เสียดาย 2020: เสพติดวังวน

‘ครอบครัวไม่ใช่ safe zone ของทุกคน’ เมื่อกระดานสนทนาเผยแพร่กระทู้ระบายปัญหาชีวิต สำนวนขนาดย่อมนี้จะพบเจอบนโลกอินเทอร์เน็ตอยู่บ่อยครั้ง และนั่นก็คือความรู้สึกที่เราจะได้รับจากละครเรื่องนี้

เสียดาย 2020 (Daughters) ละครรีเมคจากภาพยนตร์ เสียดาย (1994) ตำนานรางวัลตุ๊กตาทองกว่า 7 รางวัล ซึ่งเคยกวาดรายได้ทำเงินถึง 52 ล้านบาท ซ้ำยังเป็นการประพันธ์บทจากเรื่องราวจริงที่สัมภาษณ์และรวบรวมข้อมูลของวัยรุ่นในสมัยนั้น โดย ‘ท่านมุ้ย’ หรือ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

การรับช่วงต่อในฐานะผู้ประพันธ์บทโทรทัศน์ของ ‘คุณหญิงแมงมุม’ หรือ หม่อมราชวงศ์ศรีคํารุ้ง ยุคล รัตตกุล ด้วยจุดประสงค์ความตั้งใจสะท้อนปัญหาสังคมและเปิดประเด็นเสวนาระหว่างครอบครัว จึงปรุงแต่งความสมจริงและความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม “เรื่องนี้ไม่ใช่ทำเพื่อความบันเทิงนะ แต่ว่าทำเพื่อให้ความรู้ ว่าการทำพฤติกรรมแบบนี้ จะส่งผลแบบไหน มันเป็นเรื่องจริง มันไม่ใช่นิยายที่จะทำให้เด็กดูสนุกสนาน มันเพื่อการศึกษา เราจึงต้องออกมาให้ชัดเจน”

การกลับมาฉายซ้ำภาพความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านมุมมองของกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีที่พึ่งอื่นใด นอกจากเพื่อนและยาเสพติดที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคม จะเป็นอย่างไรต่อไป

เนื้อเรื่องร้อยเรียงผ่าน 4 ตัวละครหลักได้แก่ แป๋ม ปู เดือน เงาะ เด็กสาวชั้นมัธยมศึกษา ที่ต่างมารวมตัวกันเพราะโชคชะตาและปัญหาครอบครัว ในสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด

แป๋ม (ศรนรินทร์ บุญผ่อง) อยู่ในครอบครัวที่พ่อเป็นตำรวจเถรตรง แม่เป็นขาไพ่เจ้าประจำ จึงมีการตบตีทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง แป๋มใช้ชีวิตด้วยความสนุกไปเรื่อยๆ และรักเพื่อนมาก ชนิดที่ว่าเป็นเหมือนยาฟื้นฟูจิตใจให้กับทุกคน แป๋มเป็นคนแรกที่เข้าไปอยู่ในวังวนแห่งอบายมุข สำหรับเธอการใช้สารเสพติดไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

ปู (ชิชา อมาตยกุล) คนที่มองโลกในแง่ร้าย เบื่อหน่ายที่จะอยู่กับพ่อแท้ๆ ของตัวเอง อยากออกไปใช้ชีวิตใหม่กับแม่ ขณะที่แม่เองก็ไม่ได้รู้สึกยินดีจะรับเธอเข้าสู่ครอบครัวใหม่สักเท่าไหร่ ทว่านั่นกลับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเธอดิ่งลงสู่เหว เมื่อถูกพ่อเลี้ยงหรือสามีใหม่ของแม่ข่มขืนแลกกับเงิน แม้ว่าระยะแรกเธอจะทุกข์ระทมขมขื่น แต่เธอก็ยังฝืนอดทนต่อไป ด้วยความหวังว่าสักวันแม่จะช่วยดึงเธอออกมาจากขุมนรกแห่งนี้

เดือน (แพรวพรรณรายณ์ ศันสนะพิทยากร) ชีวิตครอบครัวพลิกผันจากที่กำลังจะลืมตาอ้าปากได้ แต่พ่อประสบอุบัติเหตุทำให้ครอบครัวขาดรายได้ แม่ต้องดิ้นรนทำหน้าที่หาเงินมาจุนเจือค่าใช้จ่ายจนต้องจำใจไปเป็นโสเภณี เดือนคอยเฝ้ามองแม่ของเธออยู่ห่างๆ โดยรับรู้เรื่องราวมาตลอด วันหนึ่งเธอตัดสินใจหางานทำเพื่อจะได้มีเงินมาช่วยแม่อีกทาง และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เดือนได้เดินบนเส้นทางเดียวกันกับแม่

เงาะ (ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) ครอบครัวที่ดูเหมือนจะมีความสุขที่สุด เธอไม่ได้มีปัญหาด้านฐานะเหมือนคนอื่นๆ แต่เงาะได้สัมผัสถึงความรุนแรงภายในครอบครัว ทั้งคำพูดเสียดสีและพฤติกรรมอาละวาดของพ่อขี้เมาที่กินเหล้าได้ทุกเวลา แม้กระทั่งตอนย่างไก่ แม่ที่ดูเหมือนจะอ่อนโยนและเข้าใจลูกกลับไปมีชู้ เรื่องราวของเธอจึงสาหัสพอๆ กับแป๋ม ปู และเดือน ไม่แพ้กัน

สิ่งแวดล้อมภายในครอบครัวบีบบังคับให้ทั้งสี่คนหนีมาพึ่งโลกใบใหม่ เพื่อปลอบประโลมซึ่งกันและกัน โดยโลกแห่งนั้นมีแค่เพื่อนและสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นกัญชา กาว ยาเสพติด รวมถึงเหล้าและบุหรี่ ด้วยความหวังอยากลืมวันลืมคืนแห่งความทุกข์ของตัวเอง จนกระทั่งได้ ‘ติด’ ขึ้นมาจริงๆ

ฉีกขนบวงการละคร

“ฉากเสพยา เราก็ใช้เข็มจริง ใส่น้ำเกลือไว้ มีแบบอาเจียน ไปถ้ำกระบอกก็ไปอาเจียนจริง กินยาของถ้ำกระบอกจริงๆ กับตัวของนักแสดงเราคุยกันก่อน แมงมุมรู้สึกว่าการที่เราทำงานด้วยกัน เรามีวัตถุประสงค์เท่ากัน เมื่อน้องๆ เห็นผลงานแล้วเขาแฮปปี้” คุณหญิงแมงมุมกล่าว

ความเรียลที่อยากให้ปรากฏบนหน้าจอละครถูกผลิตออกมาแล้วแต่ไม่ได้ไปต่อ สุดท้าย เสียดาย 2020 ก็ไม่ได้ออกฉายบนสื่อหลักของไทยอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ บนเงื่อนไขของเรตละคร

PPTV ในฐานะเจ้าของ ส่งไม้ต่อให้กับแอพพลิเคชั่น iQIYI (อ้ายฉีอี้) และเว็บไซต์ iq.com ออกอากาศแต่เพียงผู้เดียว แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแย่ การเลือกใช้แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์อันดับ 1 ของประเทศจีนที่มียอดผู้ชมกว่า 600 ล้านคนต่อเดือน ในยุคดิจิตอลแบบนี้ นับว่าเป็นการเดินหน้าที่ชาญฉลาด

ตัวละคร

คาแรคเตอร์ของตัวละครน่าจะต้องยกนิ้วให้กับทีมแคสติ้ง มันตรงมากๆ อย่าง ‘ปู’ ลักษณะเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย หัวดื้อ และอารมณ์รุนแรง ‘แป๋ม’ ซึ่งเป็นคนรักเพื่อนมากก็แสดงออกทางแววตาได้อย่างจริงใจและตรงไปตรงมา

‘เดือน’ เป็นคนพูดน้อยที่แววตาเศร้าสร้อย สีหน้าอมทุกข์เกือบตลอดเวลา นักแสดงคนนี้เก่งมากที่ทำให้เรารู้สึกถึงความสงสารจับใจ และ ‘เงาะ’ เดิมทีเป็นเด็กดีของพ่อแม่ แต่หันมาเป็นคนที่อยากรู้อยากลอง

บทพูดคืออีกส่วนสำคัญของละครเรื่องนี้ หลายประโยคที่ทำให้เราสะอึก  และสะเทือนอารมณ์ว่าพวกเขาก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตแบบนี้หรอก เช่น คำที่ปูพูดกับแม่ว่า “ปูไม่ควรเข้ามาในชีวิตของแม่ตั้งแต่แรกแล้ว” หรือ “มึงคงไม่อยากมีเพื่อน มีแม่เพื่อนเป็นผู้หญิงขายตัวหรอก” เดือนพูดกับแป๋ม

ภาพยนตร์ ’90 ถูกปรับมาเป็นละคร

ความแตกต่างระหว่างการชมหนังกับละครที่เห็นได้ชัดคือความละเอียด เมื่อนำตัวบทมาแยกให้เห็นเรื่องราวของแต่ละคนทีละตอน ความรู้สึก มันออกมาอย่างเต็มที่ เรารู้สึกชอบเวอร์ชั่นนี้มากที่สุด ทั้งภาพ เสียง อารมณ์ และรสชาติของคำพูด ทำให้ดูเหมือนนักแสดงเป็นคนนั้นจริงๆ

แม้จะมีการพัฒนาบทขึ้นจากต้นฉบับ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายและประเด็นในยุค 90 ทั้งการแต่งกาย แต่งหน้าอ่อนๆ เข้ากับวัยใส การสื่อสารที่ไม่มีให้เห็นในปัจจุบันอย่างการใช้เพจเจอร์ หรือเครื่องเล่นเทปซาวด์อะเบาท์

ขณะที่ตัวบทเดิมไลฟ์สไตล์ครอบครัวยังคงร่วมสมัยและมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น น้องให้ปูทำการบ้านให้ แล้วแม่ก็บอกว่าก็ทำให้มันไปเถอะ อันนี้เรารู้สึกว่าใช่เลย นี่คือคำพูดที่เราเคยเจอเหมือนกัน หรือปัญหาสังคมในเรื่องของโสเภณี คนขายบริการตามผับบาร์ ที่อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่ปีมะโว้ บัดนี้ยังคงถูกกลบไว้ใต้ดินเหมือนเดิม ขนาดพัทยาที่เรารู้จักกันดี คุณตำรวจก็ยังตรวจไม่เจอเลยใช่ไหมล่ะ

รวมถึงการย้อมสีภาพให้เป็นโทนอมเหลืองนิดๆ ได้มุมมองแบบภาพอดีต ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายคนได้หวนคำนึงถึงความหลังในสมัยนั้น เหมือนละครยุคเก่าที่นำมาฉายซ้ำบนหน้าจอเลยทีเดียว

แต่อยากจะขอแย้งผู้ผลิตละครจากคำกล่าวในช่วงต้นนิดนึงว่า ความสนุกมันมีอยู่นะ ซึ่งมันไม่ใช่ความสนุกสนาน ร่าเริงแบบฉาบฉวย มันเป็นความสนุกที่มาพร้อมความอิ่มเอมมากกว่า เราได้รับมาจากมิตรภาพของเพื่อน ความกลมเกลียว ความสงสารเห็นใจต่อกันระหว่าง แป๋ม ปู เดือน และเงาะ อีกทั้งความสนุกที่ได้เรียนรู้จากการเปิดรับเรื่องราวของวังวนยาเสพติดที่ไม่เคยเฉียดเข้ามาในชีวิตของเราเลยด้วยซ้ำ

สำหรับ เสียดาย 2020 เราอยากสถาปนาว่ามันมีมิติมากกว่าละครเพื่อความบันเทิงอื่นๆ จากที่ได้ชมรู้สึกได้ว่าสิ่งนี้อาจจะไม่ใช่ละครด้วยซ้ำ แต่มันคือเรื่องราวชีวิตของคนกลุ่มนั้นจริงๆ

ความรู้สึกเห็นใจ ความหวังให้พวกเขาหลุดพ้น และ ‘เสียดาย’ ในโอกาสชีวิตของพวกเขาที่ต้องหายไป เพราะยาเสพติด และโลกของครอบครัวที่มืดหม่น ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างภายในจิตใจของเรา ขณะที่ยังมีความเคลือบแคลงใจ และสงสัยอยู่ว่า หรือสังคมต่างหากที่หล่อหลอมให้ครอบครัวของพวกเขาเป็นแบบนี้ แล้วพวกเขาก็อยู่ภายใต้ครอบครัวที่มาจากผลผลิตของสังคมแบบนี้ต่อไป

อ้างอิง

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า