Itaewon Class: อุดมคติสมัยใหม่กับเศษซากอนุรักษนิยมที่อาจไฉไลกว่าเดิม

Itaewon Class ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ซีรีส์เกาหลีที่ได้รับความนิยมสูงมากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา นักวิจารณ์หลายคนพยายามนิยาม Itaewon Class ว่าเป็นเรื่องราวการล้างแค้นทางธุรกิจ แต่บางคนบอกว่าเป็นซีรีส์ที่พูดถึง second chance (การได้รับโอกาสอีกครั้ง) ของกลุ่มคนที่ถูกสังคมกีดกันออกไป แต่หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากคือความพยายามผนวกเอาประเด็นความเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ได้รับคำชมไม่น้อย บทความนี้จึงอยากชวนคุยถึงความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมว่าถูกนำเสนออย่างไร และเราในฐานะคนดูคิดเห็นอย่างไรได้บ้าง

Itaewon Class คือชื่อบริษัทของตัวละครเอก พัคแซรอย เด็กหนุ่มผู้เฝ้าฝันว่าจะเป็นตำรวจ แต่ความฝันกลับพลิกผันเมื่อเขามีปัญหากับ ชางกึนวอน ลูกชายของ ชางแดฮี ซีอีโอของบริษัทชางกา ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ของประเทศ ชางแดฮีขอให้พัคแซรอยคุกเข่าเพื่อขอโทษลูกชายของเขา ทั้งๆ ที่ชางกึนวอนเป็นคนผิด แต่ด้วยความซื่อตรงและยึดมั่นความถูกต้อง พัคแซรอยไม่ยอมทำตาม เขาจึงถูกบีบออกจากโรงเรียน รวมถึงพ่อของเขาด้วย ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทชางกา เหตุเพราะสนับสนุนความทระนงของลูกชาย

สองพ่อลูกตระกูลพัคตั้งใจว่าจะเปิดร้านอาหารเล็กๆ แต่ก็เกิดอุบัติเหตุรถชนทำให้ ‘พัครุ่นพ่อ’ ตาย ซ้ำร้ายกว่านั้นคนที่ขับรถยนต์คันที่พุ่งชนพ่อกลับเป็นชางกึนวอน ศัตรูของพัคแซรอย เมื่อพัคแซรอยรู้เรื่อง เขาพยายามจะฆ่าชางกึนวอน แต่สุดท้ายกลับถูกจับเข้าคุกเนื่องจากอำนาจมืดของชางแดฮี

หลังออกจากคุก พัคแซรอยมีเป้าหมายว่าจะสร้างธุรกิจอาหารให้ใหญ่กว่าชางกา และทำให้ชางแดฮียอมคุกเข่าต่อหน้าเขาให้ได้ เป็นที่มาของร้านอาหาร ทันบัม และความสัมพันธ์ของตัวละครอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ซเวซึงควอน เพื่อนร่วมคุกที่ผันตัวมาทำงานที่ทันบัม มาฮยอนอี พ่อครัวของทันบัม ที่เปิดตัวเป็นผู้หญิงข้ามเพศ โทนี่ คิม ลูกครึ่งเกาหลี-กินีผู้ตามหาพ่อแท้ๆ ของตัวเอง ชางกึนซอ ลูกชายนอกสมรสของชางแดฮี และที่สำคัญ โซอีซอ เด็กสาวเน็ตไอดอลสุดปราดเปรียวที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดการร้านและคนรักของพัคแซรอย

การเปลี่ยนผ่านของศักดิ์ศรีจากหัวเข่าสู่หัวใจ

เกมการขับเคี่ยวและตอบโต้กันไปมาระหว่างธุรกิจอาหาร ชางกา ของชางแดฮี ที่พยายามจะปิดร้านทันบัม ภายใต้การดูแลของบริษัทไอซี (Itaewon Class) ของพัคแซรอยทำเอาคนดูลุ้นตลอดทั้งเรื่อง เดิมพันที่สำคัญคือการทำให้อีกฝั่งยอมคุกเข่าลงต่อหน้าตัวเองให้ได้ มันเป็นอุดมคติแบบโลกเก่าที่ใช้สัญญะของการสยบยอมเช่นการคุกเข่า หมอบคำนับ และก้มหัว เข้ามาใช้วัดว่าใครอยู่สูงกว่าใคร

แต่เกมกลับพลิกผันเมื่อตอนท้ายเรื่อง พัคแซรอยคุกเข่าลงต่อหน้าชางแดฮีเพื่อขอให้ชางแดฮีบอกว่าชางกึนวอนลูกชายของเขา ลักพาตัวโซอีซอคนรักของพัคแซรอยไปไว้ที่ไหน ภาพสโลว์โมชั่นและเสียงเพลงตอนพัคแซรอยทิ้งตัวลงนั่งคุกเข่าชวนให้คนดูคิดเคลิ้มไปว่า ในที่สุดเขาก็ยอมสูญเสียศักดิ์ศรีและพ่ายแพ้ต่อชางแดฮี แต่เมื่อเราได้ฟังคำอธิบายของพัคแซรอย เราก็จะเข้าใจได้ว่าการคุกเข่าและการต่อสู้กับคนอย่างชางแดฮี ไม่มีความหมายอะไรสำหรับเขาอีกต่อไปแล้ว

ผมเคยคิดว่ามันเป็นการต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ แต่คนคนนั้น (ชางแดฮี) กลับบังคับให้ผมคุกเข่าลงต่อหน้าเขาโดยการลักพาตัวหนึ่งในมิตรสหายของผมไป ผมรู้สึกเสียเวลามามากกว่าทศวรรษ เฝ้าตามรอยเท้าของคนแก่ปากมากที่น่าขยะแขยง

คำพูดนี้ของพัคแซรอย ไม่ได้ชี้ให้เห็นเพียงความผิดหวังที่เขามีต่อชางแดฮี ซึ่งเป็นทั้งไอดอลและศัตรูหมายเลข 1 ในชีวิต ใช้วิธีสกปรกเพื่อเอาชนะเขาเท่านั้น แต่ยังแสดงจุดสิ้นสุดของความเชื่อตามแบบอุดมคติดั้งเดิม การคุกเข่าจึงถูกทำให้เป็นมายาจอมปลอม และไม่มีอะไรยึดโยงกับการเดิมพันทางศักดิ์ศรีในฐานะผู้แพ้หรือผู้ชนะ แต่แล้วอะไรคือกติกาใหม่ของศึกแห่งศักดิ์ศรีครั้งนี้?

ตอนจบ ชางแดฮีมาหาพัคแซรอยเพื่อคุกเข่าขอร้องให้พัคแซรอยไม่ยึดชางกาของเขา และนี่คือคำตอบของพัคแซรอย

“ผมเคยต้องการสิ่งนี้มาก แต่มันกลับไม่ได้ทำให้รู้สึกดีขนาดนั้น (…) ลุกขึ้นเถอะ คุณคิดว่าผมเป็นไอ้ขี้แพ้เหรอ ผม… เป็นนักธุรกิจต่างหาก คุณคิดว่าคำขอโทษของคุณมีคุณค่าอะไรหลังจากที่สูญเสียทุกอย่างไปแล้วหรือการยึดธุรกิจกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า คุยกันแบบนักธุรกิจเถอะ”

อีกครั้งที่การคุกเข่าถูกทำให้ด้อยค่าไร้ราคา ฉากนี้ฟ้องความหมดอายุของค่านิยมหรืออุดมคติแบบความเป็นมนุษย์ลูกผู้ชายแบบเก่าๆ ตรงกันข้าม การเห็นคุณค่าของมนุษย์คนอื่นต่างหาก (ซึ่งในเรื่องก็คือคนรัก) ที่ควรจะถูกให้ค่ากว่าศักดิ์ศรีจอมปลอมที่ใช้หัวเข่าเป็นเกณฑ์การวัด การยืนยันศักดิ์ศรีในฐานะของลูกผู้ชายจึงเปลี่ยนจากหัวเข่าสู่หัวใจ

อาจกล่าวได้ว่า Itaewon Class ไม่ได้นำเสนอแค่เรื่องราวการล้างแค้นของพัคแซรอยเพียงเท่านั้น แต่ลึกลงไปกว่านั้นมันคือการเข้า take over คุณค่าแบบใหม่ที่คนในสังคมสมัยใหม่ควรยึดถือ

Itaewon Class จึงถือเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามต่อต้านภาพแทนดาษดื่น (cliché) ของสังคมเกาหลีที่เป็นอนุรักษนิยมและยึดถือการตัดสินคุณค่าความเป็นคนแบบโลกเก่า ซึ่งก็ดูท่าว่าจะประสบความสำเร็จจากเสียงชื่นชมต่างๆ มากมาย แต่ก็ใช่ว่าการนำเสนอความก้าวหน้าทางความคิดในซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ทิ้งค่านิยมเก่าๆ คงค้างไว้อยู่เลย

คำสอนของลูกผู้ชาย VS คำสอนของลูกผู้หญิง

ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่หล่อเลี้ยงพัคแซรอยไว้ในฐานะของตัวละครเอกในอุดมคติผู้มีจิตใจสูงส่ง คือคำสอนของพ่อ “การกระทำเล็กๆ เพียงเรื่องเดียวอาจเปลี่ยนแปลงไปทั้งชีวิต” เขาจึงไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่ชางแดฮี-ตัวแทนแห่งความอยุติธรรมเลยแม้ต้องแลกด้วยชีวิต คำสอนของพ่อสู่ลูกในเรื่องจึงสูงส่งและน่ายกย่อง แล้วคำสอนของแม่สู่ลูกผู้หญิงในเรื่องเป็นอย่างไร?

ความสัมพันธ์แม่ลูกระหว่างโซอีซอและแม่ของเธอ ปรากฏให้คนดูเห็นเป็นระยะๆ และหากสังเกตดีๆ จะพบว่าเป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ เพราะมันคือความสัมพันธ์ที่กลับหัวกลับหาง

ภาพตามขนบของความเป็นแม่คือการพยายามเตรียมพร้อมให้ลูกสาวใช้ชีวิตเป็นเมียและเป็นแม่ที่ดี แต่ในเรื่องนี้เราจะเห็นว่าแม่ของโซอีซอผู้หย่ากับสามีด้วยเหตุผลที่ดู independent มากๆ คือการหมดรัก เมื่อหมดรักเราก็เลิก แถมยังสอนลูกสาวว่าอย่าเอาตัวเองไปยึดติดกับผู้ชายเพียงคนเดียว เพราะจะทำให้ความหฤหรรษ์ของชีวิตในฐานะผู้หญิงสวยและเก่งจืดจางไป ความรักไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เพราะชีวิตมีอะไรให้ค้นหามากกว่าความรัก ซึ่งคำสอนลักษณะนี้ก็ดูจะก้าวหน้าและน่าจะถูกอกถูกใจผู้หญิงยุคใหม่เป็นแน่แท้ แต่มันกลับไม่เป็นแบบนั้น เมื่อคำสอนอันสุดแสนจะเสรีชนกลับถูกคัดค้านโดยลูกสาวของเธอเอง

โซอีซอบอกกับแม่ว่า “หนูไม่เหมือนแม่ หนูจะประสบความสำเร็จทั้งความรักและการงาน” และยืนยันว่าการตกลงเป็นผู้จัดการที่ร้านทันบัมไม่ได้เกิดจากความต้องการช่วยพระเอกให้ทำฝันของเขาให้สำเร็จ แต่เป็นความต้องการของตัวเธอเอง (แต่พูดกับพระเอกตลอดทั้งเรื่องว่าฉันจะช่วยเธอ ฉันมาเพื่อช่วยเธอ)

เราไม่สามารถวิจารณ์ละครเกาหลีเรื่องนี้แบบแบนๆ ได้ว่า อุดมการณ์รัฐที่ส่งผ่านซีรีส์อย่างการเซ็ตเป้าหมายสูงสุดในชีวิตด้วยการมีสามี แต่เหนือกว่านั้นซีรีส์แอบโจมตีความคิดแบบสตรีนิยมเบาๆ พูดอีกอย่างคือ แม้ว่า Itaewon Class จะมาด้วยข้อโต้แย้งบนฐานของเหตุผลเดิมๆ ที่ไม่ได้นำพาผู้หญิงไปสู่ชีวิตไร้ขอบเขต แต่ในเวลาเดียวกันคนดูจะรู้ว่าผู้สร้างทำการบ้านและคิดมาดีแล้วเหมือนกัน แม้ว่ามันจะดูอนุรักษนิยม แต่มันก็ไม่ได้กลวงที่อ้างค่านิยมความดีงามของหญิงยุคเก่าตลอดเวลาเหมือนละครไทย

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่มความซับซ้อนให้เรื่องความเป็นหญิงคือความขัดแย้งระหว่างโซอีซอกับแฟนเก่าของพระเอก ‘โอซูอา’ ที่นำเสนอภาพของผู้หญิงอนุรักษนิยมนิดๆ ไม่ยอมพูดว่ารักผู้ชายต่อหน้าคนอื่นๆ (แต่ก็มีความต้องการและแสดงออกหลายครั้งแต่จังหวะไม่เอื้ออำนวย) เธอเชื่อมั่นว่าความรักของพัคแซรอยที่มีให้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และมองเห็นอนาคตตัวเองว่าเธอจะใช้ชีวิตร่วมกับเขา แต่แล้วเธอก็พ่ายแพ้แก่เด็กสาวที่ตรงไปตรงมาและแสดงออกถึงความต้องการชัดเจน จนสุดท้ายตัวเองก็เรียนรู้ได้ว่าสิ่งที่ตนเป็นไม่เวิร์ค และพร้อมเปิดฉากความรักอย่างตรงไปตรงมากับเชฟหนุ่มที่มาสมัครงานที่ร้านของตัวเองในตอนจบของเรื่อง

เราจึงพูดได้เต็มปากเลยว่า ผู้หญิงในอุดมคติแบบเก่าที่รอผู้ชายเข้าหาและเชื่อมั่นในความรักอันมั่นคง หรือผู้หญิงที่ independent เกินไป ไม่ใช่ผู้หญิงในอุดมคติของซีรีส์ที่เคลมความก้าวหน้าทางความคิด อีกทั้งประเด็นเรื่องผู้หญิงหรือความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวก็ยังคงไปไม่ไกลเกินกว่าเป้าหมายสูงสุด คือการมีสามี ซึ่งตรงกันข้ามกับคำสอนของพ่อถึงลูกชายไม่ว่าจะเป็นคู่ของตระกูลพัคหรือตระกูลชางกา ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องความเป็นผู้นำ ความเด็ดเดี่ยว การยึดมั่นในอุดมคติ จุดนี้เรายังคงเห็นซากของความเชื่อแบบสังคมอนุรักษนิยมบางเรื่องที่ยังคงค้างอยู่ แล้วยังมีเรื่องอะไรอีก?

Itaewon Class กับภาพเสนอของคนชายขอบ

ประเด็นหนึ่งที่นักวิจารณ์มักหยิบขึ้นมาพูดถึงเสน่ห์ของซีรีส์เรื่องนี้ คือความพยายามผนวกเอาคนชายขอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่กระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นตัวละครชาวต่างชาติ ผู้หญิงข้ามเพศ คนเคยติดคุก ลูกที่เกิดนอกสมรส จุดนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามเปิดรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพศ หรือแม้กระทั่งการไม่ตีตราคนอื่นจากการกระทำในอดีตของเขา ซึ่งผูกโยงแนบสนิทกับย่าน Itaewon ที่เป็นย่านการค้ายอดนิยมจริงๆ ของประเทศเกาหลีใต้ เป็นที่ที่เราจะเห็นคนมากหน้าหลายตามารวมกัน Itaewon จึงเป็นสถานที่หลักที่เหมาะสมที่สุดที่ควรจะใช้ในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายนี้

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอะไรให้ตั้งคำถามเลย เพราะคนชายขอบเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีเหตุผลมาตีตราประทับว่าพวกเขาเหล่านั้นสมควรได้รับการยอมรับ เช่น โทนี่ คิม ที่สุดท้ายก็ได้ค้นพบว่าเขาเป็นทายาทของมหาเศรษฐี หรือมาฮยอนอีที่ต้องชนะเลิศการประกวดแข่งขันการทำอาหาร คำถามคือ หากไม่มีเหตุผลมารองรับ สังคมเกาหลีจะเปิดกว้างพอที่จะรับคนเหล่านี้หรือไม่? หรือตัวซีรีส์เรื่องนี้เองก็เป็นคำตอบชัดอยู่แล้ว?

แม้ว่าการพยายามนำเสนอความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมแต่พ่วงมาด้วยคำถามที่ชวนให้คลางแคลงใจไม่น้อย บวกกับโครงเรื่องที่ดราม่าแทบจะไม่ต่างกับละครไทย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Itaewon Class เป็นซีรีส์เกาหลีอีกเรื่องที่มีความน่าติดตาม ด้วยสีสัน รหัสทางวัฒนธรรม และความซับซ้อนของตัวละคร ใครจะรู้ว่านี่อาจจะเป็นซีรีส์เรื่องแรกๆ ที่ทำให้คุณตั้งคำถามกับค่านิยมเดิมๆ เห็นถึงความงดงามของความแตกต่างหลากหลาย และมีทัศนคติต่อความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไป

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า