รู้จัก Off Label ผ่านภาพยนตร์สารคดี

capture-20140611-150951
                                                                                                                                                                                                                                                         เรื่อง : อาลี ปรียากร

 

Off Label ในอเมริกา

“ฉันทนกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้” สตรีวัยใกล้ชรากล่าว ขณะที่บรรยากาศรอบตัวของเธอเต็มไปด้วยขวดยานับสิบขวดตั้งเรียงรายอยู่บนโต๊ะอาหาร  ยาจำนวนหนึ่งต้องรับประทานก่อนอาหาร บางส่วนต้องรับประทานหลังอาหาร  บางส่วนต้องบริโภคก่อนนอน หรือทุกๆ 4 ชั่วโมง ตามที่บริษัทยากำหนด

ภาพตัดมาที่หนุ่มทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน เขาเล่าเรื่องราวที่เคยผ่านสนามรบสงครามอิรัก ตอนอายุ 19 ปี ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในหน่วยรบ จึงได้เห็นภาพคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ซึ่งทำให้เขามีสีหน้าและแววตาที่ไม่สู้ดีจนถึงปัจจุบัน และต้องพึ่งพายารักษาเกี่ยวกับอาการทางจิต

และอีก 6 กรณีศึกษา บ้างผันตัวไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับยา และหันหน้าพึ่งพาพระเจ้า  บ้างก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือบางคนเปลี่ยนอาชีพไปเป็นนักมานุษยวิทยาทางการแพทย์  ที่ทำการเสาะหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมของบริษัทผลิตยา

Off Label คือภาพยนตร์สารคดีที่ตีแผ่เรื่องของผู้คนเหล่านี้สู่สาธารณชน ภาพยนตร์ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2012 นำเสนอเกี่ยวกับชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบ 8 กรณี จากการเป็นผู้ถูกทดลองในการวิจัยยา โดยได้รับยาเหล่านั้นมาใช้ (หรือที่ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เรียกสั้นๆ ว่า ‘หนูลองยา’) ซึ่งเป็นยาที่ออกมาใหม่ โดยบริษัทผลิตยาในสหรัฐอเมริกา

 

off_label_1

 

ในสหรัฐ ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับรู้ว่ายาบางชนิดที่สั่งให้แก่คนไข้ทั่วไป มีผลการวิจัยหลายสำนักยืนยันว่าเกิดผลข้างเคียงที่อันตราย ยาบางชนิดนำไปสู่การเสพติดได้

แมรี ไวส์ เป็นอีกหนึ่งผู้เล่าเรื่องในสารคดีนี้โดยเธอได้เล่าเรื่องแทนลูกชาย ที่เสียชีวิตจากการปรับเปลี่ยนยาโดยแพทย์หัวหน้าโครงการวิจัยยา ลูกชายของเธอมีอาการป่วยทางจิต และได้เลือกที่จะเข้าโครงการวิจัยที่แพทย์ผู้รักษาร่วมมือกับบริษัทยา แพทย์ที่ทำการรักษาได้เปลี่ยนยาที่รักษาอยู่เดิม เป็นยาชนิดใหม่ ท้ายที่สุด ลูกชายของแมรี ไวส์ มีสุขภาพทรุดลง และเสียชีวิต ซึ่งเป็นกรณีที่ร้ายแรงที่สุดในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนำเสนอเรื่องของชายหนุ่มวัยกลางคน ที่สมัครใจที่จะเป็นหนูลองยา โดยเขาทำเพื่อประทังชีวิต เพราะหนูลองยาจะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกจากแพทย์ ซึ่งเขาไม่ได้สนใจว่ายาที่ทดลองใช้จะมีผลข้างเคียงกับตัวเขาหรือไม่ เขาทำไปเพื่อแลกกับสิ่งตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทผลิตยา เพราะบริษัทผลิตยาก็ต้องมีการเซ็นสัญญา และมีการตอบแทนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง

การนำเสนอภาพของผู้คนที่เป็นหนูลองยาของภาพยนตร์สารคดี Off Labelทำให้ผู้รับชมได้ตระหนักถึงการบริโภคยาอย่างระมัดระวัง และต้องไม่ตกอยู่ในความเชื่อว่า ยาจะสามารถรักษาได้ทุกโรคเสมอ จึงสมควรที่จะดูแลเอาใจใส่ที่ต้นเหตุ คือสุขภาพของทุกคนเอง  ในส่วนท้ายของภาพยนตร์ มีการนำเสนอภาพของการรับบริจาคยา เพื่อนำมาทำลายอย่างถูกวิธี ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่าเราทุกคนที่เป็นมนุษย์ การเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติ ซึ่งมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสิ่งที่เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้นั่นเอง

เสาร์ที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีการนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายใน เทศกาลหนังขายยา ครั้งที่ 3: Off Labelโดยความร่วมมือของ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาฯ,นิตยสาร BIOSCOPE และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมีการเสวนาแลกเปลี่ยนหลังจากการฉายภาพยนตร์

 

three-pill-bottles-Medium

 

Off Label ในไทย 

ในการเสวนาแลกเปลี่ยนหลังจากการฉายภาพยนตร์ มีการพูดถึงประเด็น ความหมายของ Off Labelอยู่ด้วย ซึ่งทำให้เข้าใจถึงภาพรวมของ Off Label และเข้าใจมุมมองของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

โดย ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี (ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาฯ) ได้นำเสนอว่ายา Off Label ส่วนหนึ่งก็คือยาที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วมีการนำมาใช้ ยาบางชนิดใช้แล้วดี แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน หรือ ยาบางชนิดยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ยังไม่มีข้อบ่งใช้ แต่บริษัทผลิตยานำมาให้แพทย์ลองให้คนไข้ใช้ก่อน

ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ (คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี) ได้นำเสนอตัวอย่างกรณีของยา Off Label ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย “มียาชนิดหนึ่ง Off Label ชื่อยานิวรอนติน (Neurontin) จดทะเบียนในนามยากันชัก แต่ไม่ได้ใช้ในรูปแบบยากันชัก กลับใช้เป็นยาสำหรับลดอาการปวด โดยเฉพาะอาการปวดประสาททั้งหลาย ซึ่งเป็นอาการปวดที่รักษายาก

“ผู้แทนบริษัทยาจะเข้ามาโฆษณากับแพทย์และทำให้เป็นคำที่ติดหู เขาก็มาโฆษณาว่า ‘ปวดแปลบๆ ใช้นิวรอนติน’ ซึ่งก็ติดกันไปถึงนักเรียนแพทย์ พอมีคนไข้มาบอกแพทย์ว่าปวดแปลบๆ แพทย์ก็เลยสั่งนิวรอนติน ก็เลยนำไปสู่ข้อสงสัยว่า มันมีข้อบ่งชี้อะไรที่ทำให้เป็นแบบนั้น เรารู้จักยานิวรอนตินนั้นจริงๆ ไหม”

“อีกตัวอย่างของ Off Label คือการใช้ยาที่ถูกกำหนดว่ามีข้อบ่งใช้ คือใช้เป็นยาต้านเศร้า แต่เมื่อนำไปใช้กับอาการวิตกกังวล เอาไปใช้กับข้อบ่งใช้อื่นพอใช้กับข้อบ่งใช้อื่น พิษของยาก็ยังอยู่ คนไข้ก็จะมีอาการฝันประหลาด ฝันแปลกๆ ฝันร้าย ตามพิษของยา ต้องดูว่าพิษของยาเป็นประเภทไหนด้วย เพราะมันไม่ได้สั่งมาให้ใช้กับอาการวิตกกังวล”

ผศ.พญ.สายพิณ ได้เสนออีกว่า เมื่อรู้จักประโยชน์แล้ว ก็ควรรู้โทษของยาแต่ละชนิด การบริโภคยาใดๆ ต้องรู้ถึงผลข้างเคียง เพราะยาแต่ละชนิดมีทั้งประโยชน์และโทษเสมอ

นิมิตร์ เทียนอุดม (ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกัน) ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า “Off Label ก็มีทั้งมุมบวกมุมลบ มุมของผมคือ ข้อบ่งใช้บางอันมันสำคัญ  ยาที่ข้อบ่งใช้ขึ้นทะเบียนไว้ว่าเป็นยารักษาโรคกระเพาะ แต่ว่าผลข้างเคียงไปทำให้บีบรัดมดลูก และอาจทำให้แท้ง มีเรื่องราคามาหลอก ราคาแพงกำลังหลอก คือมายาคติ ที่ยาจำพวก Off Label กำลังหลอกเรา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมาหาว่ายาที่ขึ้นทะเบียนอยู่มีข้อบ่งใช้อะไร  มีประโยชน์แบบนี้  แต่ผลข้างเคียงอาจจะใช้กับประโยชน์แบบอื่น”

 

off_label

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยาแพงอาจไม่ใช่ยาดีเสมอไป  

ดร.พญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี (คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ) ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และได้พบว่า ยาแบบเดียวกัน แต่บริษัทยาไม่เอาข้อบ่งใช้มาขึ้นทะเบียนในประเทศกำลังพัฒนา แต่บีบให้ใช้ยาที่แพงกว่า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ กล่าวคือ ยาชนิดที่ใช้ใกล้เคียงกัน แต่ราคายาชนิดหนึ่งเข็มละ 1,000 บาท ส่วนยาอีกชนิดหนึ่งราคาสูงถึงเข็มละ 54,000 บาท

ซึ่งในกรณีที่ ดร.พญ.ธัญญรัตน์ นำเสนอ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นยาเข็มละ 1,000 บาทที่ใช้นี้ เป็นยาที่ริเริ่มด้วยการเป็นยารักษาโรคมะเร็งตับ แต่ Off Label มาใช้สำหรับการรักษาตา ซึ่งใช้ได้ผลเป็นอย่างดีในประเทศอังกฤษมีการฟ้องร้องจากบริษัทผลิตยาต่อแพทย์ที่ใช้ยาชนิดนี้รักษาตา เนื่องจากใช้ยาไม่ตรงตามข้อบ่งใช้ แต่ในประเทศไทยมีการผลักดันให้ยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้แทนการยิงเลเซอร์รักษา และเมื่อมีการรวบรวมข้อมูลจากการวิจัย และประสิทธิผลของยาชนิดนี้ ทำให้ยาได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และในประเทศอื่นก็ได้ขึ้นทะเบียนยานี้ตามไทย เนื่องจากเป็นยาที่ราคาไม่แพง และมีประสิทธิผลดี

ด้านผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ ได้เสนอเรื่องมายาคติเกี่ยวกับยาในสังคมไทยใน 3 ด้านคือ

“1) ยาชนิดใหม่กับยาชนิดเก่า – ทั้งหมอและคนไข้จะเชื่อกันว่ายาใหม่ดีกว่ายาเก่า ก็ต้องหัดถามตัวเองว่ายาใหม่มันดีกว่ายาเก่าจริงๆ หรือเปล่า

2) ยาราคาแพงกับยาราคาถูก – ก็ต้องมาถามอีกเหมือนกัน เพราะยาแพงสุดใหม่สุดอาจจะไม่ดีก็ได้ เพราะยาใหม่บางทีเรายังไม่รู้พิษมันเลยก็มี

3) จำนวนยาที่ได้รับ – ต้องลบความเชื่อที่ว่ามารักษาต้องได้ยากลับไป จริงๆ ไม่ใช่ โรคหลายๆ โรค ไม่ได้เกิดจากเชื้อหรืออะไรที่ไม่ต้องใช้สารมากมาย ยาเหล่านี้เป็นยาที่ควบคุมอาการ ไม่ใช่ยาที่รักษาที่ต้นเหตุของความป่วย”

ก่อนจบกิจกรรมเสวนา ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลีได้ทิ้งท้ายเรื่องจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา โดยให้ความเห็นว่า “ดูหนังดูละครแล้ว ก็ต้องย้อนดูตัว ทำอย่างไรที่ทุกคนจะได้เป็นกระบอกเสียงที่ดี ร่วมตรวจสอบสังคมไปพร้อมๆ กัน มีข้อคิดเห็น ข้อสงสัยอะไร เราต้องอย่าให้คนอื่นมาชักจูง ต้องสงสัยไว้ก่อน มีการคิดวิเคราะห์กันเยอะๆ ทาง กพย. อยากให้ผู้บริโภคทุกคนเข้มแข็ง เพราะเสียงหนึ่งเสียงรวมกันเป็นไม้ซีกงัดไม้ซุงได้”

เหล่านี้คือสิ่งที่สะท้อนจากภาพยนตร์ เสียงสะท้อนเกี่ยวกับการใช้ยาของผู้ที่อยู่ในวงการแพทย์ วงการอนามัย ที่ว่าในความเป็นจริงแล้วชนิดของยาในบัญชียาหลักในโลกนี้มีเพียงพอแล้วสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ และเรื่องที่คนใกล้ตัวเราอาจประสบอยู่เหล่านี้เป็นเรื่องที่พึงรู้ว่าปัญหาการเป็นหนูลองยาในโลกนี้ร้ายแรงเพียงใด ระบบผลิตยาของบริษัทยาต่างๆ ทั่วโลกเป็นอย่างไร เพราะเราสามารถหลีกเลี่ยงและช่วยลดความต้องการยาชนิดใหม่ๆ ได้ หากทุกคนร่วมกันตรวจสอบอย่างจริงจัง

 

+++++++++++++++++++

ภาพยนตร์สารคดี Off Label : เทศกาลหนังขายยาครั้งที่ 3

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า