เอหิปัสสิโก: ธรรมกาย-พุทธไทย-พุทธแท้ และส่วนที่หายไป

เรื่องเล่าของธรรมกายนั้นล่องลอยไปมาอยู่นานแสนนานในประเทศไทย เรื่องราวการขายบุญเหมือนเซลส์ขายโพรดักส์ คนทุ่มทำบุญจนหมดเนื้อหมดตัว บ้านแตกสาแหรกขาด ลัทธิความเชื่อนอกพุทธศาสนา ฯลฯ คนวงนอกอย่างเรานั้นทำได้เพียงสดับเรื่องเล่า และตัดสินใจเอาเองว่าจะเชื่อหรือไม่ หรือเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เหมือนเรื่องลี้ลับอื่นๆ ที่เราเคยได้ยินมา

คนใกล้ตัวเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงประสบการณ์ที่ได้พบพานจากวัดพระธรรมกาย หนึ่ง เพื่อนเธอโทรมาชักชวนให้ทำบุญกับวัดพระธรรมกาย โน้มน้าวว่าถ้าทำบุญกับอริยสงฆ์จะได้บุญมากกว่า สอง เธอได้พบกับความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเมื่อผ่านการบวชที่วัดพระธรรมกาย เขาคล้ายเปลี่ยนไปเป็นคนละคน และบางคนมีบุคลิกแอบอิงอภินิหาร แต่เพื่อนคนหนึ่งที่ไม่ใช่ลูกศิษย์วัดไปปฏิบัติธรรมที่วัดพระธรรมกาย มาบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องของคำสอน ไม่มีคำสอนอะไรแปลกออกไปจากที่เธอเคยรู้มา เพียงแค่เพื่อนของเธอไม่ชอบ

ผ่านเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย เราได้เห็นภาพภายในวัดพระธรรมกายมากขึ้น ภาพอันเป็นที่โจษจันมากก็เห็นจะเป็นภาพเจดีย์ที่หลายคนเปรียบเปรยเหมือนจานบิน พิธีกรรมอันหรูหราอลังการ การแต่งตัวของเจ้าอาวาสธัมมชโย จนมาถึงครั้งที่โจษจันครึกโครมที่สุดก็คือ เมื่อเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) บุกและล้อมวัดอยู่ 20 วัน เพื่อหาตัวพระธัมมชโยตอนปี 2559 อันเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง เอหิปัสสิโก ซึ่งก็นับว่าเป็นอีกเรื่องเล่าหนึ่งของวัดพระธรรมกาย

เอหิปัสสิโก เปิดเรื่องด้วยเสียงพูดเล่าเรื่องราวด้านลบของวัดพระธรรมกาย บนพื้นสกอร์โทนลึกลับ คลอไปกับภาพอาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งถ่ายจากระยะไกลบนรถที่กำลังวิ่ง อาคารนี้เป็นตึกทรงกลมขนาดใหญ่ในเขตวัดพระธรรมกาย มองด้านหนึ่งมีลักษณะเหมือนหางนกยูง แต่หากมองอีกที วงกลมตรงกลางก็ทำให้ดูเหมือนนัยน์ตาขนาดยักษ์ได้เหมือนกัน

คงเหมือนเรื่องเล่าที่จะพาความคิดของเราไปได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน

เอหิปัสสิโก ได้นำเสนอเรื่องเล่าจากหลายมุมด้วยกัน

จากมุมธรรมกาย 

หนังเสนอภาพของศิษย์วัดพระธรรมกายหลายคน ซึ่งเมื่อมองจากมุมนี้ เราจะพบว่าเรื่องเล่านั้นต่างออกไปจากที่เคยได้ยินมา เช่นเสียงหนึ่งที่บอกคนดูว่า เมื่อก่อนก็ได้ยินว่า วัดพระธรรมกายไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอเข้ามาเห็นด้วยตาตัวเอง มันไม่ใช่อย่างที่ได้ยินมาเลย เข้ามาปฏิบัติแล้วชีวิตก็ดีขึ้น เราได้เห็นและฟังวิศวกรชายวัยเกิน 50 ผู้กำลังจะบวชกับวัดพระธรรมกายพูดถึงเรื่องบุญกับสีผิว และหลายต่อหลายเรื่องจาก พระสนิทวงศ์ วุฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรของวัด ผ่าน talking head เนื้อหาโดยสรุปย่อก็คือปกป้องวัดพระธรรมกาย แต่ที่น่าสนใจ คือบางตอนที่ตัดมาจากเทปรายการ ‘ถามตรงๆ กับจอมขวัญ’

จอมขวัญถามว่า ไม่แปลกหรือที่ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรจะไม่รู้ว่าพระธัมมชโยอยู่ไหน

พระสนิทวงศ์ตอบว่า ไม่แปลก ไม่จำเป็นต้องรู้ เราแค่รู้ว่าท่านปลอดภัยก็พอแล้ว

ทั้งคำตอบของพระสนิทวงศ์และการเลือกฟุตเทจช่วงนั้นได้ทิ้งบางคำถามไว้

และแม้ไม่ได้ปรากฏตัวในหนังโดยตรง มีเพียงการนำเสนอด้วยภาพข่าว พระธัมมชโยก็ย่อมเป็นทั้งศูนย์กลางของเรื่องและศูนย์กลางของวัดพระธรรมกาย สะท้อนผ่านวิชวลต่างๆ ของวัด ทั้งสถาปัตยกรรม พิธีกรรม ที่ถูกนำเสนอในหนัง

เมื่อภาพเหล่านั้นถูกเล่าผ่านสายตาของคนทำหนัง ผ่านฟิลเตอร์ความคิดแบบหนึ่ง การถ่ายวัดพระธรรมกาย (ในแง่ของความเป็นองค์กร) ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม พิธีกรรม พรีเซนเทชั่น ทั้งภาพคนตกนรก เทวทูต นางสวรรค์ ทั้งหมดนั้นเมื่อประกอบกับการเลือกใช้ซาวด์ เหมือนจะชี้ชวนให้เห็นถึงความลี้ลับปนแอบเสิร์ด (absurd) ความไม่สมจริง มีความฉูดฉาดล้นเกินแบบลิเกหรือหนังจักรๆ วงศ์ๆ ชวนให้นึกไปถึงบางฉากแนวเซอร์เรียลลิสต์ในหนังของ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล แต่แน่ล่ะ ด้วยเทคนิคและจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน

ภาพชุดหนึ่งที่ต่างออกไป คือภาพนกยูงเดินเยื้องย่างไปตามบริเวณต่างๆ ภาย ในวัด สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอย่างนกยูงนั้นย่อมอ่อนนุ่ม พลิ้วไหว เมื่อมันได้เคลื่อนไปตามพื้นผิวคอนกรีต ช็อตสั้นๆ เพียง 3-4 ช็อต ที่เหมือนจะถอดฟิลเตอร์ชี้ชวนออกไปเหลือเพียงการถ่ายทอด กลับทำให้สัมผัสได้ถึงความลี้ลับเหนือจริงเล็กๆ น้อยๆ ในศาสนสถานแห่งนี้อันยากจะอธิบาย

ทั้งหมดทั้งมวล ด้วยมุมของคนปกติ (เราทุกคนคงเชื่อว่าตนเองปกติ) เราอาจคิดว่า มีอะไรบางอย่างที่แปลกประหลาดแฝงเร้นอยู่ในองค์กรขนาดยักษ์แห่งนี้

แต่คงไม่ใช่กับลูกศิษย์วัดอย่าง บำเพ็ญ และครอบครัว ซึ่งปรากฏตัวเป็นตัวละครหลัก มุมมองของบำเพ็ญต่อสิ่งต่างๆ ในวัดนั้นแตกต่างออกไปจากที่คนดูคิด (ผ่านการชี้ชวนของคนทำหนัง) เราเห็นเธออมยิ้มเมื่อมองภาพจำลองสวรรค์แบบ 3 มิติคุณภาพต่ำ ชมเหล่านักแสดงสวมชุดเทพธิดาพากย์เสียงบรรยายถึงสรวงสวรรค์ ราวกับชาวบ้านที่กำลังนั่งดูละครหลังข่าว 2 ทุ่ม ก็ไม่ปาน

ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ในช่วงที่บันทึกภาพบำเพ็ญ​และเหล่าศิษย์วัดผู้ศรัทธา เหมือนหนังจะถอดฟิลเตอร์ออกไปเช่นเดียวกับตอนถ่ายนกยูง ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความตรงไปตรงมาปนความใสซื่ออันน่าเอ็นดู

แม้จะเห็นได้ชัดว่า คนทำหนังอาจมีฟิลเตอร์แบบไหนต่อวัดพระธรรมกาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ด้วยไม่เคยมีกฎข้อไหนตั้งไว้ว่า คนทำสารคดีต้องเป็นกลาง เพราะคนทำสารคดีก็เป็นคนเล่าเรื่องแขนงหนึ่ง ย่อมมีมุมมองหรือธงความเห็นอยู่ก่อนแล้ว อยู่ที่ว่าใครจะทำได้เรียบเนียนกว่าเท่านั้น

จากมุมคนภายนอก

มุมมองจากคนภายนอกใน เอหิปัสสิโก อาจแบ่งย่อยลงไปได้อีกหน่อย คือมีคนภายนอกที่เคยเป็นคนใน

นายแพทย์มโน เลาหวณิช เมื่อครั้งยังเป็นพระอยู่ในวัดนั้นไม่เห็นด้วยกับการที่วัดสนับสนุนให้คนทำบุญจนหมดตัว หากเมื่อนำเรื่องนี้ไปพูดกับพระธัมมชโย พระธัมมชโยกลับพูดอะไรบางอย่างที่ถึงกับทำให้เสียวสันหลังวาบ นายแพทย์มโนจึงออกมาจากวัดตั้งแต่นั้น

อีกคนหนึ่งคือครูผู้หญิงวัยกลางคนที่ปรากฏตัวตอนต้นเรื่อง เธอเล่าว่าเคยเข้าไปปฏิบัติธรรมในธรรมกาย แต่เมื่อพบความผิดปกติบางอย่างจึงแยกตัวออกมา ตอนที่ออกมาจากวัดใหม่ๆ ยังมีเจ้าหน้าที่ของวัดโทรศัพท์มา ถึงขั้นมากดออดเรียกหน้าบ้าน

และเรายังได้เห็นภาพครูผู้หญิงคนนี้หยิบแฟ้มรวบรวมภาพกิจกรรมของเธอในวัดพระธรรมกายที่เก็บรักษาไว้อย่างดี และค่อยๆ เปิดให้กล้องดูราวกับมันคือสมบัติล้ำค่า ซึ่งอาจจะต่างไปจากพฤติกรรมของคนทั่วไปสักหน่อยตรงที่ถ้าไม่ชอบใจสิ่งใด ก็คงทิ้งทำลายวัตถุที่คอยจะย้ำเตือนให้นึกถึง ตรงนี้ก็นับเป็นมุมที่น่าสนใจ

แต่น่าเสียดายว่า เราได้รับฟังเรื่องเล่าจากบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากวัดพระธรรมกายน้อยไปสักนิด นอกจากครูคนนี้แล้ว เราไม่ได้ฟังใครอื่นอีก ที่พูดถึงในเรื่องก็มี คนที่ขายบ้านเพื่อเอาเงินมาทำบุญ สมาชิกที่ครอบครัวแตกแยกเพราะเหตุว่ามีใครคนหนึ่งในบ้านถวายทุกสิ่งให้ธรรมกาย

คนภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัด

ในหนังมีบทสัมภาษณ์ปัญญาชนผู้เป็นที่รู้จักในสังคม อย่าง พระไพศาล วิสาโล ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, วิจักขณ์ พานิช, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่ค่อนข้างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า วัดพระธรรมกายมีคำสอนบางอย่างที่ต่างออกไปจากคำสอนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ทั้งในเรื่องพุทธพาณิชย์ เรื่องคำสอนที่ต่างออกไปจากพระไตรปิฎก และธรรมกายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพล และคนภายนอกคนสุดท้ายที่น่าสนใจก็คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่พูดถึงขั้นว่า วัดพระธรรมกายคือต้นเหตุความเสื่อมของพุทธศาสนาในประเทศไทยเลยทีเดียว

เราจะเห็นว่า มุมมองของคนภายนอกนั้นมีจำนวนเยอะกว่ามุมมองจากภายในวัด และคงไม่ผิดหากจะพูดว่าคนภายนอกทุกกลุ่มไม่มีใครเข้าข้างวัดพระธรรมกายเลย แต่ถ้าคุณได้ตามข่าวเรื่องวัดพระธรรมกายมาบ้าง จะพบว่าแง่มุมที่ถูกพูดในหนังนั้นไม่ได้ให้มิติใหม่กับคนดูเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเล่าที่สังคมรับรู้อยู่แล้ว เพียงแต่ได้นำมารวบรวมร้อยเรียงอีกครั้งเท่านั้นเอง

หากมีสองสิ่งที่ผู้เขียนสนใจ หนึ่ง คือการเปรียบเทียบว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่พุทธศาสนาแบบไทยกำลังสอนกันในวัดก็ไม่ได้มีอะไรที่ต่างจากธรรมกายเลย เพียงแต่ธรรมกายเอามานำเสนอในรูปแบบที่สุดโต่งไปด้านหนึ่ง คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถยอมรับได้ (ศิโรตม์) สอง คือคำพูดว่าความใหญ่โตของวัดพระธรรมกายนั้นไปสะเทือนสถาบันเก่าแก่สถาบันหนึ่ง (บรรจบ บรรณรุจิ) แต่ในหนังนั้นไม่ได้ขยายความตรงนี้ต่อ

บทความชิ้นนี้จึงอยากลองขยายไปถึงส่วนที่หนังได้เว้นระหว่างบรรทัดไว้ ไม่แน่ใจว่าจะด้วยความจำเป็น หรือจงใจ หรือทั้งสองเหตุผล

เราจะลองเติมคำในช่องว่างเล่นๆ ว่า สถาบันเก่าแก่ที่บรรจบพูดทิ้งไว้ (หรือเท่าที่คนทำหนังตัดมาเสนอ) นั้นคือ มหาเถรสมาคม

เพราะเหตุที่ช่วงก่อนยุค คสช. นั้น ได้มีข่าวการขยายอำนาจของวัดพระธรรมกายเข้าไปในมหาเถรสมาคม นำมาซึ่งการปลด ไล่จับสึก ไปจนถึงการลี้ภัยของพระชั้นเจ้าคุณหลายรูป ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มากในวงการสงฆ์ไทย

และกรณีวัดพระธรรมกายนั้นได้กลายเป็นเคสการเมืองไปแล้ว ด้วยการล้อมวัดของ DSI เกิดขึ้นโดยใช้อำนาจ ม.44 ในยุค คสช. คนที่แจ้งต่อ DSI ก็คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งเกี่ยวพันกับกลุ่ม กปปส. ทำให้พอนึกภาพได้ว่า ใครหรืออะไรบ้างที่อยู่เบื้องหลังการไล่จับพระธัมมชโยในครั้งนี้

และน่าสนใจตรงที่ว่า ถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าของคดีอีกเลย หรือการไล่จับครั้งนั้นเป็นเพียงการทุ่มทุนสร้างใหญ่โตเพื่อจัดฉากแสดงอะไรบางอย่าง และหลังจากนั้นก็เปล่าสูญ ราวภาพข่าวของ คสช. และหนังสือพิมพ์หน้าข่าวที่ปลิวไปมาในหนัง

แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดเดาแบบปะติดปะต่อข้อมูลของผู้เขียนเอง เพราะอยากจะเติมช่องโหว่ที่จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญขาดไป – จิ๊กซอว์ที่จะเติมมิติของเรื่องราวให้สมบูรณ์

เนื่องด้วยชิ้นส่วนชิ้นใหญ่นี้มันอาจนำไปสู่บทสนทนาและการขบคิด การถกเถียง ถึงคำถามต่อเนื่องอันนำไปสู่ภาพใหญ่ขึ้น นั่นคือ

เอาเข้าจริงแล้ววัดพระธรรมกายไม่ได้ต่างอะไรเลยกับวัดอีกมากมาย พระสงฆ์แห่งพุทธศาสนาในประเทศไทยยังคงสอนให้คนยึดถือเพียงบาปบุญ โลกหน้า พุทธพาณิชย์ สิ่งปลูกสร้าง 

ทำไมถึงเพียงตั้งคำถามกับธรรมกาย

ทำไมถึงไม่ตั้งคำถามเดียวกันกับวัดอื่น

หรือคำถามกับอำนาจของมหาเถรสมาคม

หรือคำถามหนักๆ อย่าง…เราควรมีเสรีภาพกับศาสนาแค่ไหน อย่างไร

แน่นอนว่า หนังเรื่องหนึ่งไม่อาจตั้งคำถามทั้งหมดนี้ได้ เพียงแต่ว่าหากหลีกเลี่ยงคำถามที่สำคัญ มันก็คงทำให้เรายังไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจอยู่นั่นเอง

หมายเหตุ: ถ้าใครสนใจเรื่องธรรมกายกับการเมือง แนะนำให้ลองอ่านบทสัมภาษณ์ สุรพศ ทวีศักดิ์ จะได้มุมมองและอรรถรสเพิ่มเติม https://www.posttoday.com/politic/report/436236 

ศุภโมกข์ ศิลารักษ์
เกิดกรุงเทพฯ แต่ไปโตที่สงขลา ไปเรียนต่อรามคำแหง เพราะพบว่าตัวเองอยากทำหนัง วันหนึ่งนึกสนุกลองเอาบทภาพยนตร์ของตนเองมาเขียนเป็นนิยายเล่มแรก เหม่วาบนพื้นไม้ไผ่ รางวัลชนะเลิศ รางวัลปิศาจครั้งที่ 1 ปัจจุบันเปิดร้านหนังสือ ‘หนองควายสนุก’ นอกตัวเมืองเชียงใหม่ และยังซุ่มตัดต่อสารคดี สลับกับเขียนบทหนัง รวมถึงอะไรต่อมิอะไรอยู่เสมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า