Gayby Baby รักที่เป็นสากล

GaybyBaby_cover

เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

 

“Gayby Baby เป็นหนังสารคดีที่ทำให้น้ำตารื้นสลับกับหัวเราะครืนได้เป็นพักๆ”

 

เราอาจจะคุ้นชินแล้วกับเรื่องราวที่พ่อแม่ค้นพบว่าลูกเป็นเกย์หรือเพศที่สามแล้วความรักก็ทำให้พวกเขายังคงเป็นครอบครัว แม้จะมีสิ่งที่ผิดคาดไปจากวันแรกที่ลูกเกิด แต่ Gayby Baby อาจเป็นเรื่องจริงที่ไกลจากจินตนาการเราไปหน่อย

“เวลาบอกเพื่อนที่โรงเรียนว่า แม่ฉันเป็นเกย์ เขาก็ว่า อะไรนะ?!”

เอโบนี เด็กหญิงคนหนึ่งในเรื่องพูดด้วยสีหน้าชวนขบขัน แม้ว่านั่นน่าจะเป็นประเด็นใหญ่ในชีวิตของเธอ ท่ามกลางเด็กจากสี่ครอบครัวในเรื่อง Gayby Baby เธอคือเด็กในครอบครัวที่มีลูกสามคน และแม่สองคน

gayby-1

แต่ Gayby Baby ไม่ได้ยื่นประเด็นการเรียกร้องสิทธิ์ของคนรักเพศเดียวกันพุ่งใส่หน้าเรา หนังกลับนำเสนอภาพต่างๆ ในชีวิตประจำวันของ ‘ครอบครัว’ แบบที่ทำให้เราอมยิ้ม

นี่เป็นเรื่องสามัญที่ครอบครัวไหนๆ ก็คงต้องเจอ ทั้งปัญหาเรื่องลูกเล่นแรงใส่กัน ต้องเข้าไปเป็นกรรมการ หรือลูกเรียนหนังสือไม่ทันเพื่อน หรือลูกจะไปสอบเข้าโรงเรียนดีๆ เป็นความหวังของแม่-แม่ในครอบครัวที่ฐานะไม่ดีนัก

มันเป็นเรื่องราวอารมณ์ประมาณนั้น แต่ไม่น่าเบื่อ เพราะบทสนทนาที่ชวนขบคิดและไม่น่าเชื่อว่าจะออกมาจากปากเด็กอายุราวๆ สิบปีทั้งหลาย

จริงหรือที่คนเหยียดเพศที่สามมักบอกว่า การมีพ่อสองคนหรือแม่สองคน จะทำให้เด็กสับสนและมีปัญหา

หนังไม่ถามคำถามนี้ออกมาโต้งๆ เลย แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรง และคนรักเพศเดียวกันถูกคาดคั้นให้ตอบ

พวกเขาคงเหนื่อยที่จะเถียงกลับ จึงต้องแสดงให้เห็นจากชีวิตจริง

เราคิด ระหว่างที่ กัส เด็กชาย 10 ขวบกำลังเถียงกับแม่ของเขาเรื่องมวยปล้ำ

เราเห็นความเหนื่อยใจบนใบหน้าของผู้เป็นแม่ และความดื้อรั้นของลูก ที่อยากไปดู WWE ให้ได้

ถ้านี่นับเป็นหนึ่งในปัญหาของครอบครัว แล้วถ้าอย่างนั้น ครอบครัวใดบ้างที่ไม่มีปัญหา

กัสคงไม่ได้ตื่นมาแต่ละวันแล้วเอาแต่ถามว่า ทำไมฉันมีแม่สองคน ฉันเป็นเพศอะไรนะ ฉันต้องเล่นตุ๊กตาหรือเปล่า ฉันเป็นเด็กมีปัญหาหรือเปล่า

maxresdefault

เขาก็เติบโตแบบเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ มีน้องสาวเอาไว้ดูแลและรังแกไปพร้อมๆ กัน มีเรื่องแบบเด็กๆ ให้ครุ่นคิดและหมกมุ่นไปกับมัน

เขาวิดพื้น แล้วยืนเบ่งกล้าม (ซึ่งเป็นแค่ท่อนแขนเล็กๆ) อยู่หน้ากระจก

บางทีสำหรับกัส ช่วงเวลาดีๆ ในชีวิตคงไม่ได้มาจากการที่มีครอบครัวแบบคนอื่นๆ แต่อาจเป็นวินาทีที่เขายิ้มในแสงไฟจากเวที WWE นั่งเคียงข้างผู้เป็นแม่ที่ตั้งแง่กับมวยปล้ำมาตลอด แต่เข้าใจและให้พื้นที่แก่ความเป็นกัส เด็กชายผู้คลั่งไคล้มวยปล้ำ

ไม่ได้เรียกร้องความเห็นใจ แต่เปิดตาให้เราเห็นจุดร่วมที่ครอบครัวไหนๆ ต่างก็มี เรื่องราวการปรับตัวเข้าหากันและกันของสมาชิกในครอบครัว และเคารพในความเป็นเขาหรือเธอ ไม่ว่าตำแหน่งนั้นๆ จะเป็น พ่อ แม่ หรือลูก พี่ชาย พี่สาว น้องชาย หรือน้องสาว มันคือการยอมลดละสิ่งที่ตัวเองชอบ เพื่อทำให้อีกคนได้มีโอกาสสัมผัสสิ่งที่ตัวเองต้องการบ้าง

และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่พ่อแม่ที่รักเพศเดียวกันจะทำหน้าที่นั้นด้อยไปกว่าพ่อแม่ครอบครัวอื่นๆ เลย

“คนที่เลี้ยงดูเรามาแล้วทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ ยังไงเขาก็คือครอบครัว” เสียงเด็กคนหนึ่งพูดขึ้นเมื่อใกล้จบเรื่อง

ชวนให้อึ้งว่า นี่มันมาจากปากเด็ก 10 กว่าขวบจริงๆ น่ะหรือ!

 

——————————-

GaybyBaby_poster

Gayby Baby – ครอบครัวของฉัน

หนังแห่งครอบครัวยุคใหม่ที่ท้าทายสังคมออสเตรเลียถึงขั้นถูกเรียกร้องให้ ‘แบน’ มาแล้ว

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ Documentary Club

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า