เบื้องหลัง VIPA Film Festival เทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

‘ความเหลื่อมล้ำ’ คือหนึ่งในต้นตอของความขัดแย้งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ทุกภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต่างรณรงค์และชูประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำขึ้นมาพูด ทั้งเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และหาวิธีการแก้ไข เพื่อทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยคลี่คลายลง

ทว่า ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องรับมือกับปัญหานี้ไม่ต่างกัน และความเหลื่อมล้ำในแต่ละสังคมก็ล้วนมีมิติที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากได้สำรวจความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมและมิติต่างๆ อย่างหลากหลาย ก็อาจทำให้เรามองเห็นปัญหานี้ได้อย่างชัดเจนขึ้น และนำไปสู่การหาวิธีที่จะมารับมือกับปัญหานี้ได้อย่างเหมาะสม

นี่จึงเป็นที่มาของ VIPA Film Festival เทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) และ Documentary Club เทศกาลภาพยนตร์ที่จะพาไปสำรวจบาดแผลร่วมสมัยของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ผ่านหนังสารคดีคัดสรร 3 เรื่อง ได้แก่ Push (2019) May I Quit Being a Mom!? (2020) และ After Work (2023) ซึ่งตั้งคำถามต่อประเด็นความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub.

WAY พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส และ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club ว่าด้วยเบื้องหลังและที่มาของเทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำในครั้งนี้

เบื้องหลังแนวคิดเทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำในครั้งนี้เป็นมาอย่างไร

วิลาสินี: ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะ ได้ประกาศวาระขับเคลื่อนนโยบาย ‘ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเป็นธรรม’ ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565-2566 เป็นแกนกลางขับเคลื่อนเชิงประเด็น โดยเลือกหยิบประเด็นความเหลื่อมล้ำมาสื่อสารสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

เราเริ่มจากการรณรงค์ และจัดเวทีวิชาการ ‘เปิดประตู สู่ความเหลื่อมล้ำ’ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อให้เกิดความเข้าใจความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น ใช้งานวิจัยเป็นฐานในการคลี่ประเด็นความเหลื่อมล้ำใหญ่ๆ ที่สังคมเผชิญอยู่ มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แบ่งเป็น 5 ประเด็นใหญ่ ซึ่งแต่ละประเด็นมิใช่ปัญหาเชิงเดี่ยว แต่ทุกเรื่องเป็นปัญหาที่ซ้อนทับ ประกอบด้วย คนจนเมือง คนไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา คนพิการซ้ำซ้อน และผู้สูงอายุโดดเดี่ยว

ยกตัวอย่างคนจนเมือง นอกจากปัญหาหลักเรื่องรายได้แล้ว ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ ซ้อนทับ ทั้งการศึกษา โอกาสในการทำงาน ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต ความปลอดภัย ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงปัญหาการเดินทาง ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ปัญหาใหญ่ของคนจนเมืองเพียงแค่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ไม่ไหวแล้ว หรือแม้แต่คนจนเมืองที่เป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ โดดเดี่ยว และเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา

เมื่อทุกคนในไทยพีบีเอสมีหมุดหมายเดียวกันแล้ว ทุกส่วนงานด้านการผลิตเนื้อหาก็หยิบประเด็นความเหลื่อมล้ำต่างๆ ไปนำเสนอ เช่น ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ เปิดประเด็น ‘เปิดจักรวาลคนจนเมือง’ ให้เห็นว่า ‘ความจน’ เชื่อมโยงกับทุกเรื่อง โดยผลิตออกมาเป็นสกู๊ป รายงานพิเศษ และสารคดีพิเศษชุดคนจนเมือง ซึ่งมีทั้งหมด 3 ซีซัน คว้ารางวัลมากมาย ด้วยเนื้อหาที่ลึก ตีแผ่เนื้อหาชีวิต 

ทุกเรื่องไม่ได้จบเพียงแค่การนำเสนอในจอทีวีเท่านั้น แต่การทำงานของไทยพีบีเอส พยายามผลักดันหาทางออกร่วมกัน จัดเวทีเชิญผู้เกี่ยวข้องถกปัญหา และหาความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 และการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคนจนเมืองก็ถูกผลักดันต่อโดยมีไทยพีบีเอสเป็นแกนกลาง

ประเด็นเด็กหลุดออกนอกระบบที่เปิดประเด็นตั้งแต่ปี 2565 ก็มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา โดยหยิบยกประเด็นความเสี่ยงของเด็กที่จะหลุดออกนอกระบบจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีการผลักดันให้เกิดแซนด์บ็อกซ์เพื่อทดลองแก้ปัญหาเด็กที่สุ่มเสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบในต่างจังหวัดหลายพื้นที่

ทั้ง 2 ตัวอย่าง บ่งชี้ว่า เมื่อไทยพีเอสได้ประกาศวาระลดความเหลื่อมล้ำ เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ลงมือแก้ปัญหาของสังคมอย่างจริงจัง ไม่เพียงมองบทบาทในแง่ความเป็นสื่อที่ผลิตเนื้อหาเพื่อสื่อสารสังคมเท่านั้น เพราะบทบาทการสร้างความตระหนักต่อสังคมเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่เราไปไกลมากกว่านั้น เราเอาข้อมูลต่างๆ มาคลี่ให้เห็น และผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง

ทุกปัญหาในสังคม เราไม่เพียงสร้างความตระหนักหรือให้ข้อมูล แต่ต้องทำให้เกิด ‘ความเห็นอกเห็นใจเชิงสังคม’ หรือ social empathy เปิดหัวใจให้ผู้คนเกิดความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ซึ่งสื่อทำหน้าที่นี้ได้ดีอยู่แล้ว และไทยพีบีเอสเองทำหน้าที่นี้มาตลอด

ที่ผ่านมา ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส) ที่ให้บริการด้านคอนเทนต์ออนไลน์ในรูปแบบ Video on Demand (VOD) ผ่านทาง VIPA ซึ่งเป็น video streaming platform เราใช้หลักคิดไม่ต่างจากไทยพีบีเอส คือ การสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ ไม่มีค่าใช้จ่าย ภาพยนตร์ สารคดี ที่คัดสรรมามุ่งหวังที่จะให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงสารคดีที่มีคุณค่า หาดูที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ มีสาระชวนคิดต่อ 

โดยหลักการ เราจับมือร่วมกับ Documentary Club ชุมชนสำหรับคนรักหนังสารคดี ร่วมกันคัดสรรเนื้อหาสะท้อนปัญหาสังคม ซึ่ง Documentary Club ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าเป็นหน่วยงานที่เลือกสารคดีดีๆ ให้ผู้คนได้เรียนรู้ การจับมือกันทำให้แพลตฟอร์มเปิดสู่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น โดยที่ทั้ง 2 หน่วยงานให้คุณค่า ส่งเสริมพื้นที่ที่มีสาระและสะท้อนชีวิตในสังคมเหมือนกัน

ทำไมประเด็น ‘ชีวิตคนทำงาน’ ‘ที่พักอาศัยในเมือง’ และ ‘วิถีความเป็นแม่’ ถึงเป็นประเด็นหลักของเทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้

วิลาสินี: VIPA Film Festival เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนขบคิด พูดคุย มองหาทางเลือก ทางออกของปัญหา การเลือกสรรภาพยนตร์สารคดีทั้ง 3 เรื่อง สะท้อนความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ เป็นการทำหน้าที่เปิดหัวใจของผู้คนให้เกิดความเห็นอกเห็นใจในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ 

‘ชีวิตคนทำงาน’ ‘ที่พักอาศัยในเมือง’ และ ‘วิถีความเป็นแม่’ เหล่านี้เป็นปัญหาสากลที่หลายสังคมถูกทำให้เชื่อมาเหมือนๆ กัน แม้จะไม่ใช่สารคดีของไทย แต่เป็นปัญหาที่ทุกประเทศล้วนประสบพบเจอและต้องเผชิญ เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับปัญหาในสังคมไทย และยังไม่เคยนำเข้ามาฉายในประเทศไทยมาก่อนอีกด้วย ทั้ง 3 ประเด็นเป็นการเขย่ารากเหง้าความเชื่อความรู้สึกที่ติดยึดมานาน 

ทำไมจึงเลือกหนังทั้ง 3 เรื่องนี้มาฉายในเทศกาลนี้

ธิดา: หนังสารคดีทั้ง 3 เรื่องนี้มาจาก 3 ประเทศ และ 3 วัฒนธรรม แต่สะท้อนจุดร่วมสำคัญประการหนึ่งคือ สะท้อนความรู้สึกของคนร่วมสมัยที่ตั้งคำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์

After Work เป็นหนังที่กระตุกให้ผู้ชมสงสัยว่า ทำไม ‘การทำงาน’ จึงเป็นสาระสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ และทำไมการตกงาน การไม่ทำงาน หรือการถูก AI แย่งงาน จึงกลายเป็นสิ่งที่บีบคั้นให้เราต้องหวาดกลัว มนุษย์จะหลุดพ้นจากสภาพที่ครอบงำเรามาหลายร้อยปีนี้ได้ไหม อะไรคือความหมายของการมีชีวิตอยู่ หนังอาจยังไม่ได้มีคำตอบให้ แต่คงไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่าความสำคัญอยู่ตรงที่มันได้ตั้งคำถามที่ใหม่มากๆ และอาจจะสอดคล้องกับความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มากที่สุด

วิลาสินี: เมื่อในโลกของการทำงาน ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ หรือเติบโตงอกงามได้ จะต้องมีงานดีๆ เงินเดือนสูงๆ เป็นตัวตั้ง ทำให้นิยามของ ‘งาน’ ถูกผูกไว้กับการให้คุณค่ากับความเป็นสังคมทุนนิยม เป็นความเหลื่อมล้ำที่ผูกติดกับค่านิยม ความเชื่อเช่นนี้ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางความรู้สึก และระบบเศรษฐกิจ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้อาจช่วยให้เห็นมุมมอง เปิดพื้นที่ในการถกเถียง และร่วมมองหาทางเลือกทางรอดในชีวิตได้มากขึ้น

ธิดา: May I Quit Being a Mom?! พูดถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมญี่ปุ่น ที่ด้านหนึ่งขีดกรอบให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่ที่ดี อีกด้านกดดันให้ผู้ชายต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ บทบาททางเพศที่ตายตัวเช่นนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งในชีวิตคู่และนำมาสู่ปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรง ความจริงแล้วมันอาจเป็นสภาพที่เกิดในอีกหลายสังคม แต่เมื่ออยู่ในบริบทของสังคมที่ยังมีค่านิยมเรื่องบทบาททางเพศค่อนข้างแข็งตัวอย่างญี่ปุ่นก็ยิ่งสะท้อนได้ชัด และหนังเรื่องนี้สำคัญมากๆ ตรงที่คนทำหนังเข้าไปรับฟังความในใจของทั้งคนเป็นแม่และพ่ออย่างตรงไปตรงมา กระตุ้นให้เราต้องคิดใหม่ว่ามันอาจไม่ได้เป็นแค่ปัญหาของปัจเจก แต่เป็นสิ่งที่สังคมและรัฐสมควรต้องแก้ไข

วิลาสินี: ทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ได้โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างเดียว แต่ต้องพูดถึงระบบและโครงสร้างในสังคมที่มีความเอื้ออาทร โครงสร้างทางสังคมที่พร้อมจะช้อนหรือรองรับความเปราะบางทางสังคม หรือ social safety net ที่ไม่ใช่พูดถึงแค่ประเด็นการเจ็บป่วยทางจิตใจ หรือผลกระทบจากภาวะซึมเศร้า แต่มีภาวะที่เป็นแรงกดทับที่คนเป็นแม่ต้องเผชิญ สารคดีเรื่องนี้จะทำให้เกิดการถกเถียงถึงค่านิยมในหน่วยย่อยที่สุดคือครอบครัว และยังมีปัจจัยซ้อนทับเรื่องรายได้ ยิ่งทำให้ปัญหาขยาย ถ้าจะเปิดหัวใจเข้าใจผู้คน ต้องเข้าใจในหน่วยที่เล็กที่สุดนี้

Push ที่เป็นภาพยนตร์สารคดีที่สอดคล้องกับประเด็นคนจนเมืองที่ชัดเจนมากที่สุด การพูดถึงคุณภาพการอยู่อาศัย การใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง หรือชีวิตของคนจนที่อยู่ในเมือง ซึ่งการจัดระเบียบเมืองอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา หรือการย้ายคนจนไปอยู่บนตึก เพื่อรองรับวิถีชีวิตไลฟ์สไตล์ของคนเมือง แต่กลับมองไม่เห็นชีวิตจริงของพวกเขา การได้เรียนรู้ประเด็นอื่นๆ จากต่างประเทศด้วย อาจช่วยให้เกิดความคิดอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาเรื่องเมืองเหล่านี้ไปพร้อมกัน 

ธิดา: สารคดีเรื่องนี้ว่าด้วยสิทธิในการอยู่อาศัยของมนุษย์ที่ไปไกลอีกขั้นกว่าการพูดถึงความจนและความรวย ด้วยการพาเราไปดูหลายๆ ประเทศที่การพัฒนานำมาสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าพื้นที่เมืองให้กลายเป็นทรัพย์สินสร้างกำไรแทนที่จะเป็นที่อยู่อาศัย ย่านที่เคยมีผู้คนอยู่มาหลายชั่วรุ่นถูกเปลี่ยนเป็นย่านสมัยใหม่ที่นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้ทรัพยากรโดยอาจไม่เคยคิดถึงคนจำนวนมากซึ่งถูกขับไล่ออกไป สภาพนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศไทยเช่นเดียวกัน และทำให้เราเกิดคำถามต่อเรื่องการเป็นเจ้าของบ้านและที่อาศัย ว่าทำไมมันจึงกลายเป็นแค่สิทธิ์สำหรับคนบางคนเท่านั้น

วิลาสินี: สารคดีทั้ง 3 เรื่อง เป็นการชวนคิดชวนคุยผ่านกรณีศึกษาใน 3 ประเทศ นำไปสู่การเปิดพื้นที่และเปิดหัวใจ ของสังคมในการมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึก ความเชื่อ ค่านิยม และการให้คุณค่าที่กดทับปัญหาเชิงโครงสร้างอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเมืองใหญ่หลายประเทศต่างต้องเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำหลากหลายมิติ เพราะเรื่องราวของชีวิตคนทำงาน วิถีความเป็นแม่ และการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ เป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำที่หลายประเทศต่างประสบปัญหาร่วมกัน การถ่ายทอดปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้คนในเมืองต่างๆ จึงเป็นการเปิดมุมมองให้เห็นถึงสาเหตุ และแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่ยังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ทำไมคนไทยควรดูเทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

วิลาสินี: เราตั้งใจที่จะเปิดหัวใจของผู้คน ชมแล้ว พูดคุยกันต่อ โดยมีวิทยากรร่วมพูดคุยด้วย ไม่ได้รับชมเฉยๆ แต่ร่วมกันแสดงความคิดเห็น หาทางออกให้กับประเทศไทยในเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างสังคมที่มีสำนึกร่วมกัน และร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นพลวัต

ไทยพีบีเอสได้ปักธงที่จะมีส่วนร่วมในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยกำหนดทิศทางการทำงานในหลายมิติ ตั้งแต่การสร้างความตระหนักว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่จริง และเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในระดับโครงสร้าง 

การร่วมรับชมสารคดีครั้งนี้ เป็นอีกมิติหนึ่งคือการวางบทบาทให้เป็นพื้นที่ของการระดมความคิดเห็น โดยเปิดประเด็นให้กลุ่มคนต่างๆ มาร่วมกันหาทางออกต่อไป

รับชมภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องได้ใน VIPA Film Festival
เทศกาลภาพยนตร์ ‘สะท้อนความเหลื่อมล้ำ’

โดย Thai PBS และ Documentary Club

วันที่ 21-23 กรกฎาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub.

21 กรกฎาคม 2566 : 18.00 น. ร่วมฟังการเสวนาเรื่อง ‘ความทุกข์ของคนทำงาน ในระบบสังคมทุนนิยม’ กับ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ และ ฉัตรชัย พุ่มพวง ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ต่อด้วยการรับชมภาพยนตร์สารคดี After Work

ทุกกิจกรรมเข้าร่วม ‘ฟรี’ ไม่มีค่าใช้จ่าย จองบัตรได้ตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมได้ที่: LINE @VIPAdotME
สอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook: VIPAdotMe และ Doc Club & Pub.
รวมทั้งสามารถติดตามได้ที่ Thai PBS ช่องหมายเลข 3 และทางออนไลน์
นอกจากนี้ยังสามารถติดตามทุกผลงานได้ทาง #VIPAdotMe

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า