันให้มากคือ นโยบายรองรับสังคมสูงวัยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกองคาพยพของสังคมต้องร่วมมือกัน จึงควรขยายการศึกษาและดำเนินการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น มิติด้านเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องการออม แต่ต้องดูการบริโภค และการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เพราะปัจจุบันเริ่มใช้จ่ายกับผู้สูงวัยมากกว่าเด็ก

ศ.กิตติคุณ เทียนฉาย กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจพลวัตการเปลี่ยนแปลงประชากรว่า จุดสำคัญคืออัตราการตาย นับตั้งแต่การเริ่มทำสำมะโนประชากรในปี 2490 ทำให้วิเคราะห์อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยได้ ในเวลานั้นอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 45-47 ปีเท่านั้น แต่ปัจจุบันคนอายุยืนยาวมากขึ้น ดังนั้น ปัญหาไม่ใช่เฉพาะอัตราการเกิดที่ลดลง แต่สิ่งที่ส่งผลให้เปลี่ยนโครงสร้างประชากรมากคือ การตาย นักประชากรศาสตร์ต้องอธิบายให้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมสูงวัยเข้าใจ ปัจจุบันไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 90 ปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในครอบครัวหนึ่งจึงไม่ได้มีผู้สูงวัยแค่ 1 รุ่น แต่อาจมีถึง 2 รุ่น ปัญหานี้น่าห่วงอย่างยิ่ง การพิจารณาสถานการณ์สังคมสูงวัยจึงต้องมองให้เห็นภาพรวมทั้งหมด

สังคมสูงวัย

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคมและชุมชนฯ สปช. กล่าวว่า สังคมสูงวัยเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยอยู่แบบเดิมไม่ได้ โดยอีก 4 เรื่องที่เหลือคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน อาหารและน้ำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

นพ.อำพล กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องสังคมสูงวัยนั้น ถึงแม้จะมีการขยายการศึกษาและนำเสนอเป็น 4 มิติ แต่ก็ยังไม่เพียงพอภายใต้แบบแผนของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสังคมมีระบบ โครงสร้างวิธีคิดที่สูงวัยและยากต่อการเท่าทันโลก สิ่งที่อยากให้มุ่งเน้นคือ ชุมชนยังคงเป็นฐานพระเจดีย์ที่สำคัญ ปัจจุบันมีหลายชุมชนที่เป็นต้นแบบการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นให้มากขึ้น

“การจัดการเรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างชุมชนเข้มแข็งและสังคมเข้มแข็ง ควรเน้นการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วม ยึดภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ใช้ชุมชนเป็นฐาน ไม่ยึดติดตำรา ชุมชนท้องถิ่นเป็นความหวัง เราต้องลงไปทำข้างล่างให้เข้มแข็ง แล้วให้ทุกอย่างบูรณาการร่วมกัน”

สังคมสูงวัย

เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวข้อหนึ่งที่ถือว่าสำคัญมากในยุทธศาสตร์ชาติ คือ สังคมสูงวัย มีการพูดถึงการดูแลผู้สูงวัยในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลเท่านั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมขับเคลื่อน เนื่องจากสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของทุกคน

เอ็นนู กล่าวอีกว่า ประเด็นท้าทายมีหลายประการ เช่น การออมเงินเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่ามีน้อยมากเพียง 1 ใน 3 ของประชากรที่มีการเตรียมความพร้อม ดังนั้น ในเบื้องต้นต้องทำให้ประชากรวัย 40 ปีขึ้นไปตระหนัก รอบรู้ และเตรียมการทุกด้านก่อนเข้าสู่วัยชรา ส่วนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปแล้วนั้น ต้องได้รับการส่งเสริมให้ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ให้กับคนรุ่นหลัง รวมถึงการสร้างโอกาส สร้างงานให้ผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

การผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ การสร้างฐานชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งอาจเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่สำคัญการแก้ไขสถานการณ์นี้ไม่ใช่ภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากต้องอาศัยกระบวนการมีร่วมส่วนของทุกฝ่าย

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า