The Platform: ความพยายามในการส่งสารถึงระบบอันไร้หัวใจ

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

 

“โลกนี้มีคนอยู่ 3 ประเภท คนชั้นบน คนชั้นล่าง และคนที่ร่วง”

คือบทบรรยายช่วงต้นเรื่องของภาพยนตร์ The Platform ประโยคดังกล่าวชวนให้นึกถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ในขณะนี้ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ปัญหาแง่สุขภาพเท่านั้น ยังรวมไปถึงปัญหาปากท้อง อีกทั้งยังชวนให้พิจารณาถึงแนวคิดเรื่องการแบ่งชั้นและชนชั้นทางสังคมอย่างน่าสนใจ

 

The Platform ภาพยนตร์จากประเทศสเปน ฝีมือการกำกับของ กัลเดอร์ กัซเตลู อูร์รูเดีย (Galder Gaztelu-Urrutia) ชื่อเรื่องต้นฉบับในภาษาสเปนคือ El Hoyo แปลว่า The Hole ในภาษาอังกฤษ หรือ หลุม ในภาษาไทย กวาดรางวัลขวัญใจผู้ชม Midnight Madness จากเทศกาล Toronto International Film Festival ประเทศแคนาดา และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาล Sitges-Catalonian International Film Festival ประเทศสเปน ก่อน Netflix จะซื้อลิขสิทธิ์เพื่อฉายสตรีมมิ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2020 เป็นต้นมา

ภาพยนตร์กลิ่นอายดิสโทเปียอารมณ์หม่นเรื่องนี้ ว่าด้วยเรื่องสถานที่ที่เรียกว่า ‘หลุม’ (ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ศูนย์ดูแลตัวเองแนวตั้ง’) เป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่อง มีลักษณะแบ่งเป็นยูนิตเรียงกันในแนวตั้ง แต่ละห้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเท่ากันทุกห้อง และมีสภาพไม่ต่างกัน ผนังทั้งสี่ด้านไม่มีทางเข้าออกหรือแม้แต่หน้าต่าง ยกเว้นช่องเปิดตรงเพดานเชื่อมทะลุถึงพื้นห้องด้านบน ที่พื้นมีช่องว่างแบบเดียวกันทะลุเชื่อมกับเพดานห้องด้านล่าง ทำให้แต่ละห้องที่อยู่ติดกันสามารถมองเห็นและสื่อสารกันผ่านช่องว่างหรือรูนี้ได้ ภายในห้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่มากนัก ด้านยาวของห้องทั้งสองด้านมีเตียงตั้งชิดผนังด้านละหนึ่งเตียง ส่วนผนังด้านกว้างด้านหนึ่งมีอ่างล้างหน้าและโถส้วมอยู่ติดกันโดยไม่มีอะไรมาปิดกั้นให้เป็นส่วนตัว

แต่ละห้องมีหมายเลขกำกับไว้เรียงตามลำดับ ชั้นบนสุดเริ่มที่เลข 1 ชั้นต่ำกว่าลงมาคือห้องหมายเลข 2 จากนั้นคือห้องหมายเลข 3 ไล่เรียงตามลำดับเป็นจำนวนนับเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นสุดท้าย โดยแต่ละห้องมีคนอาศัยอยู่ 2 คน

เหนือห้องหมายเลข 1 เป็นชั้นบนสุดคือห้องหมายเลข 0 ซึ่งเป็นห้องสำหรับจัดเตรียมอาหาร โดยจะมีบรรดาพ่อครัวแม่ครัวนำอาหารมาจัดวางไว้บนแท่นสี่เหลี่ยมในห้องนี้ แท่นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดกว้างและยาวเท่ากับรูหรือช่องว่างกลางห้องแต่ละห้องพอดี ในแต่ละวันเมื่อเตรียมอาหารไว้บนแท่นเสร็จเรียบร้อย มันจะค่อยๆ เลื่อนลงไปทีละชั้นอย่างช้าๆ เหมือนลิฟต์ส่งอาหาร เริ่มตั้งแต่ห้องหมายเลข 1, 2, 3 ต่ำลงไปเรื่อยๆ ตามลำดับ โดยแท่นจะหยุดในแต่ละห้องเป็นเวลา 2 นาที เพื่อให้คนในห้องได้กินอาหาร เมื่อหมดเวลาแท่นอาหารจะเลื่อนลงไปยังห้องต่อไป เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ จนถึงชั้นสุดท้าย โดยไม่มีการเติมอาหารเพิ่ม และไม่อนุญาตให้กักเก็บอาหารไว้ได้ และเมื่อครบทุกห้อง แท่นจะเลื่อนลงไปชั้นล่างสุด ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่ มืด และไม่มีคนอาศัยอยู่ ก่อนจะพุ่งกลับขึ้นไปที่จุดเริ่มต้นด้วยความเร็วสูง เป็นเช่นนี้เหมือนเดิมทุกวัน

หมายความว่าห้องหมายเลข 1 ที่อยู่บนสุด จะได้กินอาหารก่อนห้องอื่นๆ ซึ่งอาหารจะยังอยู่ในสภาพดี ยังไม่มีใครแตะต้อง และห้องหมายเลข 2 จะได้กินอาหารที่เหลือ เป็นตามลำดับเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ยิ่งห้องที่อยู่ต่ำลงไป ปริมาณอาหารจะลดน้อยลงเรื่อยๆ กระทั่งไม่เหลืออะไรให้กิน

ทุกๆ 1 เดือน จะมีการเปลี่ยนห้อง โดยคนที่อยู่ในห้องจะถูกรมแก๊สบางอย่างทำให้หลับ และจะตื่นอีกครั้งในห้องหมายเลขอื่น การจัดห้องให้แต่ละคนนั้นจะเป็นการสุ่มหรือมีเงื่อนไขอะไรเป็นเกณฑ์ จุดนี้ภาพยนตร์ไม่ได้มีคำอธิบายอย่างชัดเจน

 

ว่าด้วยชนชั้น

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ประเด็นสำคัญหนึ่งของภาพยนตร์ที่ชวนให้พิจารณาและมีการกล่าวถึงอย่างมาก หนีไม่พ้นเรื่องของชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นผ่านสัญญะที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมผ่านเรื่องสามัญธรรมดาอย่างเรื่องปากท้อง

หมายเลขของแต่ละห้องที่เรียงกันเป็นลำดับชั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญ คนที่อยู่ห้องหมายเลข 1 ย่อมเข้าถึงอาหารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตก่อนห้องอื่นๆ ไม่ใช่เพียงลำดับก่อนหลังในการเข้าถึงทรัพยากรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปริมาณและคุณภาพด้วย ซึ่งห้องชั้นบนมีอำนาจที่จะสามารถกำหนดคุณค่าและชะตากรรมของคนที่อยู่ห้องลำดับชั้นที่ต่ำกว่าลงไปได้ทั้งสองแง่ เช่น หากดื่มไวน์หมด ห้องลำดับถัดไปก็ไม่มีไวน์เหลือให้ดื่ม (แง่ปริมาณ) หรือถ่มน้ำลายใส่อาหาร ทำให้ห้องถัดไปได้อาหารที่สกปรก (แง่คุณภาพ)

การแบ่งห้องเป็นชั้นๆ ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับการแบ่งชั้นทางสังคม (social stratification) อันเป็นแนวคิดทางสังคมวิทยา ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ผ่านแนวความคิดของนักปรัชญาอย่างเพลโตและอริสโตเติล ซึ่งเชื่อว่าสังคมไม่มีความเสมอภาคกัน มีการกระจายทางด้านทรัพย์สิน ชื่อเสียง ฐานะ และอำนาจ ที่แตกต่างกัน เป็นผลให้คนในสังคมได้รับสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคมที่แตกต่างกัน สังคมจึงมีการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ 

การแบ่งชั้นทางสังคมเกี่ยวข้องกับการประเมินค่าของความแตกต่างกันในความเป็นเจ้าของสิ่งที่ดีกว่าหรือสิ่งที่ด้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่มีความเรียบง่ายหรือสังคมที่สลับซับซ้อน ต่างมีการแบ่งชั้นทั้งนั้น 

การแบ่งชั้นทางสังคมทำให้เกิดแบบแผนชีวิต โดยมีหลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นเครื่องมือในการวัด เช่น การมีทรัพย์สินในครอบครอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้น (class)

เอกอน เออร์เนสท์ เบอร์เกล (Egon Ernest Bergel, 1894-1969) นักวิชาการด้านสังคมวิทยาชาวออสเตรีย ผู้เขียน Urban Sociology และ Social Stratification กล่าวถึงการแบ่งชนชั้นไว้ว่า เป็นการจัดลำดับความแตกต่างในตำแหน่งของคนโดยใช้วิธีการทางวัตถุวิสัย (objective: ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ โดยไม่เกี่ยวกับความคิดหรือความรู้สึก)

การแบ่งชนชั้นของสังคมหลุมในภาพยนตร์อาจไม่ได้มีความสลับซับซ้อนเท่ากับสังคมในโลกจริง (ที่มีเครื่องมือในการแบ่งมากมาย เช่น ชาติกำเนิด อาชีพ การศึกษา ศาสนา ฯลฯ) เครื่องมือในการแบ่งชั้นในหลุมนั้นมีอย่างเดียวคือลำดับการเข้าถึงอาหาร

อนึ่ง ลำดับชั้นบนล่างของห้องไม่ได้มีนัยสำคัญเท่ากับวิธีการแจกจ่ายอาหาร หากรูปแบบสถานที่ยังเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการแจกจ่ายอาหาร ลำดับการแบ่งชั้นก็จะเปลี่ยนไปด้วย เช่น หากอาหารเริ่มแจกจ่ายตั้งแต่ชั้นล่างสุดไปถึงบนสุด ลำดับชนชั้นก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ชั้นทางสังคมภายในหลุมที่ดูไม่ซับซ้อนนัก กลับมีความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่ระบบกำหนดให้แต่ละคนมีกำหนดระยะเวลาในการอยู่ห้องนั้นๆ แน่นอนคือ 1 เดือน ก่อนจะถูกเปลี่ยนให้ไปอยู่ห้องอื่น การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยทำให้ลำดับชั้นทางสังคมของคนผู้นั้นเปลี่ยนตามไปด้วย คนที่อยู่ห้องชั้นบนสุดอาจได้อยู่ห้องชั้นล่างสุดในเดือนถัดไปก็เป็นได้ หมายความว่า ชนชั้นของคนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาผ่านวิธีการบางอย่างที่ระบบสร้างขึ้น

 

ว่าด้วยคนในแต่ละชั้น

นอกจากสภาพความเป็นไปของสังคมภาพรวมภายในหลุมที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การดำเนินเรื่องของตัวละครเอกชื่อ โกเรง (รับบทโดย Ivan Massagué) เริ่มต้นจากการที่เขาตื่นขึ้นมาในหลุมที่ห้องหมายเลข 48 ภายในห้องมีชายแก่อีกคนชื่อ ตรีมากาซี (รับบทโดย Zorion Eguileor) อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งสองเริ่มทำความรู้จักกัน โดยโกเรงเล่าให้ตรีมากาซีฟังว่า เขามาที่หลุมอย่างเต็มใจผ่านการสัมภาษณ์ เพราะต้องการที่จะเลิกบุหรี่และอ่านหนังสือ โดยที่ต้องอยู่ในหลุมเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อแลกกับใบรับรอง ขณะที่ตรีมากาซีเล่าถึงสาเหตุที่เขาต้องมาอยู่ที่หลุมว่า เขาได้ทำให้คนต่างด้าวคนหนึ่งเสียชีวิตโดยไม่ตั้งใจ

ภาพยนตร์ได้ทำให้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโกเรง จากแรกเริ่มที่เขาเข้ามาอาศัยในหลุมโดยที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้มากนัก เขาไม่กล้ากินอาหารที่อยู่ในสภาพของเหลือที่มีคนกินไปก่อนหน้า รู้สึกรังเกียจความเห็นแก่ตัวและพฤติกรรมหลายๆ อย่างของคนอื่น รับไม่ได้กับการกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพความเป็นอยู่และหลอมเข้ากับสภาพความเป็นไปของสังคมหลุมมากขึ้นเรื่อยๆ จนความคิด การพูด กระทั่งการกระทำบางอย่างของเขาไม่ต่างจากตรีมากาซีหรือคนอื่นๆ สักเท่าไร

ในทางทฤษฎีโครงสร้างนิยม (structuralism) ได้นำเสนอความคิดหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอัตบุคคล (subject) มองว่าอัตบุคคลของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับวัฒนธรรม โดยมนุษย์คือการประกอบสร้าง (construct) และผลผลิตทางความหมายของการกระทำซึ่งมาจากวัฒนธรรมและจิตใต้สำนึก

สังคมหลุมนี้จึงมีส่วนสำคัญในการประกอบสร้างอัตตาของโกเรง ซึ่งเป็นผลจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนกับสภาพความเป็นไปและปัจจัยต่างๆ ในสังคมหลุม

นอกจากนี้ สิ่งที่เรียกว่าระบบ อนุญาตให้คนที่เข้ามาอยู่สามารถนำของติดตัวเข้ามาได้คนละหนึ่งอย่าง ซึ่งโกเรงได้เลือกหนังสือวรรณกรรมเรื่อง ดอนกิโฆเต้  (El Ingenioso Hidalgo Don Quixote de la Mancha บทประพันธ์ของ มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดร้า (Miguel de Cervantes Saavedra) นักเขียนชาวสเปน ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1605)

วรรณกรรมดอนกิโฆเต้นั้น ว่าด้วยเรื่องของชายฟั่นเฟือนผู้คิดว่าตนเป็นอัศวิน ออกเดินทางผดุงความยุติธรรมไปกับคู่หูนามว่า ซานโช่ ปันช่า ดูแล้วไม่ต่างอะไรกับโกเรงและบาฮารัต (รับบทโดย Emilio Buale Coka) เพื่อนร่วมห้องคนล่าสุดของเขาเสียเท่าไร

ในช่วงท้ายเรื่อง พวกเขาทั้งสองออกเดินทางจากห้องหมายเลข 6 ลงไปยังห้องต่างๆ ที่อยู่ต่ำกว่า โดยใช้แท่นส่งอาหารเป็นพาหนะ เพื่อทำภารกิจในการแจกจ่ายอาหารให้พอเพียงกับทุกห้อง เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ของสังคมหลุมแห่งนี้ให้ดีขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ ดอนกิโฆเต้ และจาก อิโมกิริ (รับบทโดย Antonia San Juan) เพื่อนร่วมห้องคนก่อนหน้า ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของระบบ โดยเธอพยายามชักชวนให้ห้องอื่นๆ กินอาหารแต่พอดีเพื่อแบ่งปันให้อาหารเพียงพอกับทุกคน

อิโมกิริมีแนวคิดว่า อาหารทั้งหมดในแท่นนั้นเพียงพอสำหรับทุกคนในหลุม แต่วิธีการที่ทุกคนกระทำอยู่นั้น ทำให้อาหารไม่เพียงพอไปจนถึงห้องชั้นล่าง เธอจึงกำหนดวิธีการแจกจ่ายอาหารของเธอขึ้นมาเสนอให้กับคนในหลุมทำ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครยอมทำตามเธอ

ระบบได้กำหนดวิธีการและกฎเกณฑ์ในการแจกจ่ายอาหารเป็นรหัส (code) อย่างหนึ่ง ซึ่งทุกคนในหลุมเรียนรู้และเข้าใจร่วมกัน เช่น ทุกคนในหลุมเรียนรู้ว่า อาหารจะเดินทางผ่านแท่นและหยุดให้คนแต่ละห้องได้กินทีละห้อง เริ่มตั้งแต่ห้องชั้นบนสุด เลื่อนลงไปยังห้องติดกันที่อยู่ชั้นกว่าเป็นลำดับถัดไป เป็นเช่นนั้นไปเรื่อยๆ จนถึงห้องสุดท้ายที่อยู่ชั้นล่างสุด โดยไม่มีการเติมอาหารเพิ่ม นั่นคือรหัสที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน เป็นสิ่งที่ระบบสร้างขึ้นมา โดยมันกำหนดความจริงให้เป็นไปในสังคมหลุม

ในแนวคิดโครงสร้างนิยม ความจริงไม่ได้เป็นเพียงรหัสอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความจริงเป็นสิ่งที่เกิดจากการประกอบสร้างและวัฒนธรรมด้วย

สภาพสังคมหลุมที่ต่างคนต่างฉกฉวยเอาผลประโยชน์ส่วนตนในขณะที่มีโอกาสโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น เป็นความจริงที่ไม่ใช่รหัส แต่เป็นความจริงที่คนในหลุมมีส่วนร่วมกันประกอบสร้างขึ้นมา 

เมื่อความยากแค้น ไม่เอื้อเฟื้อ เห็นแก่ตัว เป็นความจริงที่เกิดขึ้นของสังคมหลุม การเปลี่ยนสภาพสังคมให้ได้นั้น จึงต้องย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คนในสังคมเป็นหรือกระทำอยู่ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่ปัจเจก หากทุกคนมีจิตสำนึกแบ่งปันซึ่งกันและกัน ทุกคนก็จะได้อาหารอย่างทั่วถึงกัน

กระนั้น คำถามสำคัญคือ ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลจริงหรือ ระบบหรือโครงสร้างที่กำหนดรหัสขึ้นมา เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่

การเปลี่ยนการกระทำของคนในสังคมหลุมดูเหมือนเป็นสิ่งที่ลำบากเอาการ การที่โกเรงและบาราฮัตพยายามจะยึดครองแท่นอาหารและแจกจ่ายอาหาร เป็นการพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงที่ตัวบุคคล แม้จะมีการใช้กำลังทางร่างกายเข้าช่วยก็ดูไม่ราบรื่นและประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก ทั้งสองไม่ได้มีอำนาจเพียงพอ การกระทำใดๆ ในหลุมเป็นไปภายใต้อำนาจของระบบที่กำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ไว้เท่านั้น

นอกจากภารกิจการแจกจ่ายอาหารให้ทั่วถึงแล้วนั้น พวกเขาตั้งใจที่จะส่งข้อความหรือสารกลับไปยังระบบ โดยเลือกขนมหวานอย่างพานาคอตต้าเป็นสาร รักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม ส่งกลับขึ้นไปพร้อมแท่นอาหาร โดยหวังว่าสิ่งนี้จะสื่อสารไปถึงระบบ เพื่อให้รับรู้และเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างด้วยอำนาจที่มีอยู่

 

คนที่อยู่นอกระบบ

ขณะที่ภารกิจของโกเรงและบาราฮัตกำลังดำเนินไป พวกเขาได้เดินทางมาถึงห้องหมายเลข 333 ซึ่งเป็นชั้นอาศัยห้องสุดท้ายที่อยู่ต่ำที่สุด พวกเขาได้พบกับเด็กคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของ มิฮารุ (รับบทโดย Alexandra Masangkay) หญิงสาวผู้มากด้วยปริศนา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อิโมกิริผู้ซึ่งเคยทำงานให้กับระบบ บอกกับโกเรงว่า ระบบไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้ามาในสถานที่แห่งนี้ ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีเด็กอยู่ในหลุม กล่าวคือ ความจริงของระบบคือ ‘หลุมนี้ไม่มีเด็ก’ แต่ความจริงที่โกเรงและบาราฮัตพบคือ ‘มีเด็กอยู่ในหลุม’

ฉะนั้น เด็กคนนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ากฎเกณฑ์หรือรหัสของระบบนั้นมีปัญหา ความจริงที่ว่าหลุมไม่มีเด็กอาศัยอยู่ จึงถูกพิสูจน์คุณค่าหรือทำลายได้ด้วยการมีอยู่ของเด็กคนนี้

โกเรงและบาราฮัตยังพบอีกว่า ห้องหมายเลข 333 นี้ สามารถเก็บอาหารไว้ได้หลังจากแท่นเลื่อนจากไปแล้ว อยู่นอกกฎเกณฑ์จากสิ่งที่ระบบกำหนดไว้

การอยู่นอกกฎเกณฑ์กล่าวได้ว่าอยู่นอกความสนใจของระบบ ทั้งที่ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นหลายเหตุการณ์ว่าระบบมีความเข้มงวดในการดำเนินการตามกฎที่วางไว้อย่างไรบ้าง เด็กและห้องนี้จึงกลายเป็นความเป็นอื่น ไม่มีตัวตน อยู่นอกเหนือรหัสของระบบและสังคมหลุมอย่างที่ควรจะเป็น

โกเรงและบาราฮัตได้สละพานาคอตต้า ซึ่งเป็นสารสำคัญของพวกเขาให้เด็กได้กิน และได้ตัดสินใจเลือกเด็กเป็นสารชิ้นใหม่ที่จะส่งกลับไป ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์คุณค่าของสิ่งที่ระบบสร้างขึ้น จึงเรียกได้ว่าเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาที่ระบบ

ดังที่กล่าว หากการที่ไม่มีเด็กอาศัยอยู่ในหลุมคือความจริงของระบบ แต่ความจริงของสังคมหลุมคือมีเด็กอาศัยอยู่ ในเชิงสัญญะเด็กคนนี้จึงมีนัยถึง ‘ความจริงของสังคม’ เป็นความจริงอีกชุดที่สามารถทำลายความจริงของระบบได้

โกเรงส่งเด็กขึ้นไปกับแท่นโดยลำพังและแท่นก็พุ่งขึ้นไปด้วยความเร็วสูง เรื่องจบลงตรงนั้น ภาพยนตร์ไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า สารที่โกเรงพยายามจะส่งหมายถึงอะไรกันแน่ และเด็กจะเดินทางไปถึงชั้นบนได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้ชมจะต้องพิจารณาหาคำตอบเองเป็นสำคัญ

 

เราคือใครในหลุมแนวตั้ง

หากภาพยนตร์ The Platform ทำให้เห็นสภาพการแบ่งชั้นทางสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคมผ่านตัวแปรพื้นฐานอย่างเรื่องปากท้อง คนชั้นบนกินอิ่มท้อง คนชั้นล่างอดตายเพราะไม่มีอาหาร ดูไม่ต่างอะไรกับสังคมปัจจุบันเท่าไรนัก เรียกได้ว่ามีความสัมพันธบทกันในความเป็นอยู่ซึ่งแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงดำเนินไปในขณะนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมสถานการณ์โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 รวมถึงฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและมาตรการต่างๆ ตามมาหลังจากนั้น

ปัญหาการระบาดของไวรัสไม่ได้ส่งผลในแง่สุขภาพเท่านั้น ยังส่งผลกระทบในแง่เศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญไม่แพ้กัน หลายกิจการต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วน กิจการบางประเภทต้องหยุดหรือพักกิจการ หลายกิจการรายได้ลดลง บางกิจการขาดรายได้ทั้งหมด และไม่ใช่เพียงเจ้าของกิจการเท่านั้น ยังส่งผลกระทบหนักไปยังลูกจ้างในระบบด้วย

บางรายต้องถูกเลิกจ้างจากงานประจำ บางรายไม่มีงานเข้ามาให้ทำ บางรายชีวิตขึ้นอยู่กับรายได้รายวัน เมื่อไร้งานก็ไร้เงิน เมื่อไร้เงินก็ไม่สามารถซื้ออาหารและของใช้อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้

แม้ว่ารัฐบาลออกมาตรการเยียวยาให้รายละ 5,000 บาท (3 เดือน รวม 15,000 บาท) แก่ลูกจ้าง อาชีพอิสระ นอกระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบ แต่ด้านหนึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงระบบการคัดกรองและการดำเนินการ รวมไปถึงการตั้งคำถามถึงเรื่องความเท่าเทียมหรือสิทธิในการเข้าถึงมาตรการดังกล่าวอีกด้วย ส่งผลให้มีประชาชนบางกลุ่มเดินทางไปเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมที่กระทรวงการคลัง หรือแม้แต่แสดงออกในสังคมออนไลน์

ปัญหาที่เกิดขึ้นของแต่ละบุคคลเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคนจริงหรือไม่ รัฐต้องเข้ามาดูแลในส่วนใดและแบบใดบ้างถึงปัจจุบันนี้ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมถึงรัฐสวัสดิการและการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนว่าจะต้องเป็นไปอย่างไร

แนวคิดการแบ่งชั้นทางสังคมที่เป็นปัญหาให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นความจริงที่เป็นอยู่ในทุกสังคม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ยิ่งเห็นภาพความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก บางคนขาดรายได้แต่ยังมีอาหารให้กินหรือดำรงชีวิตอยู่รอดไปได้ แต่กับบางคนเป็นสิ่งที่ยากลำบากกับการที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีอาหารกินในมื้อถัดไป

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนและชวนให้ตระหนักคิดว่าความไม่เท่าเทียมเป็นสิ่งที่มีอยู่และควรได้รับการแก้ไข เด็กคนนั้นนอกจากจะเป็นสารที่โกเรงพยายามส่งถึงระบบแล้ว ยังเป็นสารที่ภาพยนตร์พยายามส่งถึงผู้ชมให้รู้สึก นึกคิด หรือเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นมาได้เช่นกัน

ย้อนกลับไปตอนต้น ภาพยนตร์ไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าคน 3 ประเภท คือใครบ้าง ผู้ชมอาจต้องคิดหาคำตอบกันเองและลองสำรวจเพิ่มเติมว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงขณะนี้ เราคือคนประเภทไหน คนชั้นบน คนชั้นล่าง หรือคนที่ร่วง?

 

อ้างอิง:

  • แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย เขียนโดย ธัญญา สังขพันธานนท์
  • คุณลักษณะของภาพยนตร์ผีตลกไทย ลักษณะชนชั้นและอุดมการณ์ชนชั้นทางสังคมที่ปรากฏในภาพยนตร์ผีตลกไทย เขียนโดย ทอปัด เอี่ยมอุดม นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ชนชั้นทางสังคมกับโรคจิต เขียนโดย สุพัตรา เพชรมุนี สังคมวิทยามหาบัณฑิต แผนกวิชาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ชนชั้นนำและโครงสร้างอำนาจชุมชน: การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  โดย อังกูร สุ่นกุล รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Author

ภูธิชย์ อรัญพูล
หลังจบสาขาวิชาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์งานสื่อสิ่งพิมพ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม เข้าทำงานเป็นนักข่าวสืบสวนเกี่ยวกับการทุจริต สำนักข่าวอิศรา ก่อนออกมาเป็นสื่อมวลชนอิสระ เพื่อผลิตงานเขียนในรูปแบบอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า