สังคมไทยทิ้งใครไว้ในถ้ำ

“How many of you? ” หนึ่งในบทสนทนาระหว่างทีมหมูป่ากับทีมช่วยเหลือจากปฏิบัติการณ์กู้ภัยถ้ำหลวง เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทยเมื่อ 2 ปีก่อน 

จากประโยคถามไถ่จำนวนผู้ประสบภัยติดถ้ำหลวงในครั้งนั้น ไม่กี่วันมานี้ทาง ThaiPBS ได้ชวนกลับมาคิดทบทวนว่ามี how many of you – อีกกี่ชีวิตที่ยังรอคอยความช่วยเหลือ

ThaiPBS จัดทำภาพยนตร์สารคดีชุด ติดถ้ำ (The Caved Life) ประกอบไปด้วยสารคดีสั้น 4 ตอน บอกเล่าถึงเรื่องราวของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งหนึ่งในเพื่อนร่วมทีมหมูป่า ชาวนาในพื้นที่รับน้ำ คนชายขอบที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง รวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องทางอื่นๆ ที่แม้เหตุการณ์ผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังติดอยู่ในถ้ำโปร่งแสง ซึ่งหล่อหลอมมาจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ก่อเป็นรูปร่างกำแพง ขวางกั้นจินตนาการ พัฒนาการ และการดำรงชีวิตของผู้คน ชวนให้เราหวนคำนึงถึงบางสิ่งที่เรามองข้ามไป

นักฟุตบอลหมายเลข 0

สัญชาติ สิ่งตีตราทางกฎหมายกลายเป็นอุปสรรคของ ตาล สมาชิกคนหนึ่งในทีมฟุตบอล หมูป่าอะคาเดมี ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเส้นทางเดินชีวิตเหมือนเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ เนื่องจากเขาไม่ได้เข้าไป ‘ติดถ้ำ’ ในเหตุการณ์คราวนั้นด้วย

ตาลอยู่ในฐานะบัตรหัวศูนย์ ความฝันที่อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังคมไทยบีบบังคับให้เขาต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น แม้จะสามารถเข้าแข่งขันในลีกฟุตบอลได้ แต่การไม่มีสัญชาติก็ทำให้เขาเป็นได้เพียงตัวสำรอง ตามธรรมเนียมการคัดเลือกภายในทีมของสโมสรบางแห่ง แม้ไม่ได้มีกฎหมายข้อใดจำกัดสิทธิก็ตาม

คำพูดของโค้ชที่กล่าวว่าตาลจะได้รับสัญชาติก็ต่อเมื่อเขาได้เป็นผู้เล่นในระดับทีมชาติหรือตัวแทนจังหวัด มันแฝงความเหลื่อมล้ำบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอัดอั้นภายในใจ

 ทำไม ‘ฟุตบอลไม่เปิดโอกาสให้กับผู้เล่นทุกๆ คนเท่ากัน โดยวัดกันเฉพาะที่ความสามารถ’ ทั้งๆ ที่นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในการแข่งขันแต่ละครั้ง

ทำไม ‘สัญชาติเป็นตัวชี้ชะตาชีวิตของคน’ ไม่มีสัญชาติ ไม่มีโอกาส ไม่มีหนทางไปตามความฝันในอนาคต

ทำไม ‘การขอสัญชาติถึงได้ก่อน ได้หลัง’ ความเป็นมาตรฐานของหน่วยงานรัฐที่ทำให้หลายคนได้แต่เฝ้ารอจนแทบจะหมดหวัง จากวันกลายเป็นเดือน จากเดือนกลายเป็นปี ด้วยการลำดับความสำคัญของเจ้าหน้าที่ มันเป็นไปตามกระบวนการจริงหรือ

คำถามเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ภายใต้ความคิดของผู้คนที่สามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกจากเรื่องราวของตาล แม้ว่าเราจะไม่เคยได้พบเจอกันเลยก็ตาม 

น้ำวน

วน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องราวของการจัดการน้ำภายในนา ‘วน’ ในที่นี้อาจจะหมายถึงเรื่องราวชีวิตของชาวนาคนหนึ่งที่ยังคงวนเวียนอยู่กับวิถีเดิมๆ ไม่จบสิ้น ไม่มีทางออก

ลุงเล็ก และครอบครัวใช้ชีวิตด้วยความรัก ความผูกพันกับผืนนาที่ไม่ใช่ในความหมายของอาชีพเพียงอย่างเดียว นาคือบ้านที่รวบรวมเรื่องราวความสุข ความทุกข์ของครอบครัว

วิถีชีวิตชาวนาของลุงเล็กวนเวียนไปกับการอดทนอดกลั้นทำนาเช่าต่อไปแม้จะต้องหยิบยืมเงินทุนจากคนอื่น คอยคิดพัฒนาจัดการระบบหมุนเวียนน้ำ การใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตให้เกิดรายได้เลี้ยงครอบครัว การเผานาเพื่อจัดการพื้นที่เพาะปลูก แม้จะเจอกับภัยพิบัติน้ำท่วมและคำครหาจากผู้คนในสังคมว่า ชาวไร่ชาวนาเป็นผู้สร้างวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม

ลุงเล็กมองว่าปัญหาเรื่องฝุ่นควันและสารเคมีเป็นเรื่องปกติ แทนที่จะโทษแต่ชาวนา คนอื่นๆ ก็น่าจะเริ่มแก้ไขที่ตัวเองด้วย “ถ้าจะให้ลุงเลิกเผานา แล้วคุณเลิกใช้รถได้ไหมล่ะ” ความดื้อดึงนี้เองที่ทำให้ลุงเล็กตกเป็นจำเลยของสังคม เป็นตัวร้ายทันทีทั้งที่เขาอาจจะมีปัญหาบางอย่างที่เราไม่เคยรู้ หรือไม่สนใจที่จะรู้

ปางหนองหล่ม

การกลับมาคิดทบทวนของผู้ที่สืบทอดอาชีพดั้งเดิม กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นรายวัน อาชีพคนเลี้ยงควายที่เห็นแสงสว่างอยู่รำไร ณ ปลายทาง ท่ามกลางอุปสรรคหลุมใหญ่เหมือนเดินตกลงไปในหล่มลึก ยากที่จะปีนออกมา

แม้ด้วยระยะทางและการมองจากภายนอกพื้นที่เวียงหนองหล่มอาจจะดูไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถ้ำหลวงมากนัก แต่หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่ามีหลักฐานทางเอกสารที่น่าเชื่อถือ กล่าวถึงความเชื่อมโยงของการเกิดเวียงหนองหล่ม และถ้ำหลวงมีจุดกำเนิดมาจากรอยเลื่อนแม่จัน-เชียงแสนทั้งสิ้น

อาชีพเลี้ยงควายซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่เวียงหนองหล่ม กำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติจากการต่อสู้กับพลวัตสังคมและทุนนิยม ทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเข้ามาบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ พื้นที่โดยรอบถูกตัดแบ่งขายให้นายทุนชาวจีน และท่าทีลังเลของลูกชายในเรื่องของการสานต่ออาชีพคนเลี้ยงควาย

การท่องเที่ยวและโฮมสเตย์กลายเป็นเส้นทางอาชีพอันดับหนึ่ง ที่เป็นความหวังให้วิถีคนเลี้ยงควายอยู่รอด แต่นั่นก็ไม่ใช่การการันตีว่าจะสามารถอยู่รอดไปได้ถึงเมื่อไหร่ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนดูว่าในสังคมไทยมีหลักประกันอะไรบ้างให้เรารู้สึกถึงความมั่นคงในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ เพราะความเสี่ยงในการดำรงชีวิตนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กับคนที่ตั้งต้นทำธุรกิจใหม่ๆ แต่รวมไปถึงคนที่ประกอบอาชีพดั้งเดิมมายาวนาน

ใกล้แต่ไกล

ชนเผ่าอาข่าที่ผูกสายสัมพันธ์กับธรรมชาติ กำลังค่อยๆ ถูกลบไปจากวิถีชีวิตเมื่อโอบรับความเป็นเมือง และระบบการศึกษาที่หล่อหลอมให้เด็กอยู่ภายใต้กรอบเดียวกัน

เมย์ เด็กหญิงชาวอาข่าผู้กำลังเรียนรู้ถึงการกำหนดเส้นทางเดินในอนาคต แต่รากเหง้าของชนเผ่ากลับกลายเป็นเรื่องในตำนานที่เธอได้ยินมาเพียงรางๆ เท่านั้น

ฉากหนึ่งของสารคดีแสดงให้เห็นถึงช่วงที่เมย์สนทนากับแม่ เกี่ยวกับการเย็บลายผ้าของชนเผ่า เรื่อยไปจนถึงว่าทำไมปัจจุบันถึงเลิกใส่ชุดชนเผ่า และเลือกที่จะมาสวมใส่เสื้อยืดทั่วไปแทน โดยแม่ให้คำตอบคือ เพราะเสื้อยืดซักง่ายกว่า และการเดินทางลงไปซื้อเสื้อผ้าหรือสิ่งของจากชุมชนมีความสะดวกมากกว่าเดิม สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนไปของยุคสมัย และวิถีชีวิตของชนเผ่าในปัจจุบันได้อย่างดี

สิ่งที่คอยผลักให้เมย์ไกลออกไปจากชาติพันธุ์นอกจากพฤติกรรมสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ยังมีปัจจัยโครงสร้างทางสังคมและการบริหารของส่วนกลางที่คอยจัดสรรให้ทุกคนเดินไปตามทางที่รัฐสร้างไว้ แม้แต่โรงเรียนที่เธอใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตเพื่อรับ ‘การศึกษา’ ต่างๆ ทว่านั่นไม่ได้ทำให้เธอรู้จักภูมินิเวศและวัฒนธรรมที่อยู่รอบตัวเธอเองเลย

“การสร้างสารคดีชุดนี้เพื่อให้คนมีเวลาคิดทบทวนและตั้งคำถามมากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบจากการดูข่าว ที่รวดเร็วทันเหตุการณ์มากจนเกินไป ข่าวเก่าไป ข่าวใหม่มา ได้เพียงแต่รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างและปล่อยให้มันผ่านไปในแต่ละวัน”

พิภพ พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการ ThaiPBS

แม้ด้วยตัวภาพยนต์อาจจะยังไม่สามารถอธิบายให้ผู้ชมได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ‘ถ้ำ’ ที่แต่ละชีวิตติดอยู่นั้นคืออะไร แต่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นการตั้งคำถามต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 

ซึ่งแต่ละคนอาจได้ใช้เวลาฉุกคิดทบทวนในภายหลัง เพราะถึงแม้ว่าปรากฏการณ์ ติดถ้ำ ที่ไวรัลไปทั่วประเทศจะจบลงแล้ว แต่ยังมี ปัจจัยต่างๆ ในสังคมอีกมากที่กระทำต่อผู้คน 

นอกเหนือจากตัวละครในเรื่อง มีอีกกี่คนที่ยังคงติดอยู่ในถ้ำ

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

Author

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า