Bridgerton การปรับตัวของโรมานซ์ ‘หล่อล่ำและร้อนแรง’ ในศตวรรษที่ 21

นิยายแนวโรมานซ์แบบคลาสสิกดั้งเดิมที่หน้าปกเป็นรูปพระเอกกล้ามใหญ่มีนางเอกสวมเสื้อผ้าหลุดลุ่ยอ่อนระทวยอยู่ในวงแขน เป็นนิยายที่ผู้หญิงดีๆ มีสติหลายคนเขินอายเกินกว่าจะยอมรับว่าอ่านมัน และซีรีส์ Bridgerton ฮิตล่าสุดบน Netflix สร้างมาจากนิยายตระกูลนี้

กฎของนิยายโรมานซ์มีอยู่ไม่มากนัก ข้อแรกคือพระเอกต้อง ‘หล่อล่ำและร้อนแรง’ ชื่อของนิยายโรมานซ์มักจะมาในแนว ปล้นรักมาเฟียร้าย, หนุ่มละตินร้ายนัก, เล่ห์ร้ายร่ายรัก ข้อสองนางเอกมักใสซื่อ ข้อสามบทรักต้องตอบสนองแฟนตาซีของผู้หญิงที่เป็นไปอย่าง ‘นุ่มนวลและร้อนแรง’ ข้อสี่นิยายโรมานซ์คือโลกอันปลอดภัย ประกันตอนจบว่ามีความสุขแน่นอน แม้นิยายโรมานซ์จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่ใช้ปกเป็นรูปพระเอกกล้ามใหญ่แล้ว แต่กฎต่างๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เช่น Fifty Shade of Grey แม้หน้าปกจะเป็นรูปเน็คไทชวนตีความแต่ข้างในยังคงครบถ้วนด้วยองค์ประกอบหลัก

Bridgerton คือชื่อสกุลของขุนนางในยุครีเจนซี ที่เหล่าทายาททั้งแปดเติบโตมาเป็นตัวเอกในซีรีส์นิยายชุด Bridgerton ทั้งหมดแปดเล่ม โดย Bridgerton เล่มแรก The Duke and I ตีพิมพ์เมื่อปี 2000 เส้นเรื่องหลักดำเนินไปโดย ‘ดาฟนี’ หญิงงามบริสุทธิ์ ลูกสาวคนโตของตระกูล ที่ทำสัญญาคบปลอมๆ กับ ‘ไซมอน’ ท่านดยุคหนุ่มผู้เย่อหยิ่งและมีปมทำให้ปฏิเสธการมีชีวิตคู่ Bridgerton ได้รับรางวัลอันเป็นเกียรติยศสูงสุดของงานแนวโรมานซ์ นั่นคือ รางวัลริตา ซึ่งตั้งชื่อตาม ริตา เคลย์ เอสตราดา (Rita Clay Estrada) เจ้าแม่นิยายโรมานซ์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนนิยายโรมานซ์แห่งอเมริกา (The Romance Writers of America) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโรมานซ์นั้นไม่ธรรมดา มีที่ทางของตัวเอง ส่วนยอดขายนิยายโรมานซ์ครองสัดส่วนหนังสือขายดีในตลาดอยู่เสมอ

Bridgerton เวอร์ชั่น Netflix ที่หยิบยก The Duke and I มาทำ ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งยอดผู้รับชม คำวิจารณ์เชิงบวก และการเป็นที่พูดถึง ณ วันที่ 6 มกราคม 2021 Bridgerton มียอดคนสตรีมเรื่องนี้ไปแล้วกว่า 63 ล้านครัวเรือนภายใน 1 เดือน นับจากซีรีส์ฉายวันแรก และยังได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ใน 76 ประเทศ การแปลงนวนิยายเมื่อ 20 ปีก่อน มาเป็นซีรีส์ยอดนิยมในยุคนี้ได้นั้นนับว่าน่าสนใจ ในด้านคาแรคเตอร์ การที่พระเอกเป็นชายหนุ่มเพลย์บอยมีปม ส่วนนางเอกเป็นผู้หญิงเรียบร้อยยุครีเจนซีที่จำเป็นต้องมีสามี เพราะผู้หญิงชั้นสูงยุคนั้นไม่ได้ทำอาชีพอะไรและไม่มีอิสระ ฟังดูสุดเชยทั้งคู่ แต่ในความเชย พระเอกผู้กราดเกรี้ยวยังมีความเคารพความยินยอม (consent) ของผู้หญิง ไม่ใช่แนว จำเลยรัก

ส่วนคาแรคเตอร์นางเอกที่รวมๆ ดูเชยไม่แพ้กันก็กำลังสื่อสารในมุมเฟมินิสต์อยู่บางเฉด การมีอำนาจปกครองครัวเรือนหรือแก้ปัญหาด้วยเครือข่ายผู้หญิงด้วยกันนับเป็นเฉดหนึ่งของเฟมินิสต์ที่ผ่านการต่อรองนิยามและตีความใหม่ ในมุมมองเฟมินิสต์เฉดนี้การที่ผู้หญิงเป็นแม่หรือเมียไม่ได้หมายความว่าถูกกดทับหรือเป็นทรัพย์สินของผู้ชายเสมอไป แต่อาจเป็นฝ่ายได้ประโยชน์และอำนาจจากสถานะนั้น ซึ่งซีรีส์ได้เสนอแง่มุมนี้ไว้หลายครั้ง ดังจะเห็นได้ว่าทั้งดาฟนีและแม่ของเธอมีบทบาทแก้ปัญหาสำคัญๆ ได้ดีกว่าลูกชายหรือพี่น้องผู้ชาย และเป็นผู้ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ เช่นการควงคู่รักที่มีอำนาจมาออกงานทำให้สถานะครอบครัวที่กำลังแย่ดีขึ้นมาได้ หรือการแพร่ข่าวซุบซิบนินทาออกไปในหมู่ผู้หญิงเพื่อใช้ในการกดดันทางสังคม ขจัดท่านลอร์ดผู้มีอิทธิพลที่มาคุกคามนั้นได้ผล

ขณะที่วิธีแก้ปัญหาแบบแมนๆ โดยผู้ชาย (เช่นต่อยหรือดวลปืนกัน) ล้วนล้มเหลวและดูไม่ฉลาด แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าในยุครีเจนซีซึ่งเป็นยุคก่อนยุควิคตอเรียนจริงๆ สภาพการณ์จะเป็นไปเช่นนั้น แลนด์ลอร์ดผู้เคยชินกับอำนาจอาจไม่ยอมลดตัวมากอบกู้สถานการณ์ของครอบครัวภรรยาผู้มีศักดิ์ด้อยกว่าหรือการนินทาอาจไม่พอที่จะทำให้ท่านลอร์ดจอมระรานระเห็จออกจากเมือง กล่าวได้ว่าการตีความในซีรีส์นับว่ามาจากมุมมองของยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้สร้างเองยอมรับว่าเป็นความตั้งใจเพราะนี่คือซีรีส์ที่ทำให้คนยุคนี้ดู

การใส่มุมมองร่วมสมัยให้ตัวละครยังสะท้อนอยู่ในเส้นเรื่องของสาวเจ้าเสน่ห์ท้องก่อนแต่งอย่างมารีนา ถ้าเป็นละครไทยมารีนาต้องโดนตีตราว่ามีมลทิลมัวหมองและมีชะตาชีวิตที่ต้องรับกรรมแน่นอน ซึ่งในนิยายก็ได้ให้ภาพมารีนาไว้เช่นนั้น แต่มารีนาในซีรีส์ดูเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง มีอำนาจแห่งสตรีเพศ และมีความมุ่งมั่นที่จะกำหนดชีวิตตัวเอง

นอกจากนี้ซีรีส์ยังสร้างประสบการณ์ให้เหมาะกับคนดูยุค 2021 ด้วยการให้ตัวแสดงที่มีฐานันดรสูงไม่ว่าจะเป็นพระราชินีชาร์ล็อต หรือท่านดยุคไซมอน เป็นคนผิวสีซึ่งต่างไปจากฉบับนวนิยายอย่างสิ้นเชิง โดยในนวนิยายทุกตัวละครเป็นคนผิวขาวและไม่ได้กล่าวถึงราชินีแต่อย่างใด แต่ในประวัติศาสตร์มีราชินีชาร์ล็อตอยู่จริงๆ และนักประวัติศาสตร์นอกกระแสยังตั้งข้อสันนิษฐานว่าราชินีองค์นี้เป็นคนผิวสีอีกด้วย รวมทั้งสันนิษฐานว่าพระราชินิอลิซาเบธที่ 2 น่าจะมีเชื้อสายคนผิวสีอยู่ในตัว ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้สร้างซีรีส์ผูกประวัติศาสตร์และเรื่องแต่งเข้าด้วยกัน การทำเช่นนี้ได้ชวนให้คิดว่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษต้องผ่านการทำให้เป็นของมวลชนมามากแค่ไหนกัน ถึงสร้างซีรีส์ที่เปิดโอกาสให้ตีความอย่างเปิดกว้างเช่นนี้ได้

ขณะที่ในบางประเทศแม้แต่จะให้ผู้หญิงข้ามเพศมารับบทผู้หญิงข้ามเพศยังไม่อาจทำได้ นำภาพยนตร์เรื่อง The King and I มาฉายไม่ได้ แต่ Bridgerton ฉายภาพให้ชนชั้นสูงผิวสีทุกตัวละครดูสง่างามไม่ขัดตา อย่างปราศจากร่องรอยการประทับตราต่อคนผิวสีที่ทำกันมานานหลายศตวรรษ แบบที่ โรลองด์ บาร์ธส์ (Roland Barthes) ต้องหันไปมองปก Paris Match ฉบับ ‘Black Soldier’ ที ดู Bridgerton ที แล้วงุนงงในความเปลี่ยนแปลงของโลก และยังชวนให้คิดถึงคำพูดของ มิเชล โอบามา (Michelle Obama) ที่เคยกล่าวไว้ในหนังสือ Becoming ว่าคนชอบตื่นเต้นเวลาเห็นผู้ชายผิวสีที่ดูดี ราวกับเป็นเรื่องน่าแปลกใจเสียเต็มประดา แต่จริงๆ แล้วแค่จับผู้ชายผิวสีที่ฉลาดมาแต่งตัวดีๆ และใส่สูทก็หล่อแล้ว

อย่างไรก็ตามแม้ซีรีส์นี้จะปรับให้ทันสมัยแต่ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความยินยอม (consent) ที่ทุกเพศล้วนต้องการโดยเท่าเทียมกัน จากในส่วนหนึ่งของซีรีส์ที่มีฉากผู้ชายเป็นฝ่ายถูกผู้หญิงข่มขืนแต่สุดท้ายลงเอยด้วยความรัก ซึ่งเป็นค่านิยมที่สังคมในยุคนี้ไม่อาจยอมรับมายาคติ ‘ข่มขืนเพราะรัก’ ได้ไม่ว่าเพศใดกระทำกับเพศใด ซึ่งเป็นจุดที่ซีรีส์ปล่อยไปทั้งที่ปูมาด้วยค่านิยมเคารพความยินยอมที่ฝ่ายชายมีต่อฝ่ายหญิงมาตลอด แต่ทั้งนี้นับว่าลดดีกรีลงจากฉบับนวนิยายแล้วที่เขียนฉากนี้ให้ฝ่ายหญิงข่มขืนตอนฝ่ายชายเมา แต่ในซีรีส์ฉากนี้เกิดขึ้นตอนทั้งคู่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนดี ฉากผู้หญิงผิวขาวข่มขืนผู้ชายผิวดำซึ่งเป็นฉากคลี่คลายปมของเรื่องนี้ยังได้รับการวิเคราะห์ในเชิงสัญญะด้วยว่า เปรียบได้กับการที่คนขาวล่าอาณานิคมในดินแดนของคนดำและนำคนดำมาเป็นทาส

นอกจากความพยายามปรับค่านิยมต่างๆ ให้อยู่ในทิศทางที่ควรเป็น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องปรบมือให้ในตอนที่หนึ่งและเรียกความสนใจจนดูซีรีส์ต่อจนจบคือ การได้ยินเสียงดนตรีคลาสสิกเล่นเพลงของ อรีอานา แกรนเด (Ariana Grande) ที่ตอนได้ยินถามตัวเองว่าฟังผิดไปหรือเปล่าอย่าง ‘Thank U, Next’ ในฉากเต้นรำ เป็นเหมือนฉากละลายพฤติกรรมที่เตือนว่านี่จะไม่ใช่แค่ซีรีส์พีเรียดอีกเรื่องหนึ่ง ฉากนี้ทำให้คนหันมาพูดเรื่อง ‘Thank U, Next’ กันทั้งบ้านทั้งเมือง และอารีอานาทวีตฉากนี้ลงในทวิตเตอร์ส่วนตัว นี่คือซีรีส์พีเรียดที่รู้วิธีว่าจะทำยังไงให้ไวรัลในยุค 5G

สรุปว่าซีรีส์เรื่องนี้โดยพล็อตมีบรรพบุรุษคือนวนิยายที่มีทุกห้องสมุดประชาชน แต่เอามาตัดบางอย่างที่คนยุคนี้ไม่โอเคออก เพิ่มบางอย่างที่คนยุคนี้โอเคเข้าไปเพื่อความอยู่รอด ทว่า Bridgerton ไม่พรากสิ่งที่เป็นองค์ประกอบหลักๆ ของงานตระกูลโรมานซ์ที่ทำให้ผู้ชมสนุกอย่างไม่ต้องคิดมาก ผู้ชมบางคนนิยามงานตระกูลโรมานซ์ว่าเป็นความสุขที่คุ้นเคยและเชื่อใจได้ บางคนถึงกับขอบคุณ Bridgerton ที่ทำให้พวกเขาลืมความทุกข์ช่วงโควิดไปชั่วคราว นับเป็นการปรับตัวของงานแนวโรมานซ์ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เรายังมีพระเอก ‘หล่อล่ำและร้อนแรง’ ที่ปฏิบัติตัวตามคุณค่าของปี 2021 ได้อีกด้วย

Author

ชลธร วงศ์รัศมี
นักเขียนผู้ชอบมานุษยวิทยา บทกวี ศิลปะ ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง (ของประชาชน) แน่นอน คิดว่าความเศร้าหมองทุกสิ่งในโลกนี้เยียวยาได้ด้วยไส้กรอกเบรกฟาสต์ชีสของห้างฟู้ดแลนด์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า