สัปปายะสภาสถาน: รัฐสภาแห่งใหม่และความหมายที่สูญหายของประชาชน

อาคารรัฐสภา คือสถานที่อันเป็นตัวแทนของสภานิติบัญญัติของชาติ เป็นสถานที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย – ในความหมายที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

อาคารรัฐสภาเก่า ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ข้างสวนสัตว์ดุสิต เปิดใช้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2517 หลังใช้งานมากว่า 44 ปี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 พื้นที่รัฐสภาก็ถูกส่งคืนให้สำนักพระราชวัง

ย้อนกลับไปปี 2551 ได้มีโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ทดแทนแห่งเดิมที่คับแคบ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ดินราชพัสดุขนาด 123 ไร่ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต กรุงเทพฯ

อาคารรัฐสภา ‘สัปปายะสภาสถาน’ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 คาดว่าจะเปิดใช้งานได้จริงปลายปี 2562 ถูกออกแบบให้มีลักษณะของสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ไตรภูมิตามพระไตรปิฎก ใช้งบประมาณราว 23,500 ล้านบาท แต่ด้วยปัญหาหลายประการ ทำให้โครงการล่าช้า จนการประชุมสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งใหม่ซึ่งกำหนดไว้ 25 พฤษภาคม 2562 ต้องย้ายไปยังที่ทำการชั่วคราว อาคาร ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ

ตั้งแต่มีการเปิดเผยแบบสุดท้ายก่อนทำการก่อสร้าง ‘สัปปายะสภาสถาน’ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม ที่ถูกมองว่าเป็นการจับคู่คอนเซ็ปต์กับฟังก์ชั่นชนิดผิดฝาผิดตัว

แน่นอนว่าการออกแบบอาจไม่มีผิดถูก แต่การออกแบบที่ดีและเหมาะสมนั้นตัดสินได้ด้วยสายตาและการใช้งาน มุมมองของ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือ รัฐสภาควรเป็นจุดเริ่มต้นศักราชใหม่ทางการเมือง แต่คอนเซ็ปต์ที่ออกแบบให้สัปปายะสภาสถานคล้ายกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักศาสนานั้นได้ลดทอนความหมายของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไปอย่างมาก

ท่ามกลางความใหญ่โต หรูหรา และความเป็นไทยที่ถูกกำกับด้วยแนวคิดศาสนาของสัปปายะสภาสถาน ชวนอ่านบทสนทนาเชิงวิพากษ์อาคารสถาปัตยกรรมสำคัญของประเทศไทย จริงหรือไม่ที่จะกล่าวว่า “รัฐสภาหลังใหม่เป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่น่าผิดหวังที่สุด”

สัปปายะสภาสถาน

กระแสการใช้รูปแบบความเป็นไทยมาเป็นแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารราชการเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่

กระแสความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรมเริ่มต้นขึ้นหลังการรัฐประหาร 2490 หลังจากที่ จอมพลผิน (ชุณหะวัณ) เอาคณะราษฎรออกไป เพราะศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎรจะมีลักษณะของ ความทันสมัย (modern) ให้ความรู้สึกก้าวล้ำ ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

หลังเหตุการณ์ปี 2490 ก็มีการย้อนกลับไปหาความเป็นไทยแบบวัด โบราณสถาน อิทธิพลแบบนี้ถูกนำมาครอบลงบนอาคารสมัยใหม่ และยังคงมีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากบริบทของการรัฐประหารปี 2490 เป็นการรัฐประหารที่ย้อนกลับไปหาอุดมการณ์อนุรักษนิยม เพราะฉะนั้น ปริมณฑลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมกับการเมืองก็สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน

โดยทั่วไปอาคารที่ใช้ความเป็นไทยในการออกแบบ เรามักจะใช้แค่เปลือก รูปทรง แต่แนวคิดและการใช้พื้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัดเลย เช่น อาคารราชการของไทย หลังคาเป็นลักษณะทรงไทยเท่านั้น แต่รัฐสภาหลังใหม่นี้กลับตรงกันข้าม ลักษณะเหมือนวัด พื้นที่ (space) ข้างในก็เหมือนวัด ข้างบนตัวอาคารเป็นที่ประดิษฐานจุฬามณีเจติยสถาน เป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช นอกจากจะเหมือนวัดแล้ว ก็ยังพาเราย้อนกลับไปหาโลกอดีตโดยสมบูรณ์

สัปปายะสภาสถาน

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าอาคารรัฐสภาใหม่ใช้แนวคิดแบบวัด คำว่า ‘แนวคิดแบบวัด’ ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร

ตัวแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์ของรัฐสภาใหม่ คือ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ซึ่งแปลว่า ที่สงบ สะดวกสบาย ในทางธรรม เขาเอามาจากพระไตรปิฎก แต่ตัวโครงสร้างอาคารทั้งหมดเอามาจากแนวคิดไตรภูมิและเขาพระสุเมรุ ยกมาแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเวลาเราดูอาคารหลังนี้จากภายนอกก็จะคล้ายๆ กับเขาพระสุเมรุ มีมณฑปหรือเจดีย์ทองอยู่บนยอด มีป่าหิมพานต์ล้อมรอบ มีห้องประชุม สส. (ห้องสุริยัน) และ สว. (ห้องจันทรา) โดยใช้คอนเซ็ปต์เป็นรูปกายภาพของพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่วนรอบเขาพระสุเมรุ

ดังนั้นการใช้แนวคิดแบบนี้ในระดับลึกทั้งโครงสร้างและการวางผังของรัฐสภา มันทำให้พื้นที่ใช้งานมีลักษณะเป็นอาคารทางศาสนาสูงมากกว่าอาคารแบบสมัยใหม่

เหตุผลอะไรที่รัฐสภาใหม่ หรือ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ต้องใช้แนวคิดเกี่ยวกับศาสนามาใช้เป็นหลักในการออกแบบ

แนวคิดของการเกิดอาคารราชการที่มีความเป็นไทย มากับกระแสอาคารแบบไทยหลังการรัฐประหาร 2490 และสอง สิ่งที่สำคัญกับรัฐสภาหลังนี้มากก็คือ กระแสซึ่งเป็นผลผลิตของการรัฐประหารปี 2549 ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกโหยหาทางศีลธรรมในปริมณฑลทางการเมืองสูงมาก

ถามว่าทำไมต้องเป็นศาสนา ลองนึกย้อนกลับไปในบริบทการรัฐประหาร 2549 เราจะเห็นอารมณ์ที่ผู้คนเชื่อว่านักการเมืองโกงกินจนเกินเยียวยา การดึงเอาศีลธรรมทางศาสนามาใช้ก็เป็นภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ด้วยความหวังว่าศีลธรรมทางศาสนาจะช่วยกำกับนักการเมืองให้อยู่ในร่องในรอยที่ควรจะเป็น เมื่อกระแสอาคารราชการต้องมีลักษณะที่เป็นไทยมารวมกับกระแสหลังรัฐประหาร 2549 จึงกลายเป็นแบบอาคารรัฐสภาหลังปัจจุบันที่เราเห็น

รัฐสภาหลังนี้จึงไม่ใช่เอารูปแบบของวัดมาใช้เฉยๆ แต่นำเอาความศักดิ์สิทธิ์ ความหมาย แนวคิดทางศีลธรรมมาใช้ ทุกอย่างต้องการให้ย้อนกลับไปหาอาคารทางศาสนา และแน่นอนที่สุด รูปแบบวัด รูปแบบศาสนาก็ตอบโจทย์เรื่องความเป็นไทยในเวลาเดียวกัน

สัปปายะสภาสถาน

ในไทย เคยมีอาคารไหนบ้างที่ใช้แนวคิดทางศาสนา พูดให้ตรงคือ ‘พุทธศาสนา’ เหมือนกับอาคารรัฐสภาหลังใหม่มาก่อนไหม

วัด แต่วัดเขาใช้แนวคิดนี้เราไม่ควรแปลกใจ เพราะวัดเป็นพื้นที่ที่ต้องสร้างศรัทธาทางศาสนา รูปแบบและแนวคิดไตรภูมิเป็นเรื่องทั่วไป แต่ในอาคารรัฐสภาคืออาคารสาธารณะ เขากลับเลือกใช้ทั้งหน้าตาและแนวคิดทางศาสนาแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนนะ

แม้กระทั่งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 อาคารยุคนั้นมีเทรนด์และความนิยมในการสร้างแบบวัดหรือโบราณสถานมาเป็นส่วนประกอบของอาคาร แต่ก็ใช้แค่รูปแบบโครงสร้างเปลือกข้างนอกเท่านั้น ไม่ได้เอาแนวคิดมาใช้ด้วย เช่น อาคารวชิราวุธวิทยาลัย มองดูข้างนอกจะเหมือนวัดเลย แต่ข้างในนั้นวิธีคิดกลับไม่ได้ต้องการความหมายในเชิงศักดิ์สิทธิ์แบบรัฐสภาหลังใหม่ที่มีแนวคิดแบบไตรภูมิ

หรืออาคารเทวาลัยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดูข้างนอกก็จะคล้ายกับวัด แต่ข้างในก็เป็นห้องเรียน ไม่ได้ออกแบบหรือมีแนวคิดให้เป็นในลักษณะของศาสนาหรือไตรภูมิ

คิดดูว่าแม้กระทั่งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เวลาเขาออกแบบ เขาก็ออกแบบให้มีลักษณะของการแสดงให้เห็นอัตลักษณ์เท่านั้น โดยไม่ได้มีแนวคิดมาแยกเป็นห้องพระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นบริวารหมุนรอบเขาพระสุเมรุอย่างที่อาคารรัฐสภาหลังนี้ใช้ในปัจจุบัน

ผมมองว่า อาคารทางศาสนาก็ควรมีแนวคิดในทางศาสนา อาคารราชการก็ควรมีแนวคิดที่เหมาะกับการเป็นอาคารราชการโดยตรง หรืออาคารเอกชนก็อาจจะต้องเป็นอีกแบบ แต่กลายเป็นว่าอาคารรัฐสภาที่เป็นอาคารราชการกลับเลือกใช้ทั้งรูปแบบและแนวคิดของอาคารทางศาสนา ซึ่งในความเห็นของผม มันผิดสองเท่า

สัปปายะสภาสถาน

ถ้าเป็นกรณีต่างประเทศ มีอาคารราชการที่ไหนบ้างที่ใช้รูปแบบและแนวคิดทางศาสนามาเป็นแนวคิดการออกแบบ

รัฐศาสนา เขาจะใช้รูปแบบทางศาสนาในการออกแบบอาคารราชการอยู่แล้ว เวลาที่เราพูดถึงรัฐศาสนา เราแยกไม่ออกอยู่แล้วว่าอะไรคือหลักการทางศาสนาหรือหลักการปกครอง บางครั้งมันก็อาจจะแชร์อะไรร่วมกันระหว่างกฎศาสนาและกฎหมายการปกครองประเทศ เพราะฉะนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมในรัฐศาสนาต้องทำให้มีบรรยากาศที่ศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์สะท้อนผ่านรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแน่นอน

ความคิดผมคือ รัฐสภาหลังใหม่เป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่น่าผิดหวังที่สุด เพราะว่าสังคมไม่ได้เข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่ารัฐศาสนา และห่างไกลมากจากการเป็นรัฐศาสนา แต่การสร้างรัฐสภาด้วยหน้าตาและรูปร่างที่เปรียบเป็นเขาพระสุเมรุแบบนี้ ใช้แนวคิดทางศาสนามากขนาดนี้ มันเหมือนกับการเป็นขั้นแรกในการเดินเข้าใกล้รัฐศาสนาอีกหนึ่งก้าว แม้ว่าจะยังไกลก็ตาม แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ไม่น่ารักเลย

ผมเรียกร้องมาตั้งแต่ 9 ปีก่อน ต่อสถาปนิกไทยว่า เราต้องตระหนักถึงปัญหานี้นะ อย่าเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาผ่านการออกแบบที่แย่แบบนี้

การสร้างอาคารที่รวมเอารูปแบบและแนวคิดแบบนี้มาใช้ ถือว่าเป็นการทำลายความเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) หรือเปล่า

ทำลาย ทำลายทั้งศาสนาและทำลายหลักการของกิจกรรมทางการเมืองในรัฐโลกวิสัยด้วย

การออกแบบรัฐสภาด้วยสถาปัตยกรรมที่อิงอยู่กับศาสนาเดียวเป็นหลัก ผูกขาดความศักดิ์สิทธิ์ไว้หนึ่งเดียว ยิ่งเปรียบเสมือนการผลักประชาชนออกไปไกลมากขึ้นกว่าเดิม?

แน่นอน โดยเฉพาะที่ว่า รัฐสภาหลังนี้มันเป็นอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยมันควรจะเป็นพื้นที่ที่เป็นอุดมคติของการแสดงให้เห็นว่าประชาชนนั้นมีอำนาจมากที่สุด แต่รัฐสภากลับเลือกใช้รูปแบบในเชิงศาสนา มันยิ่งทำให้เราถอยห่างจากหลักการความเป็นประชาธิปไตย

สัปปายะสภาสถาน

ห้องประชุมใหม่ของอาคารรัฐสภานี้ สามารถเทียบเคียงว่าเป็นห้องประชุมเทพได้หรือไม่

ไม่ ไม่ใช่ห้องประชุมเทพ แต่เป็นห้องประชุมบริวารต่างหาก เป็นสุริยันกับจันทรา เพราะห้องประชุม สส. สว. ไม่ใช่ตำแหน่งประธาน โดยปกติอาคารรัฐสภาจะให้ห้องประชุม สส. และ สว. ตั้งเป็นตำแหน่งประธาน ตั้งตรงกลาง หรือมีนัยอะไรก็ตามเพื่อแสดงให้เห็นว่า สส. และ สว. มีความสำคัญมาก แต่รัฐสภาหลังนี้ถ้านำไปเทียบเคียงกับโครงสร้างของเขาพระสุเมรุเราจะพบว่ามันคือพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบรองเท่านั้น

หมายความว่า ผู้ออกแบบไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของห้องประชุม สส. และ สว. ในฐานะการเป็นพื้นที่หลักของโครงการ แม้ว่าพื้นที่จะใหญ่ แต่ในแง่ของโครงสร้างการวางผัง ห้องประชุมสภามันไม่ได้เป็นประธาน

พอพูดแบบนี้หลายคนอาจจะเอาไปเทียบกับรัฐสภาของออสเตรเลีย ที่ออสเตรเลียเขาแยกห้องประชุม สส. และ สว. ออก คล้ายๆ ของไทย มีแกนตรงกลาง ห้องประชุม สส. และ สว. อยู่ข้างๆ แต่ว่าแกนตรงกลางของรัฐสภาออสเตรเลียเรียกว่า Great Hall Multifunctional Space ซึ่งประชาชนสามารถขอเช่าใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น ทำพิธีแต่งงาน พิธีจบการศึกษา ฯลฯ คนที่ชอบเอารัฐสภาของออสเตรเลียมาเทียบกับสัปปายะสภาสถาน นั่นเป็นการพูดความจริงเพียงเรื่องเดียว ไม่ใช่ทั้งหมด

พื้นที่ที่เป็นแกนประธานของอาคารรัฐสภาออสเตรเลียเขาทำเป็นพื้นที่สำหรับประชาชน สะท้อนความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ของประชาชน ในขณะที่ของไทย แกนกลางของไทยคือ มณฑปบนยอดเขาพระสุเมรุ ที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช สถาปนิกผู้ออกแบบก็บอกเองว่า เปรียบเสมือนจุฬามณี เจติยสถานบนยอดเขาดาวดึงส์ มันเป็นภาพศาสนาที่คนต้องยกมือไหว้ แปลแบบง่ายๆ ก็คือ เป็นสวรรค์ชั้นบนสุดในความเชื่อของศาสนาพุทธแบบประเพณี

ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ แสดงว่าห้องประชุม สส. และ สว. เป็นเพียงบริวารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ตรงแกนกลางที่เป็นที่ประดิษฐานของเทพ รัฐสภาของเราเป็นภาพสะท้อนอุดมการณ์แบบนี้ใช่ไหม

ถูกต้อง ตรงกลางบนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ซึ่งเป็นรูปเคารพกึ่งศาสนาและเป็นรูปเคารพกึ่งสมัยใหม่ และใต้ลงมาก็จะเป็นท้องพระโรงในการเสด็จประชุมรัฐสภา ตรงนี้ผมมองว่า การออกแบบพื้นที่ใช้สอยผิดพลาดมาก

เพราะว่าตามระบบที่เราเป็นอยู่มาตลอด เวลาจะเปิดประชุมรัฐสภา ในอดีตมีการทำพิธีเปิดประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งผมมองว่าเหมาะสมมากที่สุดในแง่ของประวัติศาสตร์ เพราะพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมเสนาบดีมาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่แรกเริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และก็เป็นที่ที่ทำรัฐพิธีทางประวัติศาสตร์มาตลอดระยะเวลา 80 กว่าปี ในแง่ของบริบททางประวัติศาสตร์ ความเชื่อมต่อกับอดีต และบรรยากาศอื่นๆ มันเหมาะสมที่จะทำ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ในแง่ของสัญลักษณ์ พอมีท้องพระโรง ข้างบนมีพระสยามเทวาธิราช ด้วยโครงสร้างทางสังคมของไทยก็จะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้กราบไหว้ ตรงนี้มันก็จะไปลดทอนสิ่งที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง คือเรื่องของประชาชน เพราะรัฐสภาคือสถานที่ที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด

ดังนั้นผมจึงพูดเสมอว่า การแยกพื้นที่สำหรับการเปิดประชุมสภาเป็นวิธีคิดที่ฉลาดและเหมาะสมมาก การเปิดประชุมสภามีพิธีขึ้นที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ตามบริบททางประวัติศาสตร์สวยงาม ส่วนสถานที่ประชุม สส. และ  สว. ก็มาใช้อาคารรัฐสภาที่เป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์

สัปปายะสภาสถาน

ถ้ายกตัวอย่างรัฐสภาออสเตรเลียขึ้นมา ในฐานะสถานที่ที่เป็นตัวแทนอำนาจสูงสุดของประชาชน ประชาชนควรเข้าถึงได้ง่ายด้วยใช่ไหม

แน่นอนว่ารัฐสภาในโลกสมัยใหม่เป็นที่ทำการของผู้นำรัฐ จำเป็นที่จะต้องมีระบบความปลอดภัยสูง แต่อีกด้านหนึ่งรัฐสภาในโลกสมัยใหม่ มักจะพยายามสร้างอะไรบางอย่างที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งก็มีสองที่ที่ผมชอบยกตัวอย่าง รัฐสภาออสเตรเลีย และรัฐสภาของเยอรมนี

รัฐสภาของเยอรมนี หรือ Reichstag ข้างบนจะมีลักษณะเป็นโดมแก้ว เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนและคนทั่วไปเข้าถึงได้ทุกวัน แต่อย่างที่ผมพูดไป รัฐสภาเป็นสถานที่ที่ผู้นำรัฐมารวมกันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ การเข้าถึงโดมของ Reichstag ที่เบอร์ลินจึงจะต้องมีการจองล่วงหน้าและมีการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่อย่างไรก็ตาม ใครก็ได้สามารถจองออนไลน์ สามารถเข้าไปเดินในยอดโดมที่อาคารรัฐสภาได้

ผมก็เคยไปเยี่ยมชม จองออนไลน์ ปรินท์รายการจองออกมา ไปเข้าคิวตามวันที่เราจองไว้ ทุกอย่างง่ายมากๆ ในการเยี่ยมชม ภาษาทางสถาปัตยกรรมมันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าตัวอาคารรัฐสภามันยึดโยงอยู่กับประชาชน ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงระบบรักษาความปลอดภัยผู้นำรัฐบาลต่างๆ เพราะฉะนั้นการออกแบบที่ดีมันต้องบาลานซ์หลายๆ อย่างแบบนี้

ย้อนกลับมาที่รัฐสภาของไทย แม้เขาจะพูดถึงประชาชนก็จริง แต่พอดูจากแบบ เราจะเห็นว่าการเข้าถึงทำได้ยากมาก โดยเฉพาะยอดเจดีย์ที่เปรียบเสมือนยอดเขาดาวดึงส์ ผมมองว่าไม่มีทางแน่นอนที่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

สัปปายะสภาสถาน

รัฐสภาของประเทศอื่นมีคำว่า ‘ประชาชน’ เข้ามาเป็นเกณฑ์ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบใช่ไหม

แน่นอน ผมคิดว่าเขาต้องคำนึงถึงประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนเป็นเกณฑ์ที่สำคัญอันหนึ่ง แต่ก็จะมีเกณฑ์อีกหลายๆ เกณฑ์ด้วย

รัฐสภาสมัยใหม่ในโลกมีเกณฑ์ 3 อย่าง หนึ่งคือ ประชาชน สองคือ อัตลักษณ์ และสามคือ สถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เกณฑ์ 3 อย่างนี้เป็นเทรนด์ในระดับโลก ซึ่งไทยสอบตกทุกเกณฑ์

หนึ่ง รัฐสภาเราไม่ได้คำนึงถึงประชาชนเลยอย่างที่เล่าให้ฟัง สอง เรื่องอัตลักษณ์ คำนึง แต่กลับคำนึงด้วยการตีความเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างแคบมากๆ คือย้อนกลับไปใช้วัด ยกตัวอย่าง ข่าวออกมาว่า รัฐสภาของเราจำเป็นต้องใช้ไม้สักถึง 5,000 ต้น เพราะไม้สักคือ DNA ของความเป็นไทย ดูสิ คิดตื้นเกินไปไหม การจับเอาความเป็นไทยไปเปรียบกับไม้สัก ไม่มีสถาปนิกระดับโลกที่ไหนที่เขามองเอกลักษณ์ได้ตื้นเขินขนาดนี้หรอก

เรื่องเอกลักษณ์ล้มเหลว เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งไม่ได้เรื่องเข้าไปใหญ่ ไม้สักตั้ง 5,000 ต้น การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงแต่แรกด้วย ยกตัวอย่าง รัฐสภาเยอรมนีที่ผมชอบมาก โดมแก้วข้างบนจะเป็นลักษณะกรวย ตรงนั้นใช้เก็บกักความร้อนเอาไว้ พอฤดูหนาวก็จะถ่ายความร้อนออกมาเพื่อประหยัดการใช้งานฮีทเตอร์ บนฝ้าเพดานก็มีแผ่นโซลาร์เซลล์ ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ และยังสามารถเผื่อแผ่ให้บ้านเรือนใกล้เคียงได้อีก

สัปปายะสภาสถาน

เรื่องของสถานที่ตั้งของอาคารรัฐสภา ถือว่าสอบผ่านไหม และทำไมต้องเป็นพื้นที่ริมน้ำ

ในแง่ของที่ตั้ง ไม่ได้ดีอะไรมาก แต่พอเข้าใจได้ว่าอยากจะให้เป็นแลนด์มาร์ค เลยไปตั้งที่ที่มีลักษณะสะท้อนความเป็นไทย ก็คือไปตั้งบริเวณริมน้ำ ซึ่งก็ตีความความเป็นไทยได้แคบอีกแล้วนะ เพราะสถาปัตยกรรมไทยก็มักตั้งที่ริมน้ำ

อีกอย่างคือ เขาพยายามที่จะเชื่อมแนวแกนตั้งแต่รัฐสภาแห่งแรกไปจนถึงสัปปายะสภาสถาน ถ้าเราดูกันดีๆ จะพบว่า การวางแปลนให้ตั้งที่เกียกกายเหตุผลหลักคือ การเชื่อมพระที่นั่งอนันตฯ ที่ใช้เป็นรัฐสภาแห่งแรก เชื่อมรัฐสภาหลังเก่า และเชื่อมกับสัปปายะสภาสถาน เป็นแนวแกนที่สัมพันธ์กัน มีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กัน ส่วนริมน้ำคือเป็นเอกลักษณ์

แนวแกนที่ว่าเป็นแนวแกนด้านผังเมืองหรือในด้านอื่น เช่น ความเชื่อ

ในเชิงผังเมืองด้วย ในเชิงมุมมองด้วย ในเชิงประวัติศาสตร์ด้วย คือทีมวิจัยหาพื้นที่เป็นทีมที่แยกกันกับทีมออกแบบอาคารรัฐสภานะ สถาปนิกที่ออกแบบไม่ได้เลือกโลเคชั่นเอง ช่วงก่อนการประกวดแบบ ซึ่งตอนนั้นก็มีหลายที่ มีไปไกลถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือศูนย์ราชการ มีการแข่งกันให้คะแนน เขาก็สรุปว่า เกียกกายนี่แหละเหมาะสมที่สุด ในแง่ของการเชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์และหลายๆ อย่าง ก็เลยเคาะที่เกียกกาย

สัปปายะสภาสถาน

แบบประกวดที่เป็นแคนดิเดตของอาคารรัฐสภา ส่วนใหญ่มีลักษณะขับเน้นความเป็นไทยทั้งหมดหรือเปล่า

ไม่ๆ ขั้นแรกมีราวๆ 200 กว่าแบบ ก็มีหลายแนว แต่ส่วนใหญ่เป็นแนววัดๆ แบบนี้เป็นเทรนด์หลัก หลายชิ้นก็หลุดนอกกรอบการตีความความเป็นไทยแบบดั้งเดิมไปเลย แต่แน่นอนว่ากระบวนการการคัดเลือกก็คัดจนเหลือแต่วัด แต่ว่าแบบที่ชนะการประกวดมีความเป็นวัดมากที่สุด

คนคัดเลือกก็มีเยอะนะ สส. และ สว. ก็ร่วมคัดเลือกด้วย อีกส่วนหนึ่งก็มีสถาปนิกวิชาชีพที่ร่วมกับสภาสถาปนิก สภาวิศวกร กลุ่มนี้จะมาดูในเชิงเทคนิคเรื่องพื้นที่ใช้สอย คนกลุ่มนี้แหละเป็นคนเลือกแบบ

คนที่เข้าร่วมคัดเลือกก็มีความหลากหลาย ทำไมแบบถึงได้ออกมาในลักษณะนี้

ต้องเข้าใจว่าบริบทการเมืองไทยช่วงนั้น เรื่องศีลธรรม การใช้คุณความดีตรวจสอบนักการเมืองมันเป็นเทรนด์และพุ่งขึ้นสูงสุด แม้ว่าจะมี สส. ไปนั่งเป็นกรรมการ มันมีกระแสนักการเมืองชั่ว เลว กระแสแบบนี้ก็อยู่บนหน้าสื่อตลอด พอทีมออกแบบเสนอว่า รัฐสภาแห่งนี้จะปราบนักการเมืองแบบที่คนส่วนใหญ่เกลียดด้วยศีลธรรม มันก็เลยโดนใจไง ทีมสถาปนิกเขาจับกระแสเก่งมากว่าสังคมกำลังโหยหาความดีและเรื่องศีลธรรมหนักมาก กลุ่มนี้จึงเลือกศีลธรรมทางศาสนาแบบเพียวๆ มาใช้

เวลาที่ผมวิจารณ์ คนก็จะมองว่า เอาอีกแล้ว ไม่ต้องการให้นักการเมืองมีศีลธรรมอีกแล้ว ผมเลยต้องย้ำตลอดว่า แบบที่สร้างขึ้นโดยใช้ศีลธรรมทางศาสนาไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในรัฐสภา ในระบอบประชาธิปไตยเราก็มีศีลธรรมเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มี แต่เป็นศีลธรรมทางโลกนะ ศีลธรรมทางการเมืองที่มีการตรวจสอบที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมทางการเมืองอยู่แล้ว ให้อำนาจประชาชนอย่างมากที่สุดอยู่แล้ว นี่คือศีลธรรมทางโลกในระบอบประชาธิปไตย

แต่ปรากฏว่าผู้ออกแบบและแบบของสัปปายะสภาสถานพาพวกเราเดินออกจากศีลธรรมทางโลก บริบทสังคมเวลานั้น มันเกิดกระแสวาทกรรมว่าประชาชนถูกซื้อไปหมดแล้ว ชนชั้นกลาง กลุ่มอนุรักษนิยม ก็ไม่เชื่อใจใครอีกแล้ว เขาจึงเดินออกจากแนวทางที่ต้องให้อำนาจประชาชน หันไปหาอำนาจพิเศษ ให้ความสำคัญกับลำดับศักดิ์ คนดี มีศีลธรรม ซึ่งกระแสนี้มันเริ่มมาตั้งแต่วิกฤติทักษิณ (ชินวัตร) รัฐสภาหลังนี้จึงออกแบบมาเพื่อให้นักการเมืองรู้สึกละอายและเกรงกลัวต่อบาป

ละอายอย่างไร ในเชิงแนวคิดทางศาสนา เชิงฟังก์ชั่นการใช้งาน หรือจิตวิทยาสถาปัตยกรรม

ในเชิงคอนเซ็ปต์และความรู้สึก เขาสร้างพื้นที่ในเชิงศาสนาและมีพระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่บนหัว ลองนึกภาพรัฐสภาแห่งนี้ตอนสร้างเสร็จนะ ถ้าใครผ่านไปผ่านมาก็ต้องยกมือไหว้ เพราะมีเจดีย์ตั้งอยู่ตรงกลาง เซนส์ของตึกหลังนี้จึงไม่ใช่รัฐสภา แต่เป็นอาคารทางศาสนา ทีมสถาปนิกคาดหวังอย่างไร้เดียงสาว่า พื้นที่ทางศาสนาจะทำให้นักการเมืองละอายและเกรงกลัวต่อบาป เพราะว่าทุกคนจะเป็นคนดีจากการใช้แนวคิดทางศาสนา

แม้รัฐสภาจะยังสร้างไม่เสร็จ แต่เราก็เห็นกันแล้วว่า รัฐบาลที่มาจากคนดีเป็นอย่างไร ตรวจสอบก็ไม่ได้ ควบคุมได้ไหม ไม่ได้ ระบอบการปกครองมันควรมีการตรวจสอบแบบทางโลก มันไม่ควรเรียกร้องหาความดีในเชิงศีลธรรม ที่ผ่านมา 4-5 ปี เราก็น่าจะเห็นกันแล้วว่าคนดีเป็นอย่างไร

สัปปายะสภาสถาน

การที่สร้างรัฐสภาด้วยการใช้แนวคิดศีลธรรมทางศาสนาให้ส่งผลต่อความรู้สึกของนักการเมืองว่าต้องเป็นคนดี คนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้อาคารก็จะไม่ได้อยู่ในการรับรู้เชิงศีลธรรมที่ว่านี้เลย

รับรู้สิ สถาปนิกผู้ออกแบบเขาพยายามสื่อสารเรื่องของศีลธรรมมาโดยตลอด ต่อให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับรู้ ไม่ได้อ่านเอกสารหรือการประกวดแบบ แต่เมื่ออาคารหลังนี้ถูกเปิดใช้จริงๆ ด้วยภาษาและองค์ประกอบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมของอาคาร ยังไงเสียประชาชนคนทั่วไปที่เข้ามาติดต่อใช้งานอาคารรัฐสภา พอเดินเข้ามาทุกคนก็จะรู้ว่า ตรงนี้มันวัด ครึ่งหนึ่งยกมือไหว้แน่นอน

ด้วยผลกระทบของอาคารที่ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน พวกเขาจะรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าเป็นพื้นที่ทางอำนาจของประชาชน สิ่งเหล่านี้ผมเคยเสนอไปแล้วว่า การออกแบบเช่นนี้ มันเข้ามากด ข่ม ประชาชน ไม่ใช่การออกแบบแล้วทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ถ้ามีคนแย้งว่า การสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์บนอาคารรัฐสภามันไม่ดีตรงไหน

ก็บอกแล้วว่า การตีความความศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้มันแคบ ศักดิ์สิทธิ์ผ่านศาสนา ไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์ในแง่ของกฎหมาย ในแง่ของการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องการความศักดิ์สิทธิ์ในมิติแบบนี้ ว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ห้ามใครล่วงละเมิด ประชาชนคือผู้มีอำนาจที่สุด ระบบทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนอำนาจประชาชนแบบนี้ต่างหาก

พอประชาชนศักดิ์สิทธิ์ เราก็ต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แบบนี้จะถูกต้องมากกว่าความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา คุณงามความดีเหนือธรรมชาติ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย

คุณค่าหลักการแบบสากล เช่น สิทธิมนุษยชน ก็ไม่ได้ถูกนำมาคิดเป็นฐานในการออกแบบเลย?

แน่นอนครับ รัฐสภาแบบนี้ไม่ได้มีฐานความคิดที่เกิดจากคุณค่าเหล่านั้น แม้สถาปนิกจะเขียนไว้ว่าเพื่อประชาชน เพื่อประชาชน ซ้ำๆ แต่เมื่อเราดูพื้นที่ ดูการออกแบบ เราจะเห็นได้เลยว่าเขาไม่ได้เตรียมพื้นที่ หรือความหมายอะไรที่จะสื่อถึงประชาชนเลย

การออกแบบพูดถึงประชาชน แต่ว่ามันกลวงหมด เวลาเราพูด พูดอย่างไรก็พูดได้ แต่รูปธรรมมันจะเป็นตัวฟ้องว่าเราเห็นหัวประชาชนจริงหรือเปล่า ซึ่งการใช้งานในพื้นที่ทุกส่วนไม่ได้แสดงว่าเป็นอย่างนั้น

สัปปายะสภาสถาน

ถ้าเปรียบเทียบกับอาคารรัฐสภาหลังเก่า มีแนวคิดแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

จริงๆ แล้วอาคารรัฐสภาหลังเก่าที่เพิ่งเลิกใช้ไป แนวคิดเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย (contemporary) มีความทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ ตัวอาคารถูกสร้างขึ้นราวปี 2513 (สมัย จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี) บริบทของการสร้างคือ การเป็นพันธมิตรของไทยต่อสหรัฐ ในยุคสงครามเย็น ซึ่งไทยก็มีไอเดียเรื่องโลกเสรีที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แม้ว่าอาคารถูกสร้างขึ้นในช่วงของรัฐบาลเผด็จการเช่นเดียวกันกับรัฐสภาหลังใหม่ แต่รูปแบบก็ยังค่อนข้างทันสมัย

ด้วยความที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ เราจำเป็นต้องสร้างภาพความทันสมัย ความเป็นโลกเสรี เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ หลายคนจึงงงว่าทำไมสร้างในยุคเผด็จการแต่ภาพถึงทันสมัย ก็เพราะบริบททางการเมืองแบบนี้ เผด็จการด้วย เสรีด้วย ทำไปด้วยกัน

เมื่อมาเทียบกับรัฐสภาหลังใหม่จะพบว่า บริบทสงคราม ความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลกอย่างที่เราเคยเจอหายไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญหาของรัฐสภาหลังนี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในของเราเอง เป็นความขัดแย้งที่ก่อตัวมาตั้งแต่ท้ายรัฐบาลทักษิณ

ความเป็นไทยในเชิงสถาปัตยกรรม ถ้าไม่สะท้อนออกมาในรูปแบบนี้ สามารถสะท้อนออกมาในรูปแบบใดได้บ้าง

ผมมองว่าเอกลักษณ์ความเป็นไทยมันเป็นปลายเปิด เราอาจจะตั้งฐานไว้ตรงนี้ ผมพูดเสมอว่าเรื่องเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของความเป็นไทยในลักษณะที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยเป็นหลายร้อยปี มันไม่มีอยู่จริง เรื่องเอกลักษณ์และอัตลักษณ์มันเป็นเรื่องที่คนในสังคมจะต้องตีความและสร้างมันขึ้นมาใหม่เสมอ

แต่ปัญหาคือว่า สังคมไทย เราไม่ยอมให้มีการเปิดกว้างในการตีความความเป็นไทย เราคับแคบมากๆ ใครก็ตาม โครงการอะไรก็ตาม ที่เล่นความเป็นไทยด้วยกรอบที่คับแคบของระบบการศึกษาแบบไทยๆ การครอบงำของรัฐ ใครจะเล่นเรื่องศิลปะไทย มันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องย้อนกลับไปหาวัดและโบราณสถานเสมอ เสมือนว่ามีความเป็นไทยเพียงหนึ่งเดียว นี่คือความตื้นเขิน

ญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษาที่ดี เห็นเขาเปิดตัวมาสคอตงานโอลิมปิก 2020 หรือเปล่า เขาใช้ตัวการ์ตูน อนิเมะทันสมัย ทั้งๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 30-40 ปีก่อนเท่านั้น แต่เขาก็ยอมรับว่าของที่เพิ่งสร้างคือส่วนหนึ่งของความเป็นญี่ปุ่น ขณะที่บ้านเราไม่มีความไหลลื่นแบบนี้ เราแข็งมากกับการตีความ

สัปปายะสภาสถาน

หรือจริงๆ เราอาจไม่มีอะไรที่สามารถนำมาตีความเพื่อหารูปแบบอื่นๆ มาแสดงความเป็นไทยได้?

ผมว่าไม่จริง ที่เห็นว่ามันไม่มี เป็นเพราะรัฐและระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้มีการตีความความเป็นไทยเลย มันมีเซนส์ของ ‘การตีมือ’ อยู่ ลองนึกดูสิ วัยรุ่นจะเล่นอะไรกับสัญลักษณ์ อย่างการเอาทศกัณฑ์มาหยอดขนมครกก็ด่ากันแล้ว ไม่เหมาะสม บางอย่างก็ ศักดิ์สิทธิ์นะเว้ย ต้องกราบไหว้ เพราะฉะนั้นจะเหมือนถูกตีมือตลอดเวลา

แน่นอนว่าการสร้างสรรค์ก็ไม่ได้ดีเสมอไป การสร้างสรรค์มันก็มีอะไรที่เละเทะบ้าง ล้ำเส้นบ้าง น่าเกลียดบ้าง แต่ถ้ามันไม่ดี สังคมไม่ตอบรับ สิ่งเหล่านั้นก็ล้มหายตายจากไปเอง การเปิดแบบนี้มันจะเป็นตัวคัดกรอง ทำให้เกิดความสร้างสรรค์ที่แท้จริงขึ้น ขณะที่สังคมไทยไม่ใช่แบบนี้ อะไรนอกกรอบ ตีมือเลย ไม่ให้ทำ มันก็เลยเหมือนที่คุณถามไง ที่รู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเลย

แต่มันจะมีบางอย่างที่มีหน่ออ่อน เช่น สังคมอีสาน ที่มีพลวัตมากกว่า เช่น การพูดถึงความเป็นอีสาน ในฐานะวัฒนธรรมรองแบบอีสาน หรือตุ๊กตุ๊กที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย อะไรแบบนี้ มันก็มีความเป็นไทยที่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน

มีนักเขียนฝรั่งเขียนหนังสือชื่อ Very Thai (Very Thai: Everyday Popular Culture โดย ฟิลิป คอร์นเวล-สมิธ) ที่ชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไทยอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน ความเป็นไทยอีกแบบหนึ่งที่มีเฉพาะสังคมไทย สังคมอื่นไม่มี เช่น การใช้ทิชชูสีชมพู พวงเครื่องปรุง การใช้ถุงกาแฟ แต่ถ้าตีความแบบนี้ รัฐก็ตีมือไง มันไม่ใช่ ไม่สวย อาจจะไม่ได้ปฏิเสธเสียทีเดียว แต่ก็ไม่มีการต่อยอด

การเรียนการสอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยมีรูปแบบที่ตายตัวไหม

ก็ต้องบอกว่าเป็นรูปแบบที่แข็งเกร็งมาก สถาปัตยกรรมไทย มีสอนอยู่ 2 แห่ง คือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาฯ นี่แข็งมาก แต่ศิลปากรมีความผ่อนปรนกว่า แต่โดยรวมมีกรอบที่แข็งมาก พอออกนอกลู่นอกทางก็ตีมือ

ออกนอกลู่นอกทางก็เช่น โปรเจ็คท์ที่ทำ 2-3 ปีแรกก็จะเป็นแบบไทยประเพณี ทำวัด ทำโบราณสถาน แต่อันนี้ยอมรับได้นะ การจะต่อยอดอะไรก็จะต้องมีพื้น อะไรที่เป็นประเพณีก็จำเป็นจะต้องเรียน พอเริ่มเรียนปีสูงๆ โปรเจคท์ที่ต้องร่วมสมัยส่วนใหญ่ก็จะถูกบีบให้เอาหลังคาวัดมาใช้ แต่แน่นอนว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์อาจจะนอกกรอบบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ก็ยังมีลักษณะแบบนี้อยู่ เราไม่สามารถจะก้าวพ้นได้

ขอยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น คอนกรีตเสริมเหล็กญี่ปุ่นไม่ได้เป็นผู้ผลิตเองนะ แต่สถาปนิกญี่ปุ่นเขาสามารถใช้จนกลายเป็นกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นไปแล้ว เช่นงานของ ทาดาโอะ อันโด เขาจะทำแผ่นคอนกรีตที่มี 6 รู หรือการทำคอนกรีตที่ใช้แพทเทิร์นเหมือนเสื่อตาตามิ และกลายเป็นลายเซ็นของเขาไปแล้ว

ปัจจุบันงานคอนกรีตสายทาดาโอะก็กลายเป็นอัตลักษณ์ของคนญี่ปุ่นไปแล้ว มันคือความก้าวหน้า ก้าวหน้าแบบนี้เราเห็นได้ เพราะมันคือเคสที่ประสบความสำเร็จ แต่มันก็จะมีเคสอีกมากมายในญี่ปุ่นที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่สังคมเขาเปิดกว้าง ไม่มีการตีมือตลอดเวลา ก็ทำได้ เกิดความสร้างสรรค์

สัปปายะสภาสถาน

สัปปายะสภาสถาน

ความเป็นไทยแบบตีมือก็ยังเป็นแลนด์มาร์คได้ไม่ใช่หรือ

ก็เป็นแลนด์มาร์คได้ แต่เป็นแลนด์มาร์คที่น่าผิดหวัง ผมคิดว่ารัฐสภาแห่งใหม่ของเรา ในอนาคตระยะไกลทุกคนจะต้องเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย และสถาปนิกชุดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผมการันตีได้เลยว่า 50-60 ปีข้างหน้า รุ่นลูกหลานจะต้องพูดถึงอย่างแน่นอน และเกิดคำถามว่า ณ ช่วงหนึ่ง สถาปนิกแนวหน้าของประเทศทำไมถึงคิดอะไรได้ตื้นเขินขนาดนี้ และก็ล้มเหลวทุกอย่างในทุกประเด็นที่สถาปนิกอื่นๆ ในโลกเขาให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเรื่อง แลนด์มาร์ค ประชาชน สิ่งแวดล้อม รัฐสภาแห่งนี้ล้มเหลวทุกข้อ

เราอาจจะพูดเฉพาะแนวคิดที่ประชาชนสูญหายไปในเชิงสัญลักษณ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรลืมคือ วาระต่างๆ ที่มาพร้อมกับการสร้างรัฐสภาแห่งนี้ พื้นที่ใช้สอยของอาคารรัฐสภาหลังนี้ เป็นการเพิ่มพื้นที่ที่ก้าวกระโดดมาก จาก 300,000 ตารางเมตร เป็น 420,000 ตารางเมตร ซึ่งทำให้รัฐสภาหลังนี้มีพื้นใช้สอยเยอะเป็นอันดับต้นๆ

โลกนี้ไม่มีอาคารราชการที่ไหนใหญ่กว่าเราแล้ว ยกเว้นอาคารเพนตากอน ของสหรัฐ ที่มีเนื้อที่ 600,000 ตารางเมตร เราเป็นรองแค่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ที่เรียกได้ว่าดูแลความมั่นคงของทั้งโลก

การที่มีพื้นที่ใช้สอยเยอะมันไม่ดีตรงที่ว่าพื้นที่ไร้ประโยชน์จะเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มีการใช้พื้นที่ซ้ำซ้อน เราแยกห้องประชุม สส. และ สว. ในทางปฏิบัติ สส. และ สว. จะประชุมสภาสัปดาห์ละ 2 วัน ปกติจะล็อควันที่ไม่ตรงกันเอาไว้ 1 สัปดาห์จะใช้ห้องประชุมประมาณ 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งก็เมคเซนส์ แต่อาคารหลังใหม่ แยกพื้นที่ออกเป็นห้องประชุม สส. และ สว. ประชุมใครประชุมมันสัปดาห์ละ 2 วัน แล้วอีก 5 วันทำอะไร ก็ทิ้งไปเฉยๆ

สัปปายะสภาสถาน

ยังไม่นับประเด็นของการขยายขนาดห้องประชุม สส. ให้รองรับจำนวน สว. ด้วย เพราะมันต้องมีการประชุมร่วมกัน เท่ากับว่าเป็นการดับเบิลพื้นที่อย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน

แต่จริงๆ ก็รู้นะ เพราะเขาต้องการแยกเป็นห้องประชุมสุริยัน เป็นห้องจันทรา ตามคอนเซ็ปต์ไตรภูมิของเขา ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องแยก และใช้ห้องประชุมร่วมกัน พอแยกออกมาเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่แค่ห้องประชุมที่แยกออกจากกันนะ มันยังมีเส้นทางเดินและลิฟต์ที่ต้องซัพพอร์ตการใช้งาน สส. และ สว. อีก ที่ต้องแยกเป็น 2 ส่วน พื้นที่ก็จะดับเบิลๆ ไปอีก

อีกประเด็นก็คือห้องพัก สส. และ สว. มีขนาดที่เกินมาตรฐาน ยังไม่นับรวมผู้ติดตามของ สส. และ สว. ที่มีได้มากถึง 5 คน ซึ่งก็ทำให้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาเยอะมากอีก

เรื่อง green architecture สถาปนิกพูดถึงเสมอว่าอยากให้อาคารเป็นแลนด์มาร์คระดับโลก แต่คุณจะเป็นระดับโลกได้อย่างไรเมื่อคุณไม่พูดถึงประเด็นระดับโลกอย่างสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาก็พูดนะ เขาพูดถึงเรื่องการปลูกต้นไม้รอบอาคาร ซึ่งมันพื้นฐานมากๆ มากเสียจนไม่คิดว่ามันจะออกมาจากแนวคิดของสถาปนิกระดับแนวหน้า

และต้นไม้ที่อยู่บนอาคารไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความเป็น green architecture ด้วยนะ เพราะเขาไปคิดเรื่องแนวคิดของป่าหิมพานต์ เขาก็เลยไปปลูกต้นไม้บนอาคาร

มีเรื่องตัดต้นสัก 5,000 ต้น การคำนึงถึงการใช้ไฟฟ้า การคำนึงถึงระบบการไหลเวียนของน้ำเสีย ไฟฟ้าที่ควรจะต้องผลิตเองใช้เองในอาคาร 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้อาศัยไฟฟ้าจากส่วนกลางเหมือน Reichstag ของเยอรมนีที่ผมพูดถึง มันก็ควรทำตามหรือเปล่า

แล้วขอโทษที อาคารรัฐสภาของเยอรมนีเขาสร้างเสร็จในปี 1998 ห่างจากการสร้างสัปปายะสภาสถานถึง 20 ปี แต่เมื่อ 20 ปีก่อน เยอรมนีเขาคำนึงถึงเรื่องนี้ไปแล้ว ของเราคิดถึงเรื่องนี้ไหม ไม่เลย แล้วจะมาขายไอเดียความเป็นแลนด์มาร์ค ผมว่ามันตลก

สัปปายะสภาสถาน

จากข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมด เฉพาะด้านงานสถาปัตยกรรม พอมีทางไหมที่อาคารรัฐสภาใหม่จะกลับมาเป็นภาพแทนของอำนาจสูงสุดของประชาชน

หลายคนเห็นผมวิจารณ์ ก็อาจจะตั้งคำถามว่า ที่วิจารณ์มาแล้วมีทางออกไหม ผมมีทางออกนะ ถ้าเกิดทุกคนเห็นว่าอาคารรัฐสภาหลังนี้คืออาคารที่น่าผิดหวัง ทางออกก็คือ เราควรจะย้ายเจดีย์ไปอยู่ที่ที่เหมาะสม เจดีย์ควรจะประดิษฐานตรงไหนล่ะ ก็ต้องเป็นที่ที่มันควรอยู่ อันนี้ผมจริงจังนะ เพราะผมเชื่อว่า สถาปัตยกรรมมันมีพลังต่อคนที่เข้ามาใช้งาน ผมถึงย้ำมาตลอดว่า การออกแบบด้วยไตรภูมิ เขาพระสุเมรุ มันทรยศประชาชน มันไม่เห็นหัวประชาชน

ทางออกที่จะแสดงให้เห็นว่า เราเห็นหัวประชาชน ก็คือ เอาสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ออก และสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ก็คือเจดีย์ ซึ่งมันไม่ได้ผิดในตัวมันเอง ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันตั้งผิดที่ คุณควรเอาไปตั้งในพื้นที่ทางศาสนาเสีย พอย้ายเจดีย์ออกไป ไปตั้งในที่ที่เหมาะสม ก็เปิดการประกวดแบบครั้งใหม่ เพื่อที่จะปรับปรุงแกนตรงกลางให้มีความผูกโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด สัญลักษณ์และพลังความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในรัฐสภาที่ลดทอนอำนาจประชาชนก็จะหายไป

เราก็จะเห็นภาพรวมของการเกิดขึ้นของรัฐสภาหลังใหม่ว่าเป็นมรดกหลังการรัฐประหาร 2549 แต่ถ้าหากวันหนึ่ง ประเทศเราพ้นไปจากความเป็นเผด็จการ ออกจากวงจรอุบาทว์ได้ เป็นไปได้ไหมที่อาคารราชการของไทยจะมีลักษณะแนวร่วมสมัย หรือเป็นภาพของความสร้างสรรค์ที่มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

ผมคิดว่ามันต้องเป็นสังคมที่รื้อถอนแนวคิดอนุรักษนิยมออกไปเยอะมากเลยนะ ถึงจะทำตึกแบบนั้นได้ อย่างที่บอก อาคารรัฐสภามันเกิดจากสองกระแส ถ้าเรารื้อบริบทของการรัฐประหารออกไปได้ มันก็ยังเหลืออีกกระแสที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานตั้งแต่ 2490 มันคือความเป็นไทยที่แข็งเกร็ง ตีมือ อยู่ในระบบการศึกษาทุกอย่างของไทย อันนี้เป็นแกนหลักอันหนึ่งที่ลึกกว่าแกนรัฐประหาร 2549 อีก ถ้าแกนนี้ไม่หายไป สถาปัตยกรรมที่มันเสรีสร้างมันก็เกิดยากแน่นอน

แต่แน่นอนว่า ในระยะใกล้ เอาแกนอนุรักษนิยมที่มาพร้อมกับเผด็จการออกไปก่อนก็จะดีมาก (หัวเราะ)

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า