The Destruction of Memory: เมื่อวัตถุสถานถูกทำให้สูญหาย การจดจำจึงเป็นหน้าที่

นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีวัตถุและสถานที่อย่างน้อย 7 อย่าง ถูกทำให้สูญหายหรือถูกเคลื่อนย้ายหายไปอย่างลึกลับ การเคลื่อนย้ายและหายไปของวัตถุสถานดังกล่าวไม่สามารถหาคำอธิบายในเชิงวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรมได้ อีกทั้งการหายไปของวัตถุสถานเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มบุคคลชุดเดียวกัน นั่นก็คือ ‘คณะราษฎร’ หรือผู้ที่กระทำการ ‘ปฏิวัติสยาม’ เปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ปรากฏการณ์ดังกล่าวชวนให้นึกย้อนถึง The Destruction of Memory หนังสารคดีที่สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันของ ‘โรเบิร์ต บีแวน’ ที่พาไปดูการทำลายล้าง ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ซึ่งเป็นมากกว่าการทำลายล้างวัตถุหรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นความพยายามลบล้างประวัติศาสตร์ ความทรงจำ รวมถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มคนหรือชนชาติ ที่อาจนำไปสู่การกวาดล้างหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ลบสถานที่-ลบผู้คน-ลบประวัติศาสตร์

หนึ่งในวิธีลบประวัติศาสตร์ ก็คือการทำลายร่องรอยทางกายภาพของประวัติศาสตร์นั้น ทำให้คนเชื่อว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ไม่เคยมีอะไรอยู่ตรงนั้นมาก่อน

แดเนียล ลิเบสคินด์ สถาปนิกผู้ออกแบบ Jewish Museum พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าความทุกข์ทรมานของชาวยิวในเบอร์ลินช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

The Destruction of Memory พาเราไปย้อนดูร่องรอยของความพยายามลบล้างประวัติศาสตร์เพื่อลบล้างอัตลักษณ์ของผู้คนตั้งแต่สมัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิ เหตุการณ์ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย’ โดยจักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันคือบริเวณประเทศตุรกี) ซึ่งคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1.5 ล้านคน การกวาดล้างครั้งนั้นมีการขับไล่ผู้คน ทำร้าย รวมถึงการสังหารและเผาทำลายหมู่บ้าน หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับชาวอาร์เมเนียอีกด้วย

โรเบิร์ต บีแวน ผู้เขียนหนังสือ The Destruction of Memory เล่าในหนังสารคดีว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความทรงจำต่อชาวอาร์เมเนียลดลง ครั้งหนึ่ง ฮิตเลอร์ เคยถามว่า “มีใครจำพวกอาร์เมเนียได้บ้าง?” แต่มีไม่กี่คนที่จำได้ เพราะชาวเติร์ก (จักรวรรดิออตโตมัน) พยายามลบล้างความทรงจำต่อผู้คนอย่างต่อเนื่อง มีการโยกย้ายหลักฐานทางกายภาพของชาวอาร์เมเนีย รวมถึงการระเบิดอาคารหรือทำลายสุสานที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวอาร์เมเนีย เป็นต้น

ไซมอน มากาเคียน นักกิจกรรมและนักการศึกษาที่มีเชื้อสายอาร์เมเนีย ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในหนังสารคดีด้วยว่า “นับพันปีที่ชาวอาร์เมเนียกำหนดเขตแดนด้วยสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ส่วนใหญ่เป็นโบสถ์ แต่ก็ยังมีอนุสรณ์สถาน การโจมตีโบราณสถานก็เท่ากับการกดขี่ผู้คนและช่วยกำจัดพวกเขาได้ง่ายขึ้น”

ทุบทำลายเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่

นอกจากทุบทำลายเพื่อลบประวัติศาสตร์ สารคดียังถ่ายทอดให้เห็นเป้าหมายสำคัญอีกประการของสงครามทำลายสิ่งของและสถานที่ นั่นก็คือ ‘การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่’

ผู้ที่นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ก็คือ กลุ่มไอซิส (Islamic State of Iraq and Syria) หรือ กลุ่มคลั่งศาสนาที่ต้องการสร้างรัฐอิสลามและเชื่อว่า ศิลปวัฒนธรรมและรูปเคารพบูชาทุกอย่างที่เกิดก่อนศาสนาอิสลามเป็นสิ่งจอมปลอม ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลามและสมควรต้องถูกทำลายทิ้ง ซึ่งนำไปสู่การทำลายโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายแห่ง อาทิ การทำลายเมือง ‘พัลไมรา’ ในซีเรีย ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอารยธรรมกรีก โรมัน และเปอร์เซียที่สำคัญ หรือการทำลายเมือง ‘โมซูล’ ของอิรักที่มีแหล่งอารยธรรมโบราณของชาวสุเมเรียนและอาณาจักรอัสซีเรีย

“เป้าหมายหลัก (ของไอซิส) คือ กวาดล้างสิ่งที่พวกเขามองว่าไม่ใช่การปฏิบัติของอิสลาม เพื่อจะได้ฟื้นฟูอิสลามให้กลับมาสู่สถานะที่อยากให้เป็นและยึดครองอำนาจ”

คือคำกล่าวของ อัมร์ อัล-อาซัม ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยชอว์นีสเตตและนักโบราณคดีชาวซีเรีย

การหยุดสงครามต้องมีกลไกที่เข้มแข็ง

แม้ปัจจุบันจะมีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ออกแบบมาเพื่อปกป้อง ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ แต่ในหนังเรื่องนี้ก็ยังพยายามชี้ให้เห็นว่า การจะแก้ปัญหาสงครามลบล้างประวัติศาสตร์และความทรงจำ จำเป็นจะต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นศาล รัฐบาล กองทัพ การให้การศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ เพราะข้อจำกัดสำคัญของการแก้ปัญหาคือ คนที่มีอำนาจยังไม่เข้าใจปัญหาของการทำลายทางวัฒนธรรม

อัลเบิร์ต โคเอนเดอร์ส อดีตผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ  กล่าวในสารคดีว่า

เราต้องมีอนุสัญญาเหล่านั้นและเราต้องสร้างการเมืองที่มีความสำคัญต่อการคุ้มครองทางทหาร ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่เหนือสิ่งอื่นใดมันคือการป้องกัน มันเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เป็นการต่อสู้กับวิธีการเลวร้ายในการเมืองเรื่องอัตลักษณ์…

ด้าน คอรีน เวเกเนอร์ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม สถาบันสมิธโซเนียน กล่าวในสารคดีด้วยว่า “อนุสัญญากรุงเฮกมีไว้เพื่อสร้างกลไกการลงโทษผู้ที่ละเมิด จึงเป็นเหตุผลที่เราอยากให้ทุกคนตระหนักและสามารถเก็บข้อมูลการทำลายที่กำลังเกิดขึ้นได้ เราจะได้พิจารณาเรื่องนี้ได้จริงจังในอนาคต”

อย่างไรก็ดี ความหวังต่อการใช้กลไกระหว่างประเทศก็มีมากขึ้น หลังศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับพิจารณาคดีความผิดของ ‘อาหมัด อัล ฟาคี อัล มาห์ดี’ นักรบติดอาวุธชาวมุสลิมที่ทำลายโบราณสถาน ‘ทิมบักตู’ ซึ่งเป็นมรดกโลก ในข้อหาเจตนาโจมตีทรัพย์สินทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2016 ก่อนจะมีคำพิพากษาในปีเดียวกันให้ลงโทษจำคุก ‘มาห์ดี’ เป็นเวลา 9 ปี

เทคโนโลยีสามมิติ: แสงเทียนกลางสายฝน

ท่ามกลางข้อจำกัดของกลไกในระดับรัฐและกลไกระหว่างประเทศที่ยังไม่สามารถเข้ามาคลี่คลายปัญหาสงครามลบล้างความทรงจำและประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด แต่ทว่า ก็ยังมีกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อจะกู้คืนวัตถุและสถานที่ทางประวัติศาสตร์และความทรงจำผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การทำแบบจำลองสามมิติแบบดิจิตอล หรือ การพิมพ์แบบจำลองสามมิติขึ้นมาจริงๆ

โมเรห์ซิน อัลลาฮ์ยารี ศิลปินชาวอิหร่านและอเมริกันผู้ใช้การพิมพ์แบบจำลองสามมิติกู้คืนประวัติศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในหนังสารคดีว่า เธอไม่คิดว่ามีวิธีไหนที่จะสร้างอะไรมาแทนอะไรได้ ไม่ว่าจะจับต้นแบบมาสแกนสามมิติหรือพิมพ์สามมิติ แต่สิ่งที่เธอทำได้ก็แค่สร้างสิ่งที่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับอนาคตให้ผู้คนได้กลับมาเห็นว่าสิ่งของทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทำลายมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ด้าน เอลิซาเบธ รองประธานองค์กรไซอาร์คที่ทำภาพจำลองสามมิติของสถานที่ประวัติศาสตร์ในรูปแบบดิจิตอล ยังกล่าวในสารคดีด้วยว่า “เราไม่ได้แค่ต้องรับมือกับปัญหาอย่างภาวะโลกร้อนหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งส่งผลร้ายต่อสถานที่เหล่านี้ แต่การทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ก็เป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นทุกที”

Author

ณัชปกร นามเมือง
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี และเลือกหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า