ประชาชน: คนไร้ใบหน้าใน House of the Dragon

ข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญใน House of the Dragon ซีซั่น 1

เชื่อว่าเช้าวันจันทร์ของแฟนๆ ซีรีส์ House of the Dragon (ขอเรียกย่อๆ ว่า HotD) คงหายอิดโรยขึ้นเล็กน้อย หลังจาก HBO ประกาศว่าซีซั่น 2 จะมาในอีก 2 ปีข้างหน้า!

การดำเนินเรื่องที่รวดเร็วฉับๆ แบบ time skip อาจกำลังบอกเราว่า เวลาแห่งความผาสุกมักผ่านไปรวดเร็วเสมอ ความสั่นคลอนเดียวที่บัลลังก์เหล็กเผชิญมาตลอดรัชสมัยของเจเฮริสและวิเซริส คือปมรัชทายาท แต่นอกนั้นประวัติศาสตร์ของพวกเขาเรียกได้ว่า (เกือบ) ไร้รอยขีดข่วน

ซีซั่น 1 เล่าเรื่องจุดเริ่มต้นความระส่ำระส่ายของราชวงศ์ทาร์แกเรียน ซึ่งก่อตัวขึ้นจากอัตตาทะลุฟ้าของคนรอบกายกษัตริย์วิเซริส ความขัดแย้งถูกแบ่งขั้วเป็น ‘คณะดำ’ ของเจ้าหญิงเรนีรา ลูกคนโตและรัชทายาทที่ชอบธรรม กับ ‘คณะเขียว’ ของเจ้าชายเอกอน น้องชายต่างแม่ที่ถูกหนุนหลังด้วยตระกูลไฮทาวเวอร์ของแม่และตา

ตลอด 10 อีพี เราจะพบว่าปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องลูกสาว-ลูกชาย อย่างโดดๆ หากแต่เป็นระบบศักดินา วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ การฉกฉวยความชอบธรรม ตลอดจน ‘ครอบครัว’ ที่ไม่เปิดอกพูดคุยกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เลี้ยงไข้ปัญหาเอาไว้ แรงกระเพื่อมเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้เองที่นำไปสู่ความเสื่อมถอยของราชวงศ์มังกรอย่างไม่มีวันหวนกลับ

มังกร: อำนาจที่ (ถูกทำให้) มองเห็น

หากจะนึกถึงรูปธรรมของ ‘อำนาจ’ เราอาจเห็นภาพของเงินตรา รัฐสภา กระบอกปืน และอะไรต่อมิอะไรที่สามารถ ‘ควบคุม’ ร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตได้

แต่หากย้อนไปไกลก่อนยุคกลาง จินตนาการของเราย่อมถูกจำกัดตั้งแต่แรก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราเกิดในชนชั้นวรรณะใด แต่ชีวิตเราจะง่ายขึ้นมาก เมื่อมีคำอธิบายพื้นฐานว่า เราต้องเชื่อฟังใครและต้องทำอะไรเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ยิ่งคนที่เราเชื่อฟังมีสถานะใกล้เคียงกับทวยเทพแล้ว การตั้งคำถามก็รังแต่จะทำให้เราปวดหัว

ตระกูลทาร์แกเรียนมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ปกครองทุกกระบวนความ พวกเขาเป็นหนึ่งในสองตระกูลที่สืบทอดเชื้อสายมาจากอาณาจักรวาลีเรียโบราณ สืบเชื้อสายเก่าแก่จากดินแดนที่มีมังกรบินว่อนท้องฟ้าราวกระรอกไต่สายไฟในเมืองหลวง พวกเขาหลบหนีจากการล่มสลายของบ้านเกิด มาตั้งรกรากที่เกาะดราก้อนสโตน ถัดจากนั้นจึงเข้ายึดดินแดน Westeros เสมือนสัญชาตญาณของผู้ปกครองที่ต้องการดินแดน อาณาจักร และคนใต้อาณัติ

ทาร์แกเรียนจึงมีสถานะเป็น ‘คนนอก’ ของดินแดน Westeros พวกเขาเลือกรับวัฒนธรรมบางส่วน เช่น ศาสนา ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธจารีตบางอย่าง ในดินแดนนี้ไม่ยอมรับการแต่งงานของพี่น้องร่วมสายเลือด (incest) หากแต่พวกเขาเลือกรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ในครอบครัว ซึ่งเสมือนการตอกย้ำสถานะที่ ‘แตกต่าง’ และ ‘เหนือกว่า’ ของทาร์แกเรียนกับใครก็ตามที่ไม่ใช่พวกเขา ทำให้รูปลักษณ์ของพวกเขาเป็นสิ่งพิเศษ ทั้งเส้นผมขาวเงินและเรือนกายผุดผ่องงดงาม กรรมพันธุ์เช่นนี้ทำให้ใน setting ของ HotD แยกแยะได้อย่างง่ายดายว่าใครคือทาร์แกเรียน และใครไม่ใช่ 

ความยอกย้อนคือ เมื่อลูกแท้ๆ ของเรนีรากลับไม่มีเส้นผมขาวเงินเหมือนมารดา พวกเขาจึงถูกซุบซิบนินทาและผจญคำครหาต่างๆ นานา ประกอบกับความเป็นผู้หญิงของเรนีราก็ทำให้ถูกตั้งคำถามกับตำแหน่งรัชทายาท เสียงภายในราชสำนักจึงแตกเป็นสองฝ่าย หนึ่ง – หากเรนีราขึ้นครองราชย์ ลูกๆ ของเธอที่มีผมดำควรเป็นรัชทายาทหรือไม่ เพราะเส้นผมสีดำบ่งบอกว่าเธอคบชู้ และนอกใจเลนอร์ วาเลเรียน ผู้เป็นสามีที่มีผมขาวเงินเหมือนกัน สอง – เรนีราเป็นรัชทายาทที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย ไม่ควรมีข้อแคลงใจใดๆ อีก

ทุกอย่างกลับตาลปัตรอีกครั้งเมื่อวิเซริสพูดถึงความฝันที่ว่า เอกอนต้องเป็นกษัตริย์ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเอกอนคนไหน ฝั่งอลิเซนต์ ไฮทาวเวอร์ ผู้แสนดีและซื่อสัตย์ (กัดฟัน) จึงปลงใจคิดว่า สามีหมายถึงเอกอนที่ 2 ซึ่งเป็นลูกของเธอ ชนชั้นสูงจึงเริ่มแบ่งเป็นสองฝ่าย แต่ถึงไม่มีเรื่อง ‘สีผม’ หรือกรรมพันธุ์ นามสกุลทาร์แกเรียนก็ยังคงแสดงถึงอภิสิทธิ์ในการผูกขาดเรื่องราว รากเหง้า ความฝัน และความทรงจำ เสมือนการสืบทอดความรุ่งเรืองผ่านสายเลือด แต่การมีสายเลือดเป็นแหล่งอ้างอิงอำนาจ ไม่ช้าก็เร็วพวกเขาย่อมประสบปัญหาอยู่ดี เช่น ปลายรัชสมัยเจเฮริสที่ 1 พวกเขามี ‘ทาร์แกเรียนมากเกินไป’ ขณะที่ในสมัยวิเซริสที่ 1 พวกเขามี ‘ทาร์แกเรียนน้อยเกินไป’

ข้างต้น คือการแกล้งลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ทาร์แกเรียนคือตระกูลที่ควบคุมมังกรได้ พวกเขาอาศัยการใช้ภาษาวาลีเรียชั้นสูงเพื่อป้อนคำสั่งและผูกจิตกับมัน ในแง่นี้ มังกรไม่ได้เป็นแค่สัตว์ดึกดำบรรพ์ในป่าหิมพานต์ แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอำนาจที่จ้องควบคุมพสกนิกรด้วยการตอกย้ำซ้ำๆ ว่า ราชวงศ์ที่ปกครองคุณอยู่สามารถควบคุมมังกรได้ แต่อีกด้านหนึ่ง มันเป็นความต่างเพียงประการเดียวระหว่างคนเลี้ยงแกะกับทาร์แกเรียน

ในอีพีแรกสุด เราจะพบว่าเรนีราถูกตั้งเป็นรัชทายาท เพราะเธอมองขาดว่า มังกรเป็นเพียงเปลือกห่อหุ้มอำนาจเอาไว้ “ใครๆ ก็บอกว่าทาร์แกเรียนใกล้ชิดกับทวยเทพมากกว่ามนุษย์ แต่ที่พูดเช่นนั้นก็เพราะมังกรของเรา หากไร้มังกร เราก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป” เรนีราเอ่ยกับบิดา

จากนั้น วิเซริสจึงสำทับว่า “ความเชื่อที่ว่าเราควบคุมมังกรได้เป็นเพียงเรื่องมายา มังกรคืออำนาจที่มนุษย์ไม่ควรลองดีด้วย อำนาจที่ทำให้วาลีเรียย่อยยับมาแล้ว”

ข้อสังเกตคือ การมองซาก ‘มังกร’ ในฉากนี้ นับเป็นการตระหนักใน ‘อำนาจ’ ของตนอย่างรอบคอบและครุ่นคิดกับมันอย่างถี่ถ้วน มีจุดประสงค์เพียงรักษาฐานของบัลลังก์ให้มั่นคงก็เท่านั้น แม้จะมีนิมิตของผู้พิชิตที่บอกว่าทำไมทาร์แกเรียนต้องรุกรานดินแดนนี้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรมากไปกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ เพราะสถานะของพวกเขาถูกชูสูงขึ้นมาก็ด้วยการปกครองและควบคุมผู้อื่น

มังกรจึงเป็นรูปธรรมของอำนาจและซีรีส์ก็นำเสนอว่า มันเป็นอำนาจที่ควบคุมไม่ได้ การตีตัวเสมอเจ้าแห่งท้องฟ้านี้เองที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมท้ายซีซั่น 1

ประชาชน ส่วนหนึ่งที่ไม่ถูกนับ (?)

ในอีพี 3 ณ สงครามปราบกบฏที่หมู่เกาะสเต็ปสโตน ทหารหลายรายจบชีวิตลงอย่างไร้ค่าอนาถา ท่ามกลางความหวังริบหรี่ ทหารคนหนึ่งมองเห็นหนทางรอดชีวิตรางๆ ม่านตาของเขาเห็นมังกรคาแร็กเซสและเจ้าชายเดมอนผู้ขี่ บินโฉบลงมาในสมรภูมิ และใช้ไฟมังกรขับไล่กบฏออกไป “ทางนี้เจ้าชาย” คือคำพูดสุดท้ายของเขา ก่อนที่อุ้งเท้ามังกรจะบดขยี้ทหารฝั่งเดียวกันราวฝุ่นใต้ตีน แต่เดมอนเพียงบังคับมังกรของเขาแล่นลงจอดก็เท่านั้น

ความไร้ตัวตนของคนสามัญในซีรีส์ ไม่ใช่เพราะ HotD เล่าเรื่องคนในบ้านมังกรเป็นหลัก หากแต่มันนับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์โลก เพราะเมื่อชนชั้นนำขัดผลประโยชน์กันเอง คนที่ได้รับผลกระทบหนักสุดก็คือคนธรรมดาทั่วไป เช่น ความขัดแย้งของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ของเยอรมนี จอร์จที่ 5 อังกฤษ และซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย ล้วนเป็นเครือญาติกัน หรือกระทั่งการประชุมระดับผู้นำครั้งสำคัญๆ ในปัจจุบัน ก็ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนอย่างเราๆ

สารัตถะของ HotD คือการนำเสนอสถานการณ์ความขัดแย้งของคณะเขียวและคณะดำ แม้มองได้หลายมิติว่าเป็นความขัดแย้งของพี่น้องต่างแม่ ความขัดแย้งขั้วหญิงชาย หรือความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ แต่ท้ายสุดก็ก้าวไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกันเอง โดยมีประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของเกลียวคลื่นความขัดแย้งนี้ 

‘ประชาชน’ เป็นสมการที่มีความคลุมเครือพอสมควร หนึ่ง – พวกเขาไร้ใบหน้า ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีนามกร แต่กลับถูกแอบอ้างบ่อยๆ ในขอบขัณฑ์ของเรดคีป ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักร สอง – เสียงของพวกเขามีความดังและมีผลต่อความชอบธรรมในการผลัดแผ่นดิน หากแต่มักจะไม่ถูกรับฟัง หรือกล่าวอย่างบ้านๆ คือ พวกเขาจะพูดอะไรก็ได้ แต่ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยหลังจากพูดออกมา (แต่อย่างน้อยในจักรวาลบ้านมังกร พวกเขาก็พูดถึงราชวงศ์อ้อมๆ ได้ผ่านมหรสพ โดยที่ไม่ถูกคุมขังหรือถูกตัดลิ้น)

ตัวอย่างเด่นชัดสุด คงเป็นอีพีที่ 9 The Green Council ที่เล่าเรื่องการทำรัฐประหารของคณะเขียว พิธีราชาภิเษกของเอกอนที่ 2 ถูกจัดอย่างจงใจที่ดราก้อนพิต —สถานที่ฝึกมังกรของราชวงศ์ เพื่อย้ำเตือนว่ามเพียงสายเลือดกษัตริย์ที่ควบคุมมังกรได้ ทั้งยังสวมมงกุฎและถือดาบ Blackfyre ของเอกอนที่ 1 ปฐมกษัตริย์ เสมือนการตอกย้ำว่า นอกจากชื่อจะเหมือนกันแล้ว เอกอนที่ 2 ยังกลายเป็นร่างทรงของเอกอนที่ 1 และการทำพิธีต่อหน้าประชาชนที่ถูกบังคับให้เข้าร่วม เป็นสัญญะว่า เอกอนที่ 2 คือกษัตริย์ของประชาชนอย่างแท้จริง แตกต่างจากเรนีราที่มีสถานะเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นและทำพิธีราชาภิเษกต่อหน้าธารกำนัลและขุนนางใกล้ชิดบนเกาะห่างไกลเท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่า แม้เรนีรามีสิทธิชอบธรรมทุกอย่างในบัลลังก์ แต่ ‘ประชาชน’ คือตัวแปรเดียวที่เธอไม่มี ขณะที่เอกอนที่ 2 ถูกประกอบสร้างให้เป็นกษัตริย์ที่มีความชอบธรรมจากอภิสิทธิ์ชาติกำเนิดและความเป็นชายของเขา แม้โดยกมลสันดานจะไม่มีคุณสมบัติการเป็นผู้ปกครอง หนำซ้ำยังปฏิเสธตำแหน่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในด้านหนึ่ง HotD จึงเป็นการช่วงชิงความหมายของประชาชนของชนชั้นนำ แต่ในอีพีเดียวกันนี้เอง ได้มี hint เล็กๆ ว่า ท้ายสุดแล้ว ประชาชนไร้ใบหน้าก็สรรหากลวิธีต่อต้านและต่อรองได้เสมอ

หลังวิเซริสสวรรคตไม่นาน อ๊อตโต ไฮทาวเวอร์ ได้เตรียมการรัฐประหารอย่างรวดเร็ว เพื่อส่งหลานชายของตนขึ้นครองบัลลังก์เหล็ก ทุกอย่างลุล่วงได้โดยง่าย เว้นแต่ว่าเอกอนที่ 2 หายตัวไป

ความสำมะเลเทเมาของเขาและการไม่ยี่หระต่อบัลลังก์เหล็ก ทำให้เขามักไปสิงตัวในย่านเสื่อมโทรมของคิงส์แลนดิ้ง จึงเป็นเหตุให้ ‘มิซาเรีย’ หรือ ‘หนอนขาว’ ตัวละครที่เปรียบดั่งตัวแทนของคนรากหญ้า มีหูตาทั่วมุมเมือง พบเจอตัวเอกอนที่ 2 และนำไปซ่อนเพื่อฉวยใช้ประโยชน์จากเจ้าชายขี้เมาคนนี้

“เมื่อแผนการของท่านสุกงอมและส่งหลานชายครองบัลลังก์ จำไว้ว่าข้านี่แหละที่ส่งเขาไป ข้าจะฆ่าเขาอย่างง่ายดายเยี่ยงตัวต่อเกาะผลไม้ และไม่มีอำนาจใดนอกเหนือจากที่ประชาชนอนุญาตให้ท่านมี” เธอกล่าวกับอ๊อตโตพร้อมส่งตัวเอกอนที่ 2 เพื่อแลกกับเงินและการยุติทารุณกรรมเด็กในย่านเสื่อมโทรม

สิ่งนี้ยืนยันว่า ความไร้ใบหน้าของประชาชนนี้เองที่ทำให้ผู้มีอำนาจหวาดหวั่นได้ ในกรณีนี้เสียงของหนอนขาวทรงพลังเด่นชัดเพราะ ‘เสรีภาพ’ และ ‘ข้อมูล’ จนกระทั่งอ๊อตโตผู้มีตำแหน่งเป็นรองเพียงกษัตริย์ยังต้องเชื่อฟัง ฉากนี้ยังเป็นการย้ำเตือนข้อเท็จจริงที่ว่า หากปราศจากมังกร ทาร์แกเรียนก็คือมนุษย์ผมขาวธรรมดาๆ

หากเราเรียกสิ่งที่หนอนขาวทำว่าเป็น ‘ความยุติธรรม’ สิ่งนั้นก็คือความยุติธรรมของฟากฝั่งผู้ใต้ปกครอง ซึ่งค่าใช้จ่ายเป็นเพียงเครือข่ายและข้อมูล หากแต่ความยุติธรรมของฟากฝั่งของผู้ปกครอง ราคาของมันก็คือปริมาณชีวิตของประชาชน เพราะในฉากราชาภิเษกของเอกอนที่ 2 เจ้าหญิงเรนีสได้ควบมังกรนามว่าเมลีส พุ่งทะยานขึ้นมาในห้องโถงที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา การหลบหนีและคำปฏิเสธเข้าร่วมคณะเขียวของเธอมีค่าเสียหายสูงลิบ เป็นราคาของชีวิตผู้บริสุทธิ์มากมายที่ไม่เลือกข้าง แต่มันเป็นความยุติธรรมตามความคิดของเธอ ความขัดแย้งของชนชั้นนำส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยยะเป็นครั้งแรก และนี่เป็นจุดเปลี่ยนอันแหลมคมของซีรีส์ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฉากความตายของลูเซริส ลูกคนรองของเรนีราที่จะเป็นชนวนของสงครามต่อไป

ฐานันดรที่ยังไม่ถูกสร้างใน House of the Dragon

เอ็มมานูแอล โจเซฟ ซิแยส (Emmanuel Joseph Sieyès) บาทหลวงและผู้เขียนหนังสือที่ส่งผลต่อบรรยากาศก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาได้ตีพิมพ์ Essai sur les privileges หรือ ความเรียงว่าด้วยอภิสิทธิ์ชน ในเดือนพฤศจิกายน 1788 ตามด้วย Qu’est ce que le Tiers-etat? หรือ ฐานันดรที่สามคืออะไร ในเดือนมกราคม 1789 งานของซิแยสตั้งอยู่บนพื้นฐานเรียบง่ายว่า ฐานันดรที่ 3 ก็คือคนส่วนใหญ่ของชาติ พวกเขาทำงานเพื่อชาติ หากแต่เป็นฐานันดรเดียวที่ถูกเก็บภาษี ขณะที่ฐานันดรที่ 1-2 หรือขุนนางและพระได้รับการยกเว้นภาษี และยังสามารถเข้าถึงทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศด้วยต้นทุนน้อยนิดเพียงมีชาติกำเนิดที่ดีพอ ดังนั้น ฐานันดรที่ 3 หรือไพร่ จึงมีสิทธิ์ที่จะมีตัวแทนทางการเมืองและมีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรที่ตนพึงมี ซึ่งสาระสำคัญของฐานันดรที่ 3 อาจสรุปเป็นประโยคยอดนิยมที่เข้าใจง่ายคือ

“What is the Third Estate? Everything.
What has it been heretofore in the political order? Nothing.
What does it demand? To become something.”

แม้ตอนจบของหนังสือต้นฉบับซีรีส์อย่าง Fire & Blood จะลงเอยที่ประชาชน ไพร่ หรือราษฎร สามารถทำลายมังกร ซึ่งเป็นภาพแทนอำนาจที่กดขี่พวกเขาได้ เฉกเช่นการลุกฮือของฐานันดรที่ 3 ในการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ก็แลกมากับเลือดเนื้อจำนวนมาก และถึงแม้พวกเขาประสบความสำเร็จจากการสังหารมังกร แต่โครงสร้างการปกครองก็ไม่ได้ถูกถอดรื้อ ทาร์แกเรียนยังคงนั่งบนบัลลังก์เหล็ก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังคงถูกใช้ปกครอง Westeros ต่อไป จวบจนเหตุการณ์ใน Game of Thrones

คำถามคือ หากความโกรธขึ้งแค้นเคืองของประชาชนต่อขุนนางและราชวงศ์ สามารถนำไปสู่ความกล้าในการปลิดชีพมังกรด้วยจอบ เสียม และสองมือเปล่า แล้ว เหตุใดโซ่ตรวนอย่างระบบศักดินาถึงไม่ถูกโค่นล้มลงไปด้วย คำตอบสั้นๆ อาจเป็นเพราะมังกรคือรูปธรรมของอำนาจที่กดขี่พวกเขาเอาไว้ และถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นการกดขี่ ความรุนแรง และอำนาจรูปแบบเดียวที่ล่ามคนใต้ปกครองเอาไว้ ดังนั้น โซ่ตรวนมิติอื่นจึงถูกซุกซ่อนไว้อย่างแยบยล และความตายของมังกรส่งผลดีต่อชนชั้นนำบางกลุ่ม ซึ่งทำให้ทาร์แกเรียนไม่อาจผูกขาดอำนาจเพียงผู้เดียวอีกต่อไป

ตัดไปที่บรรยากาศก่อนรัฐประหาร อลิเซนต์พยายามเกลี้ยกล่อมให้เรนีสอยู่ฝ่ายตน เพื่อเพิ่มกำลังรบและความชอบธรรม การเดินหมากของเธอเป็นความเฉลียวฉลาดที่แม้แต่เรนีสผู้หยิ่งทะนงยังเอ่ยปากชม “ราชีนีที่แท้จริงต้องคำนึงผลกระทบต่อราษฎร” อลิเซนต์ตอบกลับ ทว่าเรนีสไม่ใช่คนที่ถูกจูงจมูกได้โดยง่าย เธอตอกกลับไปว่า “แต่เจ้ากลับตรากตรำรับใช้บุรุษ บิดาเจ้า สามีเจ้า ลูกชายเจ้า เจ้าไม่ปรารถนาจะเป็นอิสระ หวังแค่เพียงช่องหน้าต่างบนกำแพงที่จองจำเจ้า”

เห็นได้ชัดว่า การถูกกดขี่หลายขยัก ซึ่งกระทำต่อมนุษย์ไม่เลือกชนชั้น ฐานะ หรือเพศ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นความทุกข์ที่ผู้มีอภิสิทธิ์ในสังคมเป็นผู้เลือกเอง อย่างน้อยๆ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเลือก

ดั่งกรณีเลนอร์ สามีโดยกฎหมายของเรนีรา เขาเป็นเพื่อนและคนที่ดีคนหนึ่ง หากแต่ปันใจให้เซอร์คาร์ล —อัศวินข้างกาย เลนอร์มีทายาทกับเรนีราเพียงในนาม และปฏิเสธเกมการเมือง เขารับข้อเสนอที่จะมีชีวิตอิสระเสรีกับคนที่เขารัก และทิ้งชาติกำเนิดไว้เบื้องหลัง เพื่อแลกกับอิสระนั้น เขาต้องตายปลอมๆ เสียก่อน และศพไร้ใบหน้าของคนธรรมดาคนหนึ่งก็ไหม้เป็นจุนที่เตาผิงปราสาทของเขา

ถึงที่สุดแล้ว จักรวาลของ จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (George R. R. Martin) อาจกำลังเสนอว่า ประชาชน ไพร่ ราษฎร หรือคนธรรมดา จะไม่สามารถเป็นสิ่งใดได้เลย หากเรดคีปไม่ถล่ม ดราก้อนพิตไม่บุบสลาย และมหาวิหารแห่งเบลอร์ไม่ถูกระเบิด ซึ่ง 3 สถานที่ที่สถาปนาอำนาจของทาร์แกเรียน รวมถึงเชื้อสายทาร์แกเรียนเองก็ถูกทำลายย่อยยับในตอนจบของ Game of Thrones และอาณาจักรก็เป็นอมตะโดยคนที่เหลือรอดต่อไป 

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า