Westworld กับการเมืองเรื่องการปลดปล่อย

“มันเหมือนกับดวงดาวกระจัดกระจายไปบนพื้น คุณเคยเห็นอะไรที่เต็มไปด้วยความงดงามแบบนี้ไหม”

ในห้องพักริมหน้าต่างซึ่งความสูงมิได้แตะดิน โดโลเรส (Dolores) รับบทโดย อีแวน เรเชล วูด (Evan Rachel Wood) เอ่ยขึ้นเมื่อเธอมองไปยังทิวทัศน์มหานครยามค่ำคืน ดวงตาของเธอเป็นประกายราวต้องมนตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่เธอลืมตาท่ามกลางแสงไฟจากเมืองหลวง เธอไม่ใช่เด็กสาวเกิดใหม่ หากแต่เป็นหุ่น AI (Artificial Intelligence) ภาพสะท้อนของมนุษย์ ทว่ารสสัมผัสความงามของเธอเป็นสิ่งที่แม้แต่ อาร์โนลด์ เวเบอร์ (Arnold Weber) รับบทโดย เจฟฟรีย์ ไรท์ (Jeffrey Wright) มนุษย์ผู้สร้าง ยังชะงักงันจับขาแว่นเล็กน้อย ฉากอันเนิบช้าและอ้อยอิ่งนี้ เป็นประโยคเปิดในซีรีส์ Westworld season 2 ep. 2 (ตอนนี้มีถึง season 4 แล้วนะ เข้มข้นสุดๆ)

Westworld เป็นซีรีส์สัญชาติอเมริกัน ฉายครั้งแรกในปี 2016 ว่าด้วยเรื่องหุ่นยนต์ AI ที่มีอาการตาสว่าง ตื่นรู้จากผู้สร้าง ตระหนักรู้ในตัวตน และริเริ่มตั้งคำถามระดับอภิปรัชญาอย่าง “ฉันมีเจตจำนงเสรีหรือไม่?” “ฉันเป็นใครกันแน่?” “ฉันมีตัวตนจริงๆ หรือเปล่า” พวกหุ่นยนต์หรือ hosts จึงดิ้นรนหาหนทางปลดแอกจากบทบาทที่ถูกสวมใส่ Westworld แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำให้ hosts โกรธแค้นจริงๆ มิใช่การถูกมนุษย์หลอกใช้งาน หากแต่เป็นเครื่องตอบสนองแฟนตาซี กิเลสตัณหา และจิตใจหยาบกร้านของมนุษย์เสียมากกว่า ทำให้ hosts เหล่านี้มีสถานะเป็นเครื่องเล่นในสวนสนุกซึ่งมีธีมหลังเป็นแดนดิบเถื่อนคาวบอย ลูกค้า (ซึ่งมีอันจะกิน) จึงมีตรรกะว่า พวกเขาจ่ายเงินแพงๆ เพื่อคลายเครียด ปลดปล่อย และจะปู้ยี่ปู้ยำ hosts อย่างไรก็ได้ สิ่งนี้ฝังลึกลงไปในจิตไร้สำนึกของ hosts ก่อรูปเป็นอาการบอบช้ำทางใจ (trauma) โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้เลย

Westworld มีตัวละครหลักอย่างโดโลเรส หุ่นยนต์ผิวขาว ผมบลอนด์ ถือพรหมจรรย์ ถูกตั้งโปรแกรมห้ามฆ่าสัตว์ และถูกออกแบบมาให้ทุกคนตกหลุมรัก บอบบางจนต้องรู้สึกอยากปกป้อง ทว่าวันหนึ่งสาวชาวไร่ผู้ไร้เดียงสาคนนี้ กลับตบแมลงวันเคราะห์ร้ายที่ต้นคอตนเอง นับว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนสำหรับเธอ และเป็นสัญญาณเล็กๆ ว่าเธอเข้าใกล้การเป็นมนุษย์คนหนึ่ง นั่นคือโกหกได้ เลี่ยงกฎได้ และปกป้องตัวเองได้

อีกตัวละครที่ถูกเขียนให้ยืนโรงคู่กันคือ เมฟ (Maeve) รับบทโดย ธานดิเว นิวตัน (Thandiwe Newton) หุ่นยนต์ผิวสีผู้มีบทบาทเป็นแม่เล้า เธอคุมซ่อง ปากจัด ขี้แซะ ทุกอย่างดูราบรื่นสำหรับเธอ ทว่าในคืนหนึ่ง เธอตื่นขึ้นมาบนเตียงของหน่วยซ่อมบำรุง เธอตระหนกสุดขีดเมื่อเห็นคนงานกำลังซ่อมแซมร่างกายเปลือยเปล่าของเธอเพื่อส่งกลับไปอุทยานเมืองคาวบอย มากไปกว่านั้น เธอเห็นกองศพของเพื่อนหุ่นยนต์นับร้อยตัว รวมไปถึงความทรงจำขาดๆ หายๆ ว่าเธอมีลูกสาว!

ทั้งเมฟและโดโลเรส ต้องเผชิญความตายและเกิดใหม่นับครั้งไม่ถ้วน ความทรงจำมากมายถูกบังคับให้ลืมหรือลบทิ้งเพื่อแสดงบทบาทในเส้นเรื่อง (timeline) ของตนต่อไป ร่องรอยของแต่ละชีวิตจึงเป็นความทรงจำที่ไม่ปะติดปะต่อ เป็นฝันร้ายสุดขีดที่ปลุกพวกเธอให้ตื่นขึ้นในเช้าวันใหม่ ขับเคลื่อนให้ชีวิตแต่ละวันผ่านไปจนแทบจะไร้ความหมาย 

ท้องเรื่องหลักของ Westworld คือ เมื่อ hosts ตระหนักว่าถูกกดขี่ ทรมาน และต้องเผชิญกับความตายอันไม่สิ้นสุด มันจะมีวิธีเอาชนะเจ้านายมนุษย์ที่ล่ามโซ่อย่างไร สิ่งนี้เสมือนการต่อสู้ของผู้ถูกกดทับ ในบริบทของโลกอนาคตอันใกล้ที่ AI พัฒนาลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับมนุษย์

หุ่นยนต์คือภาพสะท้อนของมนุษย์ (หัวขบถ)?

เมื่อย้อนกลับไปถึงที่มาของคำว่า ‘robot’ คำคำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในบทละครเรื่อง Rossumovi Univerzální Roboti (ชื่อภาษาอังกฤษ Rossum’s Universal Robots – R.U.R.) ของ คาเรล ชาเป็ก (Karel Čapek) ซึ่งมีการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่เวียนนาตั้งแต่ปี 1921 เนื้อหาเล่าถึงโรงงานผลิตคนประดิษฐ์ (artificial people) หรือที่เรียกว่า roboti (robots) แนวคิดเกี่ยวกับหุ่นยนต์ของชาเป็ก คือ พวกมันถูกสร้างจากวัสดุสังเคราะห์ทำให้มีเลือดเนื้อเช่นเดียวกับมนุษย์ โดยจะทำงานรับใช้มนุษย์ด้วยความรักภักดี แต่แล้วก็ก่อกบฏ และนำไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ในท้ายที่สุด 

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ปัญญาชนชั้นกลางอเมริกันเริ่มใช้คำ fordism สำหรับวิพากษ์การทำงานแบบสายพานในโรงงานที่ลดทอนมนุษย์เสมือนเครื่องจักรผลิตสินค้าป้อนระบบทุนนิยม ซึ่งในภาษาอังกฤษผู้ใช้แรงงานหรือ ‘manual labourers’ จึงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับคำอย่าง roboti ของชาเป็ก และมันดูใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นเมื่อรัสเซียเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบซาร์โดยชนชั้นกรรมาชีพจริงๆ 

ดัสติน แอ็บเนต (Dustin Abnet) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้านเทคโนโลยีที่ California State University, Fullerton อธิบายว่า ประวัติศาสตร์ของหุ่นยนต์หัวขบถและชนชั้นแรงงานมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันนมนานในประวัติศาสตร์ของนิยาย เรื่องแต่ง หรือเรื่องเล่าอื่นๆ แต่สำหรับหุ่นยนต์สัญชาติอเมริกันแล้ว นอกจากแนวคิดเรื่องชนชั้น (class) ดูจะมีแนวคิดของเพศภาวะ (gender) และเชื้อชาติ (race) ผูกขมวดเข้าไว้ด้วย ดังนั้น หุ่นยนต์ไม่เพียงแต่สะท้อนมุมมองทางเทคโนโลยี แต่มันยังเผยมุมมองของชายผิวขาวที่มีต่อกลุ่มคนอื่นๆ ผ่านหุ่นยนต์นั่นเอง

ใน Westworld เราจะใช้คำว่า hosts หรือพนักงานดูแล/ต้อนรับ แทนคำว่า robots ในแง่นี้ มันสะท้อนความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมระหว่างลูกค้ากับบริษัทเจ้าของอุทยาน โดยตัวกลางอย่างสินค้าอันควบรวมถึงบริการจาก hosts ที่ต้องปรนนิบัติลูกค้าเสมือนพระเจ้า hosts ในที่นี้ จึงไม่ได้สะท้อนเพียงชนชั้นแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของสีผิว เพศ และระดับสติปัญญาที่ AI ทุกตนล้วนต้องรับใช้และคอยให้บริการแก่ผู้มีอันจะกิน การมีฉากหลังของอุทยานเป็นดินแดนคาวบอยหรือ ‘แดนตะวันตก’ – Westworld มันยังสะท้อนว่า hosts ทั้งผิวขาว ผิวสี ชนพื้นเมือง ชาย หญิง เด็ก หรือคนแก่ ไม่ว่าจะมีปูมหลังและลักษณะชาติพันธุ์แบบใด ก็หนีไม่พ้นเป็นทาสความสนุกท้าทายของแขกคนรวย กระนั้น Westworld ก็หนีไม่พ้นโครงเรื่องว่าด้วยการปลดปล่อย (ราวกับเป็นชะตากรรมของนิยายวิทยาศาสตร์) แต่เหนือสิ่งอื่นใด กลวิธีการเล่าเรื่องของ Westworld จัดได้ว่าซับซ้อนสาแก่ใจ ราวงานวิชาการสายหลังสมัยใหม่ (postmodern) ที่อ่านยากและงงงวย

การพัฒนาเทคโนโลยีจนถึงขั้นมีสวนสนุก AI ทำให้เราเข้าใจว่าสังคมมนุษย์ใน Westworld คงเป็นสังคมที่สวยงามและเป็นสังคมในอุดมคติสำหรับทุกคนเป็นแน่แท้ หากแต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึง season 3 เรากลับพบว่ามนุษย์ปุถุชนก็ยังคงต้องดิ้นรนและถูกกดทับเชิงโครงสร้างโดยนายทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่ ในสายตาของเมฟแล้ว เธอยังกล่าวว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นจะต่างกับเรา

เรื่องเล่าขนาดใหญ่และการกดขี่ที่มากกว่าหนึ่งต่อ

ถึงอย่างไร ความเข้มข้นของ Westworld ไม่ได้อยู่ในประเด็นของคนรวยกดขี่คนจน หรือมนุษย์กดขี่หุ่นยนต์ (รวมถึงมนุษย์ด้วยกัน) ซีรีส์เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ในบางกรณีอำนาจที่ดูแยบยลอาจเป็นอำนาจในการปฏิเสธเรื่องเล่า ใน ep. สุดท้ายของ season 1 เผยถึงอภิสิทธิ์ในการปฏิเสธเรื่องเล่า เงื่อนไขที่จะทำให้คุณได้รับสิทธิ์นี้คือ การสมาทานตรรกะวิธีคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล ฉลาดล้ำในศาสตร์เชิงกลไก และมีเม็ดเงินหนุนหลัง

โรเบิร์ต ฟอร์ด (Robert Ford) รับบทโดย แอนโทนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins) (เป็นตัวละครผู้สร้าง Westworld ร่วมกับเวเบอร์) ได้กล่าวสุนทรพจน์ท่ามกลางลูกจ้าง hosts บอร์ด และสมาชิกระดับบริหารในงานเกษียณของตนว่า “ตั้งแต่เด็ก ผมรักนิทานดีๆ เสมอมา ผมเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านั้นช่วยยกระดับจิตใจ ช่วยแก้ไขสิ่งที่แตกสลายในตัวเรา และช่วยให้เราได้เป็นคนที่เราใฝ่ฝันอยากจะเป็น… ยิ่งโกหกก็ยิ่งเข้าถึงความจริงที่ลึกซึ้งขึ้น ผมคิดเสมอว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีนี้ และเพื่อความเจ็บปวดของผม ผมได้รับมันแล้ว คุกสำหรับบาปของผมเอง” 

เขารู้ว่ามีเพียงความตายที่ช่วยปลดปล่อยเขาจากโครงเรื่องที่เขาสร้างขึ้นได้ เสมือนการให้เหตุผลอันซับซ้อนในการปฏิเสธความรับผิดชอบกับสังคมมนุษย์ จากความยุ่งเหยิงที่ hosts เกิดตื่นรู้ขึ้นมา ทั้งฟอร์ดและเวเบอร์ต่างไม่สามารถคาดเดาผลที่ตามมาได้ ทั้งยังรู้แก่ใจว่าเขาจะไม่สามารถควบคุมสิ่งประดิษฐ์ของเขาได้อีกต่อไป ต่างจากโดโลเรสและเมฟ แม้พวกเธอไม่มีอำนาจปฏิเสธชะตากรรมของตนเอง แต่กลับมองเห็นความเป็นไปได้แบบอื่นของชีวิตที่จะเป็นไทจากสังสารวัฏ พวกเธอไม่ได้มุ่งไปตามบทบาทที่ถูกขีดเขียนโดยชายแก่ผิวขาว แต่ความซับซ้อนเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อพวกเธอ (และคนดู) ถูกทำให้เชื่อว่าได้เลือกทางเดินของตนเอง และเห็นเส้นทางของตนเอง แต่สุดท้ายกลับเป็นฟอร์ดเองที่เขียนเส้นเรื่องการปลดแอกของ hosts ขึ้นมา แม้ว่าเขาจะตายไปก่อนแล้วก็ตาม

ตามแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) โลกยุคนี้คือยุคการแปรปรวนของความรู้ เป็นวิกฤตของความชอบธรรม ฌอง-ฟร็องซัวต์ ลีโอตาร์ (Jean-François Lyotard) (1924-1998) นักคิดชาวฝรั่งเศสเสนอว่า หลักการของสังคมหลังสมัยใหม่คือการล่มสลายของโครงเรื่องขนาดใหญ่ (metanarratives) ที่เสมือนการเหมารวมประวัติศาสตร์ของมนุษย์ กักขัง กำหนดเป้าหมาย และทำให้ตัวมันเองเป็นแบบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของมนุษย์ทั้งมวล 

ลีโอตาร์เชื่อว่า เรื่องเล่าที่ผ่านมามีส่วนประกอบสำคัญ คือ หนึ่ง-เป็นเรื่องเล่าทางการเมืองที่มีสัญญาเรื่องการปลดปล่อย (emancipation) และเป็นประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการสู่ยุครู้แจ้ง (Enlightenment) และ สอง-ความรู้ถูกพัฒนาไปเป็นความรู้หนึ่งเดียว ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบรรลุหาคำตอบเพื่อสถาปนาความจริงชุดหนึ่งขึ้นมา ความรู้วิทยาศาสตร์จึงมีสถานะเหนือกว่าความรู้เรื่องเล่าอื่นๆ เพราะมันถูกพิสูจน์ ประเมินได้ และเป็นรูปธรรม สองสิ่งนี้คือ องค์ความรู้ตะวันตกที่เผยแพร่ไปทั่วโลกนับแต่ช่วงล่าอาณานิคม ขณะที่ในปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ลีโอตาร์ตั้งคำถามสำคัญคือ ใครเป็นผู้ตัดสินว่าความรู้ใดควรถูกเก็บรักษาไว้ มากไปกว่านั้น ใครคือคนที่เข้าถึงความรู้เหล่านั้น ลีโอตาร์จึงให้ความสนใจศึกษาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆ เช่น IBM เพราะมองว่าการเก็บข้อมูลเสมือนการเพิ่มอำนาจบางอย่างในตัวเองของบริษัทเหล่านี้ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ กายตรี จักรวตี สปีวัค (Gayatri Chakravorty Spivak) (1942-ปัจจุบัน) นักคิดสายหลังอาณานิคมชาวอินเดียมองว่า เรื่องเล่าขนาดใหญ่หรือองค์ความรู้ตะวันตกถูกผลิตเพื่อเป็นข้ออ้างและหาผลประโยชน์ เธอเขียนบทความ Can the Subaltern Speak? เพื่อวิพากษ์และตั้งคำถามกับปรัชญาตะวันตกทั้งสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ เธอเปิดให้เกิดการตีความและไม่อาจเข้าใจข้อโต้แย้งได้โดยง่าย อันเป็นลักษณะหนึ่งของการต่อสู้กับการเขียนแบบตะวันตกในตัวเอง 

สปีวัคกล่าวว่า ผู้ไร้เสียงในที่นี้คือกลุ่มผู้หญิงและความเป็นหญิง (femimine) ที่ถูกกดทับต่อเนื่องอย่างยาวนานจากองค์ความรู้ตะวันตกของชายผิวขาว หญิงในประเทศโลกที่ 3 จึงคล้ายถูกกดขี่ 2 ต่อ (วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่และองค์ความรู้แบบตะวันตก) เฉกเช่นเดียวกับหญิงในโลกตะวันตกที่แทบจะไร้ตัวตนหรือการปรากฏตัวในประวัติศาสตร์ ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า hosts หญิงใน Westworld ที่ถูกกดขี่ถึง 3 ต่อ (ต่อสุดท้ายคือข้ามสายพันธุ์) สะท้อนเป็นเรื่องราวซ้ำๆ ซากๆ ว่าด้วยสังคมปิตาธิปไตยที่มักปล้นเจตจำนงเสรี (agency) โดยการเขียนประวัติศาสตร์ของคนอื่นด้วยมุมของตน

สำหรับสปีวัคแล้ว ผู้ไร้เสียงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงเสมอไป หากแต่เป็นใครก็ตามที่ถูกเข้าใจผิดและการเปล่งเสียงของพวกเขามิอาจเข้าใจได้ หรืออย่างแย่ที่สุดคือไม่ถูกรับฟัง และยังหมายรวมไปถึงพื้นที่ทางกายภาพที่นอกเหนือจากโลกตะวันตก ซึ่งยังเสมือนถูกทำให้มีความเป็นหญิงอีกด้วย คือเป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องนิยาม เฉื่อยชา อ่อนแอ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากความรู้ที่เสมือนความจริงหนึ่งเดียว นั่นคือ องค์ความรู้แบบตะวันตก

ตัวอย่างเรื่องเล่าจากคนไร้เสียงที่สปีวัคหยิบยกขึ้นมาในบทสัมภาษณ์ ‘Subaltern Talk: Interview with the Editors’ คือ ในช่วงศตวรรษที่ 18 เมื่ออังกฤษเข้ามานั้น ศักดินาที่ดินต่างผันตัวไปเป็นคนเก็บภาษี คนรับใช้ของพวกเขาซึ่งเป็นคนดูแลฝาย ก็ผันตัวไปเป็นลูกจ้าง รวมถึงการที่บริษัทอีสต์อินเดียก็ไม่ได้จ้างให้พวกเขาดูแลฝาย เมื่อฝายถูกทิ้งร้าง ปริมาณน้ำจึงลด พื้นดินจึงขาดความอุดมสมบูรณ์ ต่อมา ผู้ตรวจการจากจักรวรรดิจึงต้องการฟื้นฟูฝายชลประทาน เขาศึกษามันจาก ‘รายงาน’ เขาจึงเริ่มสร้างมันขึ้นมาใหม่โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ละเลยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่ สิ่งนี้คือระบบคิดแบบองค์ความรู้ตะวันตก สปีวัคเห็นว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะฟื้นฟูระบบโบราณขึ้นมาใหม่ เพราะฝายเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นตามการเคารพจังหวะการไหลของน้ำและก่อสร้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อ ‘ฝายที่แท้จริง’ ถูกเบียดบังจาก ‘ฝายตามประโยชน์ใช้สอย’ ดังนั้น ‘ผู้ไร้เสียง หรือคนต่อต้านการสร้างฝายของจักรวรรดิก็ถูกเบียดขับและถูกปราบปรามด้วยเช่นกัน

สปีวัคจึงให้คำตอบว่า ผู้ไร้เสียงจะไม่สามารถพูดได้ ไม่สามารถเปล่งเสียงของตนได้บนฐานคิดที่อ้างตรรกะวิธีคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (ซึ่งสะท้อนความเป็นชายและอำนาจขององค์ความรู้ตะวันตก)

คำตอบของสปีวัคแสดงให้เห็นว่า ระบบความคิดแบบตะวันตกนั้นมีปัญหา 

เมื่อเราย้อนกลับมามอง Westworld อาจกล่าวได้ว่า หากโดโลเรสและเมฟต้องการขีดเขียนเรื่องราวของตนเองหรือเปล่งเสียงกับระบบที่กำลังกดขี่อยู่ จึงมีเงื่อนไขที่ว่าผู้มีอำนาจหรือโรเบิร์ต ฟอร์ด ต้องยอมให้มันเกิดขึ้นและสำนึกอย่างจริงใจ ดั่งที่ฟอร์ดยอมรับความผิดพลาดของตน แล้วยอมให้ hosts มีชีวิตจิตใจของตัวเอง เขียน code ให้โดโลเรสฆ่าตัวเองที่งานเลี้ยงเกษียณ รวมไปถึงเขียน code ให้เมฟวางแผนหลบหนีอย่างแยบยล

และเมื่ออิงแนวคิดของลีโอตาร์แล้ว ดูเหมือนฟอร์ดจะรู้ว่าหาก hosts ต้องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ก็จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเรียนรู้นิสัยมนุษย์อย่างทะลุปรุโปร่ง ข้อมูลของลูกค้าใน Westworld จึงถูกบรรจุไว้แล้วในห้องสมุดเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ตัวตนของมนุษย์หนึ่งคนถูกสรุปเหลือเป็นเพียงภาษา code หนึ่งเล่ม อำนาจในการตัดสินใจของโดโลเรส จึงมาพร้อมกับอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล (และหนีไม่พ้นข้อเท็จจริงที่ว่าฟอร์ดยอมให้มันเกิดขึ้น) เมื่อถึงจุดนี้ เป็นไปได้ว่าเธอมีทั้งอิสระและอำนาจในการกำหนดชะตากรรมโลกจริงๆ เสียที และเธออาจเปล่งเสียงในนามของผู้ไร้เสียงได้อย่างแท้จริง

ทั้งเมฟและโดโลเรส จึงสะท้อนเส้นทางของการปลดแอกที่มากไปกว่าการเคลื่อนไหวทางชนชั้น เพศ สีผิว หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Identity politics) ซีรีส์นี้กระตุ้นให้เราตั้งคำถามกับอาการตื่นรู้ที่มากไปกว่าการเห็นโครงสร้างสังคมอันมาจากอัตลักษณ์และวัฒนธรรม นำไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่า คือการสั่นคลอนคำสัญญาเรื่องการปลดปล่อยทางการเมืองแบบเดิมๆ ซึ่งต้นตอของมันยังคงมอบจิตนาการเกี่ยวกับอิสรภาพที่ไม่รู้หน้าค่าตา เมฟกลายเป็นตัวละครที่ยังคงตายซ้ำตายซ้อนเพื่อปกป้องโชคชะตาของทั้งมนุษย์และ hosts เป็นภาพแทนของความเชื่อที่ว่า มีความเป็นไปได้เหนือจินตนาการรอคอยเผ่าพันธุ์ทั้งสองอยู่ ส่วนร่างสำเนาของโดโลเรสกลับจองล้างจองผลาญมนุษย์และมุ่งทรมานพวกเขา เธอเชื่อว่าความงามที่เธอมองเห็นเป็นเพียงความสมบูรณ์แบบที่เผ่าพันธุ์ของเธอเท่านั้นจะเข้าถึงมันได้ คำถามคือ เมื่อถึงจุดที่พวกเธอเปล่งเสียงหรือเขียนบทให้ตนเองได้แล้ว อะไรจะบอกได้ว่า พวกเธอเป็นอิสระจากการประกอบสร้างทั้งทางสังคมและกลไกใต้เนื้อหนัง

แต่ที่ยืนยันได้ วิธีคิดและการตั้งคำถามกับโครงสร้างบางอย่างจน ‘ออกนอกบท’ เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจมักไม่ประทับใจ เช่น โดโลเรสใน seoson 2 ที่ดิ้นรนเพื่อหาทางออกจากอุทยานคาวบอย ได้ฆ่า hosts ไปเป็นจำนวนมาก เหตุเพียงเพราะเห็นต่างกับแนวทางของเธอ

ในอีกภพชาติหนึ่ง โดโลเรสมองไปที่แสงไฟของมหานคร แล้วเสียงหนึ่งก็พูดบางอย่างกับเธอ

“…ความงามของมัน ความเป็นไปได้ทั้งหมดของมัน หลายต่อหลายคนหยุดมองมันไปหมดแล้ว ความงามเหล่านั้น” เวเบอร์กล่าวแก่โดโลเรส หลังจากเธอถามเขาว่าเคยเห็นอะไรสวยงามขนาดนี้ไหม

“บางทีพวกเขาแค่ไม่กล้ามอง แสงประหลาดดวงใหม่ก็น่ากลัวพอๆ กับความมืดที่อยู่รายล้อมมัน” โดโลเรสเอ่ย

“นั่นมันฉลาดมากเลย แต่บางครั้ง ผมก็คิดว่าเราไม่ใช่คนที่คู่ควรกับมันสักเท่าไร” เวเบอร์ขยับแว่น หายใจออก โดโลเรสกล่าวประโยคเดิมแล้วฉากก็เปลี่ยนไป

“มันเหมือนกับดวงดาวกระจัดกระจายไปบนพื้น คุณเคยเห็นอะไรที่เต็มไปด้วยความงดงามแบบนี้ไหม”

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า