นึกย้อนถึงคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพตัวเองในยามที่ปัญหาฝุ่นพิษกำลังทวีความรุนแรงโดยที่รัฐยังคงไม่มีมาตรการในการแก้ไขเยียวยาที่ชัดเจนออกมา แล้วอยากชวนทุกท่านไปรับชมภาพยนตร์ Dark Waters หรือในชื่อไทยว่า พลิกน้ำเน่า คดีฉาวโลก เพื่อชุบชูสภาพจิตใจ
สำหรับใครที่ชอบหนังแนวสืบสวนสอบสวนที่สะท้อนปัญหาสังคมการเมือง ต้องไม่พลาดที่จะชมหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะหากท่านเคยเป็นแฟนหนัง Spotlight ทีมข่าวสืบสวนที่เปิดโปงด้านมืดของศาสนจักร ยิ่งต้องห้ามพลาด เพราะใช้ทีมผู้สร้างชุดเดียวกัน และหนังเรื่องนี้ยังสร้างมาจากเรื่องจริงและได้แรงบันดาลใจมาจากบทความ The Lawyer Who Became DuPont’s Worst Nightmare ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร The New York Time เมื่อปี 2016
Dark Waters เป็นหนังที่พูดถึง ‘ร็อบ บิลอตต์’ ทนายความและหุ้นส่วนบริษัทกฎหมาย Taft Stettinius & Hollister LLP ทนายความผู้เคยทำงานแก้ต่างให้กับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในคดีสิ่งแวดล้อมที่จับผลัดจับผลูต้องมาฟ้องคดีให้ลูกความที่เป็นเพียงเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการทิ้งกากสารเคมีอันตรายใกล้ชุมชน
เรื่องราวในหนังเริ่มต้นจาก ‘วิลเบอร์ เทนแนนท์’ เจ้าของฟาร์มวัวจากเมืองปาร์เกอร์สเบิร์ก รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ได้บุกไปยังสำนักงานของร็อบ เพื่อให้เขาช่วยเป็นทนายความและหาความจริง หลังสัตว์ในฟาร์มของวิลเบอร์ทยอยล้มตายและวัวหลายตัวมีอาการผิดปกติ เช่น ดุร้าย น้ำลายไหล ตาแดงก่ำ ฟันสีดำ รวมถึงอวัยวะภายในของสัตว์ที่บวมเป่ง หลักฐานที่วิลเบอร์เตรียมไว้ให้ทนายความเป็นชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ และเทปบันทึกภาพความผิดปกติของสัตว์ในฟาร์ม
ในตอนแรก ร็อบในฐานะทนายความผู้ทำงานมาให้กับเอกชนยักษ์ใหญ่มาตลอด ไม่เชื่อว่าบริษัทซึ่งเป็นลูกความของเขาจะกระทำความผิด เขาพยายามหาหลักฐานมาเพื่อแก้ต่างให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยขอรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากบริษัทเพื่อยืนยันว่า บริษัทไม่ได้ก่อความผิด และเอกสารที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมก็ระบุว่า พื้นที่รอบฟาร์มเป็นปกติ ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มเป็นผลมาจากการดูแลของเจ้าของฟาร์มที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่เจ้าของฟาร์มกลับด่าทอว่า เขาเอาแต่เชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่บริษัทบอกแต่ไม่ได้ค้นหาความจริง
จากคำด่าทอของเกษตรกร ร็อบตัดสินใจรับคดีและพยายามค้นคว้าหาข้อเท็จจริงให้มากขึ้น แต่การค้นหาความจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาต้องต่อสู้กับกองเอกสารนับพันนับหมื่นฉบับที่ทางบริษัทจัดเตรียมให้กับเขา จนท้ายที่สุด เขาก็ค้นพบความจริงว่า สารเคมีเจ้าปัญหามีชื่อว่า กรดเปอร์ฟลูโอโรออคตาโนอิค หรือเรียกสั้นๆ ว่า PFOA หรือ C8 สารเคมีที่ใช้เป็นสารเคลือบกระทะเทฟล่อน แต่ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจที่สุด คือ บริษัทล่วงรู้มาโดยตลอดเกี่ยวกับสารเคมีพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตของตัวเอง พวกเขาทั้งวิจัยและทดลองกับเจ้าหน้าที่ในบริษัท แต่ก็ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเลย
หนังพยายามฉายภาพความฉ้อฉลของบริษัทเอกชนหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามกลบเกลื่อนหลักฐาน การทำลายหลักฐาน การกดดันและคุกคามบรรดาผู้ที่บังอาจท้าทายอำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าวิธีการดังกล่าวจะละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมืองสักแค่ไหนก็ตาม
ส่วนอีกด้านของปมปัญหาในหนังมาจากความห่วยแตกและไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐ ไล่ตั้งแต่การทำงานรายงานตรวจสอบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีข้อเท็จจริง การไม่มีมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ในการควบคุมตรวจสอบการใช้สารเคมีพิษหรือการจัดการกับสารเคมีพิษที่กระทบต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม จนสุดท้ายชาวบ้านและทนายความอย่างร็อบต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเดียวดาย แถมกระบวนการต่างๆ ก็ไม่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานมากนัก เพราะเขาต้องใช้เวลาเป็นสิบปีในการชนะคดีแรกในศาล ทั้งที่เขามีลูกความกว่า 3,500 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 70,000 คน
จุดน่าสนใจอีกอย่างที่หนังถ่ายทอดออกมาได้ดีมากคือ ‘ความโดดเดี่ยว’ ของเหล่าบรรดาผู้ที่ต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ชาวบ้านที่ออกมาเป็นแกนนำต้องต่อสู้กับเพื่อนบ้านชาวเมืองซึ่งเคยได้รับผลประโยชน์มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่มาก่อน ในขณะที่ร็อบก็ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจต่อสู้ในขณะที่เขายังมีคนในครอบครัวได้แก่ลูกและภรรยาอยู่เบื้องหลัง ผู้ซึ่งต้องแบกรับปัญหาแทนร็อบทุกอย่างเพื่อให้การต่อสู้ของเขาสำเร็จไปได้ด้วยดี ซึ่งนี่คือด้านกลับของคนที่ถูกยกย่องให้เป็น ‘ฮีโร่’ มันคือการผลักภาระไปให้คนอีกคนหนึ่งอย่างมหาศาล และปล่อยให้เขาแบกรับความหนักอึ้งต่างๆ แต่เพียงลำพัง
เมื่อดูหนังจบ มันชวนให้เราตั้งคำถามทั้งต่อรัฐ ต่อทุน อย่างหนักหน่วง เมื่อสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยก็ไม่ได้แตกต่างกัน มีหลายครั้งที่ทุนใหญ่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน ยกตัวอย่างเช่น คดีสายน้ำปนเปื้อนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้ามาทำเหมืองอยู่บริเวณเหนือแหล่งน้ำ และได้ทิ้งของเสียลงไปในแหล่งน้ำใกล้เคียง จนลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนไปด้วยสารตะกั่ว และกระทบต่อชาวบ้านที่ต้องใช้น้ำแทนน้ำประปา หรือ การจับปลาเพื่อหากิน ซึ่งชาวบ้านและทนายความต้องใช้เวลากว่า 15 ปี ถึงจะชนะคดีให้กรมควบคุมมลพิษกำจัดมลพิษและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และชดใช้ค่าเสียหายจากการละเลยล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วยที่ผ่านมา
หรือคดีเหมืองแร่เมืองเลย ที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ทำเหมืองแร่บริเวณอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย แต่ต่อมามีการตรวจพบแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน และพบสารไซยาไนด์ในลำน้ำฮวย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำของชุมชน ต่อมามีการตรวจสอบแหล่งน้ำพบว่า มีสารหนู สารตะกั่ว และสารแมงกานีส และแคดเมียมปนเปื้อนในน้ำ ซึ่งชาวบ้านต้องใช้เวลาต่อสู้กว่า 13 ปี และชนะคดีให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวบ้าน แต่กว่าจะมาถึงวันที่ชนะคดี ชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามในหลายรูปแบบ เช่น เหตุการณ์กลุ่มชายฉกรรจ์ร่วม 300 คน พร้อมอาวุธ เข้าทำร้ายกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่หนังทิ้งให้เราขบคิด คือปัญหาสิ่งแวดล้อมคงไม่ใช่แค่เรื่องของปัญหาจิตสำนึกแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในการกำกับรัฐและทุน หนังและเหตุการณ์ดังกล่าวคือภาพสะท้อนของระบบที่กำลังล้มเหลวและผลักให้ประชาชนบางกลุ่มต้องออกมาต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว