ถ้าวันนี้ไม่มีประยุทธ์: นายกฯ พระราชทาน คือทางออก?

มีคำถามว่า ถ้าหากวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งในรูปแบบลาออกหรือยุบสภา ฉากทัศน์การเมืองไทยถัดจากนี้จะเป็นอย่างไร 

กระแสร้อนๆ นี้ สืบเนื่องมาจากกรณีสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ติดแฮชแท็ก #ไม่เอานายกพระราชทาน ตั้งแต่ช่วงกลางดึกวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ กระแสนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือบางคนพึงใจเรียกว่า ‘นายกรัฐมนตรีพระราชทาน’ ยังดังเซ็งแซ่ไม่ขาดสาย ท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ลุกลามบานปลายไร้หางเสือ 

แม้ว่าประเทศไทยจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระยะเวลาถึง 89 ปี แต่การขึ้นสู่อำนาจของผู้นำรัฐบาลในการเมืองไทย ส่วนใหญ่นั้นมีเพียง 2 ที่มาหลักๆ คือ หนึ่ง มาจากการเลือกตั้ง และ สอง มาจากการรัฐประหารหรือแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีในรูปแบบที่สองครองอำนาจเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของระยะเวลาที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาเลยทีเดียว 

กรณีนี้รวมไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหารในปี 2557 ก่อนที่คณะรัฐประหารจะร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดการเลือกตั้ง 2562 นำตัวเองกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะรายชื่อที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ 

เหตุที่กระแส ‘นายกฯ คนนอก’ ดังหนาหูขึ้นมา ก็เนื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่คณะรัฐประหาร คสช. เขียนขึ้น ได้เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่เสนอจากพรรคการเมือง ในมาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งเวลานี้มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ที่เป็นไปได้ เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังอยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกมือสนับสนุนให้กลับเข้ามาได้

ส่วนการดำเนินการตามมาตรา 272 วรรคสอง คือการเปิดช่องที่ว่านั้นปรากฏในรูปแบบการลงมติ เพื่อขอให้รัฐสภายกเว้นการไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรคการเมือง 

ทั้งนี้ กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีเสียงจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา 750 เสียง โหวตรับรอง นั่นคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 500 เสียง ในกระบวนการสรรหานายกฯ คนนอก โดย ส.ส. และ ส.ว. (ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.) 376 คนขึ้นไป ยื่นขอให้รัฐสภามีมติอนุญาตให้มีนายกฯ คนนอก 

ต่อมาจึงให้ ส.ส. อย่างน้อย 50 คน เสนอรายชื่อผู้ชิงนายกฯ คนใหม่ โดยต้องมี ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 376 ขึ้นไปโหวตรับรอง กระบวนการทั้งหมดจะทำให้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนนอก โดยไม่ต้องทำรัฐประหาร 

กระนั้นก็ตาม ‘นายกรัฐมนตรีคนนอก’ ไม่ได้เท่ากับ ‘นายกรัฐมนตรีพระราชทาน’ ความเข้าใจต่อการได้มาของนายกฯ พระราชทาน จำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น เพราะสิ่งที่พึงตระหนักในการเมืองไทยคือ ทุกปรากฏการณ์ล้วนมิใช่ทั้งอุบัติเหตุทางการเมืองหรือการเกิดขึ้นอย่างมีแบบแผน หลายกรณีขึ้นกับสถานการณ์ กติกาในแต่ละยุคสมัย และสิ่งสำคัญคือ พระบารมี 

จุดอ้างอิงที่กล่าวถึงกันในกรณีนายกฯ พระราชทาน คือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งจบลงด้วยการหนีออกนอกประเทศของ ‘3 ทรราช’ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร หลังจากใช้อาวุธสงครามปราบปรามนักศึกษาประชาชน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ท่ามกลางการปะทะกันในเหตุการณ์นั้น นำมาซึ่งความโกรธเกรี้ยวของประชาชนจนมีการเผาสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง

ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

สำหรับการค้นคว้าที่ดีมากในเรื่องนี้ โดย จันทนา ไชยนาเคนทร์ เรื่อง ความเป็นมาและสถานะทางกฎหมายของ ‘สภาสนามม้า’ พบว่า ‘สภาสนามม้า’ สัมพันธ์กับเครือข่ายแวดล้อมสถาบันกษัตริย์ แสดงให้เห็นผ่านประกาศแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ ซึ่ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าประกาศนี้ไม่ปรากฏการอ้างกฎหมายมาตราใด ซึ่งไม่สอดคล้องไปกับระบอบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 

นอกจากนั้นแล้วเมื่อพิจารณาตามลำดับเวลาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม) กับสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ พบว่า มีการซ้อนทับในแง่ของเวลา จนส่งผลต่อการทยอยลาออกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่จอมพลถนอมได้แต่งตั้งไว้ และมีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นในเวลาต่อมา โดยมี สัญญา ธรรมศักดิ์ ทำหน้าที่เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ คำให้สัมภาษณ์ของ สัญญา ธรรมศักดิ์ กล่าวถึงความเหลื่อมทับกันระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมัชชาแห่งชาติไว้ว่า หากนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือมีบทบาททางการเมือง ก็ย่อมจะตกอยู่ในฐานะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ อันอาจจะเป็นการเสื่อมเสียต่อฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดละเมิดมิได้ หรือกลับกันหากนำเอาพระองค์ท่านมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ‘แต่ไม่ตกอยู่ในฐานะที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือละเมิดได้’ ก็จะผิดแบบแผนการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปอีก ที่สุดการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้เสียสละชีวิตและต่อสู้มาก็จะสลายไป

นี่คือเส้นแบ่งบางๆ ของสิ่งที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งฐานะของพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องอยู่เหนือการเมือง ความเข้าใจข้อนี้ไปปรากฏในทุกวิกฤติการเมืองไทย อันเนื่องมาจากทุกวิกฤติมักจะมีความเคลื่อนไหวผลักดันนายกฯ พระราชทาน อยู่เสมอ อาทิ หลังเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน มีข้อเสนอ ‘ฎีกาสภากระจก’ จากบางกลุ่มขึ้นมา เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้ง ก่อนที่ความคิดนี้จะตกไป เนื่องจากสังคมไทยในเวลานั้นให้ค่ากับข้อเรียกร้องหลักของวีรชนพฤษภา 35 คือ การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

หรือกระทั่งในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญบางคนยังมีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้าการรัฐประหาร 2549 มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่การเคลื่อนไหวครั้งนั้นก็จบลงที่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ในวันที่ 25 เมษายน 2549 

บางช่วงบางตอนพระองค์ตรัสว่า “…แต่ก่อนนี้มีอย่างเดียว มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา ศาลแพ่ง เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่างอันนับไม่ถูก ก็เมื่อมีก็ต้องให้ไปดำเนินการด้วยดี ดังนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากับศาลอื่นๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯ พระราชทาน เพราะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

“ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษพูดแบบมั่ว แบบไม่ไม่ ไม่มีเหตุมีผล” 

เป็นที่ทราบกันว่าวิกฤติครั้งนั้นถูกส่งต่อมายัง ‘ตุลาการภิวัฒน์’ คือการที่ฝ่ายตุลาการขยายบทบาททางอำนาจเข้ามาในพื้นที่การเมืองมากยิ่งขึ้น ตลอดทศวรรษ 2550 เราจึงได้เห็นบทบาทและความขัดแย้งของศาลกับประชาชนอย่างกว้างขวาง 

แต่ถึงที่สุด ‘นายกฯ คนนอก’ ก็ได้มาปรากฏในกฎกติกาปัจจุบันอย่างเป็นทางการ คือในมาตรา 272 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 สิ่งที่ควรคำนึงคือ กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนนอก นับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยพลังทางการเมืองขนานใหญ่ เพื่อทำให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คำถามคือ สิ่งนั้นคืออะไร ประชาชนคงต้องร่วมจับตาไปด้วยกัน 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า