Last Night I Saw You Smiling: บันทึกความทรงจำสุดท้ายของผู้คนในตึกขาว

Last Night I Saw You Smiling สารคดีเรื่องแรกของผู้กำกับรุ่นใหม่ชาวกัมพูชา กวิช เนียง (Kavich Neang) เจ้าของรางวัล NETPAC Award ในเทศกาลหนังนานาชาติร็อตเตอร์ดัม 2019 คือหนังสารคดีที่ว่าด้วยช่วงเวลาการอพยพย้ายออกของครอบครัวผู้กำกับและชาวบ้านอีกราว 492 ครอบครัวที่อาศัยในตึกขาว (White Building) ซึ่งถือเป็น public housing แห่งแรกในกัมพูชา  ตึกที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดและดับลงช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจ (ปี 1975) ก่อนที่จะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งหลังเขมรแดงสิ้นอำนาจลง (ปี 1979) ด้วยนโยบายของรัฐที่เชิญชวนเหล่าศิลปินทุกแขนงและข้าราชการมาอาศัยในตึกแห่งเพื่อทำให้มันกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง

กวิช เนียง เปิดเผยว่า เดิมทีโปรเจกต์หนังเรื่องนี้ไม่เคยมีมาก่อน ตัวเขาเองมีหนัง fiction ที่จะเล่าถึงเรื่องตึกขาวอยู่แล้ว ทว่าจู่ๆ ก็มีข่าวสั่งย้ายและทุบตึกนี้ทิ้ง ทำให้เขาจำเป็นต้องหยุดโปรเจกต์หนังยาว แล้วหันมาบันทึกสิ่งกำลังเกิดขึ้นตรงหน้าเสียก่อน

ผู้กำกับซึ่งเกิดและเติบโตมาในอาคารแห่งนี้ เล่าเรื่องโดยอาศัยการจับจ้อง มองความเป็นไปในช่วง 30 วันสุดท้ายของการอยู่อาศัย ด้วยมุมกล้องที่เรียบนิ่ง

ทว่าบรรยากาศของหนังไม่เป็นอย่างนั้น

แน่นอนในสถานะของหนังมันชัดเจนมากว่าเป็นบันทึกความจำทรงจำของคนที่อยู่อาศัยในตึกขาวแห่งนั้น ขณะเดียวกัน มันก็ทำหน้าที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของตัวตึกขาวเอง ที่หลังจากนี้มันจะกลายเป็นเพียงความทรงจำ

ในหนังเราจึงเห็นความพยายามในการบันทึกทั้งความเป็นไปของตัวตึกที่ถูกทุบไปทีละเล็กทีละน้อย รวมไปถึงความทรงจำของผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น ที่ดูแล้วก็อดนึกถึงกรณี ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ของกรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อย

มีคำพูดที่น่าสนใจ เป็นของคุณป้าท่านหนึ่ง กล่าวถึงการย้ายออกครั้งนี้ว่า “มันไม่ต่างอะไรจากสมัยเขมรแดง เพียงแต่รอบนี้มีรถบบรรทุกมาช่วยย้ายของออกไป” หรือแม้แต่การที่ผู้กำกับพยายามถามความรู้สึกของพ่อตัวเองที่มีต่อตึกแห่งนี้ อันเปรียบเสมือนบ้านของพวกเขาว่า “รู้สึกอย่างไร” ทว่าพ่อพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ จนต้องถามย้ำถึงสามครั้งด้วยกัน ถึงจะยอมรับว่า ที่ไม่ตอบ เพราะมันอัดอั้น จะร้องไห้นั่นเอง

ผู้กำกับเล่าให้ฟังในช่วง Q&A ว่า หลังจากพยายามที่จะตัดสารคดีเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง ทว่าไม่สามารถเริ่มได้ จนต้องหาคนตัดมาช่วยโปรเจกต์นี้ และสิ่งแรกหลังจากที่คนตัดหนังได้ดูฟุตเทจทั้งหมดพูดคือ “ดูคุณหมกหมุ่นกับระเบียง และทางเดินเป็นพิเศษ” จากนั้นโปรเจกต์จึงเริ่มต้นด้วยการยึดโยงเอาทางเดิน (corridor) ซึ่งเป็นพื้นที่กายภาพที่เชื่อมคนในตึกไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกันการบันทึกของหนังนี้เองก็เป็นการเชื่อมความทรงจำร้อยไว้ด้วยกัน

ปัจจุบันสถานะของตึกขาวได้เปลี่ยนไป ถูกขายให้กับนายทุนจากญี่ปุ่น เพื่อนำไปสร้างเป็นพัฒนาเพื่อการพาณิชย์ตามแผนนโยบายของรัฐส่วนกลาง ซึ่งหากย้อนไปยังจุดกำเนิดของตึกขาวแห่งนี้ สามารถเรียกได้ว่านี่คือ Public Housing หรือแฟลตเคหะ (อารมณ์คล้ายๆ กับแฟลตดินแดง) แห่งแรกของกัมพูชา ถูกสร้างขึ้นในปี 1963 ตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาด้วย) ที่ต้องการพัฒนาเมืองพนมเปญให้เจริญขึ้นหลังจากได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศส (ในปี 1953) รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในเมืองพนมเปญที่เริ่มหนาแน่นด้วยเช่นกัน

ตึกขาวเป็นการออกแบบร่วมกันโดยสถาปนิกชาวกัมพูชาและรัสเซีย ลู บัน ฮับ (Lu Ban Hap) และ วลาดิเมียร์ โบเดียนสกี (Vladimir Bodiansky) ควบคุมการก่อสร้างโดยสถาปนิกคนสำคัญของกัมพูชา วันน์ โมลีวันน์ (Vann Molyvann) ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2017 ด้วยอายุ 90 ปี

ดังนั้น เมื่อพูดถึงการจากไปของตึกขาวเพื่อสอดรับการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจแล้ว จึงอยากชวนคุยถึงงานสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นของกัมพูชา ที่อดีตเคยรุ่งโรจน์สุดขีดมาแล้ว และแน่นอนว่าในแวดวงสถาปัตย์คงไม่มีใครไม่รู้จัก วันน์ โมลีวันน ผู้เปรียบเสมือนบิดาของงานสถาปัตย์ยุคโมเดิร์นของกัมพูชา เขาได้สร้างงานระดับมาสเตอร์พีซเอาไว้มากมายหลายชิ้น (งานส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปี 1960–ก่อนเขมรแดง) อาทิ สนามกีฬากลางแห่งชาติ อาคารเรียนภาควิชาภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรอยัลพนมเปญ อนุเสาวรีย์อิสรภาพ (Independence Monument)

วันน์ โมลีวันน์ สถาปิกคนสำคัญของกัมพูชา

ช่วงบั้นปลายของชีวิต วันน์ โมลีวันน์ ได้วิพากษ์วิจารณ์แผนการพัฒนาเมืองของรัฐบาลฮุนเซนไว้อย่างถึงพริกถึงขิงว่า อดีตครั้งหนึ่งพนมเปญ เมืองหลวงกัมพูชา ได้ถูกพัฒนาและวางผังเมืองไว้จนได้สมญาน้ำว่าเป็น ‘ไข่มุกแห่งเอเชีย’ แต่ภายหลังสงครามกลางเมือง เขมรแดงสิ้นอำนาจลง พร้อมๆ กับการเข้ามาของรัฐบาลฮุนเซนในปี 1979 กัมพูชาก็ถูกพัฒนาไปไร้แผน (freehand) คลองและบึงที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำกลับถูกถม ตึกสำคัญๆ มากมายถูกทุบทิ้ง เพื่อนำไปสร้างศูนย์การค้า ตึกสำนักงาน และบ้าน แม้กระทั่งสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นอาคารที่มีการออกแบบฟังก์ชันที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในกัมพูชา และอาจกล่าวได้ถึงขั้นว่า ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ ก็มีแผนจะทุบทิ้ง เพื่อเปิดทางให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

โมลีวันน์มองว่า การพัฒนาแบบไร้แผนนี้ไม่นานเมืองพนมเปญจะเต็มไปด้วยสลัม ไม่ต่างจากย่าน La Favela สลัมที่ใหญ่ที่สุดในเมือง ริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล เขากล่าวว่า “ชาวเขมรเป็นกลุ่มคนที่ยืดหยุ่นสูง อดีตแม้เราเคยถูกโจมตีและรุกรานจากทั้งจากการเมืองภายใน และหลายๆ ประเทศ แต่วัฒนธรรมของเราไม่เคยสูญหายไปไหน” เขาเชื่อว่า ตราบใดก็ตามที่รัฐบาลกัมพูชาขณะนั้นยังคงอยู่ในอำนาจ พนมเปญจะไม่มีทางพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้เลย และยังมองไม่เห็นว่าประชาชนจะอยู่รอดได้อย่างไรภายใต้การพัฒนาแบบนี้

สำหรับกรณีตึกขาวใน Last Night I Saw You Smiling เราจะเห็นว่า การต่อรองระหว่างประชาชนกับรัฐนั้นเป็นไปในลักษณะที่ ฝ่ายประชาชนต้องจำยอมเสียมากกว่า ทั้งจากการพยายามขอเพิ่มเงินเยียวยาให้เพียงพอต่อการหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐไม่มีคำตอบว่าสมควรได้หรือไม่ แม้ว่าคนคนนั้นจะทำงานให้รัฐจนใกล้เกษียณแล้วก็ตาม หรือกระทั่งการที่หนังแตะเรื่องความไม่ไว้ใจของชาวบ้านที่มีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเงินเยียวยา ที่มีคำถามว่า พวกเราจะได้จริงๆ หรือเปล่า

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ลึกๆ แล้ว สถานะชาวบ้านในสายตารัฐ และรัฐในสายตาของชาวบ้าน แทบจะเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อรัฐมุ่งแต่ผลกำไร ผลักให้คนกลายเป็นคนจนเมืองมากขึ้น ขณะที่ชาวบ้านเองก็ไม่ไว้ใจรัฐ แต่ก็ทำอะไรได้ไม่มากไปกว่าต้องจำยอมภายใต้เงื่อนไข กติกาทางการเมือง ความไม่ไว้ใจและความรู้สึกไม่มั่นคงในการสูญเสียที่อยู่อาศัย อันเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์

สิ่งนี้สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจนในซีนสุดท้าย เมื่อจู่ๆ กล้องที่กำลังจับภาพกลุ่มฝุ่นควันสีขาวอยู่นั้นได้เคลื่อนออกไปอย่างไร้ทิศไร้ทาง ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เพียงการบันทึกความทรงจำอันกระจัดกระจายของผู้คนที่เคยอาศัย ทว่าจะตั้งคำถามถึงการพัฒนา ตั้งคำถามถึงคอนเซปต์ของถิ่นอาศัย ที่อยู่ และคาวมเป็นรากเหง้าได้ดีอีกด้วย

ผู้กำกับเคยพูดไว้ในงานเทศกาลภาพยนต์อาเซียนว่า “ทุกครั้งที่หนังเรื่องนี้ได้ฉาย มันจึงเป็นการได้กลับไปใช้ชีวิตในตึกขาวแห่งนี้อีกครั้ง มันคือ 75 นาทีที่เหมือนได้หลับตาฝัน” และสำหรับเขาและหลายๆ คนแล้ว บ้านจึงไม่ใช่แค่เพียงผนัง ประตู หน้าต่าง ทว่ามันคือพื้นที่ทางใจและจิตวิญญาณด้วย

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้พูดว่าต้องต่อต้านการพัฒนา หากแต่การพัฒนารูปแบบไหนต่างหาก ที่จะไม่ทำให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นี่คือโจทย์สำคัญในการพัฒนาเมือง


อ้างอิงข้อมูลจาก:

Phnom Penh’s Most Famous Urban Planner Sees a City on the Verge of Collapse
Tonle Bassac Commune
About the White Building
Ministry praises redevelopment of White Building as ‘model for future’

Author

วาริช หนูช่วย
มนุษย์เงินเดือนธรรมดาคนนึง ที่เฝ้ามองความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรม รักแสงแดดยามบ่ายที่ส่องลอดเข้ามาในห้อง พอๆ กับการนอนกลิ้งไปมาเหมือนแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า